วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

รถยนต์










บทความนี้จะพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องการขนส่ง (transportation) เน้นเรื่องรถยนต์เป็นหลัก  มุมมองต่อรถยนต์ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่ง  การเลือกซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า  ความเข้าใจอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งที่นำไปสู่การลงทุนในหุ้นเติบโตที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางทุกวันนี้แม้ว่าจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เครื่องบิน (กรณีรถเมล์แดง รถไฟผมขอไม่นับเพราะถือว่ายังอันตรายและไม่ได้มาตราฐานสำหรับเมืองไทย  สังเกตได้จากข่าวอุบัติเหตุที่สื่อนำเสนอบ่อยๆ)  ผู้คนโดยเฉพาะในเมืองหลวงหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตราฐานมากขึ้นเช่น รถไฟฟ้า เพราะประหยัดและเดินทางสะดวกกว่า  แต่สำหรับคนที่มีครอบครัว คนที่เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ การมีรถยนต์เป็นของตัวเองอาจจะสะดวกกว่าและเป็นอิสระกว่าการใช้ขนส่งมวลชนไปเรื่อยๆ  ยังไม่รวมถึงคนที่ต้องการมีรถยนต์เพื่อความโก้หรูให้ผู้คนชื่นชม  ดังนั้นการซื้อรถยนต์จึงเป็นความต้องการที่ไม่เคยหมดไป  แม้ว่าความต้องการจะดูมีวัฏจักรการขึ้นลงตามรอบเศรษฐกิจ  ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีคนที่มีความต้องการรถจะชะลอการซื้อรถออกไปก่อน  เมื่อเศรษฐกิจดีผู้คนมั่นใจในความมั่นคงของงานและรายได้ของตนเอง การจับจ่ายใช้สอยในสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์จะเริ่มตามมา

ผมเองไม่เคยซื้อรถยนต์เลยตั้งแต่เริ่มทำงาน  โดยผมใช้การบริการขนส่งมวลชนมาตลอด เช่น เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟฟ้า  นั่นทำให้ผมเก็บเงินได้  แทนที่ผมจะเอาไปซื้อรถและต้องมีหนี้สินในการผ่อนรถยนต์  ผมได้มีเงินออมไปลงทุน...ซึ่งการลงทุนช่วงแรกของการทำงานจะเป็นการลงทุนในเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น  ...การออมทำให้ผมมีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุนเมื่อตลาดหุ้นตกอย่างหนักปี 2008 แม้ว่าจะยังไม่มีความพร้อมเรื่องความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนก็ตาม

ปัจจัยเรื่องการไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ด้วยเงินผ่อนตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงานและนำเงินที่ได้จากการทำงานมาเก็บออมน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ระดับสินทรัพย์ของผมต่างจากคนทั่วไปที่อายุพอๆกัน และเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันที่ทำงานพร้อมๆกัน  เพราะผมแทบไม่มีแต้มต่อคนอื่นในเรื่องของรายได้เลย  รายได้เท่าคนอื่นหรือน้อยกว่าด้วยซ้ำ  ผมไม่ได้ทำงานพิเศษ  ผมไม่ได้มีอาชีพเสริม  ผมทำงานรับราชการธรรมดาๆ  ... สิ่งที่แตกต่างคือรายจ่าย  ผมประหยัดมากกว่าคนอื่น