วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรณีศึกษา : หุ้น JUBILE

(คำเตือน ... ผมไม่ได้เชียร์หุ้นนะครับ  เอามาเป็นกรณีศึกษาวิธีคิดเฉยๆ  ซื้อตามอาจจะขาดทุนได้ครับ)

ผมนั่งคิดอยู่นานมากว่าจะแสดงวิธีคิดการวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัวดีใหม?  สรุปว่า... ลองดูก่อนละกัน  ถ้ามีปัญหาก็จะเลิกทำ  เพราะน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการคิดวิเคราะห์การลงทุนในหุ้นเติบโต  ทุกคนที่รู้จักผมจะรู้ดีว่า...ผมไม่เคยเชียร์หุ้นเลย ไม่ใช่เพราะหวงหรืออมภูมิอะไร  ถ้ามีคนถามก็ผมจะบอกและต้องบอกเสมอว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง... ถ้าผมคิดว่าคนที่ถามหุ้นมีวิจารณญาณที่จะไม่ลอกโดยไม่ผ่านการไตร่ตรองก่อนผมก็จะบอกหมด ...ที่ผมกลัวที่สุดคือเวลาคนซื้อตามแล้วขาดทุน  เพราะงั้นคนที่ผมกล้าบอกหมดคือผมมั่นใจว่าเขาคิดเองเป็นรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองได้  ยิ่งคนที่เห็นต่างสามารถหาเหตุผลเจ๋งๆมาแย้งได้ (ไม่ใช่แบบเถียงข้างๆคูๆนะครับ) ผมยิ่งชอบ Discuss ด้วย

คนที่ชอบเชียร์หุ้นที่ตัวเองถือมีมากมายเลยครับ  ทั้งในเวปบอร์ดทั้งในชีวิตจริง  หุ้นจะได้ขึ้นเร็วๆแรงๆแล้วคนตามไปทีหลังก็เจอดอยกันไป  ซึ่งเป็นวิธีที่ผมไม่ชอบมากๆเลยครับ  (ซึ่งคนเก่งๆหลายคนไม่เชียร์หุ้นก็ยังประสบความสำเร็จกันได้ครับ) ผมไม่เชียร์หุ้นซักคนวงการหุ้นก็คงจะไม่เป็นไร  เพราะการถือหุ้นเติบโตหวังการขึ้นของราคาจากการเติบโตธุรกิจที่ส่งผลต่อการเติบโตของกำไร  และผมชอบสอนวิธีคิดมากกว่าครับ 

เริ่มกันเลยนะครับ...

การวิเคราะห์หุ้นของผมจะเน้นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณนะครับ  เพราะผมคิดว่าปัจจัยเชิงคุณภาพบอกอนาคตได้ดีกว่า  ขณะที่ตัวเลขทางการเงินจะบอกได้แค่อดีตกับปัจจุบันซึ่งเอาไว้ใช้ตรวจสอบสมมุติฐานของเราเท่านั้น

Jubile  เป็นตัวที่ได้ผลตอบแทนน้อยที่สุดในพอร์ตเมื่อปีที่ผ่านมา  (ได้มาประมาณ  90 เปอร์เซ็นต์ไม่รวมปันผล)  แต่ถ้าบริษัทยังมีการเติบโตอยู่ผมก็ถือต่อไป แล้วปีนี้  Jubile กลายเป็นหุ้นที่ performance ดีที่สุดในพอร์ต (มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่รวมปันผล)  (ต่อให้ราคาถึง Full-Valued ของปีนี้ผมก็ยังถือต่อไป  จนกว่าจะถึงราคาที่เป็น  room of growth  ของบริษัท – ลองอ่านในบทความ ”เพดานของการเติบโต” ได้ครับ)

นั่งเปิดสมุดที่เขียนสิ่งผมได้คิดวิเคราะห์ลงไปก่อนซื้อหุ้น...

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้จักและเข้าใจตนเองก่อนลงทุน

เวลาที่มือใหม่ที่สนใจลงทุนในหุ้นเข้ามาตลาดหุ้นใหม่ๆมักจะมองดูคนที่ประสบความสำเร็จว่าใช้วิธีใดบ้าง  เพื่อจะได้ทำตามแล้วประสบความสำเร็จเหมือนกัน  พอมือใหม่เห็นว่านักเก็งกำไรชั้นเซียนทำเงินได้มากมายก็ลองไปเล่นแบบเก็งกำไรแล้วก็ขาดทุนหนักเพราะไม่รู้จังหวะเข้าออก  แล้วพอเห็นว่านักลงทุนกลุ่ม Value investor ชั้นเซียนทำกำไรได้มากมายก็ไปลองเล่นแบบ VI แต่เนื่องจากวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นและซื้อที่ราคาแพงหรือซื้อตามเซียนทำให้ขาดทุนหนัก

นักลงทุนที่มองหาสูตรสำเร็จด้านการลงทุนว่าจะต้องทำ 1-2-3-4  แล้วประสบความสำเร็จแบบแน่นอน  ผมบอกได้เลยครับว่า”ไม่มี”  เพราะเมื่อคุณก้าวออกมาจากโลกแห่งความมั่นคงของดอกเบี้ยเงินฝาก (กรณีที่รัฐยังคุ้มครองอยู่)  คุณจะต้องพบกับความเสี่ยง  ไม่ว่าคุณจะลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเองหรือเป็นนักลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดๆก็ตาม  นั่นคือคุณมีโอกาสขาดทุนหรือเจ๊งได้

แต่ความเสี่ยงไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งเราจากความสำเร็จครับ

การบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk/Reward) อย่างเหมาะสมจะทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จได้  ...แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ?  การเรียนรู้จากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งจำเป็นครับ แต่การทำตามแนวทางการลงทุนของเซียนโดยไม่รู้จักตนเองเลยนั้น  ก็เหมือนกับการเลือกอาวุธที่ไม่เหมาะสมกับตนเองออกไปสู้  ...อาวุธ เช่น ดาบคู่ อาจจะเป็นยอดศาสตราเมื่ออยู่ในมือยอดนักรบอย่างมูซาชิ  แต่ถ้าดาบคู่เล่มเดียวกันอยู่ในมือของทหารเลวคงไม่สามารถสำแดงพลังออกมาได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าดาบคู่ไม่ใช่อาวุธที่ดี

การเข้าใจความสามารถ  ความถนัดของตนเอง  เลือกอาวุธที่เหมาะสมกับตนเอง  จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อนักรบที่จะก้าวสู่สนามรบที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือระดับสูงแล้วเป็นผู้ชนะได้ (หรืออย่างน้อยไม่แพ้ เอาตัวรอดได้)

นักเก็งกำไรชั้นเซียนระบบการเทรดยังไม่เหมือนกัน  บางคนดู MACD  บางคนดู RSI  บางคนดู indicator ของตนเอง  นักเก็งกำไรบางคนดูข่าวควบคู่ไปด้วย  บางคนดูแต่กราฟไม่ดูพื้นฐานเลย (จริงๆ ผมก็ยังไม่ถ่องแท้เรื่องการเทรดเท่าไรนักนะครับแค่ยกตัวอย่างให้ฟัง) ...นักลงทุนเน้นคุณค่าเองก็มีแนวทางและความถนัดในรูปแบบที่แตกต่างกัน  เช่น  บางคนชอบหุ้นโภคภัณฑ์  บางคนชอบหุ้นเติบโต  บางคนถือแต่หุ้นสุดยอด (Super stock)  บางคนดูทั้งพื้นฐานหุ้นและดูกราฟประกอบไปด้วย  บางคนไม่ใช้กราฟเลย  บางคนเล่นรายไตรมาส  รายปี  ขณะที่บางคนดูยาวไป 5 ปี  ฯลฯ

ดังนั้นความเข้าใจตนเองของนักลงทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกแนวทางการลงทุนของตนเองเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ  ผมเองสอนมือใหม่มาหลายรุ่น  นักเรียนแต่ละคนผมก็ไม่เคยบอกว่าจะต้องทำแบบผมนะ ต้องลงทุนในหุ้นเติบโตแล้วถือยาวๆถึงจะดีนะ  บางคนดูแววแล้วน่าจะเป็นนักเก็งกำไรที่ดีได้ผมก็แนะนำแนวทางเก็งกำไรไป  แต่ผมสอนรายละเอียดไม่ได้เพราะผมไม่ถนัดเก็งกำไร  ผมสอนแต่สิ่งที่ผมเข้าใจและเชื่อมั่นเท่านั้น

ในการทำความเข้าใจตนเองนั้น  ประเด็นที่ต้องสังเกตผมว่ามีดังนี้ครับ   

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนังสือที่ผมแนะนำให้นักลงทุนอ่าน

ช่วงนี้ผมได้รับคำถามเรื่องหนังสือค่อนข้างบ่อยจากเพื่อนนักลงทุนหน้าใหม่ผู้ที่สนใจการลงทุนในหุ้น  ถ้าเพื่อนๆสนใจการลงทุนแนวใช้ปัจจัยพื้นฐาน  ผมมีหนังสือที่แนะนำดังนี้ครับ

หนังสือที่”ต้องอ่าน” (ทุกเล่มเป็นภาษาไทยครับ)

1.คัมภีร์หุ้น โดย คุณ โสภณ ด่านศิริกุล (อ่านเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเล่นหุ้น) และ rich dad poor dad พ่อรวยสอนลูกเล่ม 1-2 เพื่อได้ concept ทรัพย์สิน หนี้สิน การลงทุนและเงิน 4 ด้าน

2. ตีแตก โดย ดร. นิเวศ เหมวชิรวรากร (เซียนหุ้นกูรูการลงทุนแบบ VI) (จริงๆควรอ่านทุกเล่มที่ดร.เขียนครับ)

3. หนังสือของ Peter Lynch (ปีเตอร์ ลินส์) ทั้ง 3 เล่ม
- One up on wall street (เหนือกว่า วอลสตรีท)
- Beating the street (ลงทุนอย่าง...ปีเตอร์ ลินส์)
- Learn to earn (เรียนให้รวย)

4. หนังสือที่พูดถึงแนวคิดของ Warren Buffet (วอเรน บัฟเฟตต์) เล่มที่ผมแนะนำมีดังนี้
- แก่นแท้ของบัฟเฟต์ (The essential Buffet) เขียนโดย Robert G. Hagstrom
- How Buffet does it? ตามรอยวอเรน บัฟเฟตต์ เขียนโดย James Pardoe
- ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์ (Buffettology) เขียนโดย Mary Buffet และ David Clark
- Warren Buffet and the art of stock arbitrage

5. หนังสือที่แปลโดยคุณ พรชัย รัตนนทชัยสุข ดังนี้
- ลงทุนสวนกระแสอย่าง...แอนโทนี โบลตัน (Investing against the tide) เขียนโดย Anthony Bolton
- นักลงทุนดันโด : The Dhandho Investor เขียนโดย Mohnish Pabrai
- The intelligence investor เขียนโดย  Benjamin Graham (อาจารย์ของบัฟเฟตต์  ปรมาจารย์การลงทุนแบบ VI)
- การลงทุนแบบเน้นคุณค่า มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

6. หนังสือด้านบัญชี ดังนี้
- อ่านงบการเงินให้เป็น เขียนโดย ดร. ภาพร เอกอรรถพร
- ร้านไหนกำไรมากกว่า
- วอเรน  บัฟเฟตต์  และการตีความงบการเงิน

7. หนังสือซีรี่หุ้นห่านทองคำของ คุณ เทพ รุ่งธนาภิรมย์ เล่มที่แนะนำดังนี้
- กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ, ยุทธศาสตร์หุ้นห่านทองคำ (จริงๆก็น่าอ่านทุกเล่ม)

8. หนังสือของคุณสุมาอี้ (นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์) ทุกเล่ม โดยเฉพาะ
- วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง
- 85 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
- ตลาดหุ้นไทย the survival kit
- มหัศจรรย์กลยุทธ์ทางธุรกิจ
- โอกาสและความน่าจะเป็น

9. หนังสือ Money Game ผ่ากลเงินนอก เขียนโดย คุณ วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล (เซียน Fundflow)

10. หนังสือของ Philip A. Fisher
- Common stocks uncommon profits
- Paths  to the wealth through common stocks

11.หนังสือแนวคิดของ John Neff – ลงทุนแบบจอห์น เนฟฟ์

12. หนังสือแนวจิตวิทยาการลงทุน เช่น  Sway (เขว), พฤติกรรมพยากรณ์ (Predictably irrational) เป็นต้น

นี่ยังไม่รวมหนังสือที่ควรอ่านอีกมากมายนะครับ (ว่างจะมา update ต่อ – เยอะมากๆ)

ถ้ายังรู้สึกว่าเยอะให้อ่านแค่ ตีแตก และ เหนือกว่า วอลสตีท ไปก่อนครับ

บางทีเพื่อนๆเห็นรายชื่อหนังสือแล้วอาจจะเริ่มเสียดายเงินค่าหนังสือ (ผมน่าจะหมดไปเป็นหมื่นกับค่าหนังสือ) แต่ผมยืนยันว่าทุกเล่มคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป การลงทุนในความรู้สามารถทำเงินตอบแทนคืนมาให้เราได้หลายเท่านัก บางคนเสียดายเงินค่าหนังสือจำนวนเล็กน้อยแต่ต้องไปขาดทุนในตลาดเป็นเงินจำนวนมากๆเพราะขาดความรู้ในการลงทุนครับ

การลงทุนในความรู้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตครับ

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทบทวนความผิดพลาดครึ่งปี 54

ในการลงทุนนักลงทุนควรจะมีการวัดผลเปอร์เซ็นต์ของผลตอบแทนที่เราทำได้เมื่อเทียบกับเงินต้น  ซึ่งการวัดอาจจะทำปีละครั้ง  เนื่องจากการวัดผลตอบแทนบ่อยๆนั้นเป็นการเสียเวลาในการไปวางกลยุทธ์  การศึกษาข้อมูลของหุ้นที่เรากำลังจะเข้าซื้อหรือหุ้นที่เราถืออยู่  นอกจากนั้นผลตอบแทนระยะสั้นรายวันรายเดือนหรือแม้แต่รายไตรมาสอาจจะไม่ได้บอกอะไรมากนักถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว 
โดยสูตรการคิด  ผลตอบแทนพอร์ต (IRR – Internal rate of return)  ที่ผมใช้คือ

ลองสมมุติค่าต่างๆ

A = เงินในพอร์ตปลายปี (ทั้งเงินสดและหุ้น)
B = เงินทั้งพอร์ตต้นปี (ทั้งเงินในหุ้นและเงินสดรอซื้อหุ้น)
C = เงินเก็บที่เพิ่มเข้าพอร์ตระหว่างปี
X = (จำนวนเดือนของเงิน C/12) x C

สรุป    ผลตอบแทนพอร์ต (IRR)  =  (A - B - C)/ (B + X)

โดยการเทียบผลตอบแทนพอร์ตให้เทียบกับทั้ง 3 ข้อดังนี้
1. ดัชนี SET index ถ้าชนะตลาดถือว่าใช้ได้
2. ไม่ขาดทุน  (เมื่อมองภาพรวมทั้งพอร์ต)
3. ทำผลตอบแทนให้ได้อย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (เพราะถ้าทำได้น้อยกว่านี้เราควรจะไปลงทุนในกองทุนดัชนีหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมากกว่าจะลงทุนเอง)

อย่างไรก็ตามแม้แต่การวัดผลการลงทุนปีต่อปีก็อาจจะยังบอกถึงผลตอบแทนระยะยาวระดับ 5-10 ปีไม่ได้  เช่น หุ้นบางตัวนิ่งหรือซึมลงหลายปีก่อนที่จะวิ่งรุนแรงหลายเด้งในปีเดียว  ดังนั้นการวัดผลตอบแทนพอร์ตจึงควรพิจารณาตามกลยุทธ์ในการลงทุนของเราด้วยครับ  (เพราะถ้าเจอหุ้นแบบนี้แล้ววัดผลตอบแทนบ่อยๆนักลงทุนจะหมดกำลังใจถือได้ครับ)

ในครึ่งปีนี้ผลตอบแทนพอร์ตโดยรวมของผมอยู่ที่ 14-15 เปอร์เซ็นต์  ยังชนะตลาดอยู่ครับแต่อาจจะไม่มากเท่าปีก่อนๆ   

และอีกอย่างที่ควรทำควบคู่กันไปคือ...ให้กลับมาทบทวนความผิดพลาดของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา โดยทบทวนบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  โดยผมจะจดบันทึกความผิดพลาดลงไปทุกครั้งและพยายามที่จะไม่ทำซ้ำอีก

และนี่คือความผิดพลาดของผมโดยสรุปในช่วงครึ่งปี 54

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การลงทุนจากหมากกระดาน (ตอนที่ 2)

    มาว่าเรื่องหมากล้อมกันต่อนะครับ

ถึงแม้ว่าการเล่นโกะจะดูเรียบง่าย  แต่ด้วยความน่าจะเป็นของรูปแบบหมากที่สูงมากของโกะ  ทำให้มีอิสระในการวางกลยุทธ์มาก  เราจึงพบเห็นนักเล่นโกะหลายรูปแบบ  บ้างก็เน้นล้อมมุมให้รัดกุม  บ้างก็เน้นขยายอิทธิพล  บ้างก็เป็นสายโจมตี  บ้างก็เป็นสายป้องกัน ปัจจุบันยังบอกไม่ได้ว่าแนวทางไหนดีที่สุด  ซึ่งกลยุทธ์ทั้งหลายที่นำมาใช้ล้วนแล้วแต่มุ่งไปสู่เป้าหมายของเกมส์คือ ...ชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด  (ไม่ใช่จับกินให้ได้มากที่สุด)

ในการลงทุนนั้นความจริงก็เรียบง่าย  แค่ต้องซื้อถูกขายแพง  คุณก็จะเป็นผู้ชนะในเกมส์นี้  แต่ด้วยความน่าจะเป็นมากมายของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อธุรกิจและราคาหุ้นในอนาคต  ทำให้เกมส์การลงทุน  (ซึ่งผมถือว่าเป็นหมากกระดานอย่างหนึ่ง)  นั้นไม่ง่ายเลย   มีการคิดกลยุทธ์การลงทุนมากมายหลายสำนัก  ไม่ว่าจะเป็น  Quant (การใช้คณิตศาสตร์ในการลงทุน)  นักลงทุนสายเทคนิคอล  นักลงทุนแนวปัจจัยมหภาค  นักลงทุนหุ้นคุณค่า  ฯลฯ  ซึ่งแต่ละแบบสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีกมากมาย

เวลาเราเล่นหมากกระดาน  ถ้าเราเล่นไม่เป็นเราจะเฉยๆแพ้ก็ช่างชนะก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าเราเล่นไปได้สักพักจนเข้าใจเกมส์  เราจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับกับเกมส์  ตื่นเต้นเมื่อเสียเปรียบ ดีใจเมื่อได้เปรียบ  เสียใจเมื่อแพ้  ดีใจเมื่อชนะ ยิ่งถ้าเป็นการเล่นแบบเดิมพันยิ่งทำให้เกมส์มีผลต่ออารมณ์เพิ่มขึ้นไปตามน้ำหนักของการเดิมพันนั้น

การลงทุนก็คือเกมส์การเงิน  (ซึ่งผมถือว่าเป็นหมากกระดานอย่างหนึ่ง)  ที่มีการเดิมพันสูงกว่าการแข่งชิงแชมป์ทุกหมากกระดาน  เพราะมีเม็ดเงินที่ได้เสียจากการซื้อขายนับพันๆล้านบาทต่อวัน  (ถ้าคิดรวมทั้งโลกยิ่งสูงกว่านี้หลายเท่า)  ดังนั้นผลกระทบต่อจิตใจยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว  บางคนอาจจะถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ต้องอาศัยการฝึกฝนจิตใจร่วมไปกับการฝึกกลยุทธ์การเดินหมาก  ในการเล่นโกะระดับสูงหรือการแข่งชิงแชมป์  การอ่านทางหมากอาจจะไม่สำคัญเท่าการควบคุมจิตใจ  เพราะนักเล่นโกะชั้นเซียนนั้นต่างรู้อยู่แล้วว่าในแต่ละสถาณการณ์ควรดินหมากอย่างไร  แต่จะทำได้หรือไม่อยู่กับสภาพจิตใจ

และเมื่อเล่นไปถึงจุดหนึ่งเราจะเลิกยึดติดแพ้ชนะ  จะมีแต่ดำกับขาว  ชนะหรือแพ้ก็ต้องเรียนรู้  ไม่มีการยึดติดว่าชั้นชนะ เธอแพ้  มีแต่ขาวกับดำ  และดูกระบวนการเดินหมากเป็นหลัก

นั่นคือชนะได้โดยไม่คิดเอาชนะ...หมั่นสร้างเหตุที่ดีผลที่ดีจะตามมาเอง

การลงทุนก็เช่นกัน...เมื่อเราฝีมือการลงทุนเก่งขึ้น  ไม่ว่าเราได้กำไรหรือขาดทุนเราจะเรียนรู้จากมัน  มากกว่าที่มาคร่ำครวญเมื่อขาดทุนหรือคุยโม้โอ้อวดว่าได้กำไร  มีแต่กระบวนการคิด  การตัดสินใจและพอร์ตการลงทุน  ไม่มีตัวกูของกูอยู่ในนั้น  และฝึกฝนฝีมือให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ  จิตใจเปิดกว้างให้กับการศึกษา

ถึงไม่คาดหวังผลตอบแทนที่เป็นเลิศ...แต่ถ้าหมั่นสร้างเหตุที่ดี  บริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างฉลาด  ผลตอบแทนที่ดีจะตามมาเอง

สำหรับผม...การลงทุนนั้นจะยากกว่าหมากกระดาน  เพราะการลงทุนมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากกว่าบนกระดาน

เรามาว่ากันต่อเรื่องกลยุทธ์หมากล้อมที่สำคัญๆที่นำไปใช้ได้กับการลงทุนกันครับ