วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการลงทุนของผม (ตอนจบ)

แนวทางการลงทุนของผม (ตอนจบ)

โดย พงศกร 
ผมตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์อันน้อยนิดในตลาดหุ้น ผมเองยังต้องเรียนรู้และฝึกฝนอีกมาก การเขียนบทความนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจผมว่าตอนนี้ผมยืนอยู่ที่จุดไหน ใช้หลักการข้อใดในการลงทุน ไม่ได้มีเจตนาจะอวดอ้างความสามารถของตัวเองใดๆทั้งสิ้น เพราะการทำแบบนั้นไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองเลย และไม่เกิดประโยชน์กับผู้อ่านเช่นกัน
7. ความเสี่ยงของหุ้นเติบโต
การที่บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต ย่อมมีการดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหม่สนใจอยากจะทำธุรกิจแบบเดียวกันบ้างเพราะดูมีอนาคต ทำให้อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตมีการแข่งขันสูง อาจจะมีการลดราคาขายสินค้าแข่งกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด สุดท้ายแล้วอุตสาหกรรมโดยรวมเติบโตขึ้นก็จริงแต่ไม่มีธุรกิจใดเลยที่ได้ประโยชน์

ถ้าจะสรุปความเสี่ยงของหุ้นเติบโตจะมีดังนี้
7.1 คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแย่งสวนแบ่งการตลาด
การมีผู้เล่นมากๆอาจจะเกิดสงครามราคาได้ ดังนั้นเราจึงควรเลือกหุ้นเติบโตที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว(DCA) เพื่อป้องกันความเสี่ยงข้อนี้ ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งขันน้อย (Low competition)เนื่องจากคู่แข่งรายใหม่เข้ามาลำบากยิ่งดี เช่น บริษัทขนาดใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูงไม่ใช่ว่าใครมีเงินก็เข้ามาทำได้ง่ายๆ บริษัทที่เป็นธุรกิจสัมปทานซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ ธุรกิจที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะด้าน เช่น โรงพยาบาล ที่ไม่ใช่ว่าใครมีเงินก็ทำได้เลย อย่างไรก็ตามในระยะยาวถึงจะมี barrier of entry ที่ดีอย่างไรก็ตาม ผมก็คิดว่าการมีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวจะดีที่สุดเพราะสุดท้ายเราไม่มีทางหลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ตลอดไปในระบบทุนนิยม

7.2 การเติบโตทำไม่ได้อย่างที่คาดหวัง
เนื่องจากการเติบโตของรายได้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเสมอไปเพราะมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการขาย ยิ่งการประกาศงบรายไตรมาสทำให้นักลงทุนที่เก็งงบเกิดการผิดหวังและเทขายหุ้นออกมา ทั้งที่จริงๆแล้วภาพรวมในปีต่อปีจะมีการเติบโตที่สูงก็ตาม เนื่องจากบางธุรกิจมีปัจจัยเรื่องฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงในเรื่องหุ้นนั้นมีปัจจัยเชิงจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องมาก เติบโตไม่เท่าที่คาดหวังหุ้นก็ลงแรงได้ ดังนั้นควรประเมินความคาดหวังของตลาดร่วมไปด้วย และมองภาพรวมในแต่ละปีมากกว่าการเก็งกำไรรายไตรมาส แต่ควรดูงบทุกไตรมาสเพื่อดูตัวเลขที่สำคัญๆทางบัญชี เช่น การบริหารจัดการเงินสด กระแสเงินสด การเพิ่มสินค้าคงเหลือเทียบกับการเพิ่มของต้นทุนขาย ตัวเลขหนี้สินทั้งเจ้าหนี้การค้าและเงินกู้จากสถาบันทางการเงิน การเพิ่มลูกหนี้การค้าเทียบกับยอดขาย กำไรขั้นต้น(Gross profit margin) การเพิ่มของต้นทุนเทียบกับยอดขาย ตัวเลขการเพิ่มของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร ยอดการเก็บหนี้-หนี้สูญ กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา(EBITDA) และสุดท้ายอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) การที่เราดูงบการเงินไม่ใช่ว่าให้ยึดติดกับตัวเลขที่เกิดขึ้นเพราะตัวเลขเหล่านี้เป็นอดีต สิ่งที่เราจะทำคือแปลงบการเงินเพื่อให้เห็นสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ว่าเป็นไปในแนวทางการเติบโตหรือไม่? นั่นคือเป็นข้อมูลที่บ่งบอกทิศทางของข้อมูลเชิงคุณภาพอีกที

นักลงทุนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับบรรทัดสุดท้าย (EPS) แล้วจะมีความสมหวังหรือผิดหวังกับตัวเลขบรรทัดนี้เป็นหลัก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของนักลงทุนที่มองงบการเงินและปัจจัยพื้นฐานระยะยาวที่จะเข้าไปคว้าโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายหุ้นได้

เนื่องจากการที่ตลาดมีความคาดหวัง เราควรซื้อหุ้นเติบโตตอนที่ตลาดตกใจกลัวหรือช่วงที่ราคาสะท้อนความผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะช่วงนั้นราคาจะมีส่วนลด และในการประเมินมูลค่าเราควรใช้กรณีที่เป็นระดับ conservative เพื่อป้องกันการขาดทุน

7.3 การเติบโตที่รวดเร็วเกินไป
การเติบโตของบริษัทที่ดีจะใช้กำไรจากดำเนินงานมาลงทุน แต่ถ้าเติบโตเร็วมากๆอาจจะต้องเพิ่มทุน เพราะเงินสดไม่พอโดยเฉพาะกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และการเติบโตที่รวดเร็วมากไปอาจจะทำให้การบริหารได้ไม่ดี ไม่ทั่วถึง การรับพนักงานใหม่ๆจำนวนมากที่ไม่มีความสามารถ ทำให้คุณภาพของสินค้าและบริการตกลง ซึ่งถ้ากรณีเลวร้ายที่สุดอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทจนไม่อาจจะแข่งขันได้อีกเลย ดังนั้นผมจะดูว่าการเติบโตนั้นมีพื้นฐานรองรับหรือไม่ บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร ระบบการฝึกพนักงานและการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างไร ถ้าบริษัทโตเร็วมากๆแต่โตอย่างมีคุณภาพผมถือว่าผ่าน แม้ว่าอาจจะต้องมีการเพิ่มทุนในกรณีเงินสดไม่พอ แต่ถ้าการเพิ่มทุนนั้นสามารถทำผลตอบแทนต่อเงินลงทุนก้อนใหม่มากขึ้น ก็ยังจัดว่าน่าลงทุนอยู่ แต่ถ้าการเพิ่มทุนนั้นบริษัทไม่ได้มีแผนการเติบโตที่เป็นไปได้ และผลตอบแทนต่อเงินลงทุนดูต่ำผมจะขายหุ้นทิ้ง   

7.4 การซื้อหุ้นเติบโตที่ราคาแพงเกินไป
ของดีแต่ราคาแพงมากๆก็ไม่น่าซื้อ ไม่ใช่การลงทุนที่ดี ดังนั้นควรซื้อหุ้นที่มีส่วนลดจากมูลค่าที่ประเมินไว้ (แต่ไม่ใช่การซื้อหุ้น low PE นะครับ คนละเรื่องกัน ถ้าจะซื้อก็คือหุ้น low forward PE)

8. การบริหารพอร์ต (Portfolio management)
8.1 จำนวนหุ้นในพอร์ต
ผมจะถือหุ้น 3-5 ตัวเท่านั้น ไม่ถือมากกว่านี้เพราะดูแลไม่ทั่วถึง เพราะกว่าจะวิเคราะห์ได้แต่ละบริษัทต้องใช้เวลาและข้อมูลจนประเมินภาพในอนาคตได้ ทำให้ผมดูหุ้นใน watchlist ได้ไม่มาก (เต็มที่สุดประมาณ 20-30 ตัว) รวมถึงผมไม่ใช่นักลงทุนอาชีพที่มีเวลาทั้งวัน ผมมีงานประจำที่ต้องทำและต้องทำให้ได้อย่างดีเยี่ยมด้วย ผมจึงให้เวลากับการลงทุนได้น้อยกว่านักลงทุนทั่วๆไป โดยผมจะแบ่งเวลามานั่งดูข้อมูลพื้นฐานของหุ้นที่ผมสนใจในตอนเย็นของวันธรรมดาและวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งนั่นก็นับได้ว่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว และผมคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้วเพราะผมให้เงินทำงานไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน ควรจะใช้เวลาให้น้อยแต่มีประสิทธิภาพจะดีกว่า(แม้แต่การอ่านหนังสือเรียนผมก็ใช้หลักนี้) ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนในหุ้นจำนวนมากจะทำให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาด ซึ่งสำหรับคนที่หวังจะชนะตลาดอย่างผม การลงทุนในหุ้นที่ดีที่สุดจำนวนน้อยตัวจะได้ผลมากกว่า ส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าหุ้น 3 ตัวจะเสี่ยงเกินไป เสี่ยงกับการที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับบริษัทที่เราถืออยู่ซึ่งจะทำให้พอร์ตโดยรวมของเราลดลงอย่างรุนแรง เพราะไม่มีกำไรตัวอื่นมาช่วยเสริม ยิ่งไปกว่านั้นเราจะเสียโอกาสปรับพอร์ตเมื่อตลาดให้ราคาหุ้นของเราสูงหรือต่ำเกินไปอีกด้วย (ขายตัวแพงไปซื้อตัวถูก)

8.2 การคิดกำไรคาดหวัง
การศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณทั้งหมดเพื่อให้ได้ตัวเลข 4 ตัว 1. Upside ส่วนต่างราคาหุ้นที่เหมาะสมกับราคาปัจจุบันในการประเมินทั้ง 3 ระดับ ดูว่าเราจะได้กำไรแค่ไหน 2. Downside ส่วนต่างของราคาหุ้นปัจจุบันกับราคาหุ้นถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ความเสี่ยงขั้นรุนแรง ดูว่าเราจะขาดทุนได้ขนาดไหน 3. Probability  ของ upside โอกาสที่หุ้นตัวนั้นราคาจะสูงขึ้น 4. Probability ของ downside โอกาสที่หุ้นตัวนั้นจะมีราคาลดลง

กำไรคาดหวังได้จากการคำนวณดังนี้... Expected profit = (upside x probability) – (downside x probability)

ยิ่งกำไรคาดหวังมากเท่าไร หุ้นยิ่งหน้าซื้อมากขึ้นเท่านั้น และกำไรคาดหวังยิ่งมากยิ่งควรถือหุ้นตัวนั้นในพอร์ตด้วยสัดส่วนที่สูง ตามหลัก Kelly’s formula

การหาค่าตัวเลขทั้ง 4 ตัว เราจำเป็นต้องเข้าใจข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเป็นอย่างดี รวมถึงคิดตัวเลขไว้หลายแบบตามเหตุการณ์ที่เราคาดไว้ โดยเราอาจจะแยกย่อยได้ดังนี้

- ถ้า upside สูงแต่ probability ต่ำ ... หุ้นประเภทนี้โอกาสได้กำไรน้อยแต่ถ้าโชคดีจะได้กำไรมาก ดังนั้นควรถือหุ้นแบบนี้หลายๆตัวเพื่อเพิ่มโอกาสให้มากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ผมไม่ได้ซื้อหุ้นกลุ่มนี้เพราะผมต้องการซื้อหุ้นน้อยตัว
- ถ้า upside ต่ำแต่ probability สูง ... หุ้นกลุ่มนี้ซื้อน้อยตัวได้แต่กำไรอาจจะไม่มากนัก
- ถ้า downside สูง probability ต่ำ ... หุ้นกลุ่มนี้ผมจะไม่ถือเพราะถึงโอกาสจะเกิดน้อยแต่ถ้าเกิดขึ้นมาจะเป็นอันตรายกับพอร์ตอย่างมาก
- โดยส่วนตัวผมจะพยายามเลือกหุ้นที่ upside สูง probability ของ upside สูง downside ต่ำ probability ของ downside ต่ำ ที่สุดเท่าที่ผมจะหาเจอ ดังนั้นการหาหุ้นดีๆในการเข้าลงทุนไม่ใช่ว่าจะหาเจอได้ทุกวัน บางทีเจอปีละตัวยังนับว่ามากเลย ต้องใจเย็นและรอคอยได้ ถ้าราคายิ่งลดจากตลาดตื่นตระหนกโดยที่กิจการยังดี ยิ่งเป็นการเพิ่ม upside และลด downside ไปโดยปริยาย โดยแต่ละครั้งที่เข้าซื้อถ้าเป็นไปได้ประเมินให้ probability ของ upside มากกว่า downside เสมอ (โอกาสหุ้นขึ้นมากกว่าหุ้นลง)

8.3 การปรับพอร์ต

การปรับพอร์ตเป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อตลาดให้ราคาหุ้นของเราผิดไปมากๆ จนกำไรคาดหวังเปลี่ยนแปลง บางตัวกำไรคาดหวังลดและบางตัวกำไรคาดหวังเพิ่ม เราควรจะขายตัวที่กำไรคาดหวังลดมาซื้อตัวที่กำไรคาดหวังเพิ่ม แต่สิ่งที่เป็นไปได้ที่ควรทำคือ ทุกครั้งที่หุ้นของเราราคาลดลงหรือเพิ่มขึ้นแรงๆ ให้ประเมินว่าลงเพราะพื้นฐานเปลี่ยนหรือไม่ เพราะถ้าพื้นฐานเปลี่ยนต้องประเมินตัวเลขทั้ง 4 ตัวใหม่ กำไรคาดหวังจะเปลี่ยนไปด้วย การปรับพอร์ตโดยยึดตัวเลขที่ประเมินครั้งแรกโดยไม่ดูความเปลี่ยนแปลงตามเวลาอาจจะเกิดความเสียหายกับพอร์ตได้ รวมถึงไม่ควรปรับพอร์ตบ่อยเพราะจะโดนค่าคอมไปเยอะ ควรปรับเมื่อกำไรคาดหวังต่างกันมากๆจะดีที่สุด ช่วยให้ผลตอบแทนดีขึ้นมาก

9. การใช้จิตวิทยาการลงทุน

แนวคิดของ เบน เกรแฮม เนื่องนายตลาด (Mr. Market) เป็นแนวคิดที่ผมชอบมาก เพราะเบื้องของกระดานหุ้นที่ซื้อขายทางอินเตอร์เนตความเร็วสูงคือคน ต่อให้คนมีความรู้และรับรู้ข้อมูลข่าวสารเร็วแค่ไหน คนก็คือคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้การคิดเชิงเหตุผลแย่ลง มีสมหวังมีผิดหวัง มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้นักลงทุนที่มีเหตุผลฉกฉวยโอกาสในภาวะที่จิตใจของนายตลาดไม่ปกติได้ (โอกาสไม่ได้มาบ่อยๆ) แต่การที่มีวุฒิภาวะควบคุมอารมณ์ได้ดีใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยการฝึกฝน ลดอคติในการลงทุน

แนวทางการฝึกฝนฝีมือของผม
ผมเองลงทุนมาได้แค่ 2 ปีเท่านั้น ประสบการณ์ในตลาดหุ้นยังน้อย ยังต้องฝึกฝนอีกมาก โดยผมมีแนวทางการฝึกตนดังนี้

1.การให้ การช่วยเหลือผู้อื่น
ผมมองอนาคตว่า...ผมอยากทำงานให้กับมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร อยากใช้ความสามารถทั้งด้านการทำงานวิชาชีพแพทย์ให้กับสังคมให้กับเด็กๆซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานการเติบโตระยะยาวที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ ทั้งในด้านการบริหารการเงินการลงทุนให้กับองค์กรช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เพื่อที่เงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคจะได้ทำงานสูงสุด รวมถึงองค์กรเหล่านี้จะด้ไม่ขาดทุน อยู่ได้ด้วยตนเอง สร้างเงินทุนหมุนเวียนและเงินปันผลที่ใช้ในการดำเนินงานช่วยเหลือคนได้โดยไม่ล่มกลางทาง

ในความจริงการเก็บเงินไปลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้พอร์ตผมโตเร็วสุดก็จริง แล้วค่อยไปให้คืนสังคมทีหลัง แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงเราอาจจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ การให้คืนกับสังคมและการช่วยเหลือผู้อื่น นั่นคือความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างนึงของผม การให้ต้องทำในวันนี้ และให้กับคนที่เดือดร้อนตอนนี้ ไม่ใช่คนที่เดือดร้อนในอีก 20-30 ปีข้างหน้าตอนพอร์ตใหญ่แล้ว

เพราะเงินในพอร์ตก็เป็นเพียงตัวเลข ถ้าเราไม่ได้เอามาใช้ การใช้ที่ดีที่สุดคือให้กับคนที่ต้องการ ทั้งตัวเราเอง ครอบครัว สังคม นั่นคือการที่เงินของเราได้สร้างความสุขมากกว่าการกองอยู่ในพอร์ตขนาดใหญ่เฉยๆ

และที่สำคัญผมเชื่อว่า ยิ่งให้ยิ่งได้รับ ... แต่นั่นไม่ใช่ว่าเราจะให้แล้วจะขอให้โชคดี ขอให้รวย ความตั้งใจของการให้คือเพื่อช่วยเหลือผู้คนเพื่อทำประโยชน์อย่างแท้จริง แม้จะไม่มีใครรู้เห็นก็ตาม แต่ใจเรารู้ดีที่สุด และสภาพของจิตใจที่ปลอดโปร่งจากการให้จะทำให้เรามองเห็นโอกาสและวิเคราะห์หุ้นดียิ่งขึ้น รวมถึงไม่ทุกข์ร้อนมากเวลาหุ้นลง เพราะเรารู้ว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขในพอร์ตแต่อยู่ที่ใจเรา

2. การใช้เวลาว่างในแต่ละวันอ่านข้อมูลพื้นฐานของบริษัท
ผมเองไม่ใช่คนที่มีเวลาว่างมาก ไม่ใช่นักลงทุนอาชีพ ผมเป็นคนที่งานประจำที่ต้องใช้สมาธิในการคุยกับคนไข้ ถ้าใจของผมแกว่งตามตลาดผมจะรักษาคนไข้ไม่ได้เลย นั่นทำให้ผมเลือกการลงทุนระยะยาวมากกว่าการลงทุนระยะสั้น แม้กำไรอาจจะไม่มากมายเท่านักเก็งกำไรก็ตาม

และเพราะผมชอบการลงทุน ผมจึงไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเหนื่อย ไม่ใช่เรื่องลำบาก และการศึกษาวิเคราะห์คือการพักผ่อนจากงานประจำของผม

3. การอ่านหนังสือที่เกี่ยวธุรกิจและการลงทุน
โดยเฉพาะหนังสือการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ  

4. การออกไปเที่ยว เดินห้างดูหนัง เที่ยวต่างประเทศ
อาจจะฟังดูแปลกว่าเกี่ยวอะไร แต่นี่คือการศึกษาพฤตกรรมผู้บริโภคและวิถีชีวิตผู้คนจากของจริง ทำให้เรามองทิศทางของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมและบริษัทที่เราสนใจลงทุนได้ดีเพราะเราสัมผัสเองโดยตรง แม้แต่โฆษณาบนรถไฟฟ้าที่หลายคนไม่ชอบผมก็ยังชอบดู เพราะการโฆษณาเป็นการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค เช่น โฆษณาน้ำยาล้างห้องน้ำสำหรับแม่บ้านที่ไม่เปลืองแรงถู...พอดูไปก็จะมองเห็นว่า...ตอนนี้คนใช้หายาก คนไม่ค่อยเป็นคนไข้ตามบ้านไปอยู่อุตสาหกรรมอื่นที่เงินดีกว่า รวมถึงคนไหลออกไปทำงานต่างประเทศ แรงงานราคาถูกก็เป็นคนพม่าเข้ามาทำแทน สินค้าสำหรับแม่บ้านที่เป็นผู้หญิงทำงานแต่วันหยุดเป็นแม่บ้านจึงออกมา จะเห็นได้ว่าแค่โฆษณาเดียวแต่เรามองได้ลึกกว่านั้นมาก

5. การเขียนบทความ (แบบที่ผมกำลังทำอยู่)
เป็นการรวบรวมความคิดที่กระจัดจายในหัวเข้ามาให้เป็นรูปเป็นร่าง พอเขียนจบแล้วความคิดจะชัดเจนมากขึ้น รวมถึงอาจจะเกิดไอเดียใหม่ๆได้เวลาที่เขียน คนที่อ่านก็จะได้ประโยชน์จากการอ่านเช่นกัน เป็นการเรียนรู้แบบต่อยอดกันไปเรื่อยๆ

6. การเรียนภาษาต่างประเทศ และการเรียนเรื่องธุรกิจ
โดยเฉพาะภาษาจีน(ภาษาอังกฤษตอนนี้พอได้แล้ว) เพราะผมสนใจจะลงทุนในหุ้นจีนตั้งแต่ต้นปี 53 เพราะการเติบโตของประเทศยังมีศักยภาพอีกมาก แต่ขอพอร์ตเมืองไทยใหญ่กว่านี้อีกหน่อย รวมถึงการเรียน MBA เมื่อเรียนจบเฉพาะทางแล้ว

7. การจดบันทึกความผิดพลาดทุกครั้ง และเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดอีกเป็นครั้งที่ 2  

และนี่คือภาพรวมทั้งหมดของแนวทางการลงทุนของผมในตอนนี้ ซึ่งก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ ในหนังสือ outliers ผู้เขียน คุณ Malcolm Galdwell ได้บอกถึงตัวเลขที่ต้องใช้ในการฝึกฝนเพื่อเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่งว่า ใช้เวลา 10000 ชม. หรือประมาณ 7 ปี ดังนั้นผมต้องฝึกฝนตัวเองอีกอย่างน้อย 5 ปีถึงจะไปถึงจุดที่ผมหวังเอาไว้ นั่นคือการเป็น player ระดับ Top ของการลงทุนแบบหุ้นเติบโตและเป็นนักลงทุนข้ามชาติ  มีก๊วนนักลงทุนระดับสุดยอดไม่ต้องมีเยอะแค่ 4-5 คนก็พอ

และถ้าเรามีเป้าหมายแล้วเราพยายามอย่างฉลาด ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรไกลเกินฝันแน่นอนครับ

และถ้าคนที่ลงทุนมา 2 ปีทำได้  คุณเองก็ทำได้เหมือนกันเชื่อผมสิ

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการลงทุนของผม (ตอนที่ 2)

โดย พงศกร

สัปดาห์นี้เรามาคุยกันต่อนะครับ...

หลังจากที่เราได้บริษัทที่มีคุณสมบัติ 2 ใน 3 อย่าง โดยจะมีรูปแบบดังนี้
1. Growth story + DCA
2. Growth story + good Cash flow
หรือ 3. มีคุณสมบัติทั้ง 3 รูปแบบคือ...Growth story + DCA + good cash flow

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามต้องมีการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นหลัก (Growth story) แล้วจึงดูคุณสมบัติอย่างอื่นเพิ่มเติม

3. การประเมินโอกาสและความเสี่ยง (Opportunity and Risk evaluation)
ผมจะประเมินโอกาสก่อน เพื่อเลือกหุ้นที่น่าสนใจเข้ามาอยู่ใน Watch list  เพราะถ้ามองความเสี่ยงก่อนเราอาจจะกลัวจนไม่กล้าจะสนใจบริษัทไหนเลย...(หรือ อาจจะไม่กล้าลงทุนในหุ้น ไม่กล้าแม้แต่จะใช้ชีวิต ไม่กล้าแม้แต่จะเดินออกจากบ้านด้วยซ้ำ !!!) โดยการมองโอกาสผมจะมองเป็น 3 ระดับ

           3.1 ระดับ Conservative เป็นระดับการเติบโตที่บริษัททำได้อย่างแน่นอน โดยคิดจากกรณีที่บริษัทเผชิญกับปัญหาหรือความเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Worst case scenario)  (ความเสี่ยงพวกดาวหางวิ่งชนโลก มนุษย์ต่างดาวบุกโลกหรืออะไรที่มีโอกาสเกิดน้อยมากๆๆ ผมจะไม่เอามาคิดในกรณีนี้) ถ้าประเมินอนุรักษ์นิยมแล้วบริษัทยังมีการเติบโตได้อีกมาก รายได้และกำไรเพิ่มได้อีกมากจากปัจจุบัน บริษัทที่ผ่านการประเมินแบบนี้จัดว่าน่าลงทุนเพราะโอกาสขาดทุนน้อยมาก (ทั้งนี้ขึ้นกับราคาหุ้นที่เข้าซื้อด้วย ราคาที่เข้าซื้อต้องประเมินจากระดับ conservative เท่านั้น) การประเมินความเสี่ยงจะทำในขั้นตอนนี้ โดยต้องเขียนออกมาให้หมดว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นความเสี่ยงของบริษัท เช่น มีสินค้าใหม่เข้ามาแข่งหรือมีคู่แข่งเข้ามาแข่งด้วย, บริษัทถูกควบคุมจากภาครัฐ, บริษัทประมูลงานไม่ได้ (ยกตัวอย่างเฉยๆ เพราะผมไม่ชอบหุ้น project based), สงครามราคา, ยอดขายไม่เป็นไปตามที่คาด (กรณีนี้เหมือนเป็นผลลัพธ์มากกว่า...แต่ผมจะเอาความคาดหวังของตลาดมาคิดเสมอ แล้วจะพูดในหัวข้อต่อๆไป) เป็นต้น โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต้องกระทบต่อพื้นฐานของบริษัทในระยะยาวจึงจะเป็นความเสี่ยงที่เรากลัวจริงๆ...กรณีที่เป็นความเสี่ยงชั่วคราวไม่ได้กระทบต่อพื้นฐานระยะยาวของบริษัท ผมมองว่าเป็นโอกาสเข้าซื้อมากกว่า

           3.2 ระดับ Fair เป็นระดับการเติบโตของรายได้และกำไรที่น่าจะเกิดขึ้นจริงตามความน่าจะเป็น เป็นระดับที่ผมใช้ประเมินมูลค่าเมื่อเข้าถือแล้วและกำหนดโซนถือไปถึงโซนขาย (Hold and Sell zone)

           3.3 ระดับ Advance เป็นระดับที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท โดยเขียนออกมาให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นไปได้ที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น...เช่น การปรับปรุงโครงสร้างบริษัท, การควบรวมกิจการ, ยอดขายโตกว่าที่ตลาดคาดไว้มากๆ, บริษัทได้งานที่มูลค่าสูงมากๆ เป็นต้น

การประเมินโอกาสทั้ง 3 ระดับที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท ให้เขียนออกมาให้ชัดเจนว่าในแต่ละกรณีมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่มีโอกาสเกิดขึ้น และทำการประเมินมูลค่าหุ้นทั้ง 3 กรณี โดยมูลค่าหุ้นแบบ conservative จะนำมาซึ่งการกำหนดโซนซื้อ (Buy zone) โดยให้มีส่วนต่างความปลอดภัย (MOS – Margin of Safety) 30-50% จากมูลค่าของบริษัทเมื่อประเมินแบบ conservative เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะไม่ขาดทุน

ต่อมาให้ตั้ง Target price โดยใช้การประเมินมูลค่าแบบกรณี Fair เพราะเป็นกรณีที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะเกิดเหตุการณ์ และจะนำมาซึ่งการกำหนดโซนถือและโซนขาย (Hold and Sell zone)

แล้วถ้าอย่างนั้นกำหนดรูปแบบ Advance ไปทำไม? การกำหนด Best case scenario เพื่อให้เราไม่พลาดโอกาสที่ดีที่สุดถ้าเกิดขึ้นกับบริษัท เราต้องคว้าไว้ได้...รวมถึงสามารถประเมินมูลค่าทั้ง 3 รูปแบบขึ้นใหม่ได้ถ้ามีกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ดีมากๆกับบริษัท (โดยต้องประเมินด้วยว่าเหตุการณ์กระทบพื้นฐานของบริษัทแบบชั่วคราวหรือถาวร ถ้าชั่วคราวแล้วราคาวิ่งไปสูงมากต้องขาย แต่ถ้าพื้นฐานเปลี่ยนแบบถาวรต้องประเมินมูลค่าใหม่และถือต่อ) เพราะบางครั้งราคาหุ้นวิ่งอย่างรุนแรงก่อนที่จะมีการประกาศข่าวดีอย่างเป็นทางการ ดังนั้นต้องถามตัวเองว่า...ราคาวิ่งรุนแรงครั้งนี้จะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงพื้นฐานในทางที่ดีขึ้นที่เราเคยคาดไว้หรือไม่?

การประเมินความเสี่ยงในกรณีเข้าถือผมได้พูดไปแล้วในกรณีรูปแบบ conservative ต่อมาจะประเมินความเสี่ยงในกรณีที่ต้องขาย นั่นคือเราพบว่าในภายหลังว่าเหตุผลของการเข้าถือไม่เป็นไปตามคาดในระยะยาว เช่น บริษัทไม่เติบโตอีกต่อไปแล้ว รายได้ลุ่มๆดอนๆไม่สม่ำเสมอ ผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์  ความต้องการสินค้าและบริการลดลงเรื่อยๆ เป็นต้น

4. การประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation)
เมื่อเราคิดรูปแบบที่เป็นไปได้ 3 รูปแบบ ผมจะมานั่งคิดมูลค่าที่เป็นไปได้ในแต่ละรูปแบบ โดยใช้วิธี

           4.1 ขนาด Market Cap โดยจะมีการเปรียบเทียบบริษัทชนิดเดียวกันกับตลาดต่างประเทศว่าบริษัทชนิดนี้ควรจะมี Market Cap ขนาดไหน เนื่องจากการดูอัตราส่วนทางการเงินเพียงอย่างเดียวจะทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็นอนาคตของบริษัท เนื่องจากการซื้อหุ้นคือการซื้ออนาคตของบริษัท บริษัทที่จะมีอนาคตได้นั้นต้องประเมินจากปัจจัยเชิงคุณภาพในปัจจุบันมากกว่าที่จะประเมินปัจจัยเชิงปริมาณ ถ้าบริษัทมีพื้นฐานที่ดีเยี่ยมใน 3 ข้อที่ผมกล่าวมา อัตราส่วนทางการเงินสวยๆจะตามมาเอง ถ้า Market cap ของบริษัทไทยกับอเมริกาแตกต่างกันมากๆเป็นสิบๆเท่า โดยที่บริษัทไทยอยู่ในช่วงเติบโตตามรอยของอเมริกาก็ให้พิจารณาเข้าซื้อได้ (แม้ว่าPE จะสูงลิบลิ่วก็ไม่เป็นไร)

           4.2 Forward PE ratio เป็นการมองกำไรในรอบ 1 ปีข้างหน้าเพื่อมาหาสัดส่วน price per earning ในอนาคตของราคาในปัจจุบันเพื่อหาว่าหุ้นยังน่าลงทุนหรือไม่ การดู PE ต้องดูอนาคตเท่านั้น เพราะการยึดปัจจุบันและอดีตจะทำให้พลาดได้ โดยเฉพาะบริษัทที่กำไรไม่สม่ำเสมอ เราอาจจะเข้าซื้อตอน PE ต่ำ แต่นั่นคือดอยแล้วเพราะถัดจากนี้ไปคือช่วงขาลงของบริษัทที่กำไรมีแต่จะลดลง ทำให้ Forward PE สูงลิบลิ่ว...การที่ไม่ซื้อหุ้น PE สูงๆโดยที่ไม่ดูข้อมูลเชิงคุณภาพจะทำให้พลาดได้ เพราะการที่พื้นฐานของบริษัทดีขึ้นเรื่อยๆจะทำให้รายได้และกำไรเพิ่ม และนำมาซึ่ง Forward PE ซึ่งนับวันจะลดลงเรื่อยๆ และเป็นหุ้นราคาถูกที่คนมองข้ามเพียงเพราะ PE สูงในปัจจุบัน

โดยการกำหนด PE ของบริษัทที่ควรจะเป็นให้ใช้ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของบริษัท อย่าไปเที่ยวต่อว่าตลาดว่าทำไมให้ PE น้อยจัง นั่นเพราะแต่ละธุรกิจมีโอกาสและความเสี่ยงต่างกัน การเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกันบางครั้งยังไม่ควรทำเลยด้วยซ้ำ...ผมไม่เคยหวัง Capital gain จากการปรับ PE ของตลาดเลย (ถ้ามีก็เป็นเพียงของแถมเท่านั้น) สิ่งที่หวังได้คือ ราคาหุ้นเพิ่มตามกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว

           4.3 การทำ DCF การประเมินมูลค่าแบบ DCF เป็นการประเมินที่ต้องใช้ตัวแปรหลายปัจจัยซึ่งอาจจะนำมาถึงตัวเลขที่แตกต่างกันมากๆได้...อย่างไรก็ตามผมมักจะคิดDCF ไว้หลายๆแบบเพื่อ recheck การประเมินมูลค่าแบบ Market caps และ Forward PE โดยบริษัทที่ผมจะใช้ DCF ผมจะต้องคาดการณ์อนาคตของบริษัทได้ค่อนข้างแน่นอน

           4.4 ประเมิน PBV ผมจะเอาไว้ใช้กับหุ้น cycle ขาลง และหุ้น Asset play (ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ใช่ความถนัดของผม แต่ก็เล่นบ้างถ้ามีโอกาสและปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้นที่ชัดเจน)

5. ประเมินปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้น (Driver)
ราคาหุ้นจะนิ่งสนิทอยู่แบบนั้นถ้าไม่มีปัจจัยมาขับดัน ยกตัวอย่าง driver ที่ผมจะชอบใช้นะครับ

            5.1 รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม ... กรณีนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งหุ้นเติบโตที่วิ่งไปได้ไกลในระยะยาวก็เพราะปัจจัยขับเคลื่อนข้อนี้เป็นหลัก

            5.2 ปันผลเพิ่ม ... นั่นคือเงินถึงมือผู้ถือหุ้นมากขึ้น ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบอื่นๆ เช่น เงินฝากระยะยาว พันธบัตร หุ้นกู้ และเปอร์เซ็นต์ของปันผลสูงมากๆราคาจะวิ่งแน่นอน เพราะเงินจะไหลสู่สินทรัพย์ที่ผลตอบแทนที่สูงที่สุด แต่ความเสี่ยงต่ำที่สุด ยิ่งถ้าเงินปันผลที่เพิ่มมาจากกำไรจากการดำเนินงาน(Operating profit) ที่เพิ่มขึ้นมั่นใจได้เลยว่าราคาไปได้อีกไกลแน่ หรือแม้แต่กรณีที่เงินสดเหลือมากๆแล้วปันผลพิเศษก็ทำให้ราคาหุ้นวิ่งอย่างรุนแรงได้เหมือนกัน

             5.3 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัท (Structural change) เช่น การขายบริษัทที่ขาดทุนออกไป, การปรับเปลี่ยนการเก็บสต๊อกที่สั้นลง, การควบรวมหรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่จะส่งเสริมกิจการซึ่งกันและกัน, โดยเหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตของบริษัท ราคาหุ้นก็จะวิ่ง

             5.4 การเปลี่ยนแปลงตัวเลขทางบัญชี เช่น Gross profit margin สูงขึ้น โดยอาจจะมาจากการเพิ่มขายสินค้าที่มี margin สูงในสัดส่วนที่สูงขึ้น อาจจะการที่บริหารจัดการต้นทุนได้ถูกลงเรื่อยๆ อาจจะมาจากค่าเงินบาทแข็งขึ้นทำให้นำเขาสินค้าได้ถูกลง, หรือ Net profit margin สูงขึ้น อาจจะมาจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงเพราะบริษัทไม่ต้องกู้เนื่องจากสามารถใช้เครดิตสต๊อกสินค้าได้ มีเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาชำระหนี้เงินกู้ การที่รัฐบาลลดหย่อนภาษีให้ การเกิด Economy of scale เป็นต้น

6. การมองเศรษฐกิจภาพรวมที่มีผลต่อธุรกิจที่เราสนใจ
การมองและเลือกหุ้นในอุตสาหกรรมที่กำลังโตเป็นการมองจากภาพรวม (Top down) หลังจากที่เราเลือกบริษัทที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว ผมจะมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันมีผลอย่างไรบ้างกับบริษัทที่เลือก (Down top) ซึ่งบริษัทที่ดีมากๆ เศรษฐกิจโดยรวมควรจะมีผลต่อบริษัทน้อยมากๆ (แต่ไม่มีทางที่จะไม่มีผลเลย) ซึ่งผมเรียกการประเมินทั้งหมดว่า Top down and Down top recheck เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนทั้งบริษัทและองค์ประกอบโดยรอบ

เหมือนเมล็ดพันธ์จะเติบโตได้ต้องอาศัยดินที่ดี มีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่นกัน ... บริษัทที่ดีถ้าได้อยู่ในองค์ประกอบที่ดี ย่อมนำมาซึ่งการเติบโตที่แข็งแรงได้

แต่ไม่ใช่ว่าจะให้ความสนใจกับ Macroeconomic มากเกินไป ให้สนใจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น...เพราะไม่ใช่ทุกปัจจัยที่จะมีผลต่อบริษัทที่เราถือ แม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจแต่บางบริษัทก็ยังเติบโตได้ นั่นคือมีโอกาสในทุกสถาณการณ์ขึ้นอยู่กับเราว่าจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้นเอง...

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินกู้ (มีผลต่อธุรกิจ ลูกค้าที่ใช้การผ่อนชำระ แบงค์) ดอกเบี้ยเงินฝากหุ้นกู้พันธบัตร (มีผลต่อการเลือกตัดสินใจลงทุน) ค่าเงินบาท (มีผลต่อธุรกิจที่ต้องนำเข้าหรือส่งออก) ราคาทองคำและUSD index (มีผลต่อการทำ Asset Allocation ของพวกกองทุนต่างชาติ – อันนี้จะเป็นเรื่อง Fundflow เดี๋ยวค่อยมาว่ากันอีกที) ตัวเลขการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถยนต์ใหม่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ความเชื่อมั่นในการใช้เงิน) ราคาน้ำมัน (เป็นต้นทุนของหลายๆธุรกิจ) เป็นต้น (เฉพาะเรื่องนี้เขียนได้อีกเรื่องนึงเต็มๆ)

ปล. ตอนแรกตั้งใจว่าจะให้จบในตอนนี้แต่กลับไม่จบแฮะ...ต่ออาทิตย์หน้าละกันครับ^^

แนวทางการลงทุนของผม (ตอนที่ 1)

โดย พงศกร 

ขอถือโอกาสที่กลับมาเขียนบทความอีกครั้ง... แชร์ประสบการณ์ในตลาดหุ้นของตัวเองหลังจากลงทุนมาครบ 2 ปี

ผมเข้าตลาดหุ้นช่วงต้นปี 52 หลังเกิดวิกฤต subprime ตอนนั้นรู้แต่ว่าตลาดหุ้นตกหนักมาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพราะอะไร? มารู้ทีหลังว่าบริษัท Lehman Brother ล้มละลาย ... ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าหุ้นเล่นแบบไหน ต้องซื้อขายยังงัย บริษัทอะไรทำกิจการอะไรไม่รู้เลย เรียกว่าในหัวกลวงโบ๋...รอบตัวผมและคนที่รู้จักไม่มีใครเล่นหุ้นเป็นซักคน แต่ผมรู้ว่านี่คือโอกาสทองที่หาได้ยากยิ่ง...

ผมพยายามใช้การถามคนใกล้ตัวที่พอรู้จัก...โชคดีที่มีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมากท่านนึงแนะนำให้ไปอ่านหนังสือของ Warren Buffet ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร? ทุกวันนี้ยังขอบคุณผู้ใหญ่ท่านนั้นอยู่เลย แม้ว่าสไตส์การลงทุนจะไม่เหมือนกันก็ตาม (ของท่านจะเล่นแต่ Bigcaps พวก PTT Family)

ช่วงที่ไปเปิดพอร์ตจำได้ว่า...สายตามาร์เก็ตติ้งดูถูกมาก เพราะผมบอกว่าผมยังไม่รู้อะไรเลย บอกว่าให้ผมไปศึกษามาก่อนปีนึง ตอนนั้นผมบอกเค้าไปว่า...หุ้นอสังหามาแน่... มาร์เก็ตติ้งไม่เชื่อ(ตอนนี้คงเจ็บใจน่าดู555)...ผมก็เลยไม่เปิดพอร์ตกับโบรกนั้นเลย (สาเหตุที่ผมบอกเรื่องอสังหามาแน่ตอนนั้นไม่ใช่ว่าผมเซียนอะไร...แต่หมอดูเคยบอกว่าผมมีดวงด้านอสังหา 555...แต่ตอนนี้ผมไม่เชื่อเรื่องดวงแล้ว เชื่อเรื่องการกระทำ การสร้างเหตุที่ดีมากกว่า)

สุดท้ายถึงได้มาเปิดพอร์ตกับกิมเอ็ง...กับมาร์เก็ตติ้งที่ยังดูแลถึงปัจจุบัน ด้วยเงิน 2 แสนบาท

แรกๆที่เริ่มเข้าตลาดยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า PE ratio คืออะไร? ดูแต่ชื่อหุ้นกับราคา...ตัวไหนชื่อดังก็ชื้อตัวนั้น...และก็เจอดีกับ land and house ขาดทุนทีเดียว 8 หมื่นบาท ในช่วงที่ตลาดลงไปแตะ 400 จุดในเดือนมีนาคม ตอนนั้นทุกข์ใจและกระสับกระส่ายมากเพราะเงิน 8 หมื่นกว่าจะหาได้ต้องทำงานเป็นครึ่งปี แต่ก็ไม่ได้ยอมแพ้... ได้ไปซื้อหนังสือทุกเล่มที่มีชื่อ Warren Buffet มาอ่าน เล่มแรกที่อ่านแล้วคิดว่าดีคือ Buffetology เป็นหนังสือที่เปิดโลกทัศน์อย่างมากสำหรับคนที่ไม่รู้อะไรเลยอย่างผม...

หลังจากนั้นผมได้ศึกษาพื้นฐานของหุ้นอย่างจริงจัง...ในเวลาว่างที่พอจะมีบ้างของการเรียนต่อแพทย์ประจำบ้าน

ผมพบว่า...การเล่นหุ้นจริงๆแล้วไม่ใช่การพนันแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน (ทุกวันนี้ยังเปลี่ยนความเชื่อของคนใกล้ตัวหลายๆคนไม่ได้เลย) แต่การชื้อหุ้นคือการเป็นเจ้าของธุรกิจตามสัดส่วนการถือหุ้น ประสบการณ์ที่เห็นที่บ้านทำธุรกิจและความที่ผมเป็นคนชอบวิเคราะห์กลยุทธ์ทางการค้าจึงนำมาใช้กับการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบเน้นคุณค่า(Value investment) ในแบบที่เรียกว่ากลมเกลือนได้ทันที เรื่องการเล่นหุ้นผมเริ่มต้นจาก 0 แต่เรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจผมไม่ได้เริ่มต้นจาก 0 เหมือนคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางธุรกิจมาก่อน...(ผมเคยทำบัญชี ส่งของ พบปะลูกค้า วิเคราะห์กลยุทธ์ให้กับธุรกิจทางบ้าน รวมถึงชอบเรื่องเล่นเกมส์ทุกชนิดโดยเฉพาะโกะ ชอบเรียน Physicและ Math เป็น Physic Olympics ที่7 รอบคัดตัวแทน)

แรกๆผมต้องต่อสู้กับความเชื่อของทางบ้านที่ไม่ยอมรับการลงทุนในหุ้น (ทุกวันนี้ทางบ้านก็ยังไม่ยอมรับ...แต่ก็ดีขึ้นบ้างหลังจากที่พอร์ตผมโต 7- 8 เท่าจากเงินเก็บทั้งหมด) ต้องเล่นโดยไม่ให้ที่บ้านรู้ในตอนแรกๆ ..และผมไม่สามารถเอาเงินเก็บ 1 ล้านบาทมาลงทุนในหุ้นได้เลย แม้ว่าเงินก้อนนั้นจะเป็นเงินที่ผมทำงานหามาด้วยตัวเองและเก็บออมเป็นเวลา 3 ปีเต็ม โดยยอมอดใจที่จะไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ๆเท่ห์เหมือนคนอื่นๆ...หลังจากที่พอร์ตหลักแสนโตเป็นพอร์ตหลักล้าน(ช่วงปี 53) ทางบ้านจึงพอยอมรับบ้าง ผมจึงนำเงินทั้งหมด 1 ล้านมาบวกกับพอร์ตปีแรกและลงทุนต่อในปี 53...

ในปีแรกที่พอร์ตหลักแสนและยังไม่มีใครเห็นโอกาส ผมพยายามทุกวิถีทางที่นำเงินมาลงทุน รับงานตรวจ OPD เบอร์ 9 อยู่เวรทุกอย่างที่กำลังกายพอจะมี โดยที่การเรียนและงานประจำต้องไม่เสียแม้แต่น้อย... เพื่อโอกาสที่มีแต่ผมที่มองเห็นในตอนนั้น

ในช่วงแรกผมใช้การลงทุนในหุ้น PE ต่ำเป็นหลัก...ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นวัฏจักรที่ราคาติดดิน (PBV ต่ำ) เช่น STANLY AMATA เพราะมองว่าหุ้นเหล่านี้เมื่อเศรษฐกิจพื้นตัวราคาหุ้นน่าจะกลับไปอยู่ที่เดิมได้ รวมถึง PM ที่ตอนนั้นผมมองว่าเป็นหุ้น turnaround PE ต่ำมาก...ผมเข้าเพราะเชื่อว่ากำไรน่าจะต่อเนื่องล้างขาดทุนสะสมได้หมด...

สุดท้ายผมพบว่า...ผมคิดผิดกับ PM ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าล้างขาดทุนสะสมหมดราคาต้องไปเหนือ IPO แน่ๆ...แต่กลับไม่ใช่ หุ้น PE ต่ำยังงัยมันก็จะต่ำอยู่อย่างนั้น ถ้าตราบใดมันไม่มีการ”เติบโต” ...ไม่มีปัจจัยมาขับเคลื่อนราคาหุ้น (อย่างไรก็ตามผมได้กำไรจาก PM > 50% โดยยังไม่รวมปันผล)

จากบทเรียนครั้งนั้นผมจึงสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่...แค่ธุรกิจมั่นคง กำไรสม่ำเสมอไม่พอ...ต้องมีการ”เติบโตของกำไร”ด้วย

และนั่นเป็นโครงสร้างหลักของแนวคิดการลงทุนของผมจนถึงทุกวันนี้...

แนวทางการลงทุนของผม

1. ลงทุนในบริษัทที่มีการเติบโตสูง รายได้เติบโตมากกว่า 20% ต่อปี

- ผมจะเน้นหุ้นโตเร็วเกือบทั้งพอร์ต อาจจะมีหุ้นวัฏจักรบ้าง (เดี๋ยวจะเขียนเรื่องหุ้นวัฏจักรอีกครั้ง) สาเหตุที่ผมเน้นหุ้นโตเร็วเพราะ...

                 1.1 หุ้นเติบโตเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด (แต่ของตลาดไทยน่าจะเป็นหุ้นวัฏจักรมากกว่า) ราคาหุ้นจะไปตามกำไรของบริษัท ถ้ากำไรเพิ่มราคาหุ้นจะเพิ่มตาม อย่างน้อยก็ในระยะยาว (ระยะสั้นจะตามอารมณ์ตลาด...ต้องมีเวลาเกาะติดสถานการณ์มากพอควรซึ่งผมไม่มีเวลา) ปัจจัยที่ drive ราคาหุ้นมีชัดเจนคือ กำไรที่เพิ่มขึ้น ปันผลที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมโดยรวมเติบโตขึ้นแล้วข่าวดีก็จะไหลเข้ามาๆ...ผมไม่ต้องเสียเวลาและเปลืองตัวเชียร์หุ้นเลยแม้แต่น้อย รอแค่เวลาเหมาะสมเท่านั้นเอง

                 1.2 หุ้นเติบโตเป็นหุ้นที่ถือยาวได้...ไม่ต้องซื้อขายบ่อยๆ (อาจจะมีการทำ partial short against port ไปบ้างถ้ามีเวลา)...เพราะจะมีผลตอนที่พอร์ตขนาดใหญ่ขึ้นมากๆ ถ้าต้องซื้อขายบ่อยๆจะเสียเวลาปรับพอร์ต เสียค่าคอม ต้องเข้าๆออกๆซึ่งไม่ใช่วิธีให้เงินทำงานเลย ทำงานให้เงินซะมากกว่า ยิ่งถ้าไปลงทุนต่างประเทศจะมีการเก็บภาษี capital gain ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผลตอบแทนของพอร์ตเลย) รวมถึงไม่สนว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง ฝรั่งจะมาหรือไป...ขอแค่รายได้เติบโต กำไรเติบโต พื้นฐานดีขึ้นเรื่อยๆก็ถือต่อ หุ้นลงหนักๆก็ปรับพอร์ตเข้าช้อน มีเวลาไปทำสิ่งดีๆ พักผ่อนเที่ยวเล่น อยู่กับคนที่เรารัก สร้างสิ่งดีๆให้กับสังคมได้อีกมาก

                 1.3 หุ้นเติบโตเร็วต้องใช้ความสามารถในการวิเคราะห์สูง...นั่นทำให้คู่แข่งของผมเหลือน้อยลง โดยเฉพาะการอ่านเกมส์ที่มากกว่า 1 ปีขึ้นไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าบริษัทที่คาดว่าจะเติบโตเร็วจะเป็นไปได้ตามที่คาดหรือไม่ หุ้นเติบโตหลายๆตัว PE สูงลิบลิ่ว...นักลงทุนหลายๆคนจึงกลัวหุ้นชนิดนี้ แต่ผมมองว่าท้าทายความสามารถเพราะต้องอ่านธุรกิจทั้งระบบว่าอุตสาหกรรมไหนเติบโต...และเติบโตมาจากความต้องการส่วนไหนของสังคม สังคมจะมุ่งหน้าไปทางไหนเพราะอะไร นวัตกรรมไหนที่กำลังขับเคลื่อนสังคม ธุรกิจนี้มีจุดแข็งที่เหนือกว่าธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างไร ความเป็นไปได้ที่ธุรกิจนี้จะเติบโตมีกี่เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงคืออะไร เป็นต้น (เฉพาะหัวข้อนี้น่าจะขยายได้หลายบทความ)

                  1.4 หุ้นเติบโตต้องใช้ความมั่นคงทางจิตใจค่อนข้างมากในการถือเพราะราคาจะผันผวนกว่าหุ้นทั่วไปมาก ราคาอาจจะแกว่ง+/- 30 เปอร์เซ็นต์ได้ไม่ยากเลย ถ้าจิตใจไม่มั่นคงพอก็ถือไม่ไหว (แต่ในจะยะยาวจะ outperform market ตลอด) ยิ่งช่วงแรกๆที่ถือจะถูกกระแนะกระแหนค่อนข้างมาก...แต่เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าหุ้นตัวนี้คนยังสนใจน้อยและราคายังถูกอยู่ ตอนหลังๆเลยไม่ชอบบอกใครว่าถือหุ้นตัวไหนอยู่

2. รายละเอียดของหุ้นโตเร็วที่ผมจะเข้าถือ...

                 2.1 บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต(Growth story)...ซึ่งประเมินจาก Life style ของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ...เมื่อก่อนเวลาว่างคนพักผ่อนอยู่กับบ้าน เดี๋ยวนี้ต้องออกไปเดินห้าง...เมื่อก่อนมือถือต้องเป็นคนที่มีสตางค์ใช้เท่านั้นเดี๋ยวนี้ใครๆก็มีมือถือ...เมื่อก่อนคนฮิตโนเกีย 3310 เดี๋ยวนี้ต้อง smartphone...เมื่อก่อนคนซื้อของตามร้านของชำแถวบ้าน เดี๋ยวนี้ต้องเข้า modern trade...เมื่อก่อนคนชอบซื้อของโดยใช้เงินสด เดี๋ยวนี้หันมาใช้บัตรเครดิตมากขึ้น...เมื่อก่อนคนส่งเมลหากัน เดี๋ยวนี้ต้อง social network...เป็นต้น (ที่จริงยังมีอีกมาก)
                ซึ่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ได้สร้าง demand ให้กับหลายๆธุรกิจ และมีธุรกิจที่เติบโตภายได้ supply chain ที่เกิดจาก demand chain นั้นๆ
                พอเรามองเห็นกระแสสังคมที่กำลังมุ่งหน้าไป เราก็จะรู้ว่าอุตสาหกรรมไหนกำลังมา...การลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังโตจะดูง่ายกว่าการหาบริษัทที่ดีในอุตสาหกรรมที่ไม่โตแล้ว เพราะบริษัทจะออกแรงเพียงครึ่งเดียวในการเติบโต อีกครึ่งที่เหลือกระแสสังคมจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปให้...
                แล้วเราก็เลือกซื้อบริษัทที่ดีที่สุด (or upside ดีที่สุด) ในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยที่ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์มองเห็นการเติบโตที่ชัดเจนแบบ conservative และ advance ถ้าผู้บริหารไม่มีวิสัยทัศน์มองไม่เห็นโอกาสผมจะไม่ถือเพราะถึงแม้อุตสาหกรรมโตแต่บริษัทคงไม่สามารถฉกฉวยโอกาสได้
                (...แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆอย่างเดียว...อุตสาหกรรมเก่าๆก็สามารถเติบโตได้เช่นกัน ภายใต้ demand trendนี้ ยกตัวอย่าง เช่น กระเบื้องเติบโตตามอุตสาหกรรมสร้างบ้าน ซ่อมบ้าน แม้ว่าจะเป็นธุรกิจเก่า หรือเพชรเติบโตตามวิถีชีวิตสาวโสดและคนหันมาลงทุนในอัญมณีมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นธุรกิจเก่า...เพียงแต่บริษัทที่เราจะเลือกต้องเติบโตได้มากกว่าอุตสาหกรรมโดยรวมจากความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า)
            
                2.2 ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท (Durable competitive advantage)
                การเลือกบริษัท ต้องเลือกบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในระยะยาว...เพราะไม่งั้นอาจจะล้มหายตายจากไปก่อนจากการแข่งขันที่รุนแรง นั่นคือบริษัทต้องมีความได้เปรียบบางอย่าง เช่น
                - ตราสินค้า (Brand) เป็นที่นิยม สามารถครองใจลูกค้าไว้ได้ ลูกค้าไม่ค่อยเกี่ยงราคาทำให้สามารถตั้งราคาขายสูงขึ้นได้ มี mind share ในใจลูกค้าสูง แล้ว market share จะตามมาเอง บริษัทจะเป็นตัวเลือกแรกๆหรือตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวในการให้บริการสินค้านั้นๆ
                 - ต้นทุนถูกกว่ารายอื่นๆ ทำให้ตั้งราคาขายได้ต่ำกว่า...ลูกค้าจะเลือกของที่ถูกกว่าถ้าคุณภาพเท่ากัน ซึ่งการควบคุมต้นทุนทำได้หลายวิธี เช่น การมี Economy of scale ที่ยอดขาย break even point โดยที่เลย fixed cost ไปเรื่อยๆ ขณะที่ variable cost เพิ่มไม่มากนัก และยอดขายที่เพิ่มขึ้นทำให้การสั่งของจาก supplier ทำได้มากขึ้นและต่อราคาต้นทุนได้ถูกลงอีกไปเรื่อยๆ หรือ การที่มี innovation หรือ management บางอย่างที่บริษัททำได้ดีกว่ารายอื่นๆ ทำให้ลดงานซ้ำซ้อน ลดคนงาน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้มาก
                 - การบริหารจัดการ (Management) และประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆอย่างชัดเจน

ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนี้ (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) จะเป็นตัวบอกว่า การเติบโตที่คาดการณ์นั้นเป็นไปได้หรือไม่!!! นี่แหละ key point
            
                2.3 กระแสเงินสดยอดเยี่ยม (good Cash flow)
               
บริษัทที่มีการไหลเวียนของกระแสเงินสดไม่ดี จะทำให้การเติบโตหยุดชะงักและต้องเพิ่มทุน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นเลย บริษัทที่ดีต้องใช้เงินลงทุนน้อย ลงทุนไม่บ่อย แต่ลงทุนแล้วสามารถสร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนได้มาก...ค้าขายรับเป็นเงินสด(หรือเงินเชื่อที่ใช้เวลาเก็บไม่นาน หนี้สูญน้อย)...ค้าขายกับEnd customer ที่มีอำนาจการต่อรองน้อย...ค้าขายกับรายใหญ่ที่มีประวัติการจ่ายเงินชัดเจนและตรงเวลา ซื้อของเป็นเงินเชื่อ...ทำให้เหลือเงินสดไว้ทำอย่างอื่นได้อีกมาก เช่น จ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืน หรือ ลงทุนต่อเนื่อง

ถ้าบริษัทไหนมีคุณสมบัติเข้าได้กับ 3 ข้อนี้ก็เก็บไว้ใน list และจับตาดูเอาไว้...