วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

รถยนต์










บทความนี้จะพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องการขนส่ง (transportation) เน้นเรื่องรถยนต์เป็นหลัก  มุมมองต่อรถยนต์ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่ง  การเลือกซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า  ความเข้าใจอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งที่นำไปสู่การลงทุนในหุ้นเติบโตที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางทุกวันนี้แม้ว่าจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เครื่องบิน (กรณีรถเมล์แดง รถไฟผมขอไม่นับเพราะถือว่ายังอันตรายและไม่ได้มาตราฐานสำหรับเมืองไทย  สังเกตได้จากข่าวอุบัติเหตุที่สื่อนำเสนอบ่อยๆ)  ผู้คนโดยเฉพาะในเมืองหลวงหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตราฐานมากขึ้นเช่น รถไฟฟ้า เพราะประหยัดและเดินทางสะดวกกว่า  แต่สำหรับคนที่มีครอบครัว คนที่เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ การมีรถยนต์เป็นของตัวเองอาจจะสะดวกกว่าและเป็นอิสระกว่าการใช้ขนส่งมวลชนไปเรื่อยๆ  ยังไม่รวมถึงคนที่ต้องการมีรถยนต์เพื่อความโก้หรูให้ผู้คนชื่นชม  ดังนั้นการซื้อรถยนต์จึงเป็นความต้องการที่ไม่เคยหมดไป  แม้ว่าความต้องการจะดูมีวัฏจักรการขึ้นลงตามรอบเศรษฐกิจ  ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีคนที่มีความต้องการรถจะชะลอการซื้อรถออกไปก่อน  เมื่อเศรษฐกิจดีผู้คนมั่นใจในความมั่นคงของงานและรายได้ของตนเอง การจับจ่ายใช้สอยในสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์จะเริ่มตามมา

ผมเองไม่เคยซื้อรถยนต์เลยตั้งแต่เริ่มทำงาน  โดยผมใช้การบริการขนส่งมวลชนมาตลอด เช่น เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟฟ้า  นั่นทำให้ผมเก็บเงินได้  แทนที่ผมจะเอาไปซื้อรถและต้องมีหนี้สินในการผ่อนรถยนต์  ผมได้มีเงินออมไปลงทุน...ซึ่งการลงทุนช่วงแรกของการทำงานจะเป็นการลงทุนในเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น  ...การออมทำให้ผมมีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุนเมื่อตลาดหุ้นตกอย่างหนักปี 2008 แม้ว่าจะยังไม่มีความพร้อมเรื่องความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนก็ตาม

ปัจจัยเรื่องการไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ด้วยเงินผ่อนตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงานและนำเงินที่ได้จากการทำงานมาเก็บออมน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ระดับสินทรัพย์ของผมต่างจากคนทั่วไปที่อายุพอๆกัน และเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันที่ทำงานพร้อมๆกัน  เพราะผมแทบไม่มีแต้มต่อคนอื่นในเรื่องของรายได้เลย  รายได้เท่าคนอื่นหรือน้อยกว่าด้วยซ้ำ  ผมไม่ได้ทำงานพิเศษ  ผมไม่ได้มีอาชีพเสริม  ผมทำงานรับราชการธรรมดาๆ  ... สิ่งที่แตกต่างคือรายจ่าย  ผมประหยัดมากกว่าคนอื่น


รถยนต์ในมุมมองของความอุปสรรคต่อความมั่งคั่ง

หลายคนตั้งแต่เริ่มทำงาน  พอได้เงินเดือนเดือนแรกจะรีบเอาไปซื้อของที่อยากได้มานานทันที  เช่น รถยนต์  การที่ไม่มีเงินก้อนตั้งแต่แรกจึงต้องใช้วิธีการผ่อนชำระ  ทำให้เกิดหนี้สิน  ซึ่งหมายถึงการดึงเงินสดออกไป  ดังนี้  1. ค่าเสียโอกาสเอาเงินก้อนนั้นไปทำให้ผลตอบแทนงอกเงย  เช่น  การซื้อพันธบัตรที่ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน  2. ค่าเสื่อมราคา  รถยนต์ซื้อมาราคาจะตกลงทันทีตั้งแต่ถอยจากโชว์รูม  รถยนต์จึงไม่ใช่การลงทุนเหมือนการซื้อที่ดิน ทองคำ นาฬิกายี่ห้อดัง ...ที่มูลค่าสามารถเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป  3. ค่าน้ำมัน ยิ่งยุคนี้น้ำมันแพงมาก  ทำให้การขับรถมีต้นทุนค่าน้ำมันแพง  4. การซื้อประกันภัยรถยนต์ที่ต้องซื้อและจ่ายเบี้ยประกันตามกฏหมาย  เป็นต้น

รถยนต์ในมุมมองของมูลค่าความโก้หรู?

หลายคนชอบคิดว่าคนรวยจะต้องใช้รถราคาแพง  เพื่อให้ดูดีมีฐานะ  แม้ไม่ได้รวยก็พยายามซื้อรถราคาแพงเพื่อให้ตนเองดูมีฐานะ  ผู้คนจะได้ยกย่องนับถือ  จะได้จีบสาวติดง่ายขึ้น  (ซึ่ง 2 ประเด็นนี้ผมแย้งได้ว่า  การถูกยกย่องที่สิ่งของภายนอกนั้นจอมปลอมมาก  ส่วนผู้หญิงที่มองแต่สินทรัพย์ภายนอกนั้นยิ่งไม่น่าสนใจ - มุมมองของผมนะครับ)  แต่หลายคนอาจจะซื้อรถยนต์ราคาแพงมาด้วยเงินผ่อน  หรืออาจจะซื้อเป็นรถมือสอง  ขอแค่ให้ได้ชื่อว่าขับ Benz  BMW  ผ่อนไปซักพักก็ต้องเลิกผ่อนเพราะผ่อนไม่ไหว  คนที่เห็นภายนอกอาจจะแยกยากว่า...นี่คือเศรษฐีตัวจริงหรือตัวปลอมกันแน่  มีแต่คนที่ใช้เท่านั้นที่รู้ตัวเองดีที่สุด

มหาเศรษฐี"ตัวจริง"นั้นไม่จำเป็นต้องขับรถยนต์หรูๆ  พวก Benz  BMW หรือพวก  Super car แต่อย่างใด ...อย่าง Sam Walton อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ขับรถปิคอัพไหนมาไหนเอง  ทั้งที่คนส่วนใหญ่มองว่าถปิคอัพเป็นรถของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน  ปู่ Warren Buffet มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน  ยังใช้รถยนต์ Cadillac คันเก่าขับไปไหนมาไหนด้วยตนเอง

คนรวย-ไม่รวย  วัดจากขนาดสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสด (ด้านการเงิน)  หรือยิ่งกว่านั้นวัดจากขนาดน้ำใจที่เขามอบให้กับครอบครัว คนรอบข้างและสังคม (ด้านจิตใจ)

รถยนต์ในมุมมองของค่าเสียโอกาส

การใช้เงินออมไปซื้อรถยนต์ที่นับวันจะเสื่อมค่าไปตามเวลานั้น  ทำให้เสียโอกาสที่จะเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนเพื่อให้ใด้ผลตอบแทนงอกเงย  เช่น  นาย A  อยากได้รถยนต์ราคา 1 ล้านบาท  จะดาวน์และผ่อนรถต้องใช้ความพยายามทำงานนอกเวลามากขึ้นเพื่อหาเงินเพิ่ม  กู้แบงค์ตามระบบ  รวมถึงอาจจะกู้เงินนอกระบบ  เพื่อให้ได้รถราคา 1 ล้านบาทซึ่งในอีก 10 ข้างหน้าอาจจะเหลือราคาแค่  200,000 บาท  เงินหายไป  800,000 บาท  ไม่รวมรายจ่ายที่พ่วงมาด้วย...เช่น  ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ นอกระบบ  ไม่รวมค่าประกันภัย  ค่าน้ำมันในช่วงที่ใช้งาน  .... ส่วนนาย B ไม่ใช้รถยนต์  โหนรถเมล์  รถไฟฟ้าแล้วเอาเงินมาลงทุนในกองทุนที่ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย  10% ต่อปี  พอร์ต 1 ล้านในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเท่ากับ 2 ล้าน 6 แสนบาท  และมูลค่ามากกว่าเอาเงินไปซื้อรถยนต์ถึง ( 2 ล้าน 6 แสน - 2 แสนบาท = ) 2 ล้าน 4 แสนบาท  ในช่วงเวลา 10 ปี นั่นคือมูลค่าของการใช้รถยนต์  ค่าเสียโอกาสในการเองเงินไปลงทุนให้งอกเงย

แต่แน่นอนว่าความจำเป็นต่อการใช้รถยนต์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน  แม้ว่าจะตัดประเด็นเรื่องความโก้หรูออกไปแล้ว  ยังมีคนที่จำเป็นจะต้องใช้รถยนต์จริงๆ

บางคนจำเป็นต้องใช้รถยนต์เพราะอยู่ในที่ที่การขนส่งมวลชนไม่ดี เช่น ต่างจังหวัดไกลๆ,  เพราะมีลูกผู้หญิงในโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายรอบตัว  ต้องขับรถส่งลูกไปเรียน, เพราะต้องการความเป็นส่วนตัวให้ครอบครัว, หรือเพราะต้องทำงานด้านการขนส่งหรือต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ

และอีกหลายๆเหตุผลที่ทำให้รถยนต์ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องไปยังอนาคต 

ถ้าเราหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่ต้องใช้รถยนต์ไม่ได้แม้ว่าจะรู้ว่ารถยนต์เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ต่อความมั่งคั่งและการลงทุนในช่วงเริ่มต้นที่พอร์ตเรายังไม่ใหญ่เราจะทำอย่างไรดี?

การเลือกซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า

ผมคิดว่าการซื้อรถยนต์ที่ไม่แพงน่าจะเป็นคำตอบ  เช่น  รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมัน  ช่วงนี้ผมเองวางแผนจะซื้อรถคันแรกหลังจากที่ทำงานมานาน 7 ปี  รถคันแรกที่จะซื้อคือ  ECO Car  (ตอนนี้ดู Mirage อยู่ครับ)  ที่ซื้อ ECO Car เพราะว่า

1. ประหยัดน้ำมันมากกว่า...จะลดรายจ่ายเรื่องค่าน้ำมันลงได้มากกว่ารถใหญ่ราคาแพง

2. การซื้อรถที่ราคาไม่แพงจะให้ให้ต้นทุนตั้งต้นที่คิดค่าเสื่อมราคาน้อยลงไปอีก
ผมจะแสดงการคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง (Straight line method)  โดยมีวิธีการคิดดังนี้

สมมุติแทนค่าเหล่านี้ลงในสูตรการคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง
ค่าเสื่อมราคา (Depreciation expenses) ต่อปี  =  D
ราคาทุนของรถยนต์ที่เราซื้อมา (Cost)  =  C
อายุการใช้งาน  (Time)  =  T
ราคาซาก (Salvage value)  =  S  (ราคาที่ขายรถยนต์โดยหมดอายุการใช้งาน  หรืออาจจะคิดเป็นราคาขายรถยนต์มือสองเมื่อเวลาผ่านไป T ปี)

สูตร  D  =  (C - S)/T

(หมายเหตุ - สามารถนำสูตรการคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรงนี้ไปใช้คิดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ของบริษัท เช่น เครื่องจักร อาคารสิ่งก่อสร้างได้ด้วยนะครับ  แต่สินทรัพย์บางอย่างจะไม่มีการหักค่าเสื่อม เช่น ที่ดิน  เป็นต้นครับ  ไว้ผมจะเขียนอีกทีในบทความที่เกี่ยวข้องกับการประเมินงบการเงินครับ)

ผมขอแบ่งเป็น 2 กรณีนะครับ  (ตัวเลขสมมุติทั้งหมดนะครับ)

ถ้าเราซื้อรถราคา 5 ล้าน  อายุการใช้งาน 5 ปี  ราคามือสอง  1,000,000 บาท  ค่าเสื่อมราคาต่อปีคือ  800,000 บาทต่อปี

แต่ถ้าเราซื้อรถราคา 500,000 บาท อายุการใช้งาน 5 ปี ราคามือสอง  100,000 บาท  ค่าเสื่อมราคาต่อปีคือ 80,000 บาทต่อปี

จะเห็นได้ว่าราคารถยนต์ที่เราซื้อมายิ่งแพงยิ่งเพิ่มค่าเสื่อมราคาซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นเป็นมูลค่ามาก  ซึ่งถ้าเราซื้อรถยนต์ที่ราคาไม่แพง  เราสามารถนำเงินออมที่เหลือไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนงอกเงยได้อีกด้วยครับ

3. ช่วงนี้รถยนต์ขนาดเล็กได้รับการลดหย่อนภาษีจากนโยบายรัฐบาล  ราคายิ่งถูกลงไปอีก

ส่วนเรื่องการซื้อรถยนต์ใช้เงินสดหรือเงินผ่อนดี?  โดยส่วนตัวผมชอบซื้อเงินสดและผมมองว่าการซื้อของฟุ่มเฟือยควรซื้อด้วยเงินจำนวนที่น้อยกว่า 3-5% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ (อาจจะใช้ตัวเลข 10%) เพื่อไม่ให้กระทบต่อพอร์ตการลงทุนโดยรวมครับ  แต่การใช้เงินกู้ซื้อรถยนต์อาจจะกระทำได้ถ้าพิจารณาว่าเอาเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่าที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารครับ  แต่นิสัยผมไม่ชอบเป็นหนี้เลยไม่ซื้อของเงินผ่อนเลยครับ

พฤติกรรมผู้บริโภคในการเดินทางและการขนส่ง

การเดินทางและการขนส่งจะใช้ 3 ทางหลักคือ ทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ยานพาหนะที่ใช้คือ รถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน  ในภาพรวมของประเทศไทยใช้รถยนต์เป็นหลักในการเดินทางและการขนส่งภายในประเทศ

การเดินทางทางบก - เนื่องจากรถไฟค่อนข้างล้าหลังเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  ซึ่งในต่างประเทศจะใช้รถไฟเป็นหลักในการขนส่งสินค้าและเดินทางโดยเฉพาะช่วงที่ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและพื้นที่แต่ละเมืองห่างไกลกันมาก  เช่น  อเมริกา หรือออสเตรเลีย  ทำให้ประเทศไทยมีการเดินทางในประเทศจำกัดที่การใช้รถยนต์  ผู้คนเดินทางข้ามจังหวัด..ข้ามภาคโดยใช้รถทัวร์  บริษัทเดินรถเกิดขึ้นมากมายเพื่อนำผู้โดยสารเดินทางระหว่างจังหวัด  หลายบริษัทมีการเติบโตสูง  เช่น  นครชัยแอร์  และมีการสร้างถนนมากมายมารองรับความต้องการการใช้รถยนต์ที่ดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ  เช่น ถนนเพิ่มจาก 2 เลนสวนกันเป็นถนน 4 เลน  รวมถึงการซ่อมถนนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการขนส่งสินค้าหนักมากจนถนนที่ไม่ค่อยมีคุณภาพรับไม่ไหว

การเดินทางทางอากาศ - ประเทศไทยเริ่มมีสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาให้บริการขนส่งผู้โดยสารข้ามจังหวัด..ข้ามภาค  แม้ว่าระยะทางระหว่างจังหวัดถ้าประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาไม่นาน  แต่ประเทศไทยมีรถยนต์เป็นหลักทำให้การเดินทางข้ามภาคใช้เวลานาน  การเดินทางอากาศที่รวดเร็วจึงเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

การเดินทางทางน้ำ - ประเทศไทยเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบสูงมีพื้นที่ติดชายทะเล  ดังนั้นการเดินทางโดยสารและขนส่งทางเรือจะเป็นการเดินทางขนส่งระหว่างประเทศ  ไม่ค่อยมีการเดินทางและขนส่งภายในประเทศมากนัก  ยกเว้นบางจังหวัดที่มีแม่น้ำสายยาวๆพาดผ่านอาจจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดทางเรือบ้าง

ผมจะลองแบ่งพฤติกรรมผู้บริโภคตามพื้นที่ดังนี้

- ในเมืองหลวง ... ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะใช้รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว  เนื่องจากรถติดมาก...คนเมืองมีทางเลือกที่สะดวกรวดเร็วกว่าจากการใช้รถไฟฟ้า  ทำให้ประหยัดเวลาไปทำงานหรือไปทำอย่างอื่นได้อีกมาก  รวมถึงค่าน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้คนเมืองหันมาใช้ขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อประหยัดรายจ่าย  บางคนที่ใช้รถยนต์อาจจะหันมาใช้พลังงานอื่นๆเช่น  ติดแก๊ส NGV LPG เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
- ต่างจังหวัด ... ผู้คนส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าเนื่องจากระบบขนส่งมวลชนไม่ดีนัก  คนส่วนใหญ่ถ้าซื้อรถยนต์ได้มักจะเลือกซื้อรถยนต์มากกว่าที่จะเดินทางโดยใช้รถเมล์หรือรถสองแถวทุกวัน

สรุปว่า... 1. คนจะหันมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กประหยัดน้ำมันมากขึ้น  รถยนต์กลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโต  เพราะน้ำมันแพงมาก  2. อุตสาหกรรมการบินในประเทศมีแนวโน้มเติบโต  เพราะผู้โดยสารต้องการความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด  3. รถไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ผู้โดยสารจะมากขึ้น  มีแนวโน้มเติบโตขึ้น  เพราะมีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคประหยัดเวลาที่ต้องไปรถติดบนถนน  และประหยัดค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายหากว่าใช้รถส่วนตัว  4. อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเติบโตขึ้น  จากการที่น้ำมันแพงขึ้น

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์

หลังจากการมองภาพรวมของอุตสาหกรรมการขนส่ง  ถ้านักลงทุนสนใจอุตสาหกรรมรถยนต์  ต้องไปตรวจสอบดูว่าขณะนี้การใช้รถยนต์ยังเป็นวัฎจักรขาขึ้นอยู่หรือไม่  และรถยนต์กลุ่มใดที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 

ขาขึ้นเมื่อใหร่...ดูอย่างไร?

มองจากเรื่อง Demand - Supply เป็นหลัก  ความต้องการซื้อรถจะมาเมื่อ  1.คนที่ยังไม่เคยซื้อรถยนต์มาก่อนต้องการซื้อรถใหม่  เช่น  คนกำลังมีครอบครัว  คนวัยทำงานเริ่มมีเงินเก็บ  2.คนที่มีรถแล้วอยากเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่  ขึ้นอยู่กับรอบว่าคนส่วนใหญ่ใช้รถเป็นเวลากี่ปี  ผมคิดว่าน่าจะประมาณ 5 ปีขึ้นไป แล้วจึงซื้อรถใหม่  3.คนมั่นใจในรายได้อนาคตของตนเอง  พร้อมที่จะมีหนี้สินการผ่อนรถยนต์  โดยมากจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูรุ่งเรือง  (อาจจะลองอ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง  "สินค้าโภคภัณฑ์"  เพื่อความเข้าในในเรื่องวัฎจักรครับ)

เวลาผมมองหาหุ้นเติบโต...ผมจะมองเป็นระบบ (Systemic approach)  ไม่ใช่มองแค่สิ่งที่เราสนใจ...แต่มองเห็นความความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  เพื่อหาหุ้นเติบโตจากแนวโน้มของพฤติกรรมมนุษย์

ถ้ามองจากพฤติกรรมของการใช้รถยนต์จะมองอุตสาหกรรมได้ดังนี้  (ทั้งหมดเป็นการตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าคนมีแนวโน้มใช้รถยนต์สูงขึ้น  ถ้าเป็นในช่วงขาลงจะต่างออกไปจากนี้ครับ)

1. บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
หลายบริษัทรถยนต์ outsource การผลิตออกไปเพื่อลดต้นทุน  ลดค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องจักร,คนงาน  บริษัทผลิตชิ้นส่วนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง  เช่น  สินค้าชิ้นส่วนมีการผลิตที่มีคุณภาพ  มีการบริหารต้นทุนให้ต่ำ  จะได้รับงานจากหลายบริษัทรถยนต์  ทำให้เติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม

2. บริษัทที่เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายรถยนต์
เป็นการขายสู่มือผู้ใช้รถยนต์โดยตรง  ดังนั้น brand และรุ่นของรถจะมีความสำคัญ  ถ้ามีรถรุ่นที่ได้รับความนิยมมากๆและเป็นรายได้ของบริษัทรถยนต์  จะทำให้เติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมโดยรวมได้

3. ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ (Leasing)
ผู้ซื้อรถเป็นผู้ขอสินเชื่อซึ่งจะขอมากขึ้นตามวัฎจักขาขึ้นของเศรษฐกิจและรถยนต์  มักจะแข่งขันด้วยดอกเบี้ยเป็นหลัก  ใครดอกเบี้ยถูกจะได้ลูกค้ามากกว่า  กำไรขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนให้ต่ำ  บริหารหนี้เสียให้น้อยลง  ถ้าดอกเบี้ยนโยบายต่ำต้นทุนการเงินยิ่งลดลง

4. ธุรกิจที่ให้บริการรถยนต์  เช่น อู่ซ่อมรถ  อู่แต่งรถ
โดยทั่วไปบริษัทรถยนต์จะมีศูนย์บริการอยู่แล้ว  แต่อย่างไรก็ตามการที่รถยนต์มีมากขึ้น  ย่อมทำให้บริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์มากขึ้นเช่นกัน

5. ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์  ทั้งพลังงานหลักและพลังงานทางเลือกราคาถูก
รถยนต์ต้องมีเชื้อเพลิงถึงวิ่งได้  ถ้าไม่มีเชื้อเพลิงย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะใช้รถยนต์  ถ้ารถยนต์มากขึ้นแนวโน้มความต้องการใช้เชื้อเพลิงย่อมมากขึ้นเช่นกัน  และยิ่งเชื้อเพลิงใช้แล้วหมดไปยิ่งทำให้รายได้ค่อนข้างมั่นคงสม่ำเสมอ  แต่มีความเสี่ยงเรื่องพลังงานทดแทน...ซึ่งมีการใช้ก๊าซทั้ง  NGV  LPG มากขึ้นเพราะน้ำมันราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ  ถ้ามีพลังงานใหม่ที่มาทดแทนน้ำมันได้จะทำให้คนไม่ต้องการน้ำมันสำหรับรถยนต์อีกต่อไป  แต่กว่าเทคโนโลยีระดับนั้นมาถึงอาจจะใช้เวลานาน  รวมถึงเครื่องยนต์ของรถยนต์และโรงงานจะต้องมีการออกแบบใหม่หมดเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้พลังงานใหม่  ดังนั้นจึงมีแรงเสียดทานพอสมควรสำหรับพลังงานทดแทน  แต่ราคาน้ำมันและปริมาณน้ำมันที่น้อยลงๆจะเป็นตัวผลักดันพลังานทดแทนให้เกิดขึ้น

6. ธุรกิจขนส่งที่มาทนแทนการใช้รถยนต์
การใช้รถไฟฟ้าและเครื่องบินมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ  (พูดไปบ้างแล้ว)

7. ธุรกิจประกันภัยรถยนต์
กฎหมายบังคับให้มีการทำประกันภัย  ดังนั้นยิ่งมีรถมากขึ้น  รายได้ของอุตสาหกรรมประกันภัยยิ่งสูงขึ้น

8. ธุรกิจซื้อขายรถมือสอง
รถยนต์ใหม่ที่ออกมาเมื่อเวลาผ่านไปจะเก่าลง  และเป็นทางเลือกของคนที่รายได้ไม่พอซื้อรถมือหนึ่ง  บริษัทรถยนต์เริ่มมีการรับซื้อคืนรถยนต์มือสองของบริษัทตนเองเพื่อขายต่อ  เช่น  โตโยต้ายูสคาร์  เป็นต้น  อย่างไรก็ตามคนมีแนวโน้มจะซื้อรถมือหนึ่งที่ราคาไม่แพง  เช่น  อีโคคาร์ เช่นกัน

9. บริษัททำถนน/ซ่อมถนน
ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นย่อมนำมาซึ่งความต้องการถนนที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนถนนและขนาดถนน  รวมไปถึงการขยายตัวของเมืองในต่างจังหวัด  บริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือบริษัทที่ทำวัสดุที่ใช้ในการทำถนนย่อมมีรายได้ที่มากขึ้น

การมองอุตสาหกรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ...ต้องมองหาบริษัทหรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมด้วยครับ

ทั้งหมดนี้เป็นการแชร์แนวคิดของผมจากเหตุการณ์หนึ่งๆซึ่งสามารถคิดเชื่อมโยงไปได้มากมายทั้งในมุมมองของนักลงทุน  ทั้งการมองอุตสาหกรรมและการเลือกลงทุนในหุ้นเติบโตที่เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์ที่ว่าคือ...

7 ปีผ่านไปตั้งแต่เริ่มทำงาน  ในที่สุดผมจะได้ซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิตเสียที ... รถนั้นคือ  Mitsubishi Mirage ครับ

17 ความคิดเห็น:

  1. ยินดีด้วยครับ พอร์ตโตขนาดนี้ไม่ใช้เรายี่ห้อดังๆ สมแล้วที่เป็น truly value investor

    ตอบลบ
  2. ดร.นิเวศน์ รวยเป็นพันล้านยังซื้อวีออสขับเอง จะแปลกอะไรถ้าหมอก๊อบจะซื้ออีโคคาร์คุ้มๆ ซักคัน จริงมั๊ยครับ ;)

    ว่าแต่ถ้าซื้อมิตซูฯ ผมแนะให้พยายามเลี่ยงโชว์รูมศรีนครินทร์นะครับ เคยผ่านตอนประชุมผู้ถือหุ้นแถวๆ นั้นเลยแวะเข้าไปดู รู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นมืออาชีพ พอมาเสิร์ชในเน็ตก็เลยถึงบางอ้อ... แต่ถ้าพูดถึงตัวรถก็โอเคเลยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณคุณ Antonio ครับ

      ผมจองรถกับ Mitsu สาขาอุดรธานีน่ะครับ ...หลังจากเดือนมิ.ย.ผมจะย้ายไปอยู่อุดรธานียาวเลยครับ :D

      ลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ6 พฤษภาคม 2555 เวลา 10:01

    เป็นบทความที่ดีมากครับ

    ผมอยู่จ.อุดรครับ ไม่ทราบว่าคุณก๊อปย้ายมาทำงานที่นี่ หน่วยงานไหนอะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ

      ผมจะไปทำงานที่รพ.อุดรฯ ครับ (เริ่มเดือนก.ค.นี้)

      :D

      ลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ8 กรกฎาคม 2555 เวลา 18:34

    สวัสดีคะหมอ gob ติดตามอ่านมาหลายเดือนแล้ว
    ชอบบทความของหมอคะ อ่านได้ไม่เบื่อ เรียบง่าย เห็นภาพได้ชัดเจนดี
    ป.ล.ว่าแต่เมื่อมีรถก้ต้องมีโอกาสไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น แล้วหุ้นภัตตาคารน่าจะเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้มั้ยคะ ^__^

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ :D

      "ป.ล.ว่าแต่เมื่อมีรถก้ต้องมีโอกาสไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น แล้วหุ้นภัตตาคารน่าจะเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้มั้ยคะ ^__^"

      มองในมุมนี้ผมว่าเกี่ยวเลยนะครับ การมีระบบขนส่งที่ดี (Transportation) รวมถึงรถยนต์ ... ทำให้คนออกจากบ้านไปหาสิ่งที่ต้องการได้สะดวกขึ้น เช่น ไปเที่ยว ไปทานอาหารนอกบ้าน ไปเรียน ไปทำงาน เป็นต้น ... ดังนั้นการมีระบบขนส่งที่ดีทำให้ Demand ที่เหลือเข้าหาแหล่ง Supply ได้ง่ายขึ้นครับ อีกทั้ง Supply ก็เข้าหา Demand ได้เช่นกันครับ (เช่น อาหาร Delivery ครับ)

      ลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ11 สิงหาคม 2555 เวลา 16:56

    มั่งคั่งแบบพอเพียง ชื่นชมจริงๆค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ29 สิงหาคม 2555 เวลา 09:32

    เพิ่งมาอ่านงานคุณหมอ---ชอบมากครับ
    ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอเขียนงานดีๆออกมาเรื่อยๆ
    ขอบคุณครับ ^^

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ8 ตุลาคม 2555 เวลา 19:29

    อยากทราบว่าที่อุดร ระหว่างคอนโดกับบ้านเดี่ยวถ้าซื้อไว้ลงทุน อันไหนดีครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมว่าบ้านเดี่ยวน่าจะดีกว่าครับ เพราะบ้านเดี่ยวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย อีกทั้งราคาที่ดินอุดรสูงขึ้นเรื่อยๆครับ คอนโดก็น่าสนใจครับแต่อาจจะต้องเลือกทำเลที่ดีหน่อยครับ :D

      ลบ
  8. สวัสดีครับ บทความมีประโยนช์มากครับ
    ผมเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ทำงานอยู่อุดรมาปีนี้ก็จะ 3 ปีแล้ว
    ผมกำลังจะเป็นน้องใหม่ของแวดวงนี้(หุ้น VI)กำลังคิดลงทุนในหุ้นอ่านมาหลายบทความ ซื้อหนังสือมาอ่านบ้าง(ยังไม่จบซักเล่ม หนึ่งในนั้นแน่นอน "ตีแตก" ของ ดร.นิเวศน์)พอดีมาเจอบทความของคุณหมอเข้า ผมว่าคุณหมอใจกว้างมากและต้องการถ่ายทอดประสบการณ์การลงทุน ให้แก่คนที่สนใจและกำลังเริ่มต้นไม่ต้องหลงทางเสียเวลา ยังไงก็ขอขอบคุณมากแล้วกันครับมันมีประโยนช์กับผมมากๆซักวัน พอร์ต ของผมคงจะโตเหมือนคุณหมอบ้างนะครับ

    ตอบลบ
  9. บทความดีมากๆครับ ตอนแรกว่าจะซื้อรถใหม่ มาเจอบทความนี้พอดี ตอนนี้บรรลุเลย ว่ายังไม่ควรซื้อ เอาเงินไปลงทุนก่อนดีกว่า

    ตอบลบ
  10. อ่านบทความนี้แล้วรู้ซึ้งเลยค่ะ ว่าการนำเงินไปใช้ประโยชน์นั้นป็นเช่นไร

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น