วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)



ต้องออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เก่งการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์  แต่ผมเห็นว่าการศึกษาและเข้าใจเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต  ทั้งในส่วนการวิเคราะห์หุ้นเติบโตที่ต้นทุนการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรมต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์  และการลงทุนในหุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง  ผมจึงนำบทวิเคราะห์ภาพรวมของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำเอาไว้มาแบ่งปันกัน  เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ของผม

หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์จัดเป็นส่วนหนึ่ง  (Subset)  ของหุ้นวัฎจักร  (Cyclic  stock)

หุ้นวัฎจักรเป็นหุ้นที่กำไรขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ  เมื่อตลาดเป็นขาขึ้น  ความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นบริษัทจะกำไรอย่างมาก  แต่ถ้าตลาดเป็นขาลงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ความต้องการของผู้บริโภคจะลดลงอย่างมากและสวนทางการกับกำลังการผลิตที่ยังสูงต่อเนื่องจากช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง  เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply)  กำไรของบริษัทจะลดลงอย่างมากจนอาจจะถึงขั้นขาดทุนอย่างมาก

ตัวอย่างของหุ้นวัฎจักร  เช่น  บริษัทรถยนต์  บริษัทอสังหาริมทรัพย์  สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ  (สินค้าฟุ่มเฟือยไม่นับรวม โลหะทอง โลหะเงิน  และสินค้าอื่นๆที่มีคุณค่าในเชิงการลงทุนนะครับ)  เพราะช่วงคนเรารายได้น้อยจะดูแลเรื่องปากท้อง  พยายามประหยัด  บ้านที่พออยู่ได้ก็อยู่ไปก่อน  รถพอขับได้ก็ขับไปก่อนหรือขึ้นขนส่งมวลชนไป  เมื่อเศรษฐกิจเมฟื้นตัว  ผู้คนรายได้เพิ่มขึ้น  ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา  ความต้องการสินค้าที่ถูกกดเก็บไว้หลายปีก็ถูกแสดงออก  ยอดขายบ้านขายรถ  สินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มกลับมา  ยอดขายสูงขึ้นมาก  รวมถึงคนใช้จ่ายกับการท่องเที่ยว  สันทนาการต่างๆเพิ่มขึ้น

การลงทุนหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจจนเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว  หุ้นวัฎจักรจึงเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงมาก

เอาล่ะวันนี้เราจะมาพูดถึงเฉพาะส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมนะครับ 

ความสำคัญของการเข้าใจกลไกของสินค้าโภคภัณฑ์

ความรู้จะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนที่สนใจหุ้น  2  ประเภทนี้

1.  บริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์

การลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมากหากนักลงทุนลงทุนได้ถูกจังหวะ  และขาดทุนได้อย่างมากเช่นกันถ้าลงทุนผิดจังหวะ  การเรียนรู้กลไกสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เราลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น

2. บริษัทที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าโภคภัณฑ์

แน่นอนว่าเกือบทุกบริษัทต้องใช้ต้นทุนการผลิตและการบริการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์แทบทั้งนั้น  เพียงแต่สัดส่วนอาจจะแต่งต่างกันไป  การทำความเข้าใจสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เรารู้ถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของกำไรของบริษัทจากการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น  เช่น  ต้นทุนลดทำให้มาร์จิ้นเพิ่มกำไรเพิ่ม  ต้นทุนเพิ่มมาร์จิ้นลดกำไรลด  แต่ถ้าบริษัทสามารถส่งต่อภาระของต้นทุนที่เพิ่มผ่านไปยังผู้บริโภคได้ประเด็นนี้จะไม่น่ากังวลมากนัก

นักลงทุนสามารถลงทุนกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้หลายทาง  เช่น  การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงผ่านการซื้อเก็บด้วยตนเอง  หรือผ่านกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์,  อย่างที่สองคือ  การลงทุนในหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์,  อย่างสุดท้ายคือ  การลงทุนผ่านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า  (Commodities  future)

แต่บทความนี้จะพูดถึงการลงทุนในหุ้นเติบโตที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก  รวมถึงหุ้นเติบโตที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ  (เรื่องอื่นเช่น  การลงทุนในตัวสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงหรือตลาดสินค้าล่วงหน้าอยู่นอกเขตความถนัดของผมครับ)

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

สรุปเนื้อหาคอร์สการลงทุนของผม (ตอนที่ 2/2 ตอนจบ)

วันนี้มาว่ากันต่อเรื่องกรอบแนวคิดหลักในการลงทุนของผมนะครับ
แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาเรื่องหุ้น  ผมจะขอบอกกล่าวสำหรับผู้สนใจอยากเรียนสักเล็กน้อย

วิธีการใช้ประโยชน์จากบทความนี้
การอ่านบทความ  สรุปเนื้อหาคอร์สการลงทุนของผม  เพื่อนๆจะได้ภาพในมุมกว้างที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน  รวมถึงประเด็นสำคัญในหัวข้อนั้นๆ  ถ้าเพื่อนๆสนใจศึกษาต่อให้ลึกขึ้น  ผมแนะนำว่า

- กรณีที่เพื่อนๆต้องการศึกษาด้วยตนเอง  เนื่องจากติดธุระ ไม่ว่าง  หรือผมอาจจะไม่ว่างสอนเพราะงานประจำเยอะ  (ช่วงนี้เริ่มมีสอบเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะงานวิจัยอีก T_T)  ขอให้อ่านหนังสือและศึกษาลงลึกด้วยตนเองตามประเด็นที่ผมเขียนไว้  (เวลาผมสอนก็จะพูดตามที่ short note ไว้ในบทความนี่ล่ะครับ)  และถ้ามีคำถามสามารถโพสถามได้ทั้งใน blog และ/หรือบน wall ของ facebook ครับ (วิธีนี้น่าจะง่ายที่สุด)
- กรณีที่เพื่อนๆต้องการเรียนกับผมและไม่ต้องการรอให้คนลงชื่อเกิน 5 คน  (เพราะผมจะสอนเมื่อเกิน 5 คนขึ้นไป  และเพื่อนๆอาจจะรอนานเพราะ blog ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก)  ขอให้เพื่อนๆรวบรวมคนที่อยากเรียนมาเองและลงชื่อว่า”ครบ” แล้วไว้ใน blog และ/หรือบน wall ของ facebook ได้ครับ
- กรณีที่มีเพื่อนๆลงชื่อใน blog และ/หรือบน wall ของ facebook  ว่า ”สนใจ” ครบ 5 คน  ผมจะกำหนดวันสอนล่วงหน้านะครับ

ส่วนสถานที่ผมจะนัดเป็น  ห้องสมุดมารวยที่สาขาเอสพลานาดรัชดาภิเษก  วันอาทิตย์เวลาเที่ยงตรง (แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีเก้าอี้ว่างหรือเปล่า...เพราะผมก็ไม่มีสถานที่ส่วนกลางเหมือนกัน  หรือไม่งั้นก็ต้องเป็นโรงอาหารตามมหาลัยที่โต๊ะว่างๆ)

ส่วนถ้าเพื่อนๆคนไหนมีสถานที่รวมถึงมีคอมพิวเตอร์แล้วต้องการให้ผมไปสอนถึงที่  ขอให้เป็นที่ที่ผมสามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าได้  และถ้าเป็นหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ขอใช้เปิดห้องประชุมสอนจะดีมากครับ  (ผมว่างวันอาทิตย์)

ทั้งนี้เพื่อที่ผมจะสามารถสอนฟรีได้  ไม่อยากให้เกิดค่าใช้จ่าย  เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้แบบเท่าเทียมกัน  โดยที่ผมเสียสละแรงกายและเวลาแล้วเพื่อนๆได้ประโยชน์ก็โอเคครับ  :D

ความคาดหวังของผม

ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนที่เรียนเล่นหุ้นเป็น  แต่ต้องการให้รู้ว่าจะสร้างความมั่งคั่งทางการเงินให้กับตนเองได้อย่างไร  มีทางไปทางไหนบ้าง  ต้องปรับทัศนคติและเรียนรู้วิธีการตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นไป

อยากให้เลิกคิดว่าคนจะรวยได้ต้องมีบุญวาสนา  ต้องเกิดมาโชคดี  เพราะมันไม่จริงเลยครับ  ทุกอย่างสร้างได้ด้วยการกระทำที่เกิดจากทัศนคติที่ถูกต้อง

รวมถึงต้องการให้ทุกคนมีทัศนคติของการให้  เนื่องจากทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นต่างมาหากำไรทั้งสิ้น  พูดง่ายๆคือมาเอา  เราจะไม่ต่างจากคนทั่วไปเลยถ้าเราไม่รู้จักการให้การแบ่งปันผู้อื่น  เมื่อใจเราลดความโลภลงจากการให้และลงทุนโดยใช้สติและปัญญา  มองตามข้อมูลตามเหตุผลตามข้อเท็จจริง  เราจะแตกต่างจากนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด  และนั่นทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ 

ถ้าคนที่ผมสอนแล้วเล่นหุ้นเป็น  (หมายถึงคนที่มีวิจารณญาณ คิดเองเป็น มีเหตุผล และมีความคิดสร้างสรรค์) และถึงขึ้นเล่นเก่งได้ผมจะดีใจมาก  แต่ผมคาดหวังแค่สอนซัก 100 คนมีอย่างนี้สักคนก็ดีใจแล้วครับ

เอาล่ะ...มาว่าเรื่องเนื้อหากันต่อนะครับ