ต้องออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เก่งการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ผมเห็นว่าการศึกษาและเข้าใจเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต ทั้งในส่วนการวิเคราะห์หุ้นเติบโตที่ต้นทุนการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรมต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุนในหุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง ผมจึงนำบทวิเคราะห์ภาพรวมของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำเอาไว้มาแบ่งปันกัน เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ของผม
หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์จัดเป็นส่วนหนึ่ง (Subset) ของหุ้นวัฎจักร (Cyclic stock)
หุ้นวัฎจักรเป็นหุ้นที่กำไรขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อตลาดเป็นขาขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นบริษัทจะกำไรอย่างมาก แต่ถ้าตลาดเป็นขาลงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภคจะลดลงอย่างมากและสวนทางการกับกำลังการผลิตที่ยังสูงต่อเนื่องจากช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply) กำไรของบริษัทจะลดลงอย่างมากจนอาจจะถึงขั้นขาดทุนอย่างมาก
ตัวอย่างของหุ้นวัฎจักร เช่น บริษัทรถยนต์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ (สินค้าฟุ่มเฟือยไม่นับรวม โลหะทอง โลหะเงิน และสินค้าอื่นๆที่มีคุณค่าในเชิงการลงทุนนะครับ) เพราะช่วงคนเรารายได้น้อยจะดูแลเรื่องปากท้อง พยายามประหยัด บ้านที่พออยู่ได้ก็อยู่ไปก่อน รถพอขับได้ก็ขับไปก่อนหรือขึ้นขนส่งมวลชนไป เมื่อเศรษฐกิจเมฟื้นตัว ผู้คนรายได้เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา ความต้องการสินค้าที่ถูกกดเก็บไว้หลายปีก็ถูกแสดงออก ยอดขายบ้านขายรถ สินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มกลับมา ยอดขายสูงขึ้นมาก รวมถึงคนใช้จ่ายกับการท่องเที่ยว สันทนาการต่างๆเพิ่มขึ้น
การลงทุนหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจจนเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว หุ้นวัฎจักรจึงเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงมาก
เอาล่ะวันนี้เราจะมาพูดถึงเฉพาะส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมนะครับ
ความสำคัญของการเข้าใจกลไกของสินค้าโภคภัณฑ์
ความรู้จะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนที่สนใจหุ้น 2 ประเภทนี้
1. บริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์
การลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมากหากนักลงทุนลงทุนได้ถูกจังหวะ และขาดทุนได้อย่างมากเช่นกันถ้าลงทุนผิดจังหวะ การเรียนรู้กลไกสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เราลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น
2. บริษัทที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าโภคภัณฑ์
แน่นอนว่าเกือบทุกบริษัทต้องใช้ต้นทุนการผลิตและการบริการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์แทบทั้งนั้น เพียงแต่สัดส่วนอาจจะแต่งต่างกันไป การทำความเข้าใจสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เรารู้ถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของกำไรของบริษัทจากการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น ต้นทุนลดทำให้มาร์จิ้นเพิ่มกำไรเพิ่ม ต้นทุนเพิ่มมาร์จิ้นลดกำไรลด แต่ถ้าบริษัทสามารถส่งต่อภาระของต้นทุนที่เพิ่มผ่านไปยังผู้บริโภคได้ประเด็นนี้จะไม่น่ากังวลมากนัก
นักลงทุนสามารถลงทุนกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้หลายทาง เช่น การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงผ่านการซื้อเก็บด้วยตนเอง หรือผ่านกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์, อย่างที่สองคือ การลงทุนในหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์, อย่างสุดท้ายคือ การลงทุนผ่านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodities future)
แต่บทความนี้จะพูดถึงการลงทุนในหุ้นเติบโตที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก รวมถึงหุ้นเติบโตที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ (เรื่องอื่นเช่น การลงทุนในตัวสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงหรือตลาดสินค้าล่วงหน้าอยู่นอกเขตความถนัดของผมครับ)