ในการลงทุนนักลงทุนควรจะมีการวัดผลเปอร์เซ็นต์ของผลตอบแทนที่เราทำได้เมื่อเทียบกับเงินต้น ซึ่งการวัดอาจจะทำปีละครั้ง เนื่องจากการวัดผลตอบแทนบ่อยๆนั้นเป็นการเสียเวลาในการไปวางกลยุทธ์ การศึกษาข้อมูลของหุ้นที่เรากำลังจะเข้าซื้อหรือหุ้นที่เราถืออยู่ นอกจากนั้นผลตอบแทนระยะสั้นรายวันรายเดือนหรือแม้แต่รายไตรมาสอาจจะไม่ได้บอกอะไรมากนักถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว
โดยสูตรการคิด ผลตอบแทนพอร์ต (IRR – Internal rate of return) ที่ผมใช้คือ
ลองสมมุติค่าต่างๆ
A = เงินในพอร์ตปลายปี (ทั้งเงินสดและหุ้น)
B = เงินทั้งพอร์ตต้นปี (ทั้งเงินในหุ้นและเงินสดรอซื้อหุ้น)
C = เงินเก็บที่เพิ่มเข้าพอร์ตระหว่างปี
X = (จำนวนเดือนของเงิน C/12) x C
สรุป ผลตอบแทนพอร์ต (IRR) = (A - B - C)/ (B + X)
โดยการเทียบผลตอบแทนพอร์ตให้เทียบกับทั้ง 3 ข้อดังนี้
1. ดัชนี SET index ถ้าชนะตลาดถือว่าใช้ได้
2. ไม่ขาดทุน (เมื่อมองภาพรวมทั้งพอร์ต)
3. ทำผลตอบแทนให้ได้อย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (เพราะถ้าทำได้น้อยกว่านี้เราควรจะไปลงทุนในกองทุนดัชนีหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมากกว่าจะลงทุนเอง)
อย่างไรก็ตามแม้แต่การวัดผลการลงทุนปีต่อปีก็อาจจะยังบอกถึงผลตอบแทนระยะยาวระดับ 5-10 ปีไม่ได้ เช่น หุ้นบางตัวนิ่งหรือซึมลงหลายปีก่อนที่จะวิ่งรุนแรงหลายเด้งในปีเดียว ดังนั้นการวัดผลตอบแทนพอร์ตจึงควรพิจารณาตามกลยุทธ์ในการลงทุนของเราด้วยครับ (เพราะถ้าเจอหุ้นแบบนี้แล้ววัดผลตอบแทนบ่อยๆนักลงทุนจะหมดกำลังใจถือได้ครับ)
ในครึ่งปีนี้ผลตอบแทนพอร์ตโดยรวมของผมอยู่ที่ 14-15 เปอร์เซ็นต์ ยังชนะตลาดอยู่ครับแต่อาจจะไม่มากเท่าปีก่อนๆ
และอีกอย่างที่ควรทำควบคู่กันไปคือ...ให้กลับมาทบทวนความผิดพลาดของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา โดยทบทวนบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผมจะจดบันทึกความผิดพลาดลงไปทุกครั้งและพยายามที่จะไม่ทำซ้ำอีก
และนี่คือความผิดพลาดของผมโดยสรุปในช่วงครึ่งปี 54
ทบทวนความผิดพลาดของผม
(ผมจะไม่เอ่ยชื่อหุ้นนะครับเพราะไม่อยากชี้นำใดๆ ผมไม่ใช่คนชอบเชียร์หุ้น คือถ้าเชียร์แล้วผู้อ่านได้กำไรผมก็ดีใจแต่เนื่องจากผมเองก็ผิดพลาดเรื่อยๆจึงไม่อยากให้ใครมาขาดทุนเพราะผมครับ...ขอบคุณครับที่เข้าใจ แต่รับรองว่าใครที่พอศึกษาบ้างต้องรู้แน่ว่าเป็นหุ้นตัวไหน)
1. เข้าไปรับหุ้นที่กำลังไหลลง โดยที่ไม่ได้กลับไปประเมินพื้นฐานใหม่ และไม่ได้ประเมินผลกระทบล่วงหน้า
หุ้นที่ว่าคือหุ้นแบงค์ตัวหนึ่งที่มีการควบรวมกิจการในปี 53 (สมมุติว่าชื่อหุ้นธนาคาร A) โดยผมเข้าซื้อตั้งแต่ก่อนชนะประมูลเข้าควบรวมกิจการกับธนาคาร S โดยถือมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าๆ
ผมประเมินปัจจัยบวกดังนี้ (ที่ทำให้ผมถือต่อในตอนนั้น)
- การควบรวมทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale)
- Market Caps หุ้น A ราคาถูกเมื่อเทียบกับความเป็นธนาคารอันดับ 5 ของไทย (แต่อย่าลืมว่าที่ Market caps น้อยเพราะหุ้น A ถือหุ้นธนาคาร A แค่ 51 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น)
- มีแนวโน้มลดต้นทุนทางการเงินได้เหมือนแบงค์ใหญ่ๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะลดลง (ที่ผ่านมาธนาคาร A ชอบแข่งด้านดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าชาวบ้านมาตลอด)
- จำนวนบัครเครดิตยังน้อยเมื่อเทียบกับแบงค์อื่นๆ
- การขยายตัวของรายได้บริษัทย่อยประกันภัย ประกันชีวิต โบรกเกอร์ อยู่ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
- หลังการควบรวมจะมีพอร์ตสินเชื่อให้กู้ที่หลากหลายขึ้น จากเดิมที่มีแต่สินเชื่อเช่าซื้อ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ จะลดลงเหลือ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ และสินเชื่อธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจาก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำให้ความเสี่ยงถูกกระจายออกไป
- มีธนาคารชั้นนำระดับโลกถือหุ้นธนาคาร A อยู่ถึง 49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่มาเติมเต็มความชำนาญของบริษัท A ได้พอดี รวมถึงเชี่ยวชาญธุรกิจทองคำอีกด้วย
หลังจากที่ราคาหุ้นไปทำจุดสูงสุดแล้วค่อยๆไหลลงมาเรื่อยๆจนน่าตกใจ ผมมีการคอยดักหุ้นเก็บเข้าพอร์ตบ้าง แต่มันคือความผิดพลาด
เพราะผมมองข้ามปัจจัยลบที่มีผลระยะสั้นเหล่านี้
- ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น แม้ว่าจะมีพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ขึ้นก็ตาม (Loan growth) แต่อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเช่าซื้อเป็นแบบคงที่ (Fixed rate) ทำให้อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (Net Interest margin) ลดลง กำไรจะลดลงตามไปด้วย ซึ่งต่างกับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจซึ่งปรับดอกเบี้ยขึ้นได้ตามดอกเบี้ยนโยบาย
(หุ้น A จึงราคาลดลงทุกครั้งที่แบงค์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครับ)
- หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Net NPL) ของธนาคาร S ที่ A เข้าไปควบรวมสูงถึง 8 เปอร์เซ็นต์
- การไม่ยอมปลดพนักงานของธนาคาร S ที่เกินความจำเป็นออก รวมถึงถูกสหภาพต่อรองเรื่องเงินเกษียณอายุ (Early retire) โดยขอให้จ่ายเงิน 40 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย ค่าใช้จ่ายพนักงานจึงสูงเกินความจำเป็นไปมาก
- การตั้งสำรองหนี้เสียน้อยกว่าธนาคารอื่นๆ (ตลาดจึงให้ PE ต่ำ)
- ค่าใช้จ่ายในการควบรวม อุปกรณ์ ป้าย ตกแต่งสาขา ทำให้รายจ่ายสูงขึ้นมาก (แต่ค่าใช้จ่ายนี้มีวันสิ้นสุด)
- แม้ควบรวมแล้วก็ยังใช้กลยุทธ์ด้านราคามาต่อสู้ ทำให้ต้นทุนที่ควรจะลดเมื่อเป็นแบงค์ขนาดใหญ่ยังไม่ลดซะที
ผมได้บทเรียนว่าต้องประเมินความเสี่ยงทุกครั้งตั้งแต่เข้าซื้อหุ้นและช่วงที่ราคาหุ้นลดลงเพราะตลาดไม่โง่เลยครับ (ผถห.รายใหญ่ขายออกหมด NVDR ขายออกมาก ...แต่ลูกสาวอดีตผู้บริหารถือเยอะขึ้น – อันนี้โอเคแสดงว่าเค้ามองยาว)
อย่างไรก็ตามในระยะยาวมุมมองของผมต่อหุ้นธนาคาร A ยังดีมาก เพราะยังมีการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อได้อีกมาก พอร์ตสินเชื่อหลากหลายขึ้น การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ลดสาขาและพนักงานที่ซ้ำซ้อนไม่จำเป็นออกไป การให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินเทียบเท่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ สร้างแบรนด์และลดการใช้กลยุทธ์ด้านราคาลง แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารว่าจะข้ามจุดที่ต้องเปลี่ยนผ่านจากธนาคารขนาดเล็กไปเป็นธนาคารขนาดใหญ่ได้หรือไม่? ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขนาดนี้ครับ
2. การถือหุ้น Defensive แทนเงินสด
หลังจากผม take profit หุ้น A (ที่กำไรหายไปหลายอยู่ T_T) ผมตั้งใจว่าจะพักเงินไว้ใน money market fund แต่ด้วยความที่ดอกเบี้ยช่างต่ำมาก ผมจึงมีความคิดจะถือหุ้น PE ต่ำปันผลสูงแทนเงินสด เพราะมองว่าน่าจะได้มากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีถ้าถือ MMF ในตอนนั้นดัชนี SET index สูงมาก
ผมไปเจอหุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กตัวนึงชื่อหุ้น B PE อยู่ที่ประมาณ 5 ปันผล 8 เปอร์เซ็นต์ โดยกำลังจะปันผล 0.1 บาท ผมได้เข้าซื้อไปเกือบๆ 30 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตเพื่อพักเงิน โดยคิดว่าถ้าบริษัทรายได้โต 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและปันผล 8 เปอร์เซ็นต์ ราคานี้ก็น่าลงทุน โดยผมตรวจสอบการเคลื่อนไหวของราคาพบว่าต่อให้ตลาดตกหนักๆราคาหุ้นยังงัยก็ไม่มีทางขาดทุนเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นหุ้น downside ต่ำที่น่าถือแทนเงินสด รวมถึงการที่น่าจะโอนโครงการที่มีปัญหาได้ในไตรมาส 2 น่าจะทำให้ปีนี้กำไรดี
ปรากฎว่าดัชนีตลาดเริ่มลงตามคาดราคาหุ้น B นิ่งมาก ถือได้สบายใจมาก แต่หลังจากที่งบหุ้น B ประกาศออกมาแย่เกินคาดราคาก็ดิ่งลงพรวดพราด รวมถึงมีน้ำท่วมคอนโดที่บริษัท B เคยสร้างไว้ ถ้าหากการรักษา gross profit margin ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปโดยขายราคาต่ำ นำมาซึ่งความแย่ของคุณภาพโครงการก็จะส่งต่อผลเสียระยะยาวต่อยอดขายโครงการในอนาคต
สุดท้ายผมตัดสินใจขายทิ้งไปเนื่องจากมีหุ้นที่ตั้งใจเข้าซื้อตัวใหม่ จากที่คิดว่าน่าจะพักเงินได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากต้องมาขาดทุนไป 5 เปอร์เซ็นต์ ( เงิน 6 หลัก)
ผมได้บทเรียนว่า...ถ้าจะพักเงินให้พักในเงินสดหรือ MMF จะปลอดภัยกว่า และควรจะเล่นหุ้นที่ตนเองถนัดคือหุ้นเติบโต การเล่นหุ้นปันผลบางครั้งเหมือนปลอดภัยแต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ขาดทุนได้เหมือนกัน เพราะนี่คือหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่ใช่เงินฝากครับ การถือเงินสดทำให้ช้อนซื้อหุ้นตอนตลาดลงหนักๆได้ดีกว่าการถือหุ้นเพราะการถือหุ้นต้องขายกดราคาและออกของยากด้วยครับถ้าสภาพคล่องน้อย
อย่างไรก็ตามการถือหุ้นแทนเงินสดเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ามีความชำนาญมากพอครับ
3. ขายเร็วไป-ซื้อช้าไป (ซึ่งจริงๆก็เป็นเรื่องที่เกิดประจำ 555) – พื้นที่ไม่พอเขียนแล้วครับ
นี่คือความผิดพลาดหลักๆของผมในครึ่งปี 54 (ที่จริงยังมีอีกมาก) ซึ่งผมยินดีแบ่งปันให้ทุกคน ขอให้เรียนรู้จากความผิดพลาดและไม่ทำผิดซ้ำ อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดผ่านไปโดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลยนะครับ
เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองนับว่าดี เรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นนับว่าดีเยี่ยมครับ
ขอบคุณครับ กรุณามาเขียนต่อนะครับ ผมต้องการเรียนรู้ว่าแต่ละคนมีข้อผิดพลาดยังไงเพราะหนังสือหรือบทความส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องความสำเร็จ แต่ไม่ค่อยเขียนเรื่องความผิดพลาด โดยเฉพาะที่เขียนละเอียดแบบนี้ ขอบคุณอีกครั้งครับ
ตอบลบได้เลยครับคุณ peerapong แล้วผมจะเขียนความผิดพลาดตอนที่ 2 ตอนที่ 3... ตามมาแน่นอนครับ (เขียนจริงได่เป็นเล่มๆเลยครับ 555) กะว่าจะเขียนสรุปปีละ 2 ครั้งน่ะครับ ขอบคุณที่เข้าอ่านและให้ความเห็นนะครับ
ตอบลบเป็นประโยชน์มากครับ ผมก็คิด แบบที่สองเหมือนกัน เพราะแน้วโน้ว ผลตอบแทน ตราสารหนี้ ลดลงเรื่อยๆ
ตอบลบผมคิดว่า ความคิดนี้ไม่ผิด และเห็นด้วยมาก ว่า defensive stock บ้างทีมันก็ defense ให้เราไม่ไหวเหมือนกัน
เขียนต่อนะครับ ตามอ่าน กระทู่เก่าก่อนไปงาน สัมนา
Jatturong