วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รับที่เท่าไรดี?

ช่วงที่ตลาดลงหนักจากพี่ฝรั่งขาย  ผมมักจะได้คำถามจากมือใหม่ในทำนองนี้  ซึ่งผมเองก็ไม่รู้จะตอบว่าอะไรดี  ถ้าให้คำตอบบางอย่างไปแล้วคนฟังไปทำตามนั่นก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด  เช่น  ถ้าบอกว่ารอรับที่ 900 ต้นๆ  ถ้าหากรับแล้วดัชนีเกิดลงไป  700 – 800 ผู้ที่รับตามผมบอกก็อาจจะขาดทุนได้  หรือถ้าหากดัชนีไปไม่ถึง 900 แล้วเด้งขึ้นมาที่ 1000 กว่าๆก็จะเสียโอกาสในการรับของถูกในช่วงนี้ไปได้

เพราะการคาดการดัชนีเป็นสิ่งที่ยาก  ไม่มีใครรู้อนาคต  แม้แต่ในทางเทคนิค (ซึ่งผมไม่ใช่เทคนิคอลนะครับ) ยังต้องมีการประเมินแนวโน้มเป็นระยะๆเลยครับ  เช่น  ถ้าเกิดดัชนีลงไปถึงจุด  A แล้วเด้งขึ้นจะมีแนวโน้มลงต่อ ขึ้นหรือซึมยาว  เหตุการณ์มีโอกาสเกิดได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการปรับกลวิธีในการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนตามสถาณการณ์มากกว่า

ถ้าอย่างนั้นในช่วงตลาดขาลงอย่างนี้จะทำอย่างไรดี?  รับที่เท่าไรดี?

คำแนะนำของผมนะครับ

1. ไม่พยายามทำกำไรโดยคาดเดาดัชนี  เพราะเราลงทุนในหุ้นรายตัว  แน่นอนว่าตลาดขาลงนั้นหุ้นเกือบทุกตัวลงหมด  แต่ลงมากลงน้อยก็แล้วแต่หุ้นแต่ละตัว  เซียนหุ้นอย่าง Peter Lynch  หรือ  Warren Buffet  ก็ไม่ได้ทำกำไรจากการออกมาทำนายว่าดัชนีจะไปที่จุดไหน  แต่ทำกำไรจากการลงทุนในบริษัทที่มีความแข็งแกร่งและผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง  ถ้าหุ้นที่เราจับตาใน watch list  ยังไม่ถูกพอเราก็ยังไม่ควรเข้าไปซื้อ  ส่วนที่ว่าถูกพอนี่คือแค่ไหน...คงแล้วแต่ MOS – Margin  of  Safety  ของแต่ละคน  รวมถึงประเมินกำไรคาดหวังก่อนเข้าซื้อ

ขอให้เน้นมองการลงทุนในหุ้นรายตัวมากกว่าภาพดัชนีโดยรวม  (ยกเว้นว่าคุณจะเล่น TFEX)

อธิบายแนวคิดเรื่อง MOS  –  การซื้อโดยได้ส่วนลดราคาจากมูลค่าที่จริง  เช่น  ถ้าเราคำนวณมูลค่าหุ้น A ได้ 100 บาท  ถ้าเรามี MOS 50% เราจะซื้อหุ้น A ที่ 50 บาท  ถ้าเราต้องการ MOS แค่ 30% เราจะซื้อหุ้น A ที่ 70 บาท เป็นต้น  ซึ่งแนวคิดนี้มาจากปรมาจารย์ท่าน  Benjamin Graham บิดาแห่ง Value investment อาจารย์ของปู่บัฟเฟตต์  เนื่องจากการคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท  (intrinsic value) เป็นเรื่องมุมมองและความเห็นที่แตกต่างกันไปตามนักลงทุน (Subjective)  บางทีอาจจะไม่ถูกต้องนัก  การซื้อในราคาที่มีส่วนลดจะเป็นตัวที่ทำให้เราไม่ขาดทุนและทำกำไรได้แม้ว่าเหตุการณ์อาจจะไม่เป็นไปตามที่คิด  เปรียบเหมือนการสร้างสะพานที่มีรถหนัก100 ตันวิ่งผ่านไปมา  นักสร้างสะพานที่ดีคงไม่สร้างให้สะพานรับน้ำหนักได้แค่ 100 ตัน  แต่อาจจะเพิ่มให้สะพานรับได้ถึง 130-150 ตัน หรืออาจจะมากกว่านั้น  คนที่ข้ามสะพานนี้ก็จะรู้สึกปลอดภัยว่าสะพานจะไม่พังเวลารถวิ่งผ่านไปมา

ซื้อหุ้นที่ราคาตลาดถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง

2. มีทัศนคติที่ดีต่อตลาดขาลง  คนที่ไม่ชอบความเสี่ยงความผันผวนของหุ้นมักจะเลิกเล่นไปในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง (คนเหล่านี้อาจจะกลับมาช่วงปลายตลาดกระทิง  แล้วก็ติดดอยกันไป)  หรือคนที่ยังไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้วก็ยิ่งมีความคิดไม่มั่นใจกับตลาดหุ้นขึ้นไปอีก  แต่สำหรับนักลงทุนที่เห็นตลาดหุ้นมานานจะรู้ว่าการขึ้นลงของราคาหุ้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกระแสน้ำในทะเลที่มีขึ้นมีลง  ราคาหุ้นก็ขึ้นลงตามแรงซื้อขายของนักลงทุนรวมถึงขึ้นลงตามผลประกอบการณ์ของบริษัทเป็นเรื่องธรรมดา  เป็นเรื่องธรรมดามากๆ

ขอให้มองตลาดขาลงให้เป็นโอกาสในการเข้าลงทุน

3. อย่าฝืนตลาด  เมื่อตลาดเป็นขาลงถ้าหากมีเงินสดอยู่ให้รอจนหุ้นไหลลงไปเรื่อยจนหยุดนิ่งก่อน  มีสุภาษิตที่บอกว่า “อย่าไปรับมีดที่ตกลงมาจากบนฟากฟ้า”  บางที่เราเห็นว่าถูกแล้วยังมีถูกกว่า  เมื่อหุ้นตก 5-10 % จากจุดสูงสุด  โดยที่  upside  ที่เหลือก็ไม่ได้มาก รวมถึงดัชนีก็อยู่สูงมากแล้วกำลังตกลงมา  (โดยอาจจะประเมินจาก PE ตลาด  หรือ  earning  yield  gap) แล้ว downside มาก  การรีบเข้าไปรับหุ้นเพื่อหวังเด้งเล็กน้อยขอกำไร 5-10 % อาจจะทำให้ขาดทุนอย่างมาก  ได้ไม่คุ้มเสียครับ

นอกจากนั้นการลดลงของดัชนีอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน หรือหลายๆเดือน  เนื่องจากฝรั่งมีพอร์ตขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เวลาปล่อยของหรือปรับพอร์ตพอสมควร  ระหว่างนี้ตลาดอาจจะไม่ได้ลงทุกวันแต่อาจจะขึ้นๆลงๆ  เพียงแต่แนวโน้มจะลงมากกว่า ซึ่งการประเมินแรงขายของฝรั่งอาจทำโดย  ดูจำนวนหุ้นในมือของฝรั่งจากรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่บวกกับจำนวน Thai NVDR ยิ่งหุ้นอยู่ในมือฝรั่งมาก  โอกาสที่ราคาลงมากๆจากฝรั่งขายเอาเงินออกย่อมมีสูงตามกัน  นั่นยังไม่รวมถึงรายย่อยที่ตามมา Cut loss หรือคนที่โดน Force sell บังคับขายเงินในบัญชีมาร์จิ้น  ราคาหุ้นยิ่งลดลงไปได้อีกมาก

อย่าฝืนตลาด...ทำตัวเป็นกิ่งไม้ลู่ลมดีกว่าจะไปต้านกระแสธารอันเชี่ยวกราก

4. เลือกรับหุ้นให้ถูกตัว   ในตลาดหมี (Bear Market) หรือการปรับฐาน (Market correction) รวมไปถึงภาวะวิกฤต (Crisis) ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นล้วนลดลงในอัตราส่วนที่ต่างกันไป  หุ้นรายตัวเกือบทั้งหมดก็มีการลดลงเช่นกัน   แต่ในการลดลงของราคาหุ้นจะมีโอกาสที่ซ่อนอยู่  ผมจะแจกแจงให้ฟังดังนี้

4.1 หุ้นที่ราคาลดลงมากกว่าตลาด  หรือหุ้นที่ทำ New low จุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง  การเข้าไปรับอาจจะทำให้ขาดทุนได้  ระหว่างที่ราคาไหลลงเรื่อยๆให้เข้าไปดูว่ามีพื้นฐานที่ดีหรือมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาดที่กำลังลดหรือไม่?  โดยส่วนใหญ่หุ้นกลุ่มนี้จะมีข่าวร้ายหรือพื้นฐานบริษัทแย่ลง  นั่นก็เป็นไปตามแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นกำลังบอกถึงพื้นฐานของตัวมันเอง  แต่แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกรณี  อาจจะมีโอกาสซ่อนอยู่

เช่น  บริษัทนั้นมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาทำกำไรได้เหมือนปกติในอนาคต,  บริษัทประสบปัญหาระยะสั้นที่แก้ไขได้,  การลดของราคาไม่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นฐานแต่มากจากพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล  การตื่นตระหนก  การใช้เงินกู้มาเล่นหุ้นมากๆจึงต้อง cut loss

4.2 หุ้นที่ราคาลดลงน้อยกว่าตลาด  หุ้นแบบนี้มักจะมีพื้นฐานบางอย่างค้ำไว้อยู่  เช่น  มีกำไรที่แน่นอนไม่กระทบจากเศรษฐกิจโดยรวมหรืออาจจะเป็นขาขึ้นของธุรกิจนั้นๆ   หรือมีปันผลในเปอร์เซ็นต์ที่มาก

แต่ก็อาจจะไม่แน่เสมอไป  ดังนั้นนักลงทุนควรจะเข้าไปดูหุ้นกลุ่มนี้ว่า  บริษัทมีจุดแข็งใดที่ค้ำยันไว้  ถ้าประเมินแล้วบริษัทมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาดมากก็เข้าซื้อได้

ทั้ง 2 กรณี เป็นการประเมินพื้นฐานคร่าวๆจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น  ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพที่บอกว่าทุกอย่างได้สะท้อนไปในราคาตลาดจนหมดแล้ว  แต่เนื่องจากผมซึ่งเชื่อตามปู่บพัฟเฟตต์ว่า  ตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา  ดังนั้นการดูการลดลงราคาหุ้นอาจจะบอกถึงความแตกต่างของพื้นฐานที่แข็งแรงอ่อนแอได้บ้าง  แต่เราไม่ควรจะเอาราคาเป็นตัวนำ  ควรจะเข้าไปศึกษาประเมินพื้นฐานโดยตรงใหม่อีกครั้งมากกว่า

เพราะนั่นอาจจะหมายถึงโอกาสดีๆที่ซ่อนอยู่

ในวิกฤติย่อมมีโอกาส

ขอให้ทุกคนคว้าโอกาสดีๆในการลงทุนไว้ได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น