วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การลงทุนจากหมากกระดาน (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบันมีการใช้คำว่า “กลยุทธ์” (Strategy)  มากมายทั้งในวงการเมือง  วงการทหาร(การรบ)  วงการธุรกิจ  เรียกได้ว่าเป็นศัพท์ของผู้บริหารระดับสูง  เนื่องจากเป็นคำที่คนทั่วๆไปไม่ค่อยได้ใช้กัน  ผมจึงไปลองค้นความหมายดู


ความหมายของคำว่า “กลยุทธ์” ในพจนานุกรมราชบัณฑิยสถาน  คือ  การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม,  วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ,  เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้  (หรือจะใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” แทนคำว่ากลยุทธ์ก็ได้ครับความหมายเดียวกัน)  ฟังความหมายตามพจนานุกรมอาจจะยังงงๆกัน ...ดังนั้นผมจะพูดตามที่ผมเข้าใจดีกว่า

และยังมีอีกคำนึงที่มักจะสับสนกัน  คือ  “ยุทธวิธี” (Tactics)  หมายถึง  วิธีการในระดับรายละเอียด  เพื่อนำมาใช้ดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้  (กลยุทธ์จะบอกวิธีการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในภาพรวม)

ซึ่งทั้ง Strategy และ Tactics เป็นคำที่มักจะใช้คู่กัน  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เราวางเอาไว้

ผมไม่ใช่นักบริหารระดับสูงแต่อย่างใด  แต่ผมคุ้นเคยกับคำว่า “กลยุทธ์” และการใช้กลยุทธ์เป็นอย่างมาก  เนื่องจากตอนเด็กๆผมชอบอ่านสามก๊กและตำราพิชัยสงครามของซุนวู  รวมถึงชอบเล่นหมากกระดานที่ต้องใช้การคิดและวางแผน  โดยความหมายของกลยุทธ์สำหรับผมคือ...การใช้วิธีการต่างๆเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราวางเอาไว้  นั่นคือ  เราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร?  และเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร?

แล้วกลยุทธ์มีความสำคัญอย่างไรกับการลงทุน?

นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาดหุ้นมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำไร  ต้องการเป็นอิสระภาพทางการเงิน  โดยมากนักลงทุนที่เข้ามาใหม่ๆมักจะคิดว่า  การมีหุ้นเด็ดคือคำตอบของทุกอย่าง  เหมือนแทงหวยก็ต้องมีเลขเด็ด  แต่ความจริงแล้วนักลงทุนระดับเซียนนั้น  การซื้อหุ้นถูกตัวเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ  จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการลงทุนด้วย

พูดไปอาจจะยังไม่เชื่อ...งั้นหาลองดูว่า  มีนักลงทุนรายย่อยมากมายแค่ไหนที่ซื้อตามเซียนแล้วขาดทุน  ซื้อต้นทุนเท่าเซียนแล้วยังกำไรน้อยกว่าหรือขาดทุน  เพราะการที่นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ขาดกลยุทธ์ในการลงทุน

ผมถึงได้พยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องของกลยุทธ์ออกมา  การเรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ผมคงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงหมากกระดาน...และหมากกระดานที่ผมคิดว่าใช้ในการฝึกการคิดเชิงกลยุทธ์ได้อย่างดีเยี่ยมคือ  หมากรุก  และหมากล้อม(โกะ)

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนพิเศษ) ยอมรับความจริง

ตลาดหุ้นเป็นแหล่งรวมรวมแนวคิดด้านการลงทุนไว้มากมาย  นักลงทุนที่ใช้แนวทางใดก็จะมีความเชื่อมั่นต่อแนวคิดของตนเอง  ซึ่งอาจจะมาจากการค้นคว้าด้วยตนเองหรือศึกษาจากอาจารย์  เมื่อลงทุนแล้วประสบความสำเร็จระดับนึงจะเกิด ”อัตตา” ความเชื่อมั่นว่าตนเองเก่ง  แนวทางที่ตนใช้ถูกต้อง  แนวคิดคนอื่นผิดพลาด

เนื่องจากการลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่มองไปยังอนาคต  จึงไม่อาจจะทำนายได้แน่นอน  เปรียบเสมือนการดูหมอ  ช่องว่างแห่งความไม่รู้อนาคตได้ก่อเกิดแนวคิดที่หลากหลาย

เวลาที่ได้กำไรก็ดีใจกันไป  แนวทางของฉันถูกต้องที่สุด  แต่ถ้าเริ่มขาดทุนหรือติดตัวแดง  ก็จะเกิดความคิดที่มาปกป้องความเชื่อของตนเอง ที่เรียกว่า  กลไกป้องกันทางจิต  (Defense mechanism)

Sigmund Freud

ตามทฤษฎี  Ego psychology ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Theory of psychoanalysis) ของ Sigmund  Freud  นายแพทย์ชาวออสเตรียผู้โด่งดัง  ซึ่งบุคคลสำคัญของแนวคิด Ego psychology นี้คือ  Anna Freud  ซึ่งเป็นลูกสาวของ Sigmund Freud โดยทฤษฎี  Ego psychology จะเน้นในส่วนบทบาทของ Ego และกลไกป้องกันทางจิต  ซึ่งแนวคิดของกลไกป้องกันทางจิตถูกอธิบายละเอียดขึ้นมากกว่าที่ Freud ได้อธิบายไว้ในตอนแรก

(ผมจะไม่ลงลึกเรื่อง Ego นะครับ เดี๋ยวจะยาว  เพราะต้องอธิบายโครงสร้างของจิตใจด้วย จะพูดถึงแต่กลไกป้องกันทางจิตซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานของ Ego ในระดับจิตใต้สำนึก)

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นเช่น  หุ้นตกหนัก  พอร์ตติดลบ  หุ้นขึ้นแต่ไม่ได้ซื้อ(ตกรถ)  จิตใจจะเกิดความวิตกกังวลขึ้น (Signal anxiety) เพื่อเตือนให้รู้ว่าจิตใจกำลังได้รับอันตราย  กลไกแรกที่จิตใจนำมาใช้คือ การเก็บกด (repression) โดยกระบวนการนี้เกิดในระดับจิตให้สำนึกด้วยความรวดเร็วมาก (Unconscious level)  แต่เมื่อใดที่ระดับความกังวลมีมากจนการเก็บกดเริ่มไม่ได้ผล  ความกลัวและความกังวลจะเริ่มขึ้นสู่การรับรู้ของจิตใจในส่วนของจิตสำนึก (Conscious level)

แล้วกลไกป้องกันทางจิตอื่นๆจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการปกป้องจิตใจจากความกังวล

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สิ่งที่ควรรู้ในการเลือกซื้อคอนโด

(ขอนำบทความเก่าๆก่อนผมซื้อคอนโดมาลงนะครับ)

พอดีช่วงนี้ผมสนใจเรื่องคอนโดเลยเอาความรู้มาแบ่งปันกันครับ... (เหมาะสำหรับคนที่มีแผนจะซื้อคอนโดอยู่เองหรือซื้อใว้ลงทุนขายต่อหรือให้เช่าครับ)
 คอนโดจัดอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อราคาและความต้องการของผู้ซื้อคือ...ทำเล (Location)

ก่อนจองคอนโด

1. ประเมินทำเล  ...

- เดินทางสะดวกหรือไม่?  ถ้ามีการเดินสะดวกราคาห้องต่อตร.ม.จะแพงกว่า...ถ้ามีรถไฟฟ้าผ่านใกล้ๆจะดีมาก (รวมถึงโครงการถไฟฟ้าในอนาคตด้วย MRT,  BRT, Airport link) ถึงจะแพงกว่าแต่ก็น่าซื้อกว่าคอนโดที่เดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวกเพราะราคาไม่ตกมากนักและขายต่อได้ง่ายกว่าอยู่เองก็เดินทางสะดวกสบายใจกว่า... (ถ้าซื้อห้องชุดได้ก่อนรถไฟฟ้าเข้าถึงแล้วพอมีรถไฟฟ้าแล้วราคาห้องจะสูงขึ้นมาก)
                           
- มีศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร้านซักรีด ร้านสะดวกซื้อ อยู่ใกล้ๆบริเวณนั้นหรือไม่? ตามวิถีชีวิตคนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย  ถ้าสถานที่เหล่านี้อยู่ไกลแต่มีรถไฟฟ้าหรือการเดินทางสะดวกก็โอเค... กรณีคนไม่รีดผ้าเองควรจะมีร้านซักรีดในตัวอาคาร... (แต่ถ้าเป็นบริเวณที่มีคนเริ่มอยู่มากๆ เช่น มีคอนโดหลายแห่งอยู่แถวนั้นศูนย์การค้าต่างๆก็มักจะมาเปิดในย่านนั้นๆตามมา)
                           
- อยู่ใกล้สถานศึกษาหรือย่านธุรกิจหรือไม่?  ถ้าใกล้สถานศึกษาจะเหมาะในการให้นักเรียนนักศึกษาเช่า...ถ้าใกล้ย่านการค้าที่ต่างชาติทำงานจะเหมาะให้ต่างชาติเช่าเพราะคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ได้อยู่แถวนี้ถาวรจึงหาเป็นห้องเช่ามากกว่าซื้อขาดไปเลย...
                           
- ทิศทางแสงแดดเป็นอย่างไร?  ห้องที่ดีระเบียงควรจะอยู่ด้านทิศตะวันออก...หรือทิศเหนือทิศใต้...แต่ให้ระวังทิศตะวันตกเพราะ...แสงแดงยามบ่ายทั้งบ่ายจะทำให้ห้องอมความร้อนในตอนกลางคืนต้องเปิดแอร์และเปลืองไฟมาก...ตอนเช้าๆแสงแดดที่ส่องทางระเบียงจะช่วยให้เราตื่นได้ด้วย...
                           
- ที่จอดรถในตัวอาคารเพียงพอหรือเปล่า  มีที่จอดประจำหรือไม่?? (กรณีเรามีรถยนต์) ไม่อย่างนั้นต้องมาลุ้นแย่งเก้าอี้ดนตรีกันทุกวัน รวมถึงดูเรื่องการเดินทางโดยทางรถส่วนตัวว่าสะดวกหรือไม่? ใกล้ทางด่วนหรือเปล่า? (สำหรับคนที่บ้านอยู่ต่างจังหวัดและคนชอบเที่ยว...)

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รับที่เท่าไรดี?

ช่วงที่ตลาดลงหนักจากพี่ฝรั่งขาย  ผมมักจะได้คำถามจากมือใหม่ในทำนองนี้  ซึ่งผมเองก็ไม่รู้จะตอบว่าอะไรดี  ถ้าให้คำตอบบางอย่างไปแล้วคนฟังไปทำตามนั่นก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด  เช่น  ถ้าบอกว่ารอรับที่ 900 ต้นๆ  ถ้าหากรับแล้วดัชนีเกิดลงไป  700 – 800 ผู้ที่รับตามผมบอกก็อาจจะขาดทุนได้  หรือถ้าหากดัชนีไปไม่ถึง 900 แล้วเด้งขึ้นมาที่ 1000 กว่าๆก็จะเสียโอกาสในการรับของถูกในช่วงนี้ไปได้

เพราะการคาดการดัชนีเป็นสิ่งที่ยาก  ไม่มีใครรู้อนาคต  แม้แต่ในทางเทคนิค (ซึ่งผมไม่ใช่เทคนิคอลนะครับ) ยังต้องมีการประเมินแนวโน้มเป็นระยะๆเลยครับ  เช่น  ถ้าเกิดดัชนีลงไปถึงจุด  A แล้วเด้งขึ้นจะมีแนวโน้มลงต่อ ขึ้นหรือซึมยาว  เหตุการณ์มีโอกาสเกิดได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการปรับกลวิธีในการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนตามสถาณการณ์มากกว่า

ถ้าอย่างนั้นในช่วงตลาดขาลงอย่างนี้จะทำอย่างไรดี?  รับที่เท่าไรดี?

คำแนะนำของผมนะครับ

1. ไม่พยายามทำกำไรโดยคาดเดาดัชนี  เพราะเราลงทุนในหุ้นรายตัว  แน่นอนว่าตลาดขาลงนั้นหุ้นเกือบทุกตัวลงหมด  แต่ลงมากลงน้อยก็แล้วแต่หุ้นแต่ละตัว  เซียนหุ้นอย่าง Peter Lynch  หรือ  Warren Buffet  ก็ไม่ได้ทำกำไรจากการออกมาทำนายว่าดัชนีจะไปที่จุดไหน  แต่ทำกำไรจากการลงทุนในบริษัทที่มีความแข็งแกร่งและผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง  ถ้าหุ้นที่เราจับตาใน watch list  ยังไม่ถูกพอเราก็ยังไม่ควรเข้าไปซื้อ  ส่วนที่ว่าถูกพอนี่คือแค่ไหน...คงแล้วแต่ MOS – Margin  of  Safety  ของแต่ละคน  รวมถึงประเมินกำไรคาดหวังก่อนเข้าซื้อ

ขอให้เน้นมองการลงทุนในหุ้นรายตัวมากกว่าภาพดัชนีโดยรวม  (ยกเว้นว่าคุณจะเล่น TFEX)

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เพดานของการเติบโต

ช่วงนี้ผมจะลงลึกเรื่องการวิเคราะห์หุ้นเติบโตนะครับ (แต่จะพยายามเขียนให้มือใหม่อ่านเข้าใจ)

ในการลงทุนในหุ้นเติบโตนั้น  เราจะพิจารณาขายหุ้นเมื่อหุ้นนั้นหยุดเติบโต  (กำไรไม่โตแล้ว)  เพราะหุ้นเติบโตที่โตเต็มวัยก็จะกลายเป็นหุ้นโตช้าหรือหุ้นปันผลไป การได้ capital gain จากการเพิ่มของตัวกำไรอาจจะเป็นสิ่งที่คาดหวังไม่ได้อีกต่อไป แต่อาจจะมีราคาขึ้นลงตามข่าวหรือตามอารมณ์ตลาด แต่นั่นเป็นเรื่องที่เราๆคนธรรมดายากที่จะคาดเดาได้

โดยปกติถ้าตลาดที่มีประสิทธิภาพจะให้ราคาหุ้นที่ PE ไม่น้อยไปกว่าอัตราการเติบโตในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า  เช่น  หุ้นที่โตต่อเนื่อง 25 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอย่างน้อยอีก 5 ปีก็ควรจะมี PE ไม่ต่ำกว่า 25 ถ้าน้อยกว่า 25 ก็ต้องถือว่าหุ้นราคาถูก ...ซึ่งไม่ใช่ดูการเติบโตย้อนหลังนะครับ เพราะในการลงทุนเราจะดูที่อนาคตของกิจการ งบการเงินในอดีตบอกเพียงการเติบโตในอดีต บอกผลงานที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันความสำเร็จ  ไม่ได้รับประกันการเติบโตในอนาคต

ดังนั้นเมื่อบริษัทเติบโตถึงจุดอิ่มตัว การเติบโตจะช้าๆตาม GDP หรือเงินเฟ้อ PE ratio จะถูกปรับใกล้ค่า 10 ซึ่งเป็นอัตราตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดหุ้น หรือ Earning yield ที่ 10 %นั่นเอง