วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การทำธุรกิจ VS การลงทุนในหุ้น

ผมสังเกตว่าหลายคนที่เข้ามาเล่นหุ้นเพราะไม่อยากทำงานประจำที่มีรายได้น้อย  ฝันที่จะไม่ต้องทำงานแล้วมีเงินไหลเข้ามือตลอดเวลา...ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่อง Passive income ที่นิยมมากตั้งแต่มีหนังสือเรื่องพ่อรวยสอนลูก

การทำงานประจำ การทำธุรกิจส่วนตัวเป็นสิ่งไม่ควรเสียเวลาไปทำเพราะเป็นงานฝั่งซ้ายหรือเปล่า? (เรื่องฝั่งซ้าย - ฝั่งขวาผมจะอธิบายต่อไปนะครับ)

ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะเคยอ่านหนังสือชุดพ่อรวยสอนลูกของ Robert T. Kiyosaki ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือการสร้าง Mind Set ในการลงทุนที่ดีมาก  ผมอ่านไป 2 เล่ม คือ  พ่อรวยสอนลูกและเงินสี่ด้าน  ซึ่งหนังสือเล่มแรกจะพูดถึงนิยามของทรัพย์สินและหนี้สินในความหมายของการนำเข้าหรือดึงออกของกระแสเงินสด  ให้เราซื้อทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ต  ลดหนี้สินที่ดึงกระแสเงินสดออกจากพอร์ต  หนังสือเล่มที่ 2 จะพูดถึงที่มาของรายได้ว่าไม่ได้แค่เงินเดือนหรือค่าจ้างจากการทำงานเพียงอย่างเดียว...แต่ที่มาของรายได้มีถึง 4 ทางหลัก  ซึ่งผมจะทยอยแจกแจงให้ฟังครับ

เงิน 4 ด้าน ประกอบด้วย E  S  อยู่ฝั่งซ้าย  และ B  I  อยู่ฝั่งขวา

ฝั่งซ้าย

E = Employee (ลูกจ้าง) ทำงานประจำรับเงินเดือน  ไม่ว่างานของเราจะเป็นงานตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือไปจนถึงงานที่เป็นวิชาชีพต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน  ถ้าได้รับเงินเดือนเป็นรายได้ถือว่าเป็นกลุ่ม Employee ครับ

S = Self employed (ธุรกิจส่วนตัว) รายได้มาจากกิจการของเราเอง  โดยที่เป็นงานที่เราคนเดียวที่ทำได้

ทั้ง E และ S ถือว่ารายได้มาจากการทำงาน  ถ้าไม่ทำงานย่อมไม่มีรายได้...เป็นความเข้าใจที่คนส่วนใหญ่มีกัน  เมื่อก่อนผมก็คิดอย่างนี้ครับ  ซึ่งมีธุรกิจมากมายที่เข้ามาหารายได้จากผู้ที่ความคิดว่า..."ถ้าไม่ทำงานย่อมไม่มีรายได้" เช่น  ธุรกิจประกันชีวิตที่เข้ามาเติมเต็มความมั่นคง...ให้เราอุ่นใจว่าเมื่อเราเจ็บป่วยเราจะมีค่ารักษาพยาบาลและรายได้ชดเชยเวลาที่เราไม่ได้ทำงาน,  ธุรกิจด้านการลงทุน กองทุนรวม เข้ามาระดมเงินจากเงินออมของมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการของฝั่งซ้าย...คือธุรกิจที่เกี่ยวกับฝั่งขวาทั้งสิ้น  (ไม่ต้องทำงานหรือทำงานจนถึงจุดหนึ่งจะรายได้เข้ามาโดยไม่ต้องทำงาน)
  ฝั่งขวา

B = Business owner (เจ้าของระบบธุรกิจ)  มีกิจการของตัวเองแต่ไม่ต้องดูแลตลอดเวลา  สามารถจ้างคนเก่งมาทำแทนได้  โดยเราเป็นผู้ดูแลระบบให้เป็นไปได้ด้วยดี

I = Investor (นักลงทุน)  เรานำเงินออมไปซื้อสินทรัพย์ที่สร้างรายได้และมีกระแสเงินสดเข้าพอร์ต  เช่น  หุ้น  พันธบัตร  ที่ดิน  อพาร์ตเม้นท์ให้เช่า  เป็นต้น  ให้เงินทำงานหาเงินแทนเรา

(ช่วงหลังจากนี้ผมจะใช้ตัวย่อ  ให้อ้างอิงตามด้านบนนะครับ)

ผมไม่คิดว่าอาชีพด้านขวา (B,I) ดีกว่าหรือเหนือกว่าด้านซ้าย (E,S) ในแง่ของคุณค่าเรื่องอาชีพการงาน  เพราะงานทุกงานล้วนแต่สร้างประโยชน์ต่อผู้คนและมีประโยชน์ต่อระบบโดยรวมทั้งนั้น  (ผมหมายถึงอาชีพ"สุจริต"ทุกอาชีพนะครับ)  แต่สิ่งที่ผมได้จากหนังสือคือ..."รายได้ไม่ได้มาจากทางเดียวและไม่จำเป็นต้องมาจากการทำงาน"      

การทำอาชีพด้านซ้าย (E,S) มีผลดีต่อการพัฒนาตัวเราครับ


การเป็นลูกจ้าง (E) แม้ว่างานจะหนักและเงินเดือนน้อย  แต่เราจะได้เรียนรู้จักระบบการทำงานในหน่วยงานทั้งรัฐบาลและเอกชนที่ทำอยู่  ได้ประสบการณ์ที่เมื่อออกมาอาชีพด้านขวาเราจะสามารถต่อยอดได้ทันทีและเข้าใจความรู้สึกของลูกจ้างมากขึ้น  ...อย่างทายาทของกิจการบริษัทใหญ่โตหลายคนก็ต้องเริ่มงานในฐานะลูกจ้างก่อน...ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างของบริษัทตัวเองหรือบริษัทอื่นก็ตาม  เพื่อการเรียนรู้การทำงานตั้งแต่ระดับล่างสุด  ฝึกฝนทั้งจิตใจและความรู้ ... คนที่ทำงานสายวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย ในช่วงเริ่มต้นต้องทำงานหนักโดยแทบไม่ได้ค่าตอบแทนเพื่อช่วยคนที่ยากจนขาดโอกาสและฝึกฝนตัวเองในเวลาเดียวกัน  ในเวลาต่อมาเมื่อพวกเขามีความรู้ความชำนาญในระดับสูง..รายได้ของพวกเขาจะสูงตามกันไป

การเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว (S) แม้ว่างานจะหนัก ต้องรับความเสี่ยงและรับผิดชอบทุกอย่างในกิจการ  แต่เราจะได้รับผลตอบแทนจากความเหนื่อยยากอย่างเต็มที่  มีอิสระในการบริหารและสร้างสรรค์กิจการของตนเอง  ซึ่งอาจจะมีโอกาสที่กิจการจะเติบโตขึ้นและกลายเป็นระดับเจ้าของระบบธุรกิจ (B) หรือนักลงทุน (I) ได้

นักลงทุนหลายคนได้เริ่มจากการหารายได้จากการทำงานประจำ (E) และการเปิดธุรกิจส่วนตัว (S) และนำเงินออมมาลงทุนให้งอกเงย  ...น้อยคนนักที่จะเกิดมามีพร้อมทุกอย่างพ่อแม่ให้เงินก้อนใหญ่มาลงทุนตั้งแต่เรียนจบ  นอกจากว่าพ่อแม่จะร่ำรวยและเห็นความสำคัญของการให้ลูกเป็นนักลงทุนมากกว่าการทำงานประจำ  รวมถึงลูกก็ต้องมีใจอยากที่จะเป็นนักลงทุนด้วย ... ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดผมว่า..."หายากมาก" ต้องเป็นคนที่โชคดีมาก ...คนส่วนใหญ่รวมทั้งผมเองต้องเก็บเงินออมจากการทำงานด้วยตนเองแล้วนำมาลงทุนต่อยอดโดยที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย  ต้องแอบลงทุนโดยไม่ให้พ่อแม่รู้...หลังจากประสบความสำเร็จค่อยบอกท่าน  หลังจากนั้นเราก็สามารถลงทุนได้อย่างเปิดเผยโดยที่พ่อแม่ไม่กังวลเป็นห่วงเรามากนัก

ดังนั้นอย่าละเลยคุณค่าจากการทำงาน...แม้ว่ารายได้จะไม่ได้มาก  แต่ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้มีมากมาย  และเรายังเก็บออมเงินจากการทำงานมาลงทุนได้อีกด้วยครับ 

ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกหลายคนที่ทำงานที่ตัวเองรักหรือเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยได้เงินเดือนแค่พอเลี้ยงชีพของตนเอง  ถ้ามีครอบครัวพวกเขาอาจจะต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพโดยดูจากรายได้เป็นหลัก  ซึ่งใจจริงพวกเขาไม่ได้อยากทำอาชีพที่ไม่ชอบแม้จะได้รายได้มาก  ผมหวังว่า blog แห่งนี้จะช่วยให้พวกเขามีรายได้จากการลงทุนและสามารถประกอบอาชีพที่ตนเองรักและมีประโยชน์กับสังคมต่อไปครับ

เดือน ก.ย.นี้ ผมจะเปิดคลินิคส่วนตัวที่ผมลงทุนกับภรรยาที่จังหวัดอุดรธานี  คิดเป็นรายได้จากด้าน S ... ผมพบว่าการทำธุรกิจส่วนตัวไม่ใช่เรื่องง่าย  ต้องเริ่มตั้งแต่การประเมินทำเล  การสร้างคลินิคและตกแต่งร้าน  การทำการตลาด  สร้างแบรนด์  การสต๊อกสินค้า  ประเมินจุดคุ้มทุน  พัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ  การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค  และเรื่องอื่นๆอีกมากมายเลยครับที่ต้องเรียนรู้

ความเข้าใจการทำธุรกิจจริง  เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราสัมผัสการทำธุรกิจด้วยตนเอง  (เห็นการทำธุรกิจจริง  เข้าไปคลุกคลีด้วยตนเอง  ลงมือทำธุรกิจจริง)  ไม่ใช่เพียงการอ่านรายงานที่บริษัทส่งมาให้  เพราะถ้าเราไม่เห็นของจริง...สุดท้ายสิ่งที่เราแปลหรือตีความจากรายงานประจำปีจะเป็นเพียงมโนภาพที่เราสร้างขึ้นเองในจินตนาการของเรา

ดังนั้นผมคิดว่าเราไม่ควรมองข้ามประโยชน์ของการทำงานและรายได้ในด้าน E และ S เช่น ...

1. งานลูกจ้างทำให้เราเข้าใจและพัฒนาทักษะการทำงานในลักษณะของอาชีพและวิชาชีพ

2. งานธุรกิจส่วนตัวทำให้เราเข้าใจลักษณะและวิธีการดำเนินธุรกิจ  

3. รายได้ที่เกิดขั้นจาก E และ S จะทำให้เรามีเงินที่นำไปออมเพื่อลงทุนได้เพิ่มขึ้น  ทำให้พอร์ตการลงทุนโตเร็วกว่าการไม่ออมเงินเพิ่มครับ

และสุดท้ายประโยชน์ที่สำคัญคือ...การทำธุรกิจด้วยตนเองหรือเคยมีประสบการณ์ในองค์กรที่ทำธุรกิจจะช่วยให้เราลงทุนในหุ้นแนวปัจจัยพื้นฐานได้ดีขึ้นด้วยครับ  และการลงทุนในหุ้นที่ต้องวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐานทำให้เราลงทุนในธุรกิจส่วนตัวได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน...

เพราะอะไร?...ผมจะแจกแจงให้ฟังนะครับ

การลงทุนในหุ้นโดยใช้ปัจจัยพื้นฐานในการลงทุน

การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานเป็นการมองการซื้อหุ้นว่าเป็นการซื้อธุรกิจ  การถือหุ้นคือการเป็นส่วนนึงของเจ้าธุรกิจตามสัดส่วนของหุ้นที่เราถืออยู่  เป็นการมองหุ้นด้วยสายตาของการมองธุรกิจ...ไม่ใช่เพียงเป็นตัวเลขที่วิ่งขึ้นวิ่งลงเท่านั้น  ดังนั้นถ้าเราไม่เข้าใจการทำธุรกิจของจริง...เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานได้ยาก  เพราะเราจะมองอนาคตของธุรกิจไม่ออก  มองไม่เห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจ  มองไม่เห็นความเสี่ยงของธุรกิจ

การลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน  นักลงทุนแนว Growth ต้องมีความเข้าใจในธุรกิจที่จะลงทุน

แล้วความเข้าใจในธุรกิจที่จะลงทุนจริงมาจากไหนครับ?

... การอ่านหนังสือ  อ่านรายงานประจำปี  อ่านงบการเงิน ... ข้อมูลเหล่านี้อาจจะทำให้เราเข้าใจธุรกิจมากขึ้น  แต่ก็ยังไม่ใช่ "ของจริง" ครับ

การลงไปเรียนรู้...คลุกคลีกับการทำธุรกิจจริง  จะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพของธุรกิจครับ  เช่น  การเคยมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้น  การเคยทำงานในอุตสาหกรรมนั้น  การเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวในอุตสาหกรรมนั้น  การเคยไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัททีเราจะลงทุน  การเคยเป็นลูกค้าของบริษัทที่เราจะลงทุน  ...  และเมื่อเราอ่านงบการเงิน  อ่านรายงานประจำปี...เรามองเห็น "ภาพ" ว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจจากข้อมูลที่ได้  ไม่ใช่เพียงแค่หมกมุ่นกับตัวเลขหรือตัวอักษรที่ได้มาเท่านั้นโดยมองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงครับ

บางคนอาจจะคิดว่าถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจมากขนาดนั้นไปทำธุรกิจเองไม่ดีกว่าเหรอ?

ผมจะลองเปรียบเทียบการลงทุนทำธุรกิจของตัวเองและการลงทุนในหุ้นดูนะครับ

ข้อได้เปรียบของการทำธุรกิจเอง

1. เราเป็นเจ้าของกิจการตัวจริง  มีอำนาจบริหารและควบคุมกิจการได้เต็มที่เพื่อความก้าวหน้าของกิจการตามที่เราวางแผนไว้  ซึ่งการถือหุ้นเราไม่สามารถมีอำนาจเข้าไปแทรกแซงการบริหารกิจการได้  บางครั้งเราเห็นว่าบริษัทที่เราลงทุนเอาเงินทุนไปขยายกิจการที่เรามองว่าไม่น่าจะดี...เราทำได้แค่ออกเสียงคัดค้านแต่เราไม่มีอำนาจในการเข้าไปบริหารกิจการในแนวทางที่เราคิดว่าดีต่อบริษัทได้เลย

2. ถ้าเรามีความสามารถในการทำธุรกิจ...เงินลงทุนจะเติบโตเร็วมาก  นักธุรกิจหลายคนสร้างตัวจากความไม่มีอะไรเลยจนกระทั่งเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่โตตั้งแต่อายุน้อย  ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีอาจจะเป็นหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์  ในขณะที่การลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่คาดหวังได้เพียง 15 - 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี  เพราะกิจการที่เข้ามาในตลาดหุ้นส่วนมากจะผ่านการเติบโตตั้งแต่กิจการยังขนาดเล็กมาก่อน...จนกระทั่งกิจการขนาดใหญ่ดูมั่นคงจึงนำเข้าตลาดหุ้น  เช่น  นักลงทุนจะไม่สามารถถือหุ้น Dell ได้ตั้งแต่ไมเคิล เดลล์เริ่มมีไอเดียการทำธุรกิจคอมพิวเตอร์  ทั้งที่ช่วงนั้นคือการเติบโตระดับสุดยอด

ถ้าเราเป็นคนที่มีความสามารถในการทำธุรกิจ...การทำธุรกิจเองจะได้ผลตอบแทนสูงมาก

ข้อเสียเปรียบของการทำธุรกิจเอง

1. การต้องลงแรงและเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเพื่อดูแลกิจการของตัวเอง

ในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท...เจ้าของบริษัทต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดทุ่มเทกับการสร้างการเติบโตเพื่อที่จะอยู่รอดและมีความสามารถในการแข่งขัน  หลายคนแทบไม่มีเวลาว่างที่จะทำงานอดิเรกหรือพักผ่อน  บางคนมองการจัดตั้งบริษัทว่าเป็นงานที่อิสระไม่ต้องพึ่งนายจ้างเหมือนการเป็นมนุษย์เงินเดือน...แต่การทำธุรกิจด้วยตนเองนั้น  การกำหนดเวลาทำงานต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย  เช่น  เวลาที่ลูกค้าพร้อมจะมาซื้อของ  ถ้าเราไม่ยอมบริการเพราะคิดว่าอยากจะปิดร้านพักผ่อน...ลูกค้าจะไปซื้อร้านอื่นและกลายเป็นลูกค้าประจำร้านอื่นในที่สุด  คนที่ทำธุรกิจส่วนตัวจะรู้ว่าการจัดสรรเวลาไม่ได้เป็นอิสระอย่างที่หลายคนคิด  หลายคนทำธุรกิจจนร่ำรวยแต่ก็ยังไม่มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัวครับ

ต่างจากการลงทุนในหุ้นที่สามารถทำไปพร้อมกับงานประจำได้ครับ  

2. ต้องรับมือกับปัญหาจากการทำธุรกิจ  ปัญหาเรื่องคน  ปัญหาเรื่องงาน

ถ้าใครเคยทำงานจะรู้ว่าปัญหาเรื่องคนเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างบางคนไม่ตั้งใจทำงาน กินแรงคนอื่น  ลูกจ้างมีปัญหาไม่ถูกกัน ทะเลาะกัน  ลูกจ้างบางคนทุจริต ขโมยเงิน  ...การเป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องเจอเรื่องน่าหนักใจแบบนี้ทุกวัน  แม้ว่าเราจะมีวิธีการแก้ปัญหาโดยการให้รางวัลและการลงโทษที่เหมาะสม  การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี  แต่ในโลกของความจริงไม่ใช่เรื่องง่ายกับการแก้ปัญหาเรื่องของคน

ส่วนปัญหาเรื่องงานก็น่าหนักใจไม่แพ้กัน  ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องทำงานให้ทันเวลา  การโดนลูกค้าตำหนิต่อว่า  เป็นต้น

ต่างจากการลงทุนในหุ้นที่เรามีผู้บริหารมืออาชีพในธุรกิจที่เราลงทุนจัดการปัญหาเรื่องคนและเรื่องงานทั้งหมด (แต่เราก็ต้องรับความเสี่ยงเช่นกัน  แม้ว่าเราจะไม่ต้องไปรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม)

3. มีโอกาส "เจ๊ง" สูง

ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทางธุรกิจอย่างทุกวันนี้  บริษัทที่ขนาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้งจะเสียเปรียบบริษัทใหญ่ที่ทำงานมานานที่มีทั้งประสบการณ์และ connection ... รวมถึงภาครัฐจะส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่มากกว่ากิจการขนาดเล็ก  ซึ่งเห็นได้จากกรณีโชว์ห่วยร้านค้าต่างๆที่โดนผลกระทบจาการเปิดร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ข้ามชาติ  (เช่น  TESCO)  ที่เปิดอย่างไม่มีมาตราการจำกัดสาขา  จนชาวบ้านและพ่อค้าหลายคนได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการไปเพราะอำนาจการต่อรองกับผู้ซื้อ ผู้ขายสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้เลย  นั่นรวมถึงอำนาจการต่อรองกับภาครัฐบาลด้วยครับ  ทายาทของเจ้าของกิจการหลายคนต้องกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนและเข้ามาเพิ่ม Supply ในตลาดแรงงาน

การทำเริ่มต้นทำธุรกิจยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย...มีโอกาสเจ๊งสูงมาก  นอกจากเราจะมีจุดขายที่สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ย  เช่น  การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า  การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ดีกว่า  การที่ขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่บริษัทอื่นเลียนแบบได้ยาก ... ซึ่งไม่ใช่การแข่งด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าเพราะบริษัทขนาดเล็กจะแข่งเรื่องต้นทุนได้ยากเพราะอำนาจการต่อรองกับ Supplier ต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่  ด้วยจำนวนยอดการสั่งซื้อของที่ต่างกันมาก

ซึ่งในการลงทุนในหุ้นที่เราสามารถเลือกซื้อบริษัทที่มีความในการแข่งขันในระดับสูงของประเทศได้  บางบริษัทโอกาสเจ๊งน้อยมากเพราะมีระบบการบริหารจัดการที่ดี  มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น  โดยที่เราไม่ต้องไม่ต้องไปทำเองตั้งแต่ต้นครับ 

4. ทำธุรกิจหลักให้ดีเลิศส่วนมากทำได้เพียงธุรกิจเดียว

การทำธุรกิจต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุน  การทำธุรกิจหลายอย่างพร้อมกันโดยที่เราคิดว่าสินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของตลาดโดยไม่ประเมินเงินทุน  ไม่ประเมินเวลาของเราเอง  ไม่ประเมินความสามารถว่าเราเชี่ยวชาญในธุรกิจที่จะทำ  อาจจะนำมาซึ่งหายนะของธุรกิจทั้งหมดที่ทำ  แม้ว่าเราจะมองว่าการทำธุรกิจหลายอย่างเป็นไปเพื่อกระจายความเสี่ยง  แต่แท้ที่จริงแล้วเรากำลังสร้างความเสียหายให้กับเงินลงทุนทำธุรกิจของเราเอง...รวมถึงเงินที่เรากู้มาทำธุรกิจ  เพราะเราทำธุรกิจหลายอย่างให้ดีทั้งหมดพร้อมกันนั้นยากมาก

แต่ในการลงทุน...เราสามารถซื้อหุ้นเติบโตชั้นยอดได้หลายตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้ครับ

ข้อได้เปรียบของการลงทุนในหุ้น

1. สามารถเลือกลงทุนได้หลายอุตสาหกรรม  เลือกลงทุนในบริษัทที่แข็งแกร่งได้ตั้งแต่ต้น

เราไม่จำเป็นต้องไปเริ่มทำธุรกิจด้วยตนเอง...เราก็สามารถเป็นเจ้าของบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง  มีประสบการณ์  บริหารโดยผู้บริหารมืออาชีพ  โดยผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  โดยสามารถเลือกซื้อเพื่อเป็นเจ้าของได้หลายบริษัทเท่าที่เราต้องการครับ

แต่การเติบโตของบริษัทและเงินทุนอาจจะไม่สูงเท่ากับการลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเอง...โดยเฉพาะถ้าเราเป็นคนที่มีความสามารถในการทำธุรกิจครับ

2. มีเวลาว่าง  ไม่ต้องเฝ้ากิจการตลอดเวลา

เราไม่จำเป็นต้องไปเฝ้ากิจการที่เราซื้อหุ้นไว้ตลอดเวลา  ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องคน เรื่องงาน  เพราะเราจะมีผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ในการทำธุรกิจมาดูแลให้  แต่เราต้องติดตามดูแลว่า...หุ้นที่เราลงทุนยังเป็นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานเอื้อต่อการเติบโตอยู่หรือไม่ครับ

ข้อเสียเปรียบของการลงทุนในหุ้น

1. เรารู้ปัจจัยภายในน้อยกว่าเจ้าของกิจการมาก

การทำธุรกิจด้วยตนเอง  เราสามารถหาข้อมูลภายในของบริษัทเราและนำมาปรับปรุงพัฒนากิจการได้ไม่ยาก  แต่การลงทุนในหุ้นเราดูได้แต่ข้อมูลที่มีการเปิดเผยเท่านั้น  ทำให้ต้องเผื่อความเสี่ยงไว้หลายทาง  การคาดการณ์การเติบโตทำได้ไม่แม่นยำเท่ากับการที่เราเห็นข้อมูลทั้งหมดของบริษัทครับ

2. การลงทุนในบริษัทที่ดีเราต้องซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี

การลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเอง  เงินทุนที่เราลงไปย่อมให้ผลกำไรและเงินปันผลที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  แต่การลงทุนในหุ้นส่วนใหญ่บริษัทจะมีการเติบโตและเป็นที่รู้จักในระดับนึงแล้ว  การขายหุ้น IPO มักจะขายที่ราคาสูงกว่า Book value  เพราะมีค่า Premium  ที่นักลงทุนต้องจ่ายให้กับเจ้าของธุรกิจที่เริ่มต้นและพัฒนากิจการจนเติบโตและเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์  ดังนั้นเราต้องจ่ายแพงขึ้นครับ

ลองตัดสินใจดูนะครับ...ว่าเราจะลงทุนผ่านธุรกิจของตนเองหรือการลงทุนผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับผมตัดสินใจว่าจะลงทุนในธุรกิจของตนเองและลงทุนในหุ้นไปพร้อมกัน

ซึ่งผมมองว่า...การทำธุรกิจและการลงทุนในแนวปัจจัยพื้นฐานจะส่งเสริมกัน  การศึกษาการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานจะทำให้เราทำธุรกิจได้ดีขึ้น  การมีประสบการณ์ทำธุรกิจเองจะทำให้เราลงทุนในแนวปัจจัยพื้นฐานได้ดีขึ้นเช่นกันครับ

การส่งเสริมกันของการทำธุรกิจและการลงทุน

1. การทำธุรกิจส่งเสริมการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

การทำธุรกิจจะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้บริหาร  โดยเริ่มตั้งแต่การหาตลาดว่าอุตสาหกรรมใดที่ยังมีการเติบโต  รวมถึงตรวจสอบว่าธุรกิจที่เราจะตัดสินใจลงมือสร้างจะมีแนวโน้มการเติบโตของตลาดหรือไม่? เจ้าของธุรกิจต้องทำหลายอย่าง เช่น  ต้องทำการตลาดเพื่อให้ลูกค้ารับทราบและเข้าถึงสินค้าและบริการ  ต้องมีการควบคุมและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ได้มาตราฐาน  การสร้างแบรนด์ที่ลูกค้าสามารถจดจำได้ง่าย  สามารถแนะนำผู้อื่นได้  การควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้กิจการมีกำไรสามารถยืนได้ด้วยขาของตนเองและเติบโตได้  เรามีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างไรบ้างและถ้ายังไม่มีจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร  ...

สิ่งเหล่านี้เราสามารถเรียนรู้วิธีการหาข้อมูลและระบบการคิดผ่านประสบการณ์ของการลงทุนในธุรกิจของจริง  เมื่อเราลงทุนในตลาดหุ้นด้วยแนวคิดของการซื้อธุรกิจ เราจะสามารถต่อยอดความคิดได้ทันทีเพราะเรามีความเข้าใจการทำธุรกิจอย่างแท้จริงครับ

จะเห็นได้ว่าเซียนหุ้นแนวปัจจัยพื้นฐานหลายคน...ไม่ได้จบ MBA หรือแม้กระทั่งไม่ได้เรียนสูงๆ...เพราะพวกเขามีความเข้าใจการทำธุรกิจของจริงจากประสบการณ์จริงที่นำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้ทันทีครับ

ผมสังเกตว่านักลงทุนจำนวนมากที่บอกว่าลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน  ซึ่งโดยหลักการบอกว่า...ให้ลงทุนในหุ้นเหมือนกับการลงทุนในธุรกิจ...แต่พอผมดูการลงทุนจริงของพวกเขากลับมองภาพของธุรกิจไม่ออก  ไม่รู้ว่าการทำธุรกิจทำอย่างไร  รายได้มาจากไหน  รายจ่ายมีอะไรบ้าง  การเติบโตของธุรกิจมาจากไหน...นักลงทุนที่อ้างว่าลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานส่วนใหญ่มองไม่เคยเกิน 3 เดือน (ไตรมาสเดียว)  บางคนเก็งกำไรงบรายไตรมาส  บางคนเก็งกำไรบริษัทที่คนไป Company visit  บางคนเก็งกำไรบริษัทที่มาออก Opportunity day ...นักลงทุนเหล่านี้ไม่เข้าใจถึงการทำธุรกิจจริง ...ซึ่งผมว่ายากมากที่ประสบความสำเร็จในแนวทางการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานได้  (แต่อาจจะได้กำไรในช่วงต้น...จนตลาดจับทางได้เพราะรูปแบบพฤติกรรมเริ่มซ้ำไปซ้ำมา  การหากำไรจากวิธีการเก็งกำไรข้อมูลปัจจัยพื้นฐานจะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ)  ยิ่งการลงทุนในหุ้นเติบโตที่ต้องมองระยะยาวเกิน 1 ปี เกิน 5 ปีขึ้นไป...ซึ่งเป็นระยะที่การลงทุนของบริษัทที่วางการเติบโตระยะยาวจะส่งผลอย่างเต็มที่  นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานที่ไม่เข้าใจการทำธุรกิจของจริงจะไม่มีทางมองออกได้เลยครับ

ดังนั้นการมีประสบการณ์ในธุรกิจของจริงจะช่วยให้เรามองธุรกิจเพื่อหาโอกาสในการลงทุนได้ดีขึ้นด้วยครับ

2. การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานส่งเสริมการทำธุรกิจ

ผมเองนำความรู้ในการประเมินหุ้นเติบโตมาใช้กับการบริหารกิจการคลินิคส่วนตัว  ซึ่งการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ผมสั่งสมมาตลอดในการลงทุนทำให้ผมมีแผนการเติบโตของกิจการ  มีแผนการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  มีแผนการในเรื่องของการตลาด  มีแผนการในเรื่องของการประเมินจุดคุ้มทุน  รวมถึงยุทธศาสตร์การนำแผนการเหล่านี้มาใช้จริงอีกด้วยครับ

ดังนั้นขอให้เราอย่าไปน้อยใจว่าเรายังต้องทำงานประจำ  ต้องทำธุรกิจส่วนตัวอยู่  เพราะทุกสิ่งที่เราทำ ทุกประสบการณ์ที่เราได้เจอ  ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานได้ทั้งสิ้นครับ

ขอให้เราอย่าไปน้อยใจว่ามีเวลาน้อยกว่านักลงทุนอาชีพ  เพราะกว่าที่พวกเขาจะไปถึงการมี Passive income ที่มากพอจนไม่ต้องทำงานประจำ  พวกเขาเองต้องผ่านประสบการณ์ของการทำงานประจำและการทำธุรกิจด้วยตนเองมาก่อนทั้งนั้น  (ยกเว้นคนที่พ่อแม่ให้เงินมาลงทุนตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องทำงานประจำ  ซึ่งผมว่ามีน้อยมากที่จะโชคดีแบบนี้)  ผมเองยังทำงานประจำอยู่เช่นกันเพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม  รวมถึงได้พัฒนาตนเองในหลายๆด้าน  ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นเติบโตไม่ต้องใช้เวลามากขนาดนั้น  ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิตเพื่อหาเงิน ...แต่เราสร้างพอร์ตการลงทุนให้เงินทำงานเพื่อที่เราจะได้ทุ่มเทเวลาสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับโลกใบนี้

ขอให้เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำอยู่  เรียนรู้จากประสบการณ์ของเรา

แล้ววันนึงเราจะสามารถมองการลงทุนในหุ้นในมุมมองการลงทุนในธุรกิจได้อย่างเข้าใจครับ

5 ความคิดเห็น:

  1. ทำคลินิกskinจุกจิกสุดๆๆครับ น้ำไม่ไหล ไฟดับ ส้วมตัน อย.มาตรวจ
    ลูกน้องบริการไม่ดี ลูกค้าเรื่องมาก
    หมอเหน่ง

    ตอบลบ
  2. เนื้อหาเข้มข้นดีครับ
    ฝากบล้อคใหม่ของผมด้วยนะครับ
    http://1stfreebusi.blogspot.com/

    ตอบลบ
  3. เขียนได้เยี่ยมดีครับ

    ตอบลบ
  4. มีประโยชน์มากๆครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น