ในยุคที่เต็มไปด้วยแนวคิดมองโลกเชิงบวก (Positive thinking) จะเห็นได้จากเวลาเราเดินเข้าไปร้านหนังสือจะเจอหนังสือแนวคิดเชิงบวกมากมาย ซึ่งผมยอมรับว่าการคิดเชิงบวกเป็นสิ่งดีมาก ทำให้คนเราเห็นโอกาสในวิกฤติ ทำให้คนเรามีความฝันและมีพลังใจที่จะเดินตามความฝัน แต่การมองด้านบวกเพียงด้านเดียวนั้นอาจจะไม่ใช่การมองตามจริง ความจริงคือทุกสิ่งทุกอย่างมี 2 ด้าน ทั้งด้านบวกและด้านลบ การมองเพียงด้านเดียวอาจจะทำให้เราขาดมุมมองที่ตรงตามความจริงไป
ถ้าเรามองแต่ด้านบวกแล้วละเลยการมองด้านลบจะมีข้อเสียอย่างไร?
เราจะมองเห็นแต่โอกาสโดยที่เราจะมองไม่เห็นความเสี่ยงเลย ถ้าเราเป็นนักเรียนแล้วคิดแต่ว่ายังงัยก็สอบได้ชัวร์แล้วไม่อ่านหนังสือเอาเวลาไปเล่นเกมส์โดยไม่คิดจะทบทวนบทเรียน ต่อให้คิดบวกตลอดเวลาว่าตัวเองสอบผ่านแน่นอน โอกาสสอบตกย่อมมีสูงกว่านักเรียนที่เตรียมพร้อม, คนขับรถตู้โดยสารที่เร่งความเร็วให้สูงที่สุดและไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ไม่สนใจเสียงท้วงติงของผู้โดยสาร โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุย่อมมีสูงกว่าคนขับที่ระมัดระวัง, ทีมฟุตบอลที่คิดแต่จะชนะด้วยวิธีบุกแหลกโดยไม่คิดแผนการป้องกันเวลาโดนฝ่ายตรงข้ามสวนกลับ โอกาสโดนสวนกลับแล้วเสียประตูย่อมมีสูงกว่าทีมที่ระมัดระวัง
แนวคิดเชิงบวกได้พูดถึงการมองวิกฤติให้เป็นโอกาส ซึ่งผมว่าการมองว่าวิกฤติคือโอกาสเป็นความคิดที่ดีมากครับ แต่หากมองแต่โอกาสโดยไม่ระมัดระวังความเสี่ยงเลย โอกาสจะกลายเป็นวิกฤติได้เช่นกัน
จะดีกว่าไหมถ้าเรามองตามความจริง คือ เห็นทั้งด้านบวกและด้านลบ เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
การมองโลกในแง่บวกทำให้เรามีความฝัน มีเป้าหมาย มีแรงใจที่จะมุ่งไปข้างหน้า มองเห็นสิ่งดีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การมองโลกในทางลบทำให้เรารู้จักระมัดระวัง ประเมินและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น มีแผนการรับมือ
การมองโลกตามจริงทำให้เรามองทุกอย่างตามสิ่งที่เป็น มองเห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในทุกสถานการณ์และเลือกรับมืออย่างเหมาะสม
ลองเลือกที่จะมองโลกให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์กันครับ
ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นตลาดกระทิงเป็นเวลายาวนานหลายๆปีนั้น เราจะได้ยินเรื่องราวของนักลงทุนหน้าใหม่ๆที่ประสบความสำเร็จมากมาย บางคนบอกว่าตัวเองทำผลตอบแทนได้หลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์ หลายคนใช้เงินกู้ที่เรียกว่าบัญชีมาร์จิ้นลงทุนเต็มที่ตลอดเวลา หลายคนตั้งตนเองเป็นเจ้าสำนักหรือเป็นเซียน
การเกิด Overconfidence พบได้ในนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังลงทุนมาไม่นานแล้วได้กำไรมากมาย พวกเขาลงทุนโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงให้ดีพอ ไม่ว่าจะด้วยการซื้อหุ้นโดยใช้เงินมาร์จิ้นที่ยืมมาจากโบรกเกอร์ เวลาลงทุนก็ซื้อหนักตัวเดียวเต็มพอร์ต แน่นอนว่าเราอาจจะได้ยินเรื่องราวการได้กำไรจำนวนมากจากการใช้เงินกู้ยืมเหล่านี้ แต่นิสัยที่สั่งสมจากการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากๆในทุกปีของการลงทุนอาจจะนำมาซึ่งหายนะจากความมั่นใจในตัวเองเกินไป ลงทุนโดยแบกรับความเสี่ยงที่มากเกินไปตลอดเวลา
ถ้าการลงทุนของพวกเขาเกิดไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจะเกิดอะไรขึ้น? ผมเชื่อว่าเราคงเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงได้ไม่ยากในช่วงทีตลาดลงหนักจากวิกฤติหนี้ประเทศกรีซที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
อะไรทำให้นักลงทุนมองแต่ Upside เพียงด้านเดียวแบบนี้? ผมคิดว่าเกิดจากการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากๆระดับหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์ต่อปี และการได้กำไรมาง่ายๆ การฟังคำสรรเสริญของคนอื่นจนย่ามใจ
ผลตอบแทนที่เราคาดหวังสูงเกินไปหรือไม่?
การคาดหวังผลตอบแทนระดับ 100 เปอร์เซ็นต์ต่อปีขึ้นไปทุกปีนั้น สามารถทำได้”แต่”เราจะต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นและรับความเสี่ยงที่มากขึ้นจากการเลือกหุ้นที่มีโอกาสทำกำไรสูงแต่โอกาสขาดทุนก็สูงตามไปด้วย และส่วนใหญ่คนที่ทำผลตอบแทนในระดับนี้ติดต่อกันหลายๆปีนั้นหาแทบไม่ได้เลย ...ส่วนการลงทุนโดยมีความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนสูงแบบนักลงทุนดันโด มีโอกาสเกิดขึ้นได้”แต่”โอกาสนั้นจะไม่ได้มาบ่อยๆ เราต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อที่จะเจอการลงทุนดีๆเหล่านี้ รวมถึงต้องอดทนรอคอยและเตรียมตัวให้พร้อมจนกว่าโอกาสจะมาถึงหรือเมื่อถึงราคาหุ้นที่เหมาะสมจึงเข้าลงทุน เราจะไม่เจอการลงทุนความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนสูงแบบนักลงทุนดันโดได้ทุกวันที่ตลาดเปิดหรือแม้แต่ทุกปี
ดังนั้นการคาดหวังผลตอบแทนสูงเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์จะนำซึ่งการเลือกหุ้นที่เสี่ยงมากขึ้น เพราะเราใช้ความโลภเลือกหุ้น ไม่ได้ใช้เหตุผลในการเลือกหุ้น ทั้งที่การลงทุนในหุ้นเติบโตที่ดีและราคาถูกอาจจะยังรออยู่แต่นักลงทุนโลภจะมองข้ามมันไปเนื่องจากผลตอบแทนได้เพียงแค่ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น เราจะมองแต่ Upside โดยละเลย Downside ไป
ความโลภในการหวังผลตอบแทนสูงมากๆมาจากไหน?
ผมคิดว่าการที่เราได้ยินนักลงทุนบางคนได้ผลตอบแทนหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี จะเกิดความอยากที่จะได้เหมือนพวกเขาบ้าง และเป็นที่มาของความโลภและเล่นหุ้นที่เสี่ยงมากขึ้นซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวถนัดของตนเอง แต่ด้วยความอยากที่บดบังปัญญาไว้ เราจะมองเห็นแต่โอกาสที่จะได้เงินโดยไม่รู้ว่ามีโอกาสที่จะเสียเงินรออยู่
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การลงทุนที่ไม่ได้ประเมินความเสี่ยงให้ดีพอเกิดขาดทุนหนักขึ้นมา นักลงทุนจะมีแรงขับดันในการพยายามเอาเงินที่เสียไปคืนมา (Trying to break even effect) จะทำให้เราเล่นหุ้นแบบเสี่ยงมากขึ้น อาจจะลงทุนหนักๆเพียงครั้งเดียว อาจจะใช้การทำ Day trade ในช่วงที่ตลาดแกว่งตัวอย่างรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำที่ขาดความยั้งคิดเหล่านี้จะทำให้เราขาดทุนมากขึ้นไปอีก
ผมคิดว่านักลงทุนไม่ควรคาดหวังผลตอบแทนที่สูงเกินไป ส่วนตัวผมคาดหวังผลตอบแทน 15 – 20 ต่อปีตามอัตราการเติบโตของบริษัท แต่ถ้าได้ผลตอบแทนสูงกว่านั้นต้องถือว่าเป็นส่วนที่ได้เกินความคาดหมายครับ
หรือแม้แต่การที่ปีไหนเราได้ผลตอบแทนมากมายหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นไม่ได้หมายความว่าเราเป็นเทพ มีปีกงอกออกมา มีวงแหวนบนหัวและปล่อยสายฟ้าได้ซะเมื่อไหร่ เรายังคงเป็นคนธรรมดาเดินดิน ต้องกินต้องนอน มีดีใจเสียใจหัวเราะร้องไห้ตามประสาปุถุชน ดังนั้นความเชื่อมั่นที่เกินไป (Overconfidence) ไม่มีประโยชน์อะไรเลยครับ
มอง 2 ด้าน มอง Upside แล้วอย่าลืมมอง Downside
ขอให้มอง Downside ก่อนเสมอ ฝึกให้เป็นนิสัยทุกครั้งก่อนซื้อหุ้น ให้ประเมินการลงทุนจาก Conservative case กรณีที่แย่ที่สุดบริษัทควรจะมีมูลค่าเท่าไร? และให้ซื้อในราคาที่มีส่วนลด Margin of safety จากราคานั้น แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุด แต่เรามั่นใจได้ว่าระยะยาวเราจะไม่ขาดทุนหรือขาดทุนน้อยมาก
ในตลาดกระทิงนักลงทุนจะประเมินมูลค่าหุ้นโดยขาดการมอง Downside ไป เพราะเราจะมองเห็นแต่ด้านบวกของบริษัทเนื่องจากตลาดขาขึ้นทุกคนจะอารมณ์ดีมองโลกในแง่ดีกันไปหมด แต่เมื่อตลาดหมีเข้ามาเยือนนักลงทุนจะขาดทุนอย่างมากได้ ยิ่งตลาดกระทิงยิ่งต้องประเมินมูลค่าหุ้นและลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น ในทางตรงข้ามยิ่งตลาดหมีที่หุ้นราคาถูกยิ่งต้องขยันทำการบ้านหาหุ้นที่ดีราคาถูกพิจารณาเข้าลงทุนให้มากและลงทุนอย่างระมัดระวัง...และต้องเพิ่มความกล้าในการเข้าลงทุนที่เราประเมินมาอย่างดีแล้ว
การป้องกันการขาดทุนหนักของการลงทุนในหุ้นรายตัว
ผมได้เขียนการป้องกันการขาดทุนในภาพรวมทั้งพอร์ตการลงทุน ในบทความ”การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุน” คราวนี้ผมจะพูดถึงป้องกันความเสี่ยงขาดทุนหนักในการลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ซึ่งผมคิดว่ามีวิธีการป้องกันการขาดทุนหนักดังนี้
1. การลงทุนที่มี Margin of safety
เราจะลงทุนโดยมี MOS ได้ เราต้องเข้าใจกิจการ เข้าใจข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณให้ดีพอที่เราจะประเมินมูลค่าบริษัทออกมาได้ (Intrinsic value) แล้วเราจึงจะมาย้อนคิดว่า...ราคาใดที่เป็นราคาที่มี MOS ส่วนจะกำหนด 30-50 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าหุ้นแบบ conservative ให้แล้วชนิดของกิจการบริษัทที่เราลงทุน ความเสี่ยงจากการขาดทุนหนักจะหายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่จากการเข้าซื้อที่ราคาที่มี MOS
การลงทุนในหุ้นแต่ละตัวในพอร์ต ต้องเผื่อส่วนต่างของความปลอดภัยไว้เสมอ ดังนั้นเราจะหาหุ้นที่ลงทุนได้ยากมากในปลายตลาดกระทิง การพยายามทำผลตอบแทนให้สูงตลอดเวลาจะทำให้เราเผื่อ MOS ให้น้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายการลงทุนของเราจะไม่มี MOS โดยไม่รู้ตัว ซื้อหุ้นเพราะมองแต่ Upside เพียงอย่างเดียว รวมถึงลงทุนในธุรกิจที่เราไม่ได้มีความเข้าใจเลยแม้แต่น้อยแต่หลอกตัวเองว่าเข้าใจ กว่าจะได้สติว่าตัวเองทำอะไรลงไปอาจจะต้องเจอการขาดทุนหนักเสียก่อน
กรณีหาหุ้นที่มี MOS ไม่ได้จริงๆ การถือเงินสดรอนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีครับ จริงๆแล้วเราควรจะมีเงินสดติดพอร์ตไว้เสมอเมื่อมีโอกาสลงทุนดีๆเราจะได้คว้าไว้ได้ครับ
การลงทุนโดยมี Margin of Safety เป็นแนวคิดหลักในการลงทุนแบบ VI รวมถึงการลงทุนในหุ้นเติบโตแบบที่ผมใช้อยู่ด้วยครับ เราต้องมีแนวคิดเรื่อง MOS ฝังอยู่ในจิตวิญญาณเลยครับ (ผมอธิบายแนวคิด Margin of Safety ในบทความ ”รับที่เท่าไรดี” ครับ)
2. การตัดขาดทุน (Cut loss) เมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
หลายคนคงสงสัยว่า...ผมเป็นนักลงทุนปัจจัยพื้นฐาน ทำไมมาพูดเรื่อง Cut loss? ผมลองอธิบายให้ฟังนะครับ
เมื่อราคาหุ้นลดลงอย่างหนัก นักลงทุนต้องกลับมาประเมินปัจจัยพื้นฐานบริษัทอีกครั้ง พื้นฐานเปลี่ยนหรือไม่? มีอะไรที่เรามองข้ามไม่ได้ประเมินไปตั้งแต่ตอนแรกหรือเปล่า? เพราะในตลาดหุ้นบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนแต่ตลาดได้รับรู้ไปแล้วในราคาที่ลดลง พื้นฐานการเติบโตหรือผลประกอบการณ์จึงแสดงออกตามมา ดังนั้นนักลงทุนต้องไม่ดูถูกตลาด ถ้าเราคิดผิดพื้นฐานเปลี่ยนและมูลค่าที่แท้จริงเปลี่ยนเราต้องขาย Cut loss เพื่อจำกัดการขาดทุน แต่ถ้าเราประเมินและคิดดีแล้วว่าพื้นฐานบริษัทยังดีเหมือนเดิม กำไรไม่ได้ลดลง มีแต่จะเติบโตขึ้นในระยะยาวแต่ตลาดประเมินผิดไป เราสามารถถือได้และควรหาโอกาสซื้อเพิ่มด้วยครับ (แต่ผมไม่ค่อยอยากเชียร์ให้ซื้อเฉลี่ยขาลงแม้ว่าจะเป็นกรณีที่พื้นฐานยังดีอยู่ก็ตาม เพราะมีเรื่องที่นักลงทุนรายย่อยยังไม่รู้อีกมาก ถ้าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างที่เราประเมินตั้งแต่ต้นสุดท้ายราคาจะกลับมาสูงกว่าเดิมเองเมื่อเวลาผ่านไปครับ)
เมื่อเราลงทุนแล้วผิดคาด คิดผิด เพราะจริงๆแล้วมูลค่าพื้นฐานอยู่ต่ำกว่าที่ราคาที่เราถืออยู่...หรือเราใช้วิธีเก็งกำไร ไม่ว่าจะเก็งข่าวหรือเก็งผลประกอบการณ์รายไตรมาสก็ตามแล้ราคาไม่ตอบสนองตามที่เก็งกำไรเอาไว้ สุดท้ายเมื่อราคาไหลลงเรื่อยๆ เราต้องตัดขาดทุนออกมา (Cut loss)
ยิ่งตัดขาดทุนได้เร็ว...ความเสียหายยิ่งน้อยลง ผมจะแสดงตัวอย่างคร่าวๆ (ลองกดเครื่องคิดเลขดูได้ครับ)
ขาดทุน 5 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำผลตอบแทน 5.26 เปอร์เซ็นต์ถึงจะเอาทุนคืนได้
ขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำผลตอบแทน 11.11 เปอร์เซ็นต์ถึงจะเอาทุนคืนได้
ขาดทุน 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำผลตอบแทน 25 เปอร์เซ็นต์ถึงจะเอาทุนคืนได้
ขาดทุน 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำผลตอบแทน 42 เปอร์เซ็นต์ถึงจะเอาทุนคืนได้
ขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำผลตอบแทน 100 เปอร์เซ็นต์ถึงจะเอาทุนคืนได้
ขาดทุนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ผมไม่ทำให้ดูแล้วนะครับ เพราะตัวเลขจะน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงกับพอร์ตของเราครับ
การทำระบบในการ Cut loss ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ไม่ควรให้เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เพราะเราจะเอาทุนคืนยากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปดังที่ผมแสดงให้ดู ส่วนการตั้งระบบ Cut loss ที่เปอร์เซ็นต์น้อยมากๆ เช่น 1- 5 เปอร์เซ็นต์ระบบอาจจะรับการแกว่งของราคาหุ้นไม่ไหว (Fluctuation) ต้องขายออกมาก่อนทั้งๆที่ราคาแกว่งตัวในช่วงขาขึ้น
สรุปว่าการถือหุ้นลงทุนต้องมี Margin of Safety และการซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรหรือการลงทุนที่ผิดพลาดต้องมีการ Cut loss (Limit loss) เสมอครับ
แล้วช่วงนี้ถ้าขาดทุนไปเรื่อยๆควรจะทำยังงัยดี?
เราต้องหยุดการกระทำทุกอย่างที่ขาดความยั้งคิดหรือความพยายามที่จะเอาคืนแล้วกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น? และหาทางแก้ไข อย่ายอมแพ้ อย่าอ่อนแอแล้วหนีออกจากตลาดไป การไม่หนีไม่ได้หมายความว่าเราต้องถือหุ้นเต็มพอร์ต แต่เราต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าหลักการลงทุนของเราที่ใช้อยู่จะให้ถือหุ้นหรือถือเงินสดก็ตาม ต้องไม่หยุดฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง
ขอให้ยับยั้งความอยากที่จะเข้าไปเล่นทุกเกมส์ ทุกเวลา เราจะตกเป็นเหยื่อของความโลภได้
เล่นในเกมส์ที่เราถนัดและมีโอกาสชนะสูงย่อมดีกว่า
และอย่าลืมที่จะมอง 2 ด้านก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ
บทความนี้พี่กอลฟ์จัดหนักจริงๆ ยาวมากๆ เขียนอีกไม่กี่บทผมว่ารวมเล่มเล็กๆได้เล่มนึงเลยนะครับเนี่ย 55 ขอบคุณที่เขียนให้อ่านกันครับ :D
ตอบลบขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ
ตอบลบคุณหมอขยันมากมายเลยครับ :D
@mod ... บทความพี่หลังๆเริ่มยาวขึ้นเรื่อยๆ :D สงสัยมีเรื่องอัดอั้นอยากเขียนเยอะ 555 กะว่าจะลองเอาไปรวมเล่มเหมือนกัน แต่ช่วงตลาดขาลงสงสัยจะขายไม่ออก แหะๆ -_-"
ตอบลบ@peacedev ... ขอบคุณคุณ peacedev ที่เข้ามาอ่านนะครับ เมื่อใหร่ว่างสอน+เล่น pokerกับโกะแล้วบอกผมด้วยนะ email ผม gob_pongsakorn@hotmail.com นะครับ ^^
เป็นบทความที่เหมาะกับช่วงเวลานี้เลยครับ
ตอบลบถ้าลองซอยเป็นบทความซี่รี่ส สัก 2-3 วันตอนนึงนี่ ได้ครบอาทิตย์เลยนะครับ บางที Google Bot มันจะชอบมากกว่าหายไปนานๆ บล็อกจะได้มีคนอ่านเยอะๆขึ้นด้วย เสียดายของ อยากเห็นคนไทยมีอะไรดีๆอ่านเยอะๆ :D
ตอบลบ@Maeta ... หวังว่าคนอ่าน (และตัวเอง) จะนำไปใช้ประโยชน์ได้น่ะ :D
ตอบลบ@mod ... Thank you นะ กำลังใจมาเป็นกองเลย พี่จะเขียนไปเรื่อยๆ ยังงัยพอบทความเยอะขึ้น google bot คง detect พี่ได้บ้างแหละ :D
ขอบคุณมากมายค่ะ
ตอบลบขอบคุณครับ :D
ลบขอบคุณมากบทความเยี่ยมเลยจะพยายามนำไปปฏิบัติให้ได้ครับ
ตอบลบขอบคุณครับ :D
ลบขอบคุณค่ะคุณหมอ ^^
ตอบลบขอบคุณครับ ^__^..
ตอบลบ