วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การลงทุนใน Growth stock และจิตวิทยาการลงทุน

นพ. พงศกร  เอื้อชวาลวงศ์

Mind Investing Blog

ผมได้สรุปเนื้อหาที่ผมได้บรรยายในงานสังสรรค์ VI ไตรมาส 2 ลงในบทความนี้นะครับ  ต้องขอบคุณทางสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ให้เกียรติเชิญผมไปเป็นวิทยากรในงานนี้  ขอบคุณผู้ฟังทุกท่านที่ตั้งใจฟัง  ไม่มีใครคุยกันเลย...หลายตั้งใจจดมากแม้ว่าผมบอกแล้วว่าจะแจกใน Blog 

ขอบคุณภรรยาที่ช่วยตัด Slide ให้เพราะว่าผมงานประจำเยอะมากจนแทบไม่มีเวลาทำ  แถมยังมาเป็นกำลังใจให้ถึงขอบเวทีด้วยครับ  ขอบคุณครับ

ผมได้พยายามเต็มที่แล้วที่จะให้เนื้อหาเกี่ยวกับหุ้นเติบโตครบถ้วน  เข้าใจง่ายที่สุดภายในเวลา 2 ชม.  เริ่มตั้งแต่ง่ายไปยาก  พยายามจะใส่จุดที่นักลงทุนหลายคนยังเข้าใจผิดและทำให้ภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้น  และนำหลักการที่ผมให้ไปใช้จริงได้ครับ

ต่อไปนี้จะเป็นเนื้อหาใน Slide ที่จะไปบรรยายนะครับ  และผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนหุ้นเติบโต (Growth investing) แบบในรายละเอียดอีกครั้ง  เพื่อนนักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามได้ครับ

การลงทุนใน Growth stock และจิตวิทยาการลงทุน

Outline
- ทำไมต้องลงทุนในหุ้นเติบโต?
- ความเข้าใจเรื่องหุ้นเติบโต
- ความสำคัญของเวลา / ความเข้าใจเรื่องอนาคต / มองอนาคตโดยใช้จินตนาการและเหตุผล
- ภาพลวงตาของ PE / คุณภาพและอนาคตของกำไร
- พฤติกรรมผู้บริโภค
- การมอง Business model ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยรวม / Natural selection ในระบบทุนนิยม / Megatrend
- ความสามารถในการแข่งขัน (DCA) - สิ่งที่สำคัญต่อการอยู่รอดและเติบโต
- การเลือกหุ้นจากชีวิตประจำวัน / Systemic approaching
- ช่องทางการเติบโตของกำไร
- ที่มาของการขยายธุรกิจ / เอาเงินมาจากไหนมาขยายการเติบโต?
- การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจ
- การพัฒนาจิตใจของนักลงทุนหุ้นเติบโต / จิตวิทยาการลงทุน

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การทำธุรกิจ VS การลงทุนในหุ้น

ผมสังเกตว่าหลายคนที่เข้ามาเล่นหุ้นเพราะไม่อยากทำงานประจำที่มีรายได้น้อย  ฝันที่จะไม่ต้องทำงานแล้วมีเงินไหลเข้ามือตลอดเวลา...ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่อง Passive income ที่นิยมมากตั้งแต่มีหนังสือเรื่องพ่อรวยสอนลูก

การทำงานประจำ การทำธุรกิจส่วนตัวเป็นสิ่งไม่ควรเสียเวลาไปทำเพราะเป็นงานฝั่งซ้ายหรือเปล่า? (เรื่องฝั่งซ้าย - ฝั่งขวาผมจะอธิบายต่อไปนะครับ)

ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะเคยอ่านหนังสือชุดพ่อรวยสอนลูกของ Robert T. Kiyosaki ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือการสร้าง Mind Set ในการลงทุนที่ดีมาก  ผมอ่านไป 2 เล่ม คือ  พ่อรวยสอนลูกและเงินสี่ด้าน  ซึ่งหนังสือเล่มแรกจะพูดถึงนิยามของทรัพย์สินและหนี้สินในความหมายของการนำเข้าหรือดึงออกของกระแสเงินสด  ให้เราซื้อทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ต  ลดหนี้สินที่ดึงกระแสเงินสดออกจากพอร์ต  หนังสือเล่มที่ 2 จะพูดถึงที่มาของรายได้ว่าไม่ได้แค่เงินเดือนหรือค่าจ้างจากการทำงานเพียงอย่างเดียว...แต่ที่มาของรายได้มีถึง 4 ทางหลัก  ซึ่งผมจะทยอยแจกแจงให้ฟังครับ

เงิน 4 ด้าน ประกอบด้วย E  S  อยู่ฝั่งซ้าย  และ B  I  อยู่ฝั่งขวา

ฝั่งซ้าย

E = Employee (ลูกจ้าง) ทำงานประจำรับเงินเดือน  ไม่ว่างานของเราจะเป็นงานตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือไปจนถึงงานที่เป็นวิชาชีพต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน  ถ้าได้รับเงินเดือนเป็นรายได้ถือว่าเป็นกลุ่ม Employee ครับ

S = Self employed (ธุรกิจส่วนตัว) รายได้มาจากกิจการของเราเอง  โดยที่เป็นงานที่เราคนเดียวที่ทำได้

ทั้ง E และ S ถือว่ารายได้มาจากการทำงาน  ถ้าไม่ทำงานย่อมไม่มีรายได้...เป็นความเข้าใจที่คนส่วนใหญ่มีกัน  เมื่อก่อนผมก็คิดอย่างนี้ครับ  ซึ่งมีธุรกิจมากมายที่เข้ามาหารายได้จากผู้ที่ความคิดว่า..."ถ้าไม่ทำงานย่อมไม่มีรายได้" เช่น  ธุรกิจประกันชีวิตที่เข้ามาเติมเต็มความมั่นคง...ให้เราอุ่นใจว่าเมื่อเราเจ็บป่วยเราจะมีค่ารักษาพยาบาลและรายได้ชดเชยเวลาที่เราไม่ได้ทำงาน,  ธุรกิจด้านการลงทุน กองทุนรวม เข้ามาระดมเงินจากเงินออมของมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการของฝั่งซ้าย...คือธุรกิจที่เกี่ยวกับฝั่งขวาทั้งสิ้น  (ไม่ต้องทำงานหรือทำงานจนถึงจุดหนึ่งจะรายได้เข้ามาโดยไม่ต้องทำงาน)
  ฝั่งขวา

B = Business owner (เจ้าของระบบธุรกิจ)  มีกิจการของตัวเองแต่ไม่ต้องดูแลตลอดเวลา  สามารถจ้างคนเก่งมาทำแทนได้  โดยเราเป็นผู้ดูแลระบบให้เป็นไปได้ด้วยดี

I = Investor (นักลงทุน)  เรานำเงินออมไปซื้อสินทรัพย์ที่สร้างรายได้และมีกระแสเงินสดเข้าพอร์ต  เช่น  หุ้น  พันธบัตร  ที่ดิน  อพาร์ตเม้นท์ให้เช่า  เป็นต้น  ให้เงินทำงานหาเงินแทนเรา

(ช่วงหลังจากนี้ผมจะใช้ตัวย่อ  ให้อ้างอิงตามด้านบนนะครับ)

ผมไม่คิดว่าอาชีพด้านขวา (B,I) ดีกว่าหรือเหนือกว่าด้านซ้าย (E,S) ในแง่ของคุณค่าเรื่องอาชีพการงาน  เพราะงานทุกงานล้วนแต่สร้างประโยชน์ต่อผู้คนและมีประโยชน์ต่อระบบโดยรวมทั้งนั้น  (ผมหมายถึงอาชีพ"สุจริต"ทุกอาชีพนะครับ)  แต่สิ่งที่ผมได้จากหนังสือคือ..."รายได้ไม่ได้มาจากทางเดียวและไม่จำเป็นต้องมาจากการทำงาน"      

การทำอาชีพด้านซ้าย (E,S) มีผลดีต่อการพัฒนาตัวเราครับ

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุน

มนุษย์ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ล้วนมีความเชื่อ  บ้างก็เชื่อในศาสนา  บ้างเชื่อในพระเจ้า  บ้างเชื่อในแนวคิดอะไรบางอย่าง...  บางทีความเชื่ออาจจะได้รับการคัดเลือกมาตามหลัก Natural selection เนื่องจากมีประโยชน์ในการอยู่รอดและขยายเผ่าพันธุ์  แต่นั่นก็เป็นเพียงสมมุติฐาน

ความเชื่อ...หลายๆครั้ง  ความเชื่อนั้นอาจจะไม่มีเหตุผลรองรับ  ไม่มีหลักฐาน  หลายๆครั้งความเชื่อก็พาเราเข้าสู่ความงมงาย  ไร้ซึ่งปัญญา

แต่หลายๆครั้งความเชื่อก็มีประโยชน์  เช่น  ความเชื่อในการทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่วในลักษณะผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจริงๆในอนาคตไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ทางใจ  เราไม่สามารถพิสูจน์เป็นตัวเลขที่ชัดเจนหรือความความสัมพันธ์เชิงเส้นได้เลย  แต่ความเชื่อนี้ทำให้ชีวิตของผู้ที่เชื่อและปฎิบัติตามเป็นคนดี  ไม่ทำความชั่ว  สังคมก็มีแต่ความสุข

(ส่วนตัวผมเชื่อเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วในผลลัพธ์ทางจิตใจ  เพราะเห็นชัดเจนขณะที่ทำทันที  และเห็นผลดีต่อผู้รับอย่างชัดเจน  คนอื่นจะยกย่องหรือไม่...ไม่สำคัญ  ส่วนผลลัพธ์ต่อตัวเราในเชิงรูปธรรมในอนาคตผมไม่ทราบจริงๆ  แต่เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอที่จะเชื่อแล้ว)

ความเชื่อว่าชีวิตต้องดีขึ้นอาจจะพาเราผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายได้  แม้ว่าจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร   แต่คนที่เชื่อจะลุกขึ้นสู้แม้ว่าจะมองไม่เห็นทาง  สู้ไปสู้มาสถานการณ์เปลี่ยน...ชีวิตเลยดีขึ้นจริงๆ  คนที่ไม่มีความเชื่อก็ท้อแท้ตอนที่มองไม่เห็นทาง  สุดท้ายล้มเหลวไปจริงๆ

ความเชื่อในรักแท้อาจจะทำให้เรามองหารักแท้มากกว่าคนที่ไม่เชื่อ  แม้ว่าจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่คนที่เชื่ออาจจะมองหาคนที่ใช่  เปิดใจให้กับคนที่เข้ามาในชีวิต  พยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ทั้งๆที่สิ่งที่เราเชื่อจริงหรือเปล่า??  ไม่มีใครรู้ครับ

ความเชื่อ กับ ความจริง ... อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เมื่อมีข้อมูล, หลักฐาน, ความเชื่อได้รับการพิสูจน์  ความเชื่อจะไม่ใช่ความเชื่อจะกลายเป็นความจริงทันที  (ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ว่าความเชื่อถูกหรือผิดก็ตาม)  แต่ตราบใดที่เรายังไม่รู้  ความเชื่อจะยังคงเป็นความเชื่อต่อไป   

ในการลงทุนเราต้องแยกความเชื่อกับความจริง  ข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นให้ได้ (Fact vs Opinion)  ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่ในโลกของมายาที่เราสร้างขึ้นเองด้วยอคติ (Bias) ของเรา

เช่น...ถ้าเราเชื่อว่าหุ้น A จะเป็น super stock ตัวใหม่  เราจะต้องหาข้อมูลทั้งในด้านที่สนับสนุนและขัดแย้ง  แล้วนำมาวิเคราะห์ทั้งโอกาสและความเสี่ยง  รวมถึงให้คนอื่นช่วยประเมินเพื่อลดอคติของความชอบความชังของเราลงไป  เพื่อให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ในเรื่องของการลงทุนที่ไม่มีความแน่นอน  เป็นการมองไปยังอนาคตที่ไม่มีใครสักคนในโลกล่วงรู้  โลกของการลงทุนยิ่งเต็มไปด้วยความเชื่อมากมาย

“คุณมีความเชื่ออะไรในการลงทุน??”

ในโอกาสที่ผมลงทุนมากว่า 3 ปี  ผมขอแชร์ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุนนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

รถยนต์










บทความนี้จะพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องการขนส่ง (transportation) เน้นเรื่องรถยนต์เป็นหลัก  มุมมองต่อรถยนต์ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่ง  การเลือกซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า  ความเข้าใจอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งที่นำไปสู่การลงทุนในหุ้นเติบโตที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางทุกวันนี้แม้ว่าจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เครื่องบิน (กรณีรถเมล์แดง รถไฟผมขอไม่นับเพราะถือว่ายังอันตรายและไม่ได้มาตราฐานสำหรับเมืองไทย  สังเกตได้จากข่าวอุบัติเหตุที่สื่อนำเสนอบ่อยๆ)  ผู้คนโดยเฉพาะในเมืองหลวงหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตราฐานมากขึ้นเช่น รถไฟฟ้า เพราะประหยัดและเดินทางสะดวกกว่า  แต่สำหรับคนที่มีครอบครัว คนที่เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ การมีรถยนต์เป็นของตัวเองอาจจะสะดวกกว่าและเป็นอิสระกว่าการใช้ขนส่งมวลชนไปเรื่อยๆ  ยังไม่รวมถึงคนที่ต้องการมีรถยนต์เพื่อความโก้หรูให้ผู้คนชื่นชม  ดังนั้นการซื้อรถยนต์จึงเป็นความต้องการที่ไม่เคยหมดไป  แม้ว่าความต้องการจะดูมีวัฏจักรการขึ้นลงตามรอบเศรษฐกิจ  ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีคนที่มีความต้องการรถจะชะลอการซื้อรถออกไปก่อน  เมื่อเศรษฐกิจดีผู้คนมั่นใจในความมั่นคงของงานและรายได้ของตนเอง การจับจ่ายใช้สอยในสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์จะเริ่มตามมา

ผมเองไม่เคยซื้อรถยนต์เลยตั้งแต่เริ่มทำงาน  โดยผมใช้การบริการขนส่งมวลชนมาตลอด เช่น เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟฟ้า  นั่นทำให้ผมเก็บเงินได้  แทนที่ผมจะเอาไปซื้อรถและต้องมีหนี้สินในการผ่อนรถยนต์  ผมได้มีเงินออมไปลงทุน...ซึ่งการลงทุนช่วงแรกของการทำงานจะเป็นการลงทุนในเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น  ...การออมทำให้ผมมีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุนเมื่อตลาดหุ้นตกอย่างหนักปี 2008 แม้ว่าจะยังไม่มีความพร้อมเรื่องความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนก็ตาม

ปัจจัยเรื่องการไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ด้วยเงินผ่อนตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงานและนำเงินที่ได้จากการทำงานมาเก็บออมน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ระดับสินทรัพย์ของผมต่างจากคนทั่วไปที่อายุพอๆกัน และเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันที่ทำงานพร้อมๆกัน  เพราะผมแทบไม่มีแต้มต่อคนอื่นในเรื่องของรายได้เลย  รายได้เท่าคนอื่นหรือน้อยกว่าด้วยซ้ำ  ผมไม่ได้ทำงานพิเศษ  ผมไม่ได้มีอาชีพเสริม  ผมทำงานรับราชการธรรมดาๆ  ... สิ่งที่แตกต่างคือรายจ่าย  ผมประหยัดมากกว่าคนอื่น

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

Natural selection ในการลงทุน

สมัยเรียนชั้นม.ปลาย  วิชาที่ผมชอบมากที่สุดคือ วิชาฟิสิกส์  เพราะผมรู้สึกสนุกกับการสังเกตสิ่งรอบตัวในมุมมองด้านกายภาพ  การค้นหาความจริงผ่านการทดลองและการแก้โจทย์ปัญหาในรูปแบบตัวเลขที่ชัดเจน  ส่วนวิชาที่ผมไม่ชอบที่สุดคือ  วิชาชีววิทยา  เพราะผมมองไม่เห็นอะไรมากไปกว่าการท่องจำเพื่อสอบให้ผ่านไป  ซึ่งเป็นลักษณะของการเรียนรู้แบบไทยๆ

แต่ในช่วงที่ผ่านมา  มีหนังสือ pop science ทางชีววิทยาโดยเฉพาะเรื่อง วิวัฒนาการ (Evolution) ออกมามากมายทั้งหนังสือภาษาไทยและหนังสือต่างประเทศ  กลายเป็นว่า...ชีววิทยาสนุกกว่าที่คิด!!  ผมรู้สึกสนุกมากกว่าการอ่านหนังสือชีววิทยาสมัยม.ปลายอย่างเทียบกันไม่ได้  เพราะการอ่านครั้งนี้เต็มไปด้วยความอยากรู้ ความสนุกและสามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้

ผมลองจะอธิบายเรื่องวิวัฒนาการให้ฟังแบบสั้นๆนะครับ

การวิวัฒนาการ (Evolution)...ไม่ใช่การพัฒนาการ (Development)  คนส่วนใหญ่ชอบใช้การวิวัฒนาการในความหมายของการพัฒนาตนเอง  ซึ่งไม่ถูกต้อง  เพราะไม่ได้ส่งผ่านพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน  เช่น  ถ้าเราขยันเล่นกล้ามจนกล้ามใหญ่  ไม่ได้หมายความว่าลูกหลานของเราจะกล้ามใหญ่ไปด้วย  เพราะการที่เล่นกล้ามจนกล้ามใหญ่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พันธุกรรม

การวิวัฒนาการ (Evolution)...ไม่ใช่การปรับตัว (Adaptation)  เช่น  บางคนคิดว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ทำงานแต่ในห้อง  ต่อไปมนุษย์จะหัวโตแขนขาลีบเพราะใช่แต่สมอง  ซึ่งนี่ไม่ใช่วิวัฒนาการเพราะไม่ได้มีการส่งผ่านพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน  แน่นอนว่าถ้าไม่ใช้แขนขาเลย  แขนขาย่อมลีบลง  แต่นี่คือการปรับตัวตามการใช้งานของร่างกาย  ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาในพันธุกรรมอยู่แล้ว

การวิวัฒนาการคือ...การเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมจากรุ่นหนึ่งส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าดีขึ้นหรือแย่ลง  แต่สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดไปได้ต้องเหมาะสมที่อยู่รอดและขยายพันธุ์ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ

การศึกษาเรื่องวิวัฒนาการทำให้เรารู้เส้นการของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เซลเดียวจนมาถึงสิ่งมีชีวิตหลายเซลที่มีสมองส่วนหน้าพัฒนาอย่างมนุษย์เรา  ผ่านการศึกษาอย่างมีหลักฐานอย่างมีเหตุผล  ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ

สิ่งที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมีเรื่องหลัก 2 อย่าง
1. การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม  ซึ่งอาจจะมาจากการกลายพันธุ์ (Mutation) หรือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Sexual reproduction) ที่มีการแลกพันธุกรรมจากเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่งทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม  เมื่อพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามมา  เช่น  สามารถผลิตโปรตีนบางชนิดได้  อวัยวะบางอย่างเปลี่ยนไป  เป็นต้น
2. การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection)  สิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน  สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือ...สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมนั้นและขยายเผ่าพันธุ์ได้  ยกตัวอย่างกรณียีราฟ  ในอดีตกาลจะมียีราฟหลายพันธ์ทั้งคอยาวคอสั้น  การที่เราเห็นยีราฟคอยาวในปัจจุบันแสดงว่า  สภาพแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาทำให้ยีราฟคอยาวอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อเนื่องมาได้  ซึ่งสภาพแวดล้อมนั้นอาจจะเป็น  ป่าที่มีแต่ต้นไม้สูง  ทำให้ยีราฟคอสั้นหาอาหารไม่ได้และตายไป

เรื่อง Natural selection นี้เอง  ทำให้ผมมองเห็นความสำคัญของ”สภาพแวดล้อม”ที่มีผลต่อการอยู่รอดและการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์  ซึ่งสภาพแวดล้อมนั้นต้องเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิต

ในโลกของการลงทุน  คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานาน  คนที่อยู่ในวงการธุรกิจมานาน  หรือคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไป  จะพบการเกิด การคงอยู่ การขยายตัว การเสื่อมถอยและดับไปของทั้งบริษัท อุตสาหกรรม  รวมถึงนักลงทุนและนักเก็งกำไร  ที่มีทั้งอยู่รอดในตลาดหุ้นได้  ขาดทุนหมดตัวออกจากตลาดไป  มีทั้งสร้างชื่อเป็นเซียนได้ชั่วคราวแค่ในช่วงตลาดขาขึ้น แต่ตลาดขาลงเอาตัวไม่รอดต้องออกจากตลาดไป  มีทั้งเซียนตัวจริงที่อยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์

ลองมาดูมุมมองเรื่อง Natural selection ในโลกแห่งการลงทุนกันนะครับ