วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554
สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)
ต้องออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เก่งการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ผมเห็นว่าการศึกษาและเข้าใจเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต ทั้งในส่วนการวิเคราะห์หุ้นเติบโตที่ต้นทุนการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรมต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุนในหุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง ผมจึงนำบทวิเคราะห์ภาพรวมของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำเอาไว้มาแบ่งปันกัน เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ของผม
หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์จัดเป็นส่วนหนึ่ง (Subset) ของหุ้นวัฎจักร (Cyclic stock)
หุ้นวัฎจักรเป็นหุ้นที่กำไรขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อตลาดเป็นขาขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นบริษัทจะกำไรอย่างมาก แต่ถ้าตลาดเป็นขาลงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภคจะลดลงอย่างมากและสวนทางการกับกำลังการผลิตที่ยังสูงต่อเนื่องจากช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply) กำไรของบริษัทจะลดลงอย่างมากจนอาจจะถึงขั้นขาดทุนอย่างมาก
ตัวอย่างของหุ้นวัฎจักร เช่น บริษัทรถยนต์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ (สินค้าฟุ่มเฟือยไม่นับรวม โลหะทอง โลหะเงิน และสินค้าอื่นๆที่มีคุณค่าในเชิงการลงทุนนะครับ) เพราะช่วงคนเรารายได้น้อยจะดูแลเรื่องปากท้อง พยายามประหยัด บ้านที่พออยู่ได้ก็อยู่ไปก่อน รถพอขับได้ก็ขับไปก่อนหรือขึ้นขนส่งมวลชนไป เมื่อเศรษฐกิจเมฟื้นตัว ผู้คนรายได้เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา ความต้องการสินค้าที่ถูกกดเก็บไว้หลายปีก็ถูกแสดงออก ยอดขายบ้านขายรถ สินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มกลับมา ยอดขายสูงขึ้นมาก รวมถึงคนใช้จ่ายกับการท่องเที่ยว สันทนาการต่างๆเพิ่มขึ้น
การลงทุนหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจจนเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว หุ้นวัฎจักรจึงเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงมาก
เอาล่ะวันนี้เราจะมาพูดถึงเฉพาะส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมนะครับ
ความสำคัญของการเข้าใจกลไกของสินค้าโภคภัณฑ์
ความรู้จะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนที่สนใจหุ้น 2 ประเภทนี้
1. บริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์
การลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมากหากนักลงทุนลงทุนได้ถูกจังหวะ และขาดทุนได้อย่างมากเช่นกันถ้าลงทุนผิดจังหวะ การเรียนรู้กลไกสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เราลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น
2. บริษัทที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าโภคภัณฑ์
แน่นอนว่าเกือบทุกบริษัทต้องใช้ต้นทุนการผลิตและการบริการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์แทบทั้งนั้น เพียงแต่สัดส่วนอาจจะแต่งต่างกันไป การทำความเข้าใจสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เรารู้ถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของกำไรของบริษัทจากการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น ต้นทุนลดทำให้มาร์จิ้นเพิ่มกำไรเพิ่ม ต้นทุนเพิ่มมาร์จิ้นลดกำไรลด แต่ถ้าบริษัทสามารถส่งต่อภาระของต้นทุนที่เพิ่มผ่านไปยังผู้บริโภคได้ประเด็นนี้จะไม่น่ากังวลมากนัก
นักลงทุนสามารถลงทุนกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้หลายทาง เช่น การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงผ่านการซื้อเก็บด้วยตนเอง หรือผ่านกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์, อย่างที่สองคือ การลงทุนในหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์, อย่างสุดท้ายคือ การลงทุนผ่านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodities future)
แต่บทความนี้จะพูดถึงการลงทุนในหุ้นเติบโตที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก รวมถึงหุ้นเติบโตที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ (เรื่องอื่นเช่น การลงทุนในตัวสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงหรือตลาดสินค้าล่วงหน้าอยู่นอกเขตความถนัดของผมครับ)
สินค้าโภคภัณฑ์คืออะไร?
สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodities (บางคนอาจจะเรียก คอมโมดิตี้) เป็นสินค้าที่เหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงคุณภาพระหว่างสินค้า ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นผู้ผลิตสินค้า เช่น น้ำมัน ข้าว ทองแดง ก๊าซธรรมชาติ น้ำตาล ยาง เป็นต้น
ไม่ว่าเราจะซื้อสินค้าโภคภัณฑ์จากที่ไหนก็ตาม คุณสมบัติจะเหมือนๆกัน น้ำมันเติมปั๊มไหนรถก็วิ่งได้เหมือนกัน ข้าวซื้อที่ไหนก็เหมือนกัน น้ำตาลซื้อที่ไหนก็หวานเหมือนกัน ดังนั้นสินค้าโภคภัณฑ์จึงเป็นสินค้าที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของความแตกต่าง (Product differentiation) เหมือนกับสินค้าประเภทอื่น ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ ราคาจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน (Demand – Supply) เป็นหลัก เนื่องจากถ้าที่ไหนขายแพงผู้บริโภคสามารถไปซื้อสินค้าจากที่อื่นที่ขายสินค้าราคาถูกกว่าได้ ผู้ที่ขายแพงกว่าจึงต้องลดราคาลงมาเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้
ซึ่งต่างกับสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันในเรื่องความแตกต่าง มีความนิยมในตราสินค้า (Brand) สินค้าเหล่านี้มีการเพิ่มมูลค่ามากกว่าต้นทุนการผลิตมาก (Value added) ผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าจึงสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ตามมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า (Perception) เช่น ราคาโค้กแต่ละกระป๋องไม่ได้มาจากราคาน้ำ น้ำตาล หรือวัตถุดิบอื่นๆรวมกัน แต่มาจากราคาสูงสุดที่ผู้บริโภคจะยอมจ่ายให้จากคุณค่าที่พวกเขาเห็น พวกเขาไม่สามารถซื้อโค้กที่พวกเขาชื่นชอบได้จากผู้ผลิตรายอื่น
ประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์
เราจะแบ่งสินค้าโภคภัณฑ์เป็น 2 ประเภทหลักๆ
1.Soft commodities คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่มนุษย์สามารถผลิตได้ จะเป็นสินค้าภาคการเกษตรกรรม เช่น ข้าว, น้ำตาล, วัวควาย, เป็ดไก่, หมู, ถั่วเหลือง, ขนสัตว์, ยางพารา, น้ำมันปาล์ม, ฝ้าย, ข้าวโพด, กาแฟ เป็นต้น
2.Hard commodities คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่มนุษย์ไม่สามารถสามารถผลิตเองได้ ต้องขุดหามาจากใต้ดิน เช่น น้ำมันดิบ, ทอง, โลหะเงิน, ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม (เช่น กลุ่มปิโตรเคมี Paraxylene, Benzene, Ethylene เป็นต้น), สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ค่าการกลั่น, เหล็ก, ถ่านหิน เป็นต้น
ความสำคัญในการแบ่งประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์คือ ทำให้เราเข้าใจที่มาของสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลต่อการเข้าใจรอบวัฎจักรจากอุปสงค์-อุปทาน การใช้เวลาในการสร้างอุปทานสินค้าใหม่ และลงทุนด้วยความเข้าใจมากขึ้น
หุ้นขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นหุ้นเติบโตในตัวเดียวกัน?
(ผมจะเรียกว่า...หุ้นโภคภัณฑ์เติบโต)
เนื่องจากผมเป็นนักลงทุนหุ้นเติบโต ผมจะมองประเด็นการเพิ่มของปริมาณการผลิต, ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นที่มาจากปริมาณการขายที่เพิ่ม (Volume เพิ่ม) นอกเหนือจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (Price)
ผมจะชอบหุ้นโภคภัณฑ์ที่มีการเติบโต...ไม่ใช่เพียงราคาสินค้าปรับขึ้นสู่จุดดุลยภาพในเวลาอันสั้น แล้วเข้าสู่ขาลงในเวลาอันรวดเร็วเนื่องจากบริษัทอื่นเร่งผลิตสินค้าเข้ามาเพิ่มอุปทานในตลาดได้ง่ายๆ
การเพิ่มของปริมาณความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในส่วนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ (Demand) จะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่กล่าวไปแล้ว การที่บริษัทขายสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นย่อมเกิดการเติบโตที่เป็น Organic growth ร่วมกับการสูงขึ้นของราคาสินค้าต่อหน่วย price growth
โดยภาพรวมของตลาดโลกที่เหมาะสมของหุ้นโภคภัณฑ์เติบโตนั้น... จุดสมดุลของอุปสงค์และอุปทานจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการตลาดโลกสูงขึ้นตลอดเวลา และการผลิตสินค้าเพิ่มอุปทานใหม่ต้องใช้เวลาหลายปี
ตัวอย่างของหุ้นโภคภัณฑ์เติบโต เช่น PTTEP (เมื่อก่อน), BANPU เป็นต้น (ปล. ไม่ได้เชียร์หุ้นนะครับ)
การเติบโตของกำไรของบริษัทมาจากไหน?
บริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์จะมีการเติบโตของรายได้และกำไรจาก 2 ปัจจัย
1. ขายสินค้าในปริมาณเพิ่มขึ้น (Volume)
- เมื่อตลาดมีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น บริษัทไหนที่มีสินค้ามากกว่าย่อมระบายสินค้าตาม demand ของตลาดได้มากขึ้น และถ้า demand ยังคงสูงต่ดอเนื่องจาก supply ทั้งหมด (กรณีที่นำออกมาจากสต๊อก และไม่มีการกะกตุนสินค้า) การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ารวมถึงผู้เล่นรายใหม่มักจะเข้ามาเพื่อขายสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยเนื่องจากเห็นว่าขายได้ราคา
ถ้าบริษัทจะขายสินค้าปริมาณเพิ่มขึ้นต้องมีปัจจัยในตลาดขาขึ้น
1.1 มีกำลังการผลิตที่ยังไม่ได้ใช้จำนวนมาก กรณีนี้จัดว่าดีมากเนื่องจากไม่ต้องลงทุนใหม่ สามารถผลิตสินค้าได้ทันที ทั้งยังเป็นการใช้สินทรัพย์ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด ไม่ใช่ตั้งเครื่องจักรทิ้งไว้เฉยๆ สินค้าหมุนเวียนเร็วขึ้น จำนวนรอบของการเกิด inventory turnover เร็วขึ้น ได้เปรียบบริษัทที่เต็มกำลังการผลิตไปแล้วและต้องใช้เวลาในการสร้างอุปทานใหม่
1.2 มีหนี้สินต่อทุนไม่สูงนัก มีเพดานในการกู้ยืมที่สูง ทำให้การกู้ยืมมาสร้างกำลังการผลิตทำได้ดีกว่าบริษัทที่มีหนี้มากๆและทำงานเต็มกำลังการผลิตแล้ว
กรณีบริษัทที่มีหนี้มากๆ อาจจะเป็นการลงทุนที่ดีเยี่ยมได้ในช่วงตลาดขาขึ้น จากการที่เคยมีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งเงินส่วนนี้มาจากการกู้ยืมก่อนที่ตลาดจะเป็นขาขึ้น
2. ราคาสินค้าต่อหน่วยมีมูลค่าสูงขึ้น (Price)
การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น จะส่งผลต่อยอดขายที่สูงขึ้น และกำไรที่เพิ่มขึ้น (และกำไรยิ่งเพิ่มขึ้นมากถ้าต้นทุนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์นั้นใกล้เคียงกับของเดิม นั่นคือ Margin เพิ่ม) โดยเราจะมาดูปัจจัยที่กำหนดราคาของโภคภัณฑ์กันนะครับ
กลไกการกำหนดราคาของสินค้าโภคภัณฑ์
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถูกกำหนดโดยอุปสงค์-อุปทาน (Demand - Supply) ในกรณีที่ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดโดยไม่มีการเข้าไปแทรกแซง
ในบางกรณีจะมีการควบคุมราคาสินค้าจากภาครัฐ กรณีนี้จะไม่เป็นไปตามกลไกตลาดต้องไปดูราคาสินค้าที่ภาครัฐกำหนดเป็นหลักครับ (แต่แน่นอนว่าในระยะยาวการเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดเป็นเวลานานจะเกิดปัญหาตามมาได้)
โดยผมจะทำการประเมิน Demand – Supply 8 รูปแบบ โดยจะดูการเปลี่ยนแปลงจากจุดดุลยภาพเดิม (Equilibrium point) (ผมแจกแจงให้ดูอย่างละเอียด...แต่ดูแค่สรุปก็พอครับ)
- กรณี Supply ลดลง Demand เท่าเดิม ... ราคาสินค้าเป็นขาขึ้น
- กรณี Supply เพิ่มขึ้น Demand เท่าเดิม ... ราคาสินค้าเป็นขาลง
- กรณี Supply ลดลง Demand เพิ่มขึ้น ... ราคาสินค้าเป็นขาขึ้นอย่างมาก
- กรณี Supply เพิ่มขึ้น Demand ลดลง ... ราคาสินค้าเป็นขาลงอย่างมาก
- กรณี Supply เท่าเดิม Demand เพิ่มขึ้น ... ราคาสินค้าเป็นขาขึ้น
- กรณี Supply เท่าเดิม Demand ลดลง ... ราคาสินค้าเป็นขาลง
(ในอีก 2 กรณี คือ Supply และ Demand ไปทางเดียวกัน เช่น เพิ่มเหมือนกัน ลดเหมือนกัน ให้เปรียบเทียบดูว่าอะไรมากกว่า ถ้า Supply > Demand จะเป็นขาลง , Demand > Supply จะเป็นขาขึ้นครับ )
สรุปง่ายๆคือ ... Supply > Demand จะเป็นขาลง , Demand > Supply จะเป็นขาขึ้นครับ
ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์
1. ค่าเงินดอลล่าร์ US
- เนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนใหญ่จะผกผันกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำซึ่งถูกยกสถานะเป็นแหล่งพักเงินชั้นดีของนักลงทุนไปแล้ว (Safe haven) เมื่อนักลงทุนไม่มั่นใจในเงิน US ดอลล่าร์จะเข้ามาซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อปกป้องไม่ให้มูลค่าเงินสูญหายไป
2. เงินเฟ้อ
- เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าโภคภัณฑ์เป็นการลงทุนที่ใช้ปกป้องมูลค่าเงินจากภาวะเงินเฟ้อได้ดี เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวตามเงินเฟ้อ (กรณีเป็นไปตามกลไกตลาด) แต่ผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยิ่งทำให้เงินเฟ้อมากขึ้นเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ (หมุนเวียนเป็นวงจรกันไป)
3. นักเก็งกำไร
- ความโลภและความกลัวของนักเก็งกำไรที่พยายามจะทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยิ่งทำให้ราคาผันผวนมากขึ้น การทำ Short และ Long position การเกิดของ Demand – Supply สินค้าในตลาดบางส่วนจะมาจากนักเก็งกำไร ไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์แต่เพียงกลุ่มเดียว
4. การกักตุนสินค้า Cornering the market
- การกักตุนสินค้าที่พ่อค้าจอมปั่นราคาพยายามทำนั้น (เป็นสิ่งไม่ดีนะครับ) ทำให้เกิดการขาด Supply ในตลาด และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์วิ่งสูงขึ้น และพ่อค้ารายนั้นก็ได้ขายสินค้าที่ตนกักตุนไว้ออกมาที่ราคาตลาดสูงๆ ให้ระวังโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่เน่าเสียง่ายเก็บไว้นาน เช่น กลุ่มโลหะ
มองภาพรวมของการขายสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับโลก
การที่สินค้าโภคภัณฑ์เป็นของที่เหมือนกันทำให้สามารถขายได้ทั้งโลก การมองควรจะมองจากภาพรวมของตลาดโลกเช่นกัน ยิ่งกรณีเกิดการยกเลิกกำแพงภาษี (FTA) จะเกิดการไหลเวียนของสินค้าไปตามความต้องการในตลาดโลกได้มากกว่าขึ้น การมอง Demand – Supply ควรจะมองจากตลาดโลกเป็นหลัก
บางครั้งการล้นตลาดในประเทศแต่ถ้าตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการสูงมาก...ราคาสินค้าจะยังเป็นขาขึ้น (อาจจะดีในแง่วัตถุดิบในประเทศถูกลงด้วย)
นักลงทุนต้องติดตามข่าวสารอย่างมาก
Key success factor ของการลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์เติบโต
1. ระยะเวลาเข้ามาเพิ่ม supply ของสินค้าโภคภัณฑ์ทดแทน ระยะเวลาในการผลิตสินค้าใหม่ ถ้าใช้เวลานานรอบของวัฎจักรขาขึ้นจะนานไปด้วย Demand ยังเติมไม่เต็มและยังไม่เกิด Oversupply ง่ายๆ
2. สัญญาณการเปลี่ยนแปลงความไม่สมดุลของ Demand - Supply ซึ่งส่งผลต่ออัตราทำกำไรของบริษัท นักลงทุนควรติดตามข่าวสารที่มีผลต่อทั้ง Demand – Supply เพื่อหาจังหวะเข้าออก
3. การติดตามผู้เล่นหลักที่เป็นกองทุนหรือนักเก็งกำไรถึงลักษณะนิสัยและเครื่องมือที่ใช้ เพราะเป็นผู้มีอิทธิผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงนักเก็งกำไรและผู้ผลิตที่มีนิสัยชอบกักตุนสินค้าด้วย
4. การติดตามผู้เล่นหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์ การเพิ่มหรือลดการใช้โภคภัณฑ์จะส่งผลต่อ Demand – Supply ในภาคธุรกิจจริง
5. การตอบสนองของราคาหุ้น ราคาหุ้นที่รับข่าวอย่างรวดเร็วดดยมากราคาจะสูงเกินกว่าจะเข้าซื้อ ดังนั้นการประเมินรอบใหญ่ให้ออกล่วงหน้าจะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าซื้อหลังข่าวออกอาจจะไม่ทันเวลาและถึงขั้นขาดทุนได้
การประเมินมูลค่าของหุ้นโภคภัณฑ์
PE ratio – เป็นการประเมินมูลค่าที่ต้องระวัง เวลาที่หุ้นโภคภัณฑ์เป็นขาขึ้น PE จะสูงมากหรือถึงขึ้นติดลบ เนื่องจากบริษัทเพิ่งผ่านจุดต่ำสุดที่ได้กำไรน้อยมากหรือขาดทุน เมื่อตลาดรับข่าวการปรับตัวของสินค้าโภคภัณฑ์ราคาหุ้นจะสูงขึ้นเร็วมาก ตรงกันข้ามกรณีหุ้นโภคภัณฑ์เป็นขาลง PE จะต่ำมาก เนื่องจากบริษัทเพิ่มผ่านจุดสูงสุดที่ทำกำไรมหาศาลได้ ปีหน้าที่กำไรลดลงจะยังไม่ได้เอามาคิดใน PE แต่ราคาหุ้นจะตอบสนองต่อข่าวการลดลงของสินค้าโภคภัณฑ์ไปก่อนแล้ว
PE สูงสุดของขาขึ้นจะแตกต่างตามที่ตลาดให้ ถ้ารอบวัฎจักรขาขึ้นกินเวลานาน PE จะสูงกว่า
PBV – เป็นการประเมินมูลค่าที่ใช้ดูความถูกแพงได้ดีกว่า แต่จะไม่สามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมได้ กหารเข้าซื้อจะเป็นช่วง PBV ต่ำในช่วงเริ่มต้นของขาขึ้น และขายในช่วง PBV สูงๆตอนตลาดขาลง (ดูแต่ PE จะโดนหลอกได้ครับ)
DCF – เป็นการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมได้ดี ถ้ามองการปรับตัวขาขึ้นในรอบใหญ่และหากระแสเงินสดทั้งหมดที่บริษัทจะทำได้ในรอบขาขึ้น และเวลาคิดมาจากการเข้ามาของสินค้าโภคภัณฑ์ทดแทน ถ้ามากกว่า Market Caps ก็สามารถเข้าซื้อได้
เอาล่ะพอแค่นี้ก่อนนะครับ (ถึงขั้นเหนื่อยหอบกันเลยทีเดียว) ถือว่าเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับเพราะผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนีเท่าไรนัก
ในโอกาสต่อไป ผมจะเจาะลึกสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชนิดกันนะครับ และแน่นอนว่ายังคง concept หุ้นเติบโตเหมือนเดิมครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สวัสดีค่ะคุณ gob
ตอบลบมีโอกาสติดตามอ่านหลายบทความแล้ว มีประโยชน์มากค่ะ
กรณีการประเมินมูลค่าสินค้าโภคภัณฑ์ใน paragraph สุดท้าย
เราสามารถสรุปได้เลยมั้ยคะ ว่า เวลาที่ควรลงทุนหุ้นโภคภัณฑ์รวมถึงหุ้นวัฏจักร คือ ณ. เวลาที่ P/E สูง บวกกับ P/B ต่ำ เสมอ
คือ ต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองถึงจะเข้าลงทุนได้
ไม่ทราบว่าสรุปอบ่างนี้ถูกต้องมั้ยคะ
ยังต้องเติมอีกหน่อยครับ
ตอบลบเกณฑ์ในเรื่อง PE สูงและ PBV ต่ำ เป็นเพียงแนวทางคร่าวๆเท่านั้นครับ ยังต้องดูทิศทางของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยครับ บางครั้งการที่หุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ราคาถูกจริง แต่ถ้าราคายังเป็นขาลงอยู่อาจจะเจอถูกกว่าได้ -_-“ หรือถ้าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็น sideway อยู่ต้องรอนานมากและไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหน อาจจะต้องรอเป็นหลายปีถึงหลายสิบปีก็ได้ซึ่งไม่คุ้มค่าเสียเวลาครับ
ผมคิดว่าควรจะดูสัญญาณการปรับตัวขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยครับ คือ Demand > Supply ไม่ว่าจะเป็น demand เพิ่มหรือ Supply ลด และที่สำคัญราคาหุ้นต้องยังไม่ตอบสนองมากนัก (เพราะถ้าราคาหุ้นวิ่งไปจนสะท้อนมูลค่าแล้วการเข้าซื้อก็ไม่มี gap ให้ทำกำไรครับ)
รวมถึง PE ในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นช่วงขาขึ้นต่อเนื่องหลายๆปี บางครั้งการซื้อช่วง PE ต่ำอาจจะดีก็ได้ (แม้ว่าจะไม่ดีที่สุด) ถ้าเราคิด Forward PE แล้วยังคงต่ำกว่าปัจจุบัน (PE เมื่อคิดจาก EPS ในอนาคตที่คาดไว้) เราก็ยังสามารถซื้อได้ครับ
สรุปว่า 1. ดูว่า Demand > Supply ไปอีกนานไหม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะขึ้นไปถึงเมื่อไร กี่ปี? (ไม่อย่างนั้นจะคอยเก้อ) ทิศทางต้องยังเป็นขาขึ้นเท่านั้นครับ 2. ลงทุนที่ PBV ต่ำ (โดยเปรียบเทียบกับรอบวัฎจักรหลายๆปี) 3. ในช่วงที่ราคากลับตัว PE จะสูงมาก เป็นตัวให้เราเข้าไปตรวจสอบ Forward PE ...ถ้า Forward PE ต่ำและมีท่าทีจะต่ำลงเรื่อยๆจากกำไรอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถเกาะกระแสขาขึ้นเข้าลงทุนได้ครับ
ขอบคุณสำหรับคำถามและขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความนะครับ ได้รู้ว่ามีคนอ่านแล้วได้ประโยชน์ผมมีกำลังใจเขียนอีกเยอะเลยครับ
:D
sud yod kab/ake3004 tvi
ตอบลบขอบคุณครับ :D
ตอบลบวัฐจักรของแต่ละอุตสาหกรรม ในรอบ ๆ นึง ใช้เวลาปรมาณกี่ปีครับ ? พอจะกะได้หรือไม่ ? หรือว่าไม่สามารถคาดเดาได้เลย
ตอบลบปล. เป็นบทความที่ดีมากครับ ;]
ถ้าเจาะแต่ละอุตสาหกรรมต้องดูข้อมูลอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เราคาดเดา Cycle ได้บ้าง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ Demand และการเข้ามาของSupply ใหม่ๆของสินค้าที่ผลิตเข้ามาแข่งในตลาด
ตอบลบถ้าจะลงรายละเอียดต้องอ้างอิงข้อมูลค่อนข้างมาก ถ้ามีเวลาผมจะเจาะเป็นรายอุตสาหกรรมให้นะครับ
ขอบคุณมากสำหรับคำชมนะครับ
ไม่รู้ว่าพี่ก๊อบได้ศึกษาหุ้นกลุ่มเหล็กบ้างหรือไม่ครับ ผมสนใจอยู่ตัวหนึ่งเขามี project ในการลดต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ใช่ ssi นะครับ อยากให้พี่ช่วยวิเคราะห์เรื่องอนาคตของหุ้นกลุ่มเหล็กก่อสร้างครับ ขอบคุณครับ
ตอบลบผมไม่ได้ตามหุ้นเหล็กเลยน่ะครับ แต่อนาคตเหล็กน่าจะยังมี demand การการเติบโตของประเทศในกลุ่มเอเชียนะครับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพียงแต่การไม่มีความสามารถในการแข่งขันของเหล็กเอง อาจจะทำให้เหล็กจากจีนหรือผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาเพิ่ม supply มาแข่งได้ครับ
ตอบลบปิ๊งๆๆ
ตอบลบกระจ่าง
ตาสว่างเลยครับ
ขอบคุณมากๆครับ
ดีใจที่ผู้อ่านบทความได้ประโยชน์ครับ :D
ลบThanks a million, krab
ตอบลบขอบคุณครับ :D
ลบขอบคุณมากค่ะ บทความดีมากค่ะ
ตอบลบขอบคุณครับ ผมจะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆครับ :D
ลบรบกวนสอบถาม เรื่องของวิธีการเช็คราคาของสินค้า Commodity อย่างละเอียดอ่าครับ ใช้วิธีไหนได้บ้างอ่าครับ
ตอบลบถ้าตอบโดยละเอียดผมไม่ทราบครับ...ต้องศึกษาลงลึกในแต่ละอย่างของราคา commodities ซึ่งมีมากมายครับ
ลบแต่ผมดูราคา commodities คร่าวๆใน...
http://money.cnn.com/data/commodities/
http://www.bloomberg.com/markets/commodities/futures/
http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/Indicators/Pages/index.aspx
หวังว่าคงจะได้ประโยชน์นะครับ...ลองศึกษาต่อยอดดูครับ :D
ขอบคุณครับ รับประโยชน์ + รอยหยักเพิ่มไปเต็มๆ
ตอบลบเพิ่งเข้ามาอ่านเป็นครั้งแรกค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันบทความดีๆมีความรู้นะคะ เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านมากๆเลยค่ะ ^___^
ตอบลบ