วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการลงทุนของผม (ตอนจบ)

แนวทางการลงทุนของผม (ตอนจบ)

โดย พงศกร 
ผมตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์อันน้อยนิดในตลาดหุ้น ผมเองยังต้องเรียนรู้และฝึกฝนอีกมาก การเขียนบทความนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจผมว่าตอนนี้ผมยืนอยู่ที่จุดไหน ใช้หลักการข้อใดในการลงทุน ไม่ได้มีเจตนาจะอวดอ้างความสามารถของตัวเองใดๆทั้งสิ้น เพราะการทำแบบนั้นไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองเลย และไม่เกิดประโยชน์กับผู้อ่านเช่นกัน
7. ความเสี่ยงของหุ้นเติบโต
การที่บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต ย่อมมีการดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหม่สนใจอยากจะทำธุรกิจแบบเดียวกันบ้างเพราะดูมีอนาคต ทำให้อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตมีการแข่งขันสูง อาจจะมีการลดราคาขายสินค้าแข่งกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด สุดท้ายแล้วอุตสาหกรรมโดยรวมเติบโตขึ้นก็จริงแต่ไม่มีธุรกิจใดเลยที่ได้ประโยชน์

ถ้าจะสรุปความเสี่ยงของหุ้นเติบโตจะมีดังนี้
7.1 คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแย่งสวนแบ่งการตลาด
การมีผู้เล่นมากๆอาจจะเกิดสงครามราคาได้ ดังนั้นเราจึงควรเลือกหุ้นเติบโตที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว(DCA) เพื่อป้องกันความเสี่ยงข้อนี้ ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งขันน้อย (Low competition)เนื่องจากคู่แข่งรายใหม่เข้ามาลำบากยิ่งดี เช่น บริษัทขนาดใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูงไม่ใช่ว่าใครมีเงินก็เข้ามาทำได้ง่ายๆ บริษัทที่เป็นธุรกิจสัมปทานซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ ธุรกิจที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะด้าน เช่น โรงพยาบาล ที่ไม่ใช่ว่าใครมีเงินก็ทำได้เลย อย่างไรก็ตามในระยะยาวถึงจะมี barrier of entry ที่ดีอย่างไรก็ตาม ผมก็คิดว่าการมีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวจะดีที่สุดเพราะสุดท้ายเราไม่มีทางหลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ตลอดไปในระบบทุนนิยม

7.2 การเติบโตทำไม่ได้อย่างที่คาดหวัง
เนื่องจากการเติบโตของรายได้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเสมอไปเพราะมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการขาย ยิ่งการประกาศงบรายไตรมาสทำให้นักลงทุนที่เก็งงบเกิดการผิดหวังและเทขายหุ้นออกมา ทั้งที่จริงๆแล้วภาพรวมในปีต่อปีจะมีการเติบโตที่สูงก็ตาม เนื่องจากบางธุรกิจมีปัจจัยเรื่องฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงในเรื่องหุ้นนั้นมีปัจจัยเชิงจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องมาก เติบโตไม่เท่าที่คาดหวังหุ้นก็ลงแรงได้ ดังนั้นควรประเมินความคาดหวังของตลาดร่วมไปด้วย และมองภาพรวมในแต่ละปีมากกว่าการเก็งกำไรรายไตรมาส แต่ควรดูงบทุกไตรมาสเพื่อดูตัวเลขที่สำคัญๆทางบัญชี เช่น การบริหารจัดการเงินสด กระแสเงินสด การเพิ่มสินค้าคงเหลือเทียบกับการเพิ่มของต้นทุนขาย ตัวเลขหนี้สินทั้งเจ้าหนี้การค้าและเงินกู้จากสถาบันทางการเงิน การเพิ่มลูกหนี้การค้าเทียบกับยอดขาย กำไรขั้นต้น(Gross profit margin) การเพิ่มของต้นทุนเทียบกับยอดขาย ตัวเลขการเพิ่มของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร ยอดการเก็บหนี้-หนี้สูญ กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา(EBITDA) และสุดท้ายอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) การที่เราดูงบการเงินไม่ใช่ว่าให้ยึดติดกับตัวเลขที่เกิดขึ้นเพราะตัวเลขเหล่านี้เป็นอดีต สิ่งที่เราจะทำคือแปลงบการเงินเพื่อให้เห็นสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ว่าเป็นไปในแนวทางการเติบโตหรือไม่? นั่นคือเป็นข้อมูลที่บ่งบอกทิศทางของข้อมูลเชิงคุณภาพอีกที

นักลงทุนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับบรรทัดสุดท้าย (EPS) แล้วจะมีความสมหวังหรือผิดหวังกับตัวเลขบรรทัดนี้เป็นหลัก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของนักลงทุนที่มองงบการเงินและปัจจัยพื้นฐานระยะยาวที่จะเข้าไปคว้าโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายหุ้นได้

เนื่องจากการที่ตลาดมีความคาดหวัง เราควรซื้อหุ้นเติบโตตอนที่ตลาดตกใจกลัวหรือช่วงที่ราคาสะท้อนความผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะช่วงนั้นราคาจะมีส่วนลด และในการประเมินมูลค่าเราควรใช้กรณีที่เป็นระดับ conservative เพื่อป้องกันการขาดทุน

7.3 การเติบโตที่รวดเร็วเกินไป
การเติบโตของบริษัทที่ดีจะใช้กำไรจากดำเนินงานมาลงทุน แต่ถ้าเติบโตเร็วมากๆอาจจะต้องเพิ่มทุน เพราะเงินสดไม่พอโดยเฉพาะกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และการเติบโตที่รวดเร็วมากไปอาจจะทำให้การบริหารได้ไม่ดี ไม่ทั่วถึง การรับพนักงานใหม่ๆจำนวนมากที่ไม่มีความสามารถ ทำให้คุณภาพของสินค้าและบริการตกลง ซึ่งถ้ากรณีเลวร้ายที่สุดอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทจนไม่อาจจะแข่งขันได้อีกเลย ดังนั้นผมจะดูว่าการเติบโตนั้นมีพื้นฐานรองรับหรือไม่ บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร ระบบการฝึกพนักงานและการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างไร ถ้าบริษัทโตเร็วมากๆแต่โตอย่างมีคุณภาพผมถือว่าผ่าน แม้ว่าอาจจะต้องมีการเพิ่มทุนในกรณีเงินสดไม่พอ แต่ถ้าการเพิ่มทุนนั้นสามารถทำผลตอบแทนต่อเงินลงทุนก้อนใหม่มากขึ้น ก็ยังจัดว่าน่าลงทุนอยู่ แต่ถ้าการเพิ่มทุนนั้นบริษัทไม่ได้มีแผนการเติบโตที่เป็นไปได้ และผลตอบแทนต่อเงินลงทุนดูต่ำผมจะขายหุ้นทิ้ง   

7.4 การซื้อหุ้นเติบโตที่ราคาแพงเกินไป
ของดีแต่ราคาแพงมากๆก็ไม่น่าซื้อ ไม่ใช่การลงทุนที่ดี ดังนั้นควรซื้อหุ้นที่มีส่วนลดจากมูลค่าที่ประเมินไว้ (แต่ไม่ใช่การซื้อหุ้น low PE นะครับ คนละเรื่องกัน ถ้าจะซื้อก็คือหุ้น low forward PE)

8. การบริหารพอร์ต (Portfolio management)
8.1 จำนวนหุ้นในพอร์ต
ผมจะถือหุ้น 3-5 ตัวเท่านั้น ไม่ถือมากกว่านี้เพราะดูแลไม่ทั่วถึง เพราะกว่าจะวิเคราะห์ได้แต่ละบริษัทต้องใช้เวลาและข้อมูลจนประเมินภาพในอนาคตได้ ทำให้ผมดูหุ้นใน watchlist ได้ไม่มาก (เต็มที่สุดประมาณ 20-30 ตัว) รวมถึงผมไม่ใช่นักลงทุนอาชีพที่มีเวลาทั้งวัน ผมมีงานประจำที่ต้องทำและต้องทำให้ได้อย่างดีเยี่ยมด้วย ผมจึงให้เวลากับการลงทุนได้น้อยกว่านักลงทุนทั่วๆไป โดยผมจะแบ่งเวลามานั่งดูข้อมูลพื้นฐานของหุ้นที่ผมสนใจในตอนเย็นของวันธรรมดาและวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งนั่นก็นับได้ว่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว และผมคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้วเพราะผมให้เงินทำงานไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน ควรจะใช้เวลาให้น้อยแต่มีประสิทธิภาพจะดีกว่า(แม้แต่การอ่านหนังสือเรียนผมก็ใช้หลักนี้) ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนในหุ้นจำนวนมากจะทำให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาด ซึ่งสำหรับคนที่หวังจะชนะตลาดอย่างผม การลงทุนในหุ้นที่ดีที่สุดจำนวนน้อยตัวจะได้ผลมากกว่า ส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าหุ้น 3 ตัวจะเสี่ยงเกินไป เสี่ยงกับการที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับบริษัทที่เราถืออยู่ซึ่งจะทำให้พอร์ตโดยรวมของเราลดลงอย่างรุนแรง เพราะไม่มีกำไรตัวอื่นมาช่วยเสริม ยิ่งไปกว่านั้นเราจะเสียโอกาสปรับพอร์ตเมื่อตลาดให้ราคาหุ้นของเราสูงหรือต่ำเกินไปอีกด้วย (ขายตัวแพงไปซื้อตัวถูก)

8.2 การคิดกำไรคาดหวัง
การศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณทั้งหมดเพื่อให้ได้ตัวเลข 4 ตัว 1. Upside ส่วนต่างราคาหุ้นที่เหมาะสมกับราคาปัจจุบันในการประเมินทั้ง 3 ระดับ ดูว่าเราจะได้กำไรแค่ไหน 2. Downside ส่วนต่างของราคาหุ้นปัจจุบันกับราคาหุ้นถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ความเสี่ยงขั้นรุนแรง ดูว่าเราจะขาดทุนได้ขนาดไหน 3. Probability  ของ upside โอกาสที่หุ้นตัวนั้นราคาจะสูงขึ้น 4. Probability ของ downside โอกาสที่หุ้นตัวนั้นจะมีราคาลดลง

กำไรคาดหวังได้จากการคำนวณดังนี้... Expected profit = (upside x probability) – (downside x probability)

ยิ่งกำไรคาดหวังมากเท่าไร หุ้นยิ่งหน้าซื้อมากขึ้นเท่านั้น และกำไรคาดหวังยิ่งมากยิ่งควรถือหุ้นตัวนั้นในพอร์ตด้วยสัดส่วนที่สูง ตามหลัก Kelly’s formula

การหาค่าตัวเลขทั้ง 4 ตัว เราจำเป็นต้องเข้าใจข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเป็นอย่างดี รวมถึงคิดตัวเลขไว้หลายแบบตามเหตุการณ์ที่เราคาดไว้ โดยเราอาจจะแยกย่อยได้ดังนี้

- ถ้า upside สูงแต่ probability ต่ำ ... หุ้นประเภทนี้โอกาสได้กำไรน้อยแต่ถ้าโชคดีจะได้กำไรมาก ดังนั้นควรถือหุ้นแบบนี้หลายๆตัวเพื่อเพิ่มโอกาสให้มากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ผมไม่ได้ซื้อหุ้นกลุ่มนี้เพราะผมต้องการซื้อหุ้นน้อยตัว
- ถ้า upside ต่ำแต่ probability สูง ... หุ้นกลุ่มนี้ซื้อน้อยตัวได้แต่กำไรอาจจะไม่มากนัก
- ถ้า downside สูง probability ต่ำ ... หุ้นกลุ่มนี้ผมจะไม่ถือเพราะถึงโอกาสจะเกิดน้อยแต่ถ้าเกิดขึ้นมาจะเป็นอันตรายกับพอร์ตอย่างมาก
- โดยส่วนตัวผมจะพยายามเลือกหุ้นที่ upside สูง probability ของ upside สูง downside ต่ำ probability ของ downside ต่ำ ที่สุดเท่าที่ผมจะหาเจอ ดังนั้นการหาหุ้นดีๆในการเข้าลงทุนไม่ใช่ว่าจะหาเจอได้ทุกวัน บางทีเจอปีละตัวยังนับว่ามากเลย ต้องใจเย็นและรอคอยได้ ถ้าราคายิ่งลดจากตลาดตื่นตระหนกโดยที่กิจการยังดี ยิ่งเป็นการเพิ่ม upside และลด downside ไปโดยปริยาย โดยแต่ละครั้งที่เข้าซื้อถ้าเป็นไปได้ประเมินให้ probability ของ upside มากกว่า downside เสมอ (โอกาสหุ้นขึ้นมากกว่าหุ้นลง)

8.3 การปรับพอร์ต

การปรับพอร์ตเป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อตลาดให้ราคาหุ้นของเราผิดไปมากๆ จนกำไรคาดหวังเปลี่ยนแปลง บางตัวกำไรคาดหวังลดและบางตัวกำไรคาดหวังเพิ่ม เราควรจะขายตัวที่กำไรคาดหวังลดมาซื้อตัวที่กำไรคาดหวังเพิ่ม แต่สิ่งที่เป็นไปได้ที่ควรทำคือ ทุกครั้งที่หุ้นของเราราคาลดลงหรือเพิ่มขึ้นแรงๆ ให้ประเมินว่าลงเพราะพื้นฐานเปลี่ยนหรือไม่ เพราะถ้าพื้นฐานเปลี่ยนต้องประเมินตัวเลขทั้ง 4 ตัวใหม่ กำไรคาดหวังจะเปลี่ยนไปด้วย การปรับพอร์ตโดยยึดตัวเลขที่ประเมินครั้งแรกโดยไม่ดูความเปลี่ยนแปลงตามเวลาอาจจะเกิดความเสียหายกับพอร์ตได้ รวมถึงไม่ควรปรับพอร์ตบ่อยเพราะจะโดนค่าคอมไปเยอะ ควรปรับเมื่อกำไรคาดหวังต่างกันมากๆจะดีที่สุด ช่วยให้ผลตอบแทนดีขึ้นมาก

9. การใช้จิตวิทยาการลงทุน

แนวคิดของ เบน เกรแฮม เนื่องนายตลาด (Mr. Market) เป็นแนวคิดที่ผมชอบมาก เพราะเบื้องของกระดานหุ้นที่ซื้อขายทางอินเตอร์เนตความเร็วสูงคือคน ต่อให้คนมีความรู้และรับรู้ข้อมูลข่าวสารเร็วแค่ไหน คนก็คือคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้การคิดเชิงเหตุผลแย่ลง มีสมหวังมีผิดหวัง มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้นักลงทุนที่มีเหตุผลฉกฉวยโอกาสในภาวะที่จิตใจของนายตลาดไม่ปกติได้ (โอกาสไม่ได้มาบ่อยๆ) แต่การที่มีวุฒิภาวะควบคุมอารมณ์ได้ดีใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยการฝึกฝน ลดอคติในการลงทุน

แนวทางการฝึกฝนฝีมือของผม
ผมเองลงทุนมาได้แค่ 2 ปีเท่านั้น ประสบการณ์ในตลาดหุ้นยังน้อย ยังต้องฝึกฝนอีกมาก โดยผมมีแนวทางการฝึกตนดังนี้

1.การให้ การช่วยเหลือผู้อื่น
ผมมองอนาคตว่า...ผมอยากทำงานให้กับมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร อยากใช้ความสามารถทั้งด้านการทำงานวิชาชีพแพทย์ให้กับสังคมให้กับเด็กๆซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานการเติบโตระยะยาวที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ ทั้งในด้านการบริหารการเงินการลงทุนให้กับองค์กรช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เพื่อที่เงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคจะได้ทำงานสูงสุด รวมถึงองค์กรเหล่านี้จะด้ไม่ขาดทุน อยู่ได้ด้วยตนเอง สร้างเงินทุนหมุนเวียนและเงินปันผลที่ใช้ในการดำเนินงานช่วยเหลือคนได้โดยไม่ล่มกลางทาง

ในความจริงการเก็บเงินไปลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้พอร์ตผมโตเร็วสุดก็จริง แล้วค่อยไปให้คืนสังคมทีหลัง แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงเราอาจจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ การให้คืนกับสังคมและการช่วยเหลือผู้อื่น นั่นคือความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างนึงของผม การให้ต้องทำในวันนี้ และให้กับคนที่เดือดร้อนตอนนี้ ไม่ใช่คนที่เดือดร้อนในอีก 20-30 ปีข้างหน้าตอนพอร์ตใหญ่แล้ว

เพราะเงินในพอร์ตก็เป็นเพียงตัวเลข ถ้าเราไม่ได้เอามาใช้ การใช้ที่ดีที่สุดคือให้กับคนที่ต้องการ ทั้งตัวเราเอง ครอบครัว สังคม นั่นคือการที่เงินของเราได้สร้างความสุขมากกว่าการกองอยู่ในพอร์ตขนาดใหญ่เฉยๆ

และที่สำคัญผมเชื่อว่า ยิ่งให้ยิ่งได้รับ ... แต่นั่นไม่ใช่ว่าเราจะให้แล้วจะขอให้โชคดี ขอให้รวย ความตั้งใจของการให้คือเพื่อช่วยเหลือผู้คนเพื่อทำประโยชน์อย่างแท้จริง แม้จะไม่มีใครรู้เห็นก็ตาม แต่ใจเรารู้ดีที่สุด และสภาพของจิตใจที่ปลอดโปร่งจากการให้จะทำให้เรามองเห็นโอกาสและวิเคราะห์หุ้นดียิ่งขึ้น รวมถึงไม่ทุกข์ร้อนมากเวลาหุ้นลง เพราะเรารู้ว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขในพอร์ตแต่อยู่ที่ใจเรา

2. การใช้เวลาว่างในแต่ละวันอ่านข้อมูลพื้นฐานของบริษัท
ผมเองไม่ใช่คนที่มีเวลาว่างมาก ไม่ใช่นักลงทุนอาชีพ ผมเป็นคนที่งานประจำที่ต้องใช้สมาธิในการคุยกับคนไข้ ถ้าใจของผมแกว่งตามตลาดผมจะรักษาคนไข้ไม่ได้เลย นั่นทำให้ผมเลือกการลงทุนระยะยาวมากกว่าการลงทุนระยะสั้น แม้กำไรอาจจะไม่มากมายเท่านักเก็งกำไรก็ตาม

และเพราะผมชอบการลงทุน ผมจึงไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเหนื่อย ไม่ใช่เรื่องลำบาก และการศึกษาวิเคราะห์คือการพักผ่อนจากงานประจำของผม

3. การอ่านหนังสือที่เกี่ยวธุรกิจและการลงทุน
โดยเฉพาะหนังสือการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ  

4. การออกไปเที่ยว เดินห้างดูหนัง เที่ยวต่างประเทศ
อาจจะฟังดูแปลกว่าเกี่ยวอะไร แต่นี่คือการศึกษาพฤตกรรมผู้บริโภคและวิถีชีวิตผู้คนจากของจริง ทำให้เรามองทิศทางของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมและบริษัทที่เราสนใจลงทุนได้ดีเพราะเราสัมผัสเองโดยตรง แม้แต่โฆษณาบนรถไฟฟ้าที่หลายคนไม่ชอบผมก็ยังชอบดู เพราะการโฆษณาเป็นการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค เช่น โฆษณาน้ำยาล้างห้องน้ำสำหรับแม่บ้านที่ไม่เปลืองแรงถู...พอดูไปก็จะมองเห็นว่า...ตอนนี้คนใช้หายาก คนไม่ค่อยเป็นคนไข้ตามบ้านไปอยู่อุตสาหกรรมอื่นที่เงินดีกว่า รวมถึงคนไหลออกไปทำงานต่างประเทศ แรงงานราคาถูกก็เป็นคนพม่าเข้ามาทำแทน สินค้าสำหรับแม่บ้านที่เป็นผู้หญิงทำงานแต่วันหยุดเป็นแม่บ้านจึงออกมา จะเห็นได้ว่าแค่โฆษณาเดียวแต่เรามองได้ลึกกว่านั้นมาก

5. การเขียนบทความ (แบบที่ผมกำลังทำอยู่)
เป็นการรวบรวมความคิดที่กระจัดจายในหัวเข้ามาให้เป็นรูปเป็นร่าง พอเขียนจบแล้วความคิดจะชัดเจนมากขึ้น รวมถึงอาจจะเกิดไอเดียใหม่ๆได้เวลาที่เขียน คนที่อ่านก็จะได้ประโยชน์จากการอ่านเช่นกัน เป็นการเรียนรู้แบบต่อยอดกันไปเรื่อยๆ

6. การเรียนภาษาต่างประเทศ และการเรียนเรื่องธุรกิจ
โดยเฉพาะภาษาจีน(ภาษาอังกฤษตอนนี้พอได้แล้ว) เพราะผมสนใจจะลงทุนในหุ้นจีนตั้งแต่ต้นปี 53 เพราะการเติบโตของประเทศยังมีศักยภาพอีกมาก แต่ขอพอร์ตเมืองไทยใหญ่กว่านี้อีกหน่อย รวมถึงการเรียน MBA เมื่อเรียนจบเฉพาะทางแล้ว

7. การจดบันทึกความผิดพลาดทุกครั้ง และเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดอีกเป็นครั้งที่ 2  

และนี่คือภาพรวมทั้งหมดของแนวทางการลงทุนของผมในตอนนี้ ซึ่งก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ ในหนังสือ outliers ผู้เขียน คุณ Malcolm Galdwell ได้บอกถึงตัวเลขที่ต้องใช้ในการฝึกฝนเพื่อเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่งว่า ใช้เวลา 10000 ชม. หรือประมาณ 7 ปี ดังนั้นผมต้องฝึกฝนตัวเองอีกอย่างน้อย 5 ปีถึงจะไปถึงจุดที่ผมหวังเอาไว้ นั่นคือการเป็น player ระดับ Top ของการลงทุนแบบหุ้นเติบโตและเป็นนักลงทุนข้ามชาติ  มีก๊วนนักลงทุนระดับสุดยอดไม่ต้องมีเยอะแค่ 4-5 คนก็พอ

และถ้าเรามีเป้าหมายแล้วเราพยายามอย่างฉลาด ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรไกลเกินฝันแน่นอนครับ

และถ้าคนที่ลงทุนมา 2 ปีทำได้  คุณเองก็ทำได้เหมือนกันเชื่อผมสิ

8 ความคิดเห็น:

  1. ยอดเยี่ยมกระเทียมเจียวหอมกรุ่นมากเลยครับคุณกบ
    ขอบคุณสำหรับแนวทางที่เขียนอย่างละเอียด
    เป็นประโยชน์สำหรับคนรู้น้อยอย่างผมมากๆ

    อืมลืมแนะนำตัว ผม บี นะครับ simpleBE จากไทยวีไอ
    ตามมาจากกระทู้สิบล้านครับ ชื่นชมๆ

    ผมอยู่พิษณุโลกเพิ่งลงทุนได้ปีกว่า พวกเราเพิ่งตั้งกลุ่มวีไอภาคเหนือตอนล่าง
    อยากชวนคุณกบไปแจมด้วย (ถ้าไม่รังเกียจ) ที่นี่
    http://www.facebook.com/groups/208500069194580/

    เพราะความรู้และความมุ่งมั่นของคุณกบน่าจะเป็นประโยชน์ถ้าได้เผยแพร่กับคนอื่นๆ
    ยังไงก็แล้วแต่ความสะดวกนะครับ

    อันนี้เฟสบุ๊คผมเอง (แต่ไม่ได้คุยเรื่องหุ้นในนี้เลย 555)
    http://www.facebook.com/pansa.sunavee

    ยินดีที่ได้รู้จักครับ

    ตอบลบ
  2. แนะนำตัวนะครับ

    ผมชื่อ "ก๊อบ" (Gob) นะครับแต่ชอบเขียน Gob ทำให้คนเรียกเป็นกบบ่อยๆอ่ะครับ แหะๆ >_<

    ผมยินดีและอยากไปร่วมกลุ่มวีไอภาคเหนือตอนล่างกับคุณบีมากเลยครับ แต่ผมอยู่กรุงเทพอาจจะไปร่วมลำบากซักหน่อย เพราะผมเรียนด้วยและต้องอยู่เวรอ่ะครับ

    ยินดีที่ได้รู้จักครับ ขอให้คุณบีประสบความสำเร็จในการลทุนนะครับ :)

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณครับ คุณหมอก๊อบ :) ตามมาจากกระทู้ 10 ล้านเหมือนกัน ผม baggio ครับ

    เขียน blog ได้เป็นระบบระเบียบ อ่านง่าย เข้าใจได้ง่ายมากครับ ได้อะไรดี ๆ จาก blog นี้เยอะเลย ขอบคุณแทนหลาย ๆ คน ที่ได้มีโอกาสอ่าน blog นี้ด้วยครับ อยากทำให้ได้อย่างนี้บ้างจัง แต่เรียบเรียงความคิดยังไม่เป็นระบบระเีบียบเท่าไหร่เลยครับ

    ขอเข้ามาหาความรู้เรื่อย ๆ นะครับ :)

    อ้อ ! ขอถามความเห็นคุณหมอเกี่ยวกับหุ้น growth ที่ราคาขยับไปสูงวัดเป็น p/e ที่ค่อนข้างสูงได้ใจเลยทีเดียว เช่น hmpro cpall global robins ตอนนี้น่ะครับ (บางตัว p/e เกือบ 30 เท่า)ว่าถ้าคุณหมอก๊อบมีหุ้นอยู่ จะพิจารณาอย่างไร น่าขายบ้างไหมครับ มีความเสี่ยงอะไรบ้างไหม ถ้าคนคิดจะถือต่อ :)

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณครับคุณ baggio มากครับ ผมจะตั้งใจพัฒนางานเขียนให้เป็นประโยชน์ต่อไปครับ

    ผมเข้าไปอ่าน comment ประสบการณ์ของคุณ baggio ในกระทู้ 10 ล้านแล้วชื่นชมมากครับ ผมเองลงทุนไม่นานประสบการณ์ยังน้อย คุณ baggio เป็นรุ่นพี่ผม ผมเองจะพยายามลงทุนให้ประสบความสำเร็จได้ทั้งพอร์ตโตขึ้นและความสุขใจเพิ่มขึ้นแบบคุณ baggio ครับ

    ยินดีอย่างยิ่งครับ ถ้าคุณ baggio จะเข้ามาเยี่ยมชม blog ครับ

    ส่วนเรื่องคำถาม ... ถ้า PE สูงมาก เช่น 30 (เข้าใจว่า 1year forward PE น่าจะต่ำกว่า 30 เพราะเราถือว่าหุ้นโตต่อนะครับ) แต่ถ้าราคาเป้าหมายที่เป็น room of growth ยังไปได้อีกไกลมาก เช่น โตได้ 20-25% ต่อปีได้อีกเป็น 10 ปี (สมมุตินะครับ) ผมจะ"ถือ"ต่อครับ

    แต่ถ้าการเติบโตในช่วง 3-5 ปี ไม่ได้สูงขนาดนั้น (เช่น เหลือแค่ 10% ต่อปี) ผมคงจะพิจารณาขายอ่ะครับ

    ความเสี่ยงของการถือคือ ถ้าตลาดหมีมา ... หุ้น PE สูง ราคามักจะลดลงแรงกว่าหุ้นอื่นๆเพราะคนจะซื้อขายที่ PE ต่ำลงอ่ะครับ แต่ผมคิดว่าหุ้นค้าปลีก PE คงจะไม่ลดลงมากเพราะตลาดมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและเติบโตได้แม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่ไม่ดีครับ

    การขายบางส่วนถือเงินสดตอนที่ Forward PE สูงมากๆก็เป็นกลยุทธ์นึงที่ดีครับ

    แต่ผมคงจะไม่เข้าซื้อหุ้นที่ forward PE สูงมากๆ เช่น 20-30 เหมือนกันครับ เพราะถือว่าเสี่ยงเกินไป ราคาไปกับความคาดหวังค่อนข้างมาก ถ้าผิดหวังราคาก็ดิ่งแรงได้เหมือนกันครับ ...upside น้อยเพราะความคาดหวังบวกไปในราคาแล้ว

    ขอบคุณมากครับ :D

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณคุณหมอที่ช่วยแชร์ไอเดียครับ :)

    ผมก็เห็นด้วยกับที่คุณหมอว่ามาครับ สุดท้่ายมันก็อยู่ที่ฝีมือของเราในการมองอนาคตและคาดการณ์ อีกทั้งติดตามข่าวสารนั่นเอง และก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ว่ามองสั้น กลาง ยาว ยาวมาก ๆ กว่ากันมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งความอดทนอีก

    การลงทุนมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์จริง ๆ (เข้ามาบ่นครับ :D )

    ตอบลบ
  6. ติดตามมาจาก เวบไทยวีไอ เพิ่งเจอและเข้ามาค่ะ จะทยอยอ่านและทำความเข้าใจตอนต่อ ๆไป คุณหมอก๊อบ ลงทุนได้สุดยอดมาก ๆค่ะ เขียนบทความดีด้วย สภาพแวดล้อมการลงทุนหุ้นคล้าย ๆ กัน เริ่มลงทุน เม.ย.ห้าสอง เปิดพอร์ต หนึ่งแสน แต่ก็เพิ่มทุนไปเรื่อย ๆ ทำงานเป็นพยาบาล ที่โรงพยาบาลชุมชนทางใต้ ไม่ได้พูดคุยเรื่องหุ้นกับใคร ศึกษาจากหนังสือ และเวบต่าง ๆ นอกเหนือจากเวลาทำงาน ปัจจุบัน พอร์ตขาดทุน ถือหุ้นประมาณ สิบตัว ติดยาวมาตั้งแต่ต้นปี ห้าสี่ เข้า ออก บ้าง ลงทุนประมาณสี่ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยแค่ร้อยละเจ็ดต่อปี ยังพยายามศึกษาหุ้นต่อไปให้พอร์ตเขียวทุกตัว มาเจอ บล็อกคุณหมอ ก็มีแหล่งข้อมูลศึกษาเพิ่มขึ้น ขอบคุณที่เผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์นะคะ จะติดตามต่อไปค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณคุณ Sangjun ครับ

      ผมคิดว่าแต่ละคนมีจังหวะของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน การที่เราลงทุนได้ผลตอบแทน 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอาจจะดูไม่มาก แต่ถ้าเทียบกับคนที่ไม่เคยออมเงินเลย ไม่เคยลงทุน หรือเอาเงินใส่ในพันธบัตรอย่างเดียว ก็นับว่าคุณ Sangjun ก้าวมาไกลกว่าคนเหล่านั้นมากครับ ... ผมสนับสนุนให้หาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองต่อไปครับ โดยเฉพาะแนวทางการลงทุนที่ไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะงานพยาบาลเป็นงานที่หนักและมีเวลาน้อย

      ถ้าคุณ Sangjun อยู่ทางใต้ผมแนะนำให้ลองไป meeting vi ของภาคใต้ดูนะครับ การได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับนักลงทุนท่านอื่นจะทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆที่อาจจะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นด้วยครับ ยิ่งถ้าได้คุยกับพี่โจลูกอีสานยิ่งดีใหญ่ครับ

      ขอบคุณที่ติดตามนะครับ :D

      ลบ
    2. ขอบคุณคุณหมอก๊อบ มากค่ะ อ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจศึกษาการลงทุนมากขึ้น ได้ติดตามคุณโจ ลูกอิสานผ่านทาง รายการต่าง ๆ อยู่บ้างค่ะ แต่ยังไม่มีโอกาสร่วม meeting vi ที่ใด ยังไม่ได้สมัครสมาชิกค่ะ ได้แต่ติดตามทางเวบไปก่อน

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น