วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

Natural selection ในการลงทุน

สมัยเรียนชั้นม.ปลาย  วิชาที่ผมชอบมากที่สุดคือ วิชาฟิสิกส์  เพราะผมรู้สึกสนุกกับการสังเกตสิ่งรอบตัวในมุมมองด้านกายภาพ  การค้นหาความจริงผ่านการทดลองและการแก้โจทย์ปัญหาในรูปแบบตัวเลขที่ชัดเจน  ส่วนวิชาที่ผมไม่ชอบที่สุดคือ  วิชาชีววิทยา  เพราะผมมองไม่เห็นอะไรมากไปกว่าการท่องจำเพื่อสอบให้ผ่านไป  ซึ่งเป็นลักษณะของการเรียนรู้แบบไทยๆ

แต่ในช่วงที่ผ่านมา  มีหนังสือ pop science ทางชีววิทยาโดยเฉพาะเรื่อง วิวัฒนาการ (Evolution) ออกมามากมายทั้งหนังสือภาษาไทยและหนังสือต่างประเทศ  กลายเป็นว่า...ชีววิทยาสนุกกว่าที่คิด!!  ผมรู้สึกสนุกมากกว่าการอ่านหนังสือชีววิทยาสมัยม.ปลายอย่างเทียบกันไม่ได้  เพราะการอ่านครั้งนี้เต็มไปด้วยความอยากรู้ ความสนุกและสามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้

ผมลองจะอธิบายเรื่องวิวัฒนาการให้ฟังแบบสั้นๆนะครับ

การวิวัฒนาการ (Evolution)...ไม่ใช่การพัฒนาการ (Development)  คนส่วนใหญ่ชอบใช้การวิวัฒนาการในความหมายของการพัฒนาตนเอง  ซึ่งไม่ถูกต้อง  เพราะไม่ได้ส่งผ่านพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน  เช่น  ถ้าเราขยันเล่นกล้ามจนกล้ามใหญ่  ไม่ได้หมายความว่าลูกหลานของเราจะกล้ามใหญ่ไปด้วย  เพราะการที่เล่นกล้ามจนกล้ามใหญ่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พันธุกรรม

การวิวัฒนาการ (Evolution)...ไม่ใช่การปรับตัว (Adaptation)  เช่น  บางคนคิดว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ทำงานแต่ในห้อง  ต่อไปมนุษย์จะหัวโตแขนขาลีบเพราะใช่แต่สมอง  ซึ่งนี่ไม่ใช่วิวัฒนาการเพราะไม่ได้มีการส่งผ่านพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน  แน่นอนว่าถ้าไม่ใช้แขนขาเลย  แขนขาย่อมลีบลง  แต่นี่คือการปรับตัวตามการใช้งานของร่างกาย  ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาในพันธุกรรมอยู่แล้ว

การวิวัฒนาการคือ...การเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมจากรุ่นหนึ่งส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าดีขึ้นหรือแย่ลง  แต่สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดไปได้ต้องเหมาะสมที่อยู่รอดและขยายพันธุ์ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ

การศึกษาเรื่องวิวัฒนาการทำให้เรารู้เส้นการของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เซลเดียวจนมาถึงสิ่งมีชีวิตหลายเซลที่มีสมองส่วนหน้าพัฒนาอย่างมนุษย์เรา  ผ่านการศึกษาอย่างมีหลักฐานอย่างมีเหตุผล  ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ

สิ่งที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมีเรื่องหลัก 2 อย่าง
1. การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม  ซึ่งอาจจะมาจากการกลายพันธุ์ (Mutation) หรือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Sexual reproduction) ที่มีการแลกพันธุกรรมจากเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่งทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม  เมื่อพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามมา  เช่น  สามารถผลิตโปรตีนบางชนิดได้  อวัยวะบางอย่างเปลี่ยนไป  เป็นต้น
2. การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection)  สิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน  สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือ...สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมนั้นและขยายเผ่าพันธุ์ได้  ยกตัวอย่างกรณียีราฟ  ในอดีตกาลจะมียีราฟหลายพันธ์ทั้งคอยาวคอสั้น  การที่เราเห็นยีราฟคอยาวในปัจจุบันแสดงว่า  สภาพแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาทำให้ยีราฟคอยาวอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อเนื่องมาได้  ซึ่งสภาพแวดล้อมนั้นอาจจะเป็น  ป่าที่มีแต่ต้นไม้สูง  ทำให้ยีราฟคอสั้นหาอาหารไม่ได้และตายไป

เรื่อง Natural selection นี้เอง  ทำให้ผมมองเห็นความสำคัญของ”สภาพแวดล้อม”ที่มีผลต่อการอยู่รอดและการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์  ซึ่งสภาพแวดล้อมนั้นต้องเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิต

ในโลกของการลงทุน  คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานาน  คนที่อยู่ในวงการธุรกิจมานาน  หรือคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไป  จะพบการเกิด การคงอยู่ การขยายตัว การเสื่อมถอยและดับไปของทั้งบริษัท อุตสาหกรรม  รวมถึงนักลงทุนและนักเก็งกำไร  ที่มีทั้งอยู่รอดในตลาดหุ้นได้  ขาดทุนหมดตัวออกจากตลาดไป  มีทั้งสร้างชื่อเป็นเซียนได้ชั่วคราวแค่ในช่วงตลาดขาขึ้น แต่ตลาดขาลงเอาตัวไม่รอดต้องออกจากตลาดไป  มีทั้งเซียนตัวจริงที่อยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์

ลองมาดูมุมมองเรื่อง Natural selection ในโลกแห่งการลงทุนกันนะครับ

Natural selection ในโลกแห่งการลงทุน

ผมจะแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 2 หัวข้อ  คือ  การถูกคัดเลือกของบริษัทและการถูกคัดเลือกของนักลงทุน

1. การถูกคัดเลือกของบริษัท

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  อุตสาหกรรมใดจะเติบโตได้ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม  เช่น  ในเรื่องเทคโนโลยี...เมื่อ 50 ปีก่อนการสื่อสารยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน  ถ้ามีใครสักคนเอาเครื่องโทรศัพท์มือถือมาขายโดยที่ยังไม่มีเครือข่ายสัญญาณ  โทรศัพท์มือถือนั้นก็ขายไม่ได้  หรือ  ในสมัยที่ยังไม่มีการใช้ไฟฟ้า ถ้ามีใครเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดจากโลกตะวันตกเข้ามาขาย  เครื่องใช้ไฟฟ้าจะขายไม่ออกเพราะไม่มีระบบไฟฟ้ารองรับ หรือ ในสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันคงยังไม่เป็นที่ต้องการมากเท่าปัจจุบัน  เป็นต้น  ดังนั้นแม้สินค้าและบริการดีแค่ไหน..แต่ถ้าสภาพแวดล้อมโดยรวมไม่เอื้ออำนวยธุรกิจและอุตสาหกรรม ธุรกิจก็ไม่สามารถจะอยู่รอดและเติบโตได้

รวมถึงเมื่อสินค้าและบริการบางอย่างเริ่มทยอยหายไปตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ  เช่น  กล้องแบบใช้ฟิล์มเริ่มหายไปจากการเข้ามาของกล้องดิจิตอล  ที่ถ่ายรูปได้แบบไม่เปลืองฟิล์ม  ถ่ายแล้วปรับกการทำงานได้มากมาย  ใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้,  เครื่องพิมพ์ดีดเริ่มหายไปหลังจากการเข้ามาของคอมพิวเตอร์กับปรินเตอร์  การใฃ้งานคอมพิวเตอรืในการพิมพ์งานเป็นที่นิยมและสะดวกกว่ามาก,  ธุรกิจร้านตัดเสื้อเริ่มหายไปหลังจากมีการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเสื้อผ้าได้ครั้งละจำนวนมาก,  เพจเจอร์ที่รับส่งข้อความเริ่มหายไปหลังจากมีการเข้ามาของการส่งข้อความโดยตรงทางโทรศัพท์มือถือ  เป็นต้น  แม้สินค้าและบริการดีแค่ไหน..แต่ถ้ามีสินค้าและบริการที่ทดแทนความต้องการในระดับที่เหนือชั้นกว่า  ธุรกิจและอุตสาหกรรมเดิมก็ไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบในระดับนโยบายโดยรวมก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเช่นกัน...เช่น  การเกิดขึ้นของการค้าเสรี  ทำให้มีผลดีต่ออุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์  ในการขนส่งสินค้าของประเทศที่มี Supply เหลือมากไปยังประเทศที่ยังมี Demand เหลือมาก  บริษัทที่แข็งแกร่งและเติบโตสูงสามารถเพิ่มเพดานการขยายตัวขึ้นไปได้อีก  แต่การค้าขายในประเทศอาจจะเกิดการแข่งขันมากขึ้นอาจจะส่งผลเสียต่อบริษัทที่ไม่มีจุดเด่นหรืออ่อนแอ,  หรือ  การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย  ทำให้ญี่ปุ่นและประเทศทางตะวันตกเข้ามาเปิดโรงงานมากมายเพราะค่าแรงในแถบเอเชียไม่แพงเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว  เป็นผลดีต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม  แรงงานในระบบไหลเข้าโรงงาน  คนรับใช้เริ่มลดลงเพราะไปเป็นคนงานในโรงงานหมด,  รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมบางอย่างเช่น  อสังหาริมทรัพย์  รถยนต์  สินค้าส่งออกต่างๆ  เป็นต้น

แน่นอนว่ามีธุรกิจบางอย่างที่ไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมมากนัก  เช่น  ธุรกิจที่เกี่ยวกับปัจจัย 4  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  เครื่องนุ่งหุ่ม  ยารักษาโรค  แต่มองไปให้ลึกแล้วจะพบว่ามีบริษัทในอุตสาหกรรมล้มหายตายจากไปมากมาย  เหลือคงอยู่เป็นผู้ชนะไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ถูก Selection

ในอนาคตอันใกล้  สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  เช่น  การสื่อสารคมนาคนที่เร็วขึ้นจากการเกิดของ 3G และเครือข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูง,  การเกิดของ AEC (Asian economic community)  เขตเศรษฐกิจอาเซียน,  การเกิดของรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศจีน,  ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในทวีปยุโรป,  ความแปรปรวนของภูมิอากาศ  ปัจจัยสภาพแวดล้อมในทางเศรษฐกิจต่างๆที่ยกขึ้นมานี้...อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการล้มหายตายจากของธุรกิจในบางอุตสาหกรรม  อาจเกิดการล้มหายตายจากของบางธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะเติบโต  อาจจะเป็นปัจจัยในการรุ่งเรืองของธุรกิจในบางอุตสาหกรรม  อาจเกิดความรุ่งเรืองเติบโตของบางธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะโตได้ช้าลง...

สิ่งที่สำคัญคือ  Natural  selection  บริษัทอยู่รอดและเติบโตภายใต้สภาวะแวดล้อมนั้นๆหรือไม่  บริษัทที่อยู่รอดระยะยาวอาจจะไม่ได้เคยโตเร็วที่สุด  อาจจะไม่ได้ขนาดใหญ่ที่สุด (เหมือนไดโนเสาร์ที่สุดท้ายก็สูญพันธุ์ไป)    

ถ้านักลงทุนหาบริษัทที่สามารถเติบได้ในระยะยาวได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก  แล้วบริษัทนั้นเป็นแบบไหนล่ะ? 

นั่นคือ...1) บริษัทนั้นจะต้องมีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว (แต่ไม่มีความต้องการไหนมากขึ้นตลอดไป...ยกเว้นปัจจัย 4 ที่อาจจะไม่หมดความต้องการแต่ความต้องการสามารถอิ่มตัวได้จากการแข่งขันผลิต supply จนล้นเกินความต้องการไปมาก)  2) บริษัทนั้นจะต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ในหลายรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป  เช่น  บริษัทหนังสือ  เมื่อมีการเข้ามาของหนังสือบน tablet บริษัทหนังสือก็สามารถปรับตัวใช้ประโยชน์เติบโตตามได้  บริษัทที่ไม่ปรับตัวอาจจะลำบากขึ้น,  บริษัทให้เช่า VDO เมื่อมีการเข้ามาของ CD DVD  บริษัทที่ให้เช่าหนังก็สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์ตามได้  บริษัทที่ไม่ปรับตัวอาจจะลำบากขึ้น,  บริษัททำมือถือ  เมื่อมีการเข้ามาของอินเตอร์เนตและ social network บริษัทก็สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์เติบโตตามได้  บริษัทที่ไม่ปรับตัวทำแต่มือถือแบบเดิมๆก็อาจจะลำบาก  เป็นต้น  3) มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาว (DCA)  เพราะเมื่อถึงจุดที่ต้องแบ่งเค้กกัน  บริษัทที่มีความสามารถจุดเด่นที่เหนือกว่าคือบริษัทที่อยู่รอด

นั่นคือบริษัทคุณสมบัติที่เหมาะสมและเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ขอให้นักลงทุนดูทั้งบริษัท  อุตสาหกรรม  สภาพแวดล้อมโดยรวมไปพร้อมๆกันแล้วจะเห็นภาพว่าบริษัทที่เราลงทุนจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้หรือไม่ครับ

2. การถูกคัดเลือกของนักลงทุน

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในหุ้นในช่วงตลาดกระทิงได้ผลกำไรงามกันถ้วนหน้า  แต่ในระยะยาวเราไม่มีทางรู้ว่าจะเหลือคนที่อยู่รอดและชนะตลาดในระยะยาวได้มากแค่ไหน  เหมือนไดโนเสาร์ที่เคยเป็นจ้าวโลกมาก่อนแต่พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนก็สูญพันธุ์ไป

นักลงทุนที่อยู่รอดและเติบโตในระยะยาว  ผ่านทั้งตลาดหมีและตลาดกระทิงมาอย่างยาวนาน  นักลงทุนเหล่านี้คือบุคคลที่มีคุณสมบัติอยู่รอดและเติบโตในทุกสภาพแวดล้อมได้  พวกเขาหลายคนถูกเรียกว่าเป็นเซียนตัวจริงและส่งต่อแนวทางการลงทุนที่พวกเขาใช้ได้ผลให้กับคนรุ่นหลัง  เกิดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

นักลงทุนที่ผิดพลาดแล้วไม่ยอมปรับตัว  เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป  ไม่หาข้อเสียของตัวเอง  ย่อมเข้าสู่การสุญพันธุ์หมดตัวออกไปจากตลาดหุ้น

ในระยะยาวนักลงทุนจะมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ว่าพวกเขาจะใช้การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหรือแนวทางเทคนิค  เพราะคนที่เหลือรอดในระยะยาวที่ผ่านทุกสภาพแวดล้อมคือคนที่มีคุณภาพ  คนที่ไม่มีคุณภาพจะทยอยออกจากตลาดไป

ดังนั้น...นักลงทุนต้องหาจุดแข็งที่ตนเองทำได้ดี  ผสานกับแนวทางการลงทุนที่เข้ากับนิสัย  และมีแผนรับมือไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม  ซึ่งจุดแข็งผมแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ 1) ความสามารถในการหาข้อมูล  2) ความสามารถในการวิเคราะห์  3) ความสามารถในด้านจิตใจครับ  (จะพูดถึงเรื่องนี้โดยละเอียดอีกครั้งในบทความถัดๆไปครับ)

สุดท้ายผมจะบอกว่า...สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญมากปัจจัยหนึ่ง

ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไรเราต้องอยู่รอดก่อน  และค่อยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปครับ   

19 ความคิดเห็น:

  1. ติดตามอยู่ครับ หายไปนานให้คิดถึงนะเนี่ย อิอิ :D

    ตอบลบ
  2. ชอบคับ :)

    คุณหมอหายไปนานเลยครับ กลับมาทีมีตอนใหม่ยาวเลย :D

    ตอบลบ
  3. ไปตกผลึกได้จากที่อังกฤษหรือเปล่าครับเนี่ย :)

    ประเด็นของนักลงทุนน่าสนใจครับ ถ้าคิดตามนี้แมงเม่าน่าจะสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ แต่ความจริงเรากลับพบแมงเม่าหน้าเก่าหน้าใหม่โผล่เข้ามาในตลาดอยู่เสมอ ไว้ว่างๆ ขออนุญาตเอาไปคิดต่อยอดนะครับ ได้ความว่ายังไงแล้วจะเอามาแบ่งปันกัน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตอนไปอังกฤษคุยกับอาจารย์เรื่อง Evolution เยอะน่ะครับ โดยเฉพาะเรื่อง Evolution medicine ทำให้เข้าใจว่าอาการป่วยบางอย่างไม่ใช่โรคที่เกิดจาก defect เป็นเป็นสิ่งที่ถูก select มาครับ

      ส่วนประเด็นเรื่องนักลงทุนแมงเม่า ผมว่าส่วนใหญ่ไม่ได้สูญพันธุ์ไปจริงครับ พอมีเงินแล้วเห็นตลาดขาขึ้นมีคนได้กำไรเยอะก็จะกลับเข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่านักลงทุนที่เก่งๆซะอีก :P

      แล้วผมจะรออ่านนะครับ

      ลบ
    2. ตกผลึกแล้วครับที่ http://www.monkeyfreetime.com/2012/02/blog-post.html จุดสำคัญคือพยายามมองหา "บริษัท" ที่ธรรมชาติคัดเลือก และพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของ "นักลงทุน" ที่ธรรมชาติคัดเลือก เพื่อที่เราเองจะได้ไม่ไปอยู่ในกลุ่มที่จะสูญพันธุ์ครับ

      ลบ
    3. ขอบคุณที่คุณ Antoni ที่ร่วมกันคิดต่อยอดครับ

      เห็นด้วยเลยครับ

      ผมว่าการไม่ฝืนธรรมชาติและกฎของธรรมชาติจะทำให้เราอยู่รอดได้ในท้ายที่สุดครับ ...บริษัทเองต้องมีคุณสมบัติที่ธรรมชาติคัดเลือก นักลงทุนเองต้องมีคุณบัติที่ธรรมชาติคัดเลือกเช่นกันครับ

      :D

      ลบ
  4. สวัสดีครับ

    ช่วงนี้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการ และพฤติกรรมหลายเล่มอยู่เหมือนกันครับ

    ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ วิวัฒนาการของสมองมนุษย์ ที่ยังเต็มไปด้วยร่องรอยของสัตว์ที่เป็นบรรพบุรุษ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดในชีวิตประจำวัน จนมีศาสตร์ต่าง ๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจ และการเลือก (ซึ่ง ผลของมันบ่งในทางว่า มนุษย์เราทำได้ไม่ดีนัก) อย่าง behavioral economics หรือ game theory

    อยากฟังความเห็นของคุณหมอก๊อบในฐานะที่มีความรู้ เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ

    ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

    พี่จิ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณพี่จิที่ให้เกียรติเข้ามา comment ครับ

      สมองมนุษย์ผ่านการวิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตก่อนหน้านี้อย่างที่พี่จิว่าครับ มีตั้งแต่ reptile brain, mammalian brain, ape brain และล่าสุดที่มนุษย์มีคือ frontal lobe

      Danial Kanehman นักจิตวิทยารางวัลโนเบลได้กล่าวไว้ในหนังสือ Thinking fast and slow ว่า สมองคนเราทำงาน 2 ระบบไปพร้อมๆกัน System 1 จะรวดเร็ว ชอบใช้ intuition ชอบเชื่อมโยง ชอบเปรียบเทียบ ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ เป็นที่มาของการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลได้บ่อยๆ

      ส่วน System 2 จะช้า ต้องใช้สมาธิและตั้งใจพอสมควร แน่นอนการใช้ system 2 เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลกว่า

      แต่ system 1 ที่ถูกคดเลือกมาเพื่อให้คนอยู่รอด เพราะในเวลาเผชิญอันตรายต้องรีบตัดสินใจ เช่น สิงโตมา ต้องรีบหนี มนุษย์ที่ใช้แต่ system 2 คอยไปประเมินช้าๆก็ไม่รอดมาถึงทุกวันนี้

      ทำให้ในตลาดหุ้น...เราจึงเห็น emotion จึงส่งผลต่อราคาหุ้น เนื่องจากนักลงทุนใช้ system 1 นั่นเองครับ

      :D

      ลบ
  5. สุดยอดดดดด คิดถึงเรื่อง Creative Destruction ในตลาดหุ้นขึ้นมาในทันทีเลยครับ เรื่องนี้จริงแอบเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องของหุ้นนำตลาดในวัฐจักรต่างๆและค่าความแข็งแกร่งสัมพันธ์ด้วยนะครับ สนุกจริงๆ :D

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดีใจที่น้องมดได้ไอเดียจากบทความนี้ครับ :D

      คิดต่อยอดได้อย่างไร ...อย่าลืมเล่าให้พี่ฟังด้วยนะ

      ลบ
  6. เห็นตัวเลยครับเหมือนทุกอย่างเป็นเช่นนั้นไม่มีการวิวัฒนาการก็ต้องตายหรือล้มหายไป บริษัทหลายบริษัทที่อายุหลายสิบปีก็เลือกที่จะแตกหน่อ เพื่อสู้กับการปรับตัว ประมาณว่าแตกเพื่อโต คล้ายๆต้นไผ่ที่เมื่อต้นสูงขึ้น หลายต้นรวมกันเป็นกอก็จะแข็งแรงกว่า ต้นใหญ่และสูงตระหง่าน แต่เมื่อพายุมาก็มีโอกาสหักโค่นลงได้ทุกเมื่อ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คุณ Chaipat เจ้าของเพจ cway-investment หรือเปล่าครับ?

      ขอบคุณมากที่เข้ามาเยี่ยมชม blog ผม ผมเคยเข้าไปอ่านบทความของ cway-investment หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะอ่านแต่แนวปัจจัยพื้นฐานน่ะครับ (ผมไม่รู้เรื่องเทคนิคอลเลย แต่ชอบอ่านแมงเม่าคลับของคุณมดเพราะได้ไอเดียเรื่อง จิตวิทยาการลงทุน, money management, ไอเดียการใช้เทคนิคคอลแบบง่ายๆไปใช้ครับ) ผมขอนำ blog cway-investment ไปใส่ blog แนะนำนะครับ

      เห็นด้วยกับประเด็นเรื่องแตกหน่อครับ พอแตกหน่อเกิดความหลากหลายที่ส่งเสริมกัน ทำให้แต่ละหน่อแข็งแรงขึ้น เติบโตขึ้น ภาพรวมทั้งกอก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เจอสภาพแวดล้อมแบบไหนก็อยู่รอดได้มากขึ้น

      การควบรวมกิจการ การแตกบริษัทย่อยที่เติบโตสูงๆออกมา คงจะเป็นความพยายามของบริษัทต่างๆที่จะอยู่รอดให้ได้ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในระบบทุนนิยมครับ

      :D

      ลบ
  7. เนื้อหาในบล็อกน่าสนใจดีครับ มีความแตกต่างจากบทความทั่วไป

    -สุมาอี้

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณมากครับพี่สุมาอี้ idol การลงทุนที่ผมนับถือ

      เพราะพี่...ผมถึงมีวันนี้ครับ -/\-

      ลบ
  8. การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องตายจากไปเป็นธรรมดา IEC ก่อตั้งมาตั้งแต่ 2465 ตอนนี้ก็ยังอยู่แต่วิวัฒนาการเป็นอะไรก็ไม่รู้ 555

    ตอบลบ
  9. ขอบคุณสำหรับบทความน่าสนใจมากครับ พี่หมอก๊อบนี่เป็นสุดยอดนักคิดจริงๆ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น