วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การพนัน VS การลงทุน

สมัยก่อนที่ผมจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น  ผมเคยมีเพื่อนคนนึงที่เล่นหุ้น  ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหุ้นคืออะไร  โดยเพื่อนผมเล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน  ชอบถามมาร์เก็ตติ้งว่าซื้อตัวไหนดี  ขาดทุนก็โทษคนอื่น  ดูกระวนกระวายใจตลอดเวลา  ถามความเห็นคนรอบตัวตลอดเวลา  พอได้กำไรก็ดีใจโวยวาย  ช่วงนั้นผมเรียนปี 5 การเรียนจะเบาลงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมากพอที่จะมีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง  ผมเลยเอาเวลาไปเล่นหมากล้อมแทนและไม่คิดจะสนใจเล่นหุ้นเลยแม้แต่น้อย 

โอกาสการลงทุนในหุ้นของผมหายไป 5 ปีเพียงเพราะผมคิดว่าคนเล่นหุ้นทุกคนต้องเป็นแบบเพื่อนของผม  ที่เล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน  ปัจจุบันเพื่อนคนนี้ยังคงเหมือนเดิมและไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาจากหุ้นแต่อย่างใด

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเสียใจมาก  ผมเข้าตลาดหุ้นช้ามากกว่าที่ควรจะเป็น  ผมเริ่มเล่นตอนอายุ 28 ปี  ทั้งที่ช่วงที่ 5 ปีผ่านมาผมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคมากมาย  สามารถวิเคราะห์เป็นหุ้นเติบโตได้หลายตัว  แต่เพียงเพราะผมไม่มีตัวอย่างนักลงทุนที่ดีและมีทัศนคติในด้านลบอย่างมากกับตลาดหุ้น

ผมไม่อยากให้นักลงทุนหน้าใหม่ต้องซ้ำรอยผม  ...ที่เคยมองว่าหุ้นคือการพนัน  เล่นแล้วอาจเจ๊งหมดตัวได้  คนที่รวยจากหุ้นต้องมีข่าววงใน  ต้องมีเวลาเฝ้าตลาดตลอดเวลา  ต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเงินหนา  ต้องตามข่าวตลอดเวลา  นักลงทุนรายย่อยคนทำงานประจำที่ค่อนข้างยุ่งอย่างผมไม่มีทางเล่นแล้วได้กำไรจากหุ้นได้  เรื่องรวยจากหุ้นไม่ต้องพูดถึง...ไม่มีทาง!!!

ทัศนคติต่อตลาดหุ้นในเชิงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก  โชคยังดีที่ช่วงปี 52 ผมได้มีผู้ใหญ่ท่านนึงแนะนำให้ผมไปอ่านหนังสือของปู่ Warren Buffet  ทัศนคติต่อการเล่นหุ้นของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป...

การมีกัลยาณมิตรเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยนะครับ  ถึงผมจะเจอช้าหน่อยแต่ผมก็ยังเจอ  และครั้งนี้ผมตั้งใจเป็นกัลยาณมิตรให้กับทุกคนโดยเฉพาะมือใหม่ครับ

เล่นหุ้นให้เป็นการลงทุนในหุ้น  ไม่ใช่การพนัน  เพราะถ้าเล่นหุ้นแบบการพนันจะได้รับผลลัพธ์แบบการพนัน ..คือ หมดตัว!

เพื่อนๆเชื่อไหมว่า...ตั้งแต่ก่อนมาเล่นหุ้น  ผมแทบไม่เล่นการพนันเลย  ป๊อกเด้งเล่นกินตังค์บาทสองบาทก็ไม่เล่น  เล่นไพ่ก็เล่นแบบไม่กินตังค์  เพราะผมคิดว่าการพนันเป็นอบายมุขเป็นทางสู่ความเสื่อม  ที่ผมเคยเล่นครั้งเดียวคือซื้อเลขท้าย 3 ตัว  ซื้อให้รู้ว่าเค้าเล่นกันยังงัย  แต่ผลลัพธ์นะเหรอ?....แน่นอนครับ...ผมถูกเจ้ามือกินเรียบ!  555

คนอย่างผมที่ไม่เล่นการพนันเลยแม้ว่าจะเดิมพัน 1-2 บาท  แต่กลับมาเล่นหุ้นด้วยจำนวนเงินเก็บเกือบทั้งหมดในช่วง 2 ปีผ่านมา  นั่นเป็นเพราะผมมองว่าการเล่นหุ้นคือการลงทุนครับ

การพนันและการลงทุนต่างกันอย่างไร?

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการประเมิน CEO ของหุ้นเติบโต : กรณีศึกษา Steve Jobs



บทความนี้จะพูดถึงการประเมินผู้บริหารนะครับ  โดยผมจะยกตัวอย่าง Steve Jobs iCEO ที่เป็นขวัญใจของผมและใครอีกหลายคนมาประกอบเนื้อหาบทความนี้  และหากบทความนี้เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน  ขออุทิศความดีให้กับ Steve Jobs ผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของผม

Steve Jobs จัดเป็นผู้กุมความเป็นความตายการเติบโตของบริษัทแอปเปิ้ล  เนื่องจากช่วงที่เขาออกจากแอปเปิ้ลไปบริษัทแอปเปิ้ลกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางธรรมดาที่ประสบปัญหาขาดทุน  เมื่อจอบส์เข้ามาอีกครั้งแอปเปิ้ลแข็งแกร่งและเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่มี Market caps ใหญ่ที่สุดในโลก  ราคาหุ้นขึ้นเป็น 100 เท่า (นับเวลาจากปี 1985 ตั้งแต่ที่จอบส์ลาออกจนถึงปัจจุบัน) นี่คือหุ้นเติบโตชั้นเลิศเมื่อมี CEO ชั้นเลิศเข้ามาบริหาร  บริษัทแอปเปิ้ลมีการคิดค้นและผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนทั้งโลกอย่าง iPhone, iPod, iPad, Macbook Air และมีร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าของแบรนด์แอปเปิ้ลอย่าง Apple Store

การลงทุนในหุ้นเติบโต  เวลาบริษัทจะมีการเติบโตขึ้นมาได้ต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสินค้าและบริการในระดับสูง (Demand trend  ขาขึ้น)  และความสามารถในการแข่งขันมากกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม (DCA)  ซึ่งหุ้นเติบโตจะมีการคิดค้นนวัตกรรม (Innovation) ที่ทำให้บริษัทเกิดความแตกต่าง (Differentiation) เพื่อที่จะก้าวมาเป็นผู้นำหรือผู้เล่นแนวหน้าในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต  ในบางอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตจะมีการใช้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  เช่น อุตสาหรกรรม Information technology (IT), Bio technology, Nanotechnology, etc. การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่เข้าได้กับความต้องการของผู้บริโภคถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายการอยู่รอดและเติบโตของบริษัท   อย่างสินค้า IT ทุกคนรู้ดีว่าสินค้าตกรุ่นเร็วขนาดไหน

แม้แต่การผลิตสินค้าและบริการที่ดูเรียบง่ายและไม่ได้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่าง  ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) ที่เติบโตโดยการขยายสาขาตาม Model เดิมที่ประสบความสำเร็จ  ไม่ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ตลอดเวลา  ในช่วงเริ่มต้นอุตสาหกรรมการค้าปลีกสมัยใหม่จะมีการคิดค้นนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจ  (ไม่ใช่นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์เหมือนกับแอปเปิ้ลนะครับ)  ยกตัวอย่าง  เรื่องการบริหาร logistic supply chain ที่มีประสิทธิภาพ, การขายสินค้าโดยให้ผู้ชื้อเลือกของเอง (การค้าปลีกเมื่อก่อนผู้ซื้อจะต้องบอกผู้ขายและผู้ขายจะหยิบมาให้เพื่อป้องกันการขโมยของ), ระบบการคิดบัญชีแบบมีใบเสร็จ  ทำให้เจ้าของไม่ต้องเฝ้าเคาน์เตอร์คิดเงินตลอดเวลาสามารถทำงานบริหารได้เต็มที่และให้พนักงานทำงานแทน  เพราะระบบจะดูแลเรื่องการตรวจสอบการเงิน  เงินมีที่มาที่ไปและตรวจสอบความซื่อสัตย์ของพนักงานได้  หรืออีกตัวอย่าง  ร้านกาแฟอย่าง Starbuck ...จากเดิมที่อุตสาหกรรมกาแฟจะขายแต่กาแฟเป็นแก้วให้กับลูกค้า  แต่ Starbuck ได้สร้างนวัตกรรมการนั่งในร้านด้วยการแต่งร้านที่สวยงามมีบรรยากาศดี  สามารถเล่นเนตได้  นั่งคุยกับเพื่อนและเอาโน๊ตบุ๊คมาทำงานได้  รวมถึงการบริหารจัดการที่ดี การควบคุมคุณภาพสินค้าในทุกสาขา  ทำให้ Starbuck เป็นมากกว่าร้านขายกาแฟจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านธุรกิจ 

นวัตกรรมทำให้เกิดความแตกต่างและนำไปสู่การเติบโตในแบบฉบับของตนเอง

พึงระวังว่า...หุ้นเติบโตชั้นเลิศของทศวรรษนึงอาจจะเป็นคนละตัวกับทศวรรษต่อไป  ดังนั้นต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

ความยากในการลงทุนหุ้นเติบโตอย่างหนึ่งคือ  การมองให้ธุรกิจใหม่ให้ออก  เพราะโลกของธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป  เมื่อก่อนธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยและเติบโตให้กับเจ้าของคือธุรกิจการผลิต  เนื่องจากตอนต้นของยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมความต้องการสินค้ามีสูงมาก  แต่โรงงานผลิตมีน้อย  ผู้ที่เป็นเจ้าของกำลังการผลิตสามารถสร้างการเติบโตได้มาก  แต่ในยุคข้อมูลข่าวสารแบบปัจจุบัน  การตั้งโรงงานไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป  การเข้าถึงทุนไม่ยากเช่นกัน  ดังนั้นเราจึงมีกำลังการผลิตที่เพียงพอหรือค่อนข้างมากกว่าความต้องการนิดหน่อยด้วยซ้ำ  ทำให้การหาหุ้นเติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตอาจจะทำไม่ได้ง่ายนักเหมือนเมื่อก่อน  (อุตสาหกรรมการผลิตที่โตได้ต้องมี Barrier of entry หรืออาจจะมี ความสามารถบางอย่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง)  ยุคปัจจุบันอาจจะต้องสังเกตธุรกิจที่มีนวัตกรรมที่สร้างสินค้าและบริการที่แตกต่างซึ่งตรงใจผู้บริโภค  โดยเน้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักมากกว่าการมีเงินหรือการเป็นเจ้าของทรัพยากร 

การที่บริษัทจะเป็นผู้นำการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาและนำมาใช้ได้จริงนั้น  จะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถ  ซึ่งผมถือว่า Steve Jobs เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการเป็นผู้นำการคิดค้นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ทำให้บริษัทแอปเปิ้ลกลายเป็นผู้นำวงการ IT โลกในปัจจุบัน

แม้ว่าในการทฤษฎีแล้วการลงทุนปัจจัยพื้นฐาน  นักลงทุนจะกลัวการลงทุนที่ต้องพึ่งผู้นำคนเดียวมากเกินไปเพราะถือเป็นความเสี่ยงถ้าผู้นำไม่อยู่แล้ว เช่น เสียชีวิตหรือลาออกจากบริษัท  การลงทุนของเราจะต้องเป็นอันล้มเหลวกันไป

ปู่บัฟเฟตต์บอกว่า  “I try to buy stock in businesses that are so wonderful that an idiot can run them. Because sooner or later, one will.”  ผม(ปู่)พยายามซื้อหุ้นในธุรกิจที่ยอดเยี่ยมที่แม้แต่คนโง่ก็สามารถบริหารได้  เพราะในไม่ช้าจะมีคนโง่เข้ามาบริหารมัน

ซึ่งผมว่าปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากโดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องพึ่งความสามารถเฉพาะตัวของผู้บริหาร

อย่างไรก็ตามเรียนรู้การประเมินคุณสมบัติของ CEO ย่อมเป็นสิ่งดีในการลงทุนหุ้นเติบโต  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆตลอดเวลา  และไม่ว่าธุรกิจจะดีแค่ไหนการที่เรามี CEO ที่มีความสามารถย่อมดีกว่ามี CEO ที่ไม่มีความสามารถอย่างแน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มอง 2 ด้าน

ในยุคที่เต็มไปด้วยแนวคิดมองโลกเชิงบวก (Positive thinking)  จะเห็นได้จากเวลาเราเดินเข้าไปร้านหนังสือจะเจอหนังสือแนวคิดเชิงบวกมากมาย  ซึ่งผมยอมรับว่าการคิดเชิงบวกเป็นสิ่งดีมาก  ทำให้คนเราเห็นโอกาสในวิกฤติ  ทำให้คนเรามีความฝันและมีพลังใจที่จะเดินตามความฝัน  แต่การมองด้านบวกเพียงด้านเดียวนั้นอาจจะไม่ใช่การมองตามจริง  ความจริงคือทุกสิ่งทุกอย่างมี 2 ด้าน  ทั้งด้านบวกและด้านลบ  การมองเพียงด้านเดียวอาจจะทำให้เราขาดมุมมองที่ตรงตามความจริงไป

ถ้าเรามองแต่ด้านบวกแล้วละเลยการมองด้านลบจะมีข้อเสียอย่างไร?

เราจะมองเห็นแต่โอกาสโดยที่เราจะมองไม่เห็นความเสี่ยงเลย  ถ้าเราเป็นนักเรียนแล้วคิดแต่ว่ายังงัยก็สอบได้ชัวร์แล้วไม่อ่านหนังสือเอาเวลาไปเล่นเกมส์โดยไม่คิดจะทบทวนบทเรียน  ต่อให้คิดบวกตลอดเวลาว่าตัวเองสอบผ่านแน่นอน  โอกาสสอบตกย่อมมีสูงกว่านักเรียนที่เตรียมพร้อม,  คนขับรถตู้โดยสารที่เร่งความเร็วให้สูงที่สุดและไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ  ไม่สนใจเสียงท้วงติงของผู้โดยสาร  โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุย่อมมีสูงกว่าคนขับที่ระมัดระวัง,  ทีมฟุตบอลที่คิดแต่จะชนะด้วยวิธีบุกแหลกโดยไม่คิดแผนการป้องกันเวลาโดนฝ่ายตรงข้ามสวนกลับ  โอกาสโดนสวนกลับแล้วเสียประตูย่อมมีสูงกว่าทีมที่ระมัดระวัง   

แนวคิดเชิงบวกได้พูดถึงการมองวิกฤติให้เป็นโอกาส  ซึ่งผมว่าการมองว่าวิกฤติคือโอกาสเป็นความคิดที่ดีมากครับ  แต่หากมองแต่โอกาสโดยไม่ระมัดระวังความเสี่ยงเลย  โอกาสจะกลายเป็นวิกฤติได้เช่นกัน

จะดีกว่าไหมถ้าเรามองตามความจริง  คือ  เห็นทั้งด้านบวกและด้านลบ  เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา

การมองโลกในแง่บวกทำให้เรามีความฝัน  มีเป้าหมาย  มีแรงใจที่จะมุ่งไปข้างหน้า  มองเห็นสิ่งดีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การมองโลกในทางลบทำให้เรารู้จักระมัดระวัง  ประเมินและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น  มีแผนการรับมือ

การมองโลกตามจริงทำให้เรามองทุกอย่างตามสิ่งที่เป็น  มองเห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในทุกสถานการณ์และเลือกรับมืออย่างเหมาะสม

ลองเลือกที่จะมองโลกให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์กันครับ

ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นตลาดกระทิงเป็นเวลายาวนานหลายๆปีนั้น  เราจะได้ยินเรื่องราวของนักลงทุนหน้าใหม่ๆที่ประสบความสำเร็จมากมาย  บางคนบอกว่าตัวเองทำผลตอบแทนได้หลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์  หลายคนใช้เงินกู้ที่เรียกว่าบัญชีมาร์จิ้นลงทุนเต็มที่ตลอดเวลา  หลายคนตั้งตนเองเป็นเจ้าสำนักหรือเป็นเซียน

การเกิด Overconfidence พบได้ในนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังลงทุนมาไม่นานแล้วได้กำไรมากมาย  พวกเขาลงทุนโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงให้ดีพอ  ไม่ว่าจะด้วยการซื้อหุ้นโดยใช้เงินมาร์จิ้นที่ยืมมาจากโบรกเกอร์  เวลาลงทุนก็ซื้อหนักตัวเดียวเต็มพอร์ต  แน่นอนว่าเราอาจจะได้ยินเรื่องราวการได้กำไรจำนวนมากจากการใช้เงินกู้ยืมเหล่านี้  แต่นิสัยที่สั่งสมจากการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากๆในทุกปีของการลงทุนอาจจะนำมาซึ่งหายนะจากความมั่นใจในตัวเองเกินไป  ลงทุนโดยแบกรับความเสี่ยงที่มากเกินไปตลอดเวลา

ถ้าการลงทุนของพวกเขาเกิดไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจะเกิดอะไรขึ้น?  ผมเชื่อว่าเราคงเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงได้ไม่ยากในช่วงทีตลาดลงหนักจากวิกฤติหนี้ประเทศกรีซที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

อะไรทำให้นักลงทุนมองแต่ Upside เพียงด้านเดียวแบบนี้?  ผมคิดว่าเกิดจากการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากๆระดับหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์ต่อปี  และการได้กำไรมาง่ายๆ  การฟังคำสรรเสริญของคนอื่นจนย่ามใจ