วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การลงทุนจากหมากกระดาน (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบันมีการใช้คำว่า “กลยุทธ์” (Strategy)  มากมายทั้งในวงการเมือง  วงการทหาร(การรบ)  วงการธุรกิจ  เรียกได้ว่าเป็นศัพท์ของผู้บริหารระดับสูง  เนื่องจากเป็นคำที่คนทั่วๆไปไม่ค่อยได้ใช้กัน  ผมจึงไปลองค้นความหมายดู


ความหมายของคำว่า “กลยุทธ์” ในพจนานุกรมราชบัณฑิยสถาน  คือ  การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม,  วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ,  เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้  (หรือจะใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” แทนคำว่ากลยุทธ์ก็ได้ครับความหมายเดียวกัน)  ฟังความหมายตามพจนานุกรมอาจจะยังงงๆกัน ...ดังนั้นผมจะพูดตามที่ผมเข้าใจดีกว่า

และยังมีอีกคำนึงที่มักจะสับสนกัน  คือ  “ยุทธวิธี” (Tactics)  หมายถึง  วิธีการในระดับรายละเอียด  เพื่อนำมาใช้ดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้  (กลยุทธ์จะบอกวิธีการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในภาพรวม)

ซึ่งทั้ง Strategy และ Tactics เป็นคำที่มักจะใช้คู่กัน  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เราวางเอาไว้

ผมไม่ใช่นักบริหารระดับสูงแต่อย่างใด  แต่ผมคุ้นเคยกับคำว่า “กลยุทธ์” และการใช้กลยุทธ์เป็นอย่างมาก  เนื่องจากตอนเด็กๆผมชอบอ่านสามก๊กและตำราพิชัยสงครามของซุนวู  รวมถึงชอบเล่นหมากกระดานที่ต้องใช้การคิดและวางแผน  โดยความหมายของกลยุทธ์สำหรับผมคือ...การใช้วิธีการต่างๆเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราวางเอาไว้  นั่นคือ  เราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร?  และเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร?

แล้วกลยุทธ์มีความสำคัญอย่างไรกับการลงทุน?

นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาดหุ้นมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำไร  ต้องการเป็นอิสระภาพทางการเงิน  โดยมากนักลงทุนที่เข้ามาใหม่ๆมักจะคิดว่า  การมีหุ้นเด็ดคือคำตอบของทุกอย่าง  เหมือนแทงหวยก็ต้องมีเลขเด็ด  แต่ความจริงแล้วนักลงทุนระดับเซียนนั้น  การซื้อหุ้นถูกตัวเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ  จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการลงทุนด้วย

พูดไปอาจจะยังไม่เชื่อ...งั้นหาลองดูว่า  มีนักลงทุนรายย่อยมากมายแค่ไหนที่ซื้อตามเซียนแล้วขาดทุน  ซื้อต้นทุนเท่าเซียนแล้วยังกำไรน้อยกว่าหรือขาดทุน  เพราะการที่นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ขาดกลยุทธ์ในการลงทุน

ผมถึงได้พยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องของกลยุทธ์ออกมา  การเรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ผมคงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงหมากกระดาน...และหมากกระดานที่ผมคิดว่าใช้ในการฝึกการคิดเชิงกลยุทธ์ได้อย่างดีเยี่ยมคือ  หมากรุก  และหมากล้อม(โกะ)

หมากรุก (Chess)

หมากรุกสากล  หมากรุกไทย  หมากรุกจีน  จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้  โดยเล่นบนกระดานเป็นช่องขนาด 8x8  ผู้เล่นฝ่ายขาวและดำปะทะกัน  มีตัวเล่น 16  ตัวที่มีความสามารถต่างกันไป  (เช่น  ม้า  เรือ)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจับกินตัวขุน  (King)  ของฝ่ายตรงข้าม  มีการได้เสียที่ชัดเจน  (Zero Sum game)  บรรลุเป้าหมายโดยการเข้าต่อสู้จับกินกัน
แม้ว่ารูปแบบการเล่นจะดูหลากหลาย  แต่ด้วยกระดานที่ขนาดจำกัดและตัวเล่นมากมายที่มีความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้รูปแบบของหมากมีจำกัด  ซึ่งปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์สามารถชนะมนุษย์ได้แล้ว โดยในปี 1997 Deep Blue ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ของ IBM ที่สร้างมาเล่นหมากรุกโดยเฉพาะสามารถชนะเซียนอย่าง แกรี่  คาสปารอฟ (Garry Kasparov) ผู้เป็นแชมป์โลกหมากรุกชาวรัสเซีย 15 ปีซ้อน  ซึ่งชัยชนะได้มาจากการประมวลผลของเจ้าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง      


ไม่แปลกเลยที่คอมพิวเตอร์จะชนะมนุษย์ในเกมส์นี้  เพราะมนุษย์บางครั้งก็เหนื่อย  อ่อนล้า  อารมณ์ต่างๆ  เช่น  ความกลัว  ความโลภ  ต่างก็มีผลลบต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลของมนุษย์  คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีหัวใจย่อมชนะในเกมส์ที่มีรูปแบบที่จำกัดนี้  แต่อย่างไรก็ตามคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้เหมือนสมองมนุษย์

Deep-blue VS Kasparov

โดยระหว่างเกมส์  การวางกลยุทธ์ที่มักใช้กันคือการล่อด้วยผลประโยชน์  หรือการขู่ที่จะจับกิน  โดยผู้เล่นระดับสูงจะมีการอ่านเกมส์ในระดับที่ไกลมากๆ  ผู้เล่นที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่ตนเองคิดว่าตัดสินใจดีแล้วนั้น  ที่แท้เป็นการเดินเกมส์ตามฝ่ายตรงข้ามหรือไม่?  นั่นคือเป็นแค่เพียงการเลือกวิธีแพ้ให้กับตนเองเท่านั้น

ในกระดานหุ้น  การสู้รบกับเจ้ามือในการลากและทุบราคา  การปั่นหุ้นคือเกมส์ที่ต้องใช้การต่อสู้จับกินเหมือนหมากรุก  มีคนได้ต้องมีคนเสีย  (Zero sum game)  การล่อด้วยผลประโยชน์  เช่น  การลากหุ้นแรงๆแบบมีวอลุ่ม  แมงเม่าที่อดใจไม่อยู่ก็จะวิ่งเข้ามาติดเบ็ดที่เจ้ามือวางเอาไว้  โดยโดน checkmate  ไป  การทุบหุ้นแรงๆจนแมงเม่าต้องคายของออกมาคือการขู่จับกิน  ทั้งหมดเป็นการเต้นอันเร่าร้อนตามเกมส์ของเจ้ามือ(ผู้มีฝีมือการเทรดสูงกว่า)วางเอาไว้

การฝึกการเล่นหมากรุกจะทำให้เรารู้ทันเกมส์  อ่านหมากล่วงหน้าได้  เรารู้ทันว่ากำลังเลือกบนเกมส์ที่เจ้ามือวางไว้หรือไม่?  หรือถ้าฝีมือเราเหนือกว่านั้นคือล่อด้วยผลประโยชน์และบีบด้วยการขู่จับกินซะเอง  (ฝีมือการเทรดสูงขึ้นมาก)

หมากล้อม

ผมไม่ชอบการเล่นหมากรุก  เนื่องด้วยว่า  เป็นหมากที่ว่าด้วยการทำลายล้าง  การชิงไหวชิงพริบ  และต้องใช้การจำรูปแบบหมากจำนวนมาก และในช่วงที่ผมเรียนปี 5 ผมก็ได้พบกับหมากล้อมซึ่งถือว่าเป็นหมากกระดานที่ผมชอบมากที่สุดในปัจจุบัน  มีอยู่ช่วงนึงถึงกับเล่นแบบลืมวันลืมคืนไปเลย 


หมากล้อมในภาษาญี่ปุ่นคือ “โกะ”  ภาษาจีนเรียก “เหวยฉี”  ภาษาเกาหลีคือ “บาดุก”  เป็นเกมส์ที่เกิดในประเทศจีนมีอายุยาวนานกว่า 4,000 ปี

หมากล้อมเป็นเกมส์ที่ว่าด้วยกลยุทธ์อย่างแท้จริง  โดยเล่นบนกระดานจุดตัดขนาด 19x19  จุด  มีหมากสีขาวและสีดำ  วัตถุประสงค์เพื่อล้อมพื้นที่  ใครมีพื้นที่มากกว่าในตอนท้ายเกมส์จะชนะไป  โดยผลัดกันวางทีละหมาก (หมากดำเดินก่อน) การจับกินทำได้โดยยึดลมหายใจของฝ่ายตรงข้าม  และถ้ากลุ่มหมากมี 2 ห้องจริงจะไม่มีวันตาย

ปัจจุบันยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใดเล่นหมากล้อมที่ขนะคนได้  เพราะความน่าจะเป็นของรูปแบบหมากมีได้สูงถึง 361!  (361 แฟก)  ประมาณ 10 ยกกำลัง 768 ไปลองคิดเองว่ามหาศาลขนาดไหน  กระดานที่เดินมาหลายพันปียังไม่มีกระดานไหนซ้ำกันเลย

หมากล้อมจะพูดถึงการจัดสรรค์ทรัพยากรและการต่อรองเป็นสำคัญ

และมีคำที่นักเล่นโกะชอบใช้ที่ผมอยากบอกนักลงทุนคือ...

“ชนะได้โดยไม่คิดเอาชนะครับ”

(โปรดติดตามต่อตอนที่ 2)

ปล.  ผมขอแบ่งเป็น 2 ตอนนะครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป  ตอนหน้าจะเจาะลึกเรื่อง  การนำกลยุทธ์ในหมากล้อมไปใช้กับการลงทุนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น