วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุน

มนุษย์ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ล้วนมีความเชื่อ  บ้างก็เชื่อในศาสนา  บ้างเชื่อในพระเจ้า  บ้างเชื่อในแนวคิดอะไรบางอย่าง...  บางทีความเชื่ออาจจะได้รับการคัดเลือกมาตามหลัก Natural selection เนื่องจากมีประโยชน์ในการอยู่รอดและขยายเผ่าพันธุ์  แต่นั่นก็เป็นเพียงสมมุติฐาน

ความเชื่อ...หลายๆครั้ง  ความเชื่อนั้นอาจจะไม่มีเหตุผลรองรับ  ไม่มีหลักฐาน  หลายๆครั้งความเชื่อก็พาเราเข้าสู่ความงมงาย  ไร้ซึ่งปัญญา

แต่หลายๆครั้งความเชื่อก็มีประโยชน์  เช่น  ความเชื่อในการทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่วในลักษณะผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจริงๆในอนาคตไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ทางใจ  เราไม่สามารถพิสูจน์เป็นตัวเลขที่ชัดเจนหรือความความสัมพันธ์เชิงเส้นได้เลย  แต่ความเชื่อนี้ทำให้ชีวิตของผู้ที่เชื่อและปฎิบัติตามเป็นคนดี  ไม่ทำความชั่ว  สังคมก็มีแต่ความสุข

(ส่วนตัวผมเชื่อเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วในผลลัพธ์ทางจิตใจ  เพราะเห็นชัดเจนขณะที่ทำทันที  และเห็นผลดีต่อผู้รับอย่างชัดเจน  คนอื่นจะยกย่องหรือไม่...ไม่สำคัญ  ส่วนผลลัพธ์ต่อตัวเราในเชิงรูปธรรมในอนาคตผมไม่ทราบจริงๆ  แต่เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอที่จะเชื่อแล้ว)

ความเชื่อว่าชีวิตต้องดีขึ้นอาจจะพาเราผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายได้  แม้ว่าจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร   แต่คนที่เชื่อจะลุกขึ้นสู้แม้ว่าจะมองไม่เห็นทาง  สู้ไปสู้มาสถานการณ์เปลี่ยน...ชีวิตเลยดีขึ้นจริงๆ  คนที่ไม่มีความเชื่อก็ท้อแท้ตอนที่มองไม่เห็นทาง  สุดท้ายล้มเหลวไปจริงๆ

ความเชื่อในรักแท้อาจจะทำให้เรามองหารักแท้มากกว่าคนที่ไม่เชื่อ  แม้ว่าจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่คนที่เชื่ออาจจะมองหาคนที่ใช่  เปิดใจให้กับคนที่เข้ามาในชีวิต  พยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ทั้งๆที่สิ่งที่เราเชื่อจริงหรือเปล่า??  ไม่มีใครรู้ครับ

ความเชื่อ กับ ความจริง ... อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เมื่อมีข้อมูล, หลักฐาน, ความเชื่อได้รับการพิสูจน์  ความเชื่อจะไม่ใช่ความเชื่อจะกลายเป็นความจริงทันที  (ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ว่าความเชื่อถูกหรือผิดก็ตาม)  แต่ตราบใดที่เรายังไม่รู้  ความเชื่อจะยังคงเป็นความเชื่อต่อไป   

ในการลงทุนเราต้องแยกความเชื่อกับความจริง  ข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นให้ได้ (Fact vs Opinion)  ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่ในโลกของมายาที่เราสร้างขึ้นเองด้วยอคติ (Bias) ของเรา

เช่น...ถ้าเราเชื่อว่าหุ้น A จะเป็น super stock ตัวใหม่  เราจะต้องหาข้อมูลทั้งในด้านที่สนับสนุนและขัดแย้ง  แล้วนำมาวิเคราะห์ทั้งโอกาสและความเสี่ยง  รวมถึงให้คนอื่นช่วยประเมินเพื่อลดอคติของความชอบความชังของเราลงไป  เพื่อให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ในเรื่องของการลงทุนที่ไม่มีความแน่นอน  เป็นการมองไปยังอนาคตที่ไม่มีใครสักคนในโลกล่วงรู้  โลกของการลงทุนยิ่งเต็มไปด้วยความเชื่อมากมาย

“คุณมีความเชื่ออะไรในการลงทุน??”

ในโอกาสที่ผมลงทุนมากว่า 3 ปี  ผมขอแชร์ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุนนะครับ

ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุน

ผมเชื่อว่า...

1. ไม่มีแนวทางการลงทุนใดที่ดีที่สุด  มีแต่แนวทางที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด

- นักลงทุนหน้าใหม่หลายคนพยายามหาแนวทางการลงทุนที่ดีที่สุด  ได้กำไรแน่นอน  รวยเร็วที่สุด  ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง  สิ่งสำคัญคือ  รู้จักและเข้าใจตนเองก่อนลงทุน  หาแนวทางการลงทุนที่เข้ากับนิสัยเราให้เจอ  และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆในสายนั้น

ผมลงทุนตามแนวปัจจัยพื้นฐาน  และลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นหลัก

2. เมื่อเรามีแนวคิดการลงทุนที่ถูกต้อง...ผลตอบแทนจะตามมาเอง

- นักลงทุนหลายคนพยายามจะหาหุ้นเด็ดที่ให้ผลตอบแทนหลายเด้ง  อยากรวยเร็วๆ  โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการลงทุนที่ถูกต้อง  พวกเขาจึงพยายามจะหาหุ้นเด็ดๆ  อาจจะลอกเซียนบ้าง  เชื่อผู้บริหารจอมหลอกลวงบ้าง  สร้างเรื่องราวขึ้นมาในหัวขึ้นมาเองแล้วหลงเชื่อไปเองบ้าง  เพราะพวกเขามุ่งกับการหาชื่อหุ้น  จนไม่ได้พัฒนากระบวนการเลือกหุ้นอย่างเป็นระบบ  ไม่ได้มีแนวคิดเรื่อง Expect profit  ไม่ได้มีแนวคิด money management  ไม่ได้มีการตรวจสอบสมมุติฐานของตนเอง  ไม่ได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  ต่อให้พวกเขาที่กำไรจากหุ้นเด็ดบางครั้งแบบฟลุ๊กๆ...แต่พวกเขาไม่สามารถจะอยู่รอดในตลาดระยะยาวได้เลย

สุดท้ายคนที่มี mind set ที่ถูกต้อง  พอร์ตจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆในระยะยาวต่อให้พอร์ตเริ่มต้นจะเล็กแค่ไหนก็ตาม

3. ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพในระดับนึง  แต่ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์  ในระยะสั้นราคาหุ้นไปตามความเชื่อและอารมณ์ของคนส่วนใหญ่  ระยะยาวราคาไปตามปัจจัยพื้นฐาน

-  ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพทั้งหมด...แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อทั้งหมดเช่นกัน  เพราะการที่ผมเชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั่นคือการที่ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วตลาดจะมีประสิทธิภาพในระยะยาว  อย่าประมาทการให้มูลค่าของนายตลาด  ตลาดหุ้นตอบสนองกับข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว...การที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงอย่างรุนแรงอาจจะเกิดจากข้อมูลข่าวสารที่กระทบกับปัจจัยพื้นฐานอย่างมากที่นักลงทุนอย่างเราๆไม่ทราบก็เป็นได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าในระยะยสั้นตลาดหุ้นจะตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและแม่นยำในหุ้นทุกตัวเสมอไป  และเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวครับ

อย่าประมาทตลาดหุ้นและหมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเองดีกว่าครับ

4. หุ้น Growth stock ที่จะกลายแป็น Super stock ที่คนยังไม่เห็นคุณค่ายังมีอยู่เสมอไม่ว่าช่วงเวลาใดก็ตาม

- หน้าที่ของผมคือต้องหาหุ้น Super stock ให้เจอก่อนคนอื่นแล้วซื้อเก็บเอาไว้ในราคาที่มี MOS  ในระหว่างที่นักลงทุนหลายคนเฝ้าเสียดายที่ตกรถ Super stock หรือหุ้นยอดนิยมทั้งหลายที่ทุกคนเห็นคุณค่าไปแล้วและเอาแต่คร่ำครวญ  ผมจะไม่เสียเวลาไปคร่ำครวญ  ผมจะค้นหาต่อไป  เพราะผมเชื่อว่าไม่ว่าช่วงเวลาใหนก็ตามจะต้องมีหุ้น Super growth stock ที่ยังไม่มีใครเห็นคุณค่าเสมอ

5. การที่จะเป็นคนที่เห็น  Super growth stock ก่อนคนอื่น  ต้องมองให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ไม่มีใครเห็นให้เป็นนิสัย  ไม่เอาแต่เห่อยกย่องอะไรตามคนอื่นๆ  ไม่เอาคุณค่าที่คนอื่นตัดสินว่าคือทุกสิ่งทุกอย่าง

- คนที่ชอบดูถูกคนอื่นไม่มีทางเป็นเซียนหุ้นเติบโตได้  ผมเชื่ออย่างนั้น ...เพราะหุ้น Super growth stock ก่อนที่จะจรัสแสงได้ก็ต้องมีคนเคยมองข้ามมันมาก่อน  เราต้องเป็นคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่มี  เห็นคุณค่าของตนเอง  เห็นคุณค่าของคนที่รักเรา  เห็นคุณค่าของอุปสรรค  เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆให้เป็นนิสัย  เห็นคุณค่าแม้แต่สิ่งที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า

และในที่สุดเราจะเป็นคนที่มองทะลุเปลือกที่อาจจะไม่สวยงามในช่วงแรกเข้าไปสู่คุณค่าที่แท้จริงได้ก่อนใครๆครับ 

6. ไม่มีใครทำนายอนาคตได้  เพราะอนาคตไม่ใช่เหตุการณ์เดียวแต่อนาคตคือความเป็นไปได้หลายทาง  ต้องมองอนาคตด้วยสายตาของความน่าจะเป็น

แทบจะนับไม่ถ้วนเลยกับการทำนายอนาคตที่ผิดพลาดของเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายในวงการต่างๆ  เช่น  ในช่วงปี 2008 ที่ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 140 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล  เหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างออกมาทำนายว่าราคาน้ำมันจะวิ่งไปถึง 200 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรลแน่นอน  ปรากฎว่าในปีเดียวกันนี้ราคาน้ำมันลงไปเหลือ 30 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล 

ผมไม่เชื่อว่าอนาคตจะเป็นเหตุการณ์เดียวที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนทั้งในลักษณะของ"เหตุการณ์"ที่จะเกิดและ"เวลา"ที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น  เพราะมีปัจจัยมากมายในปัจจุบันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งที่เรารู้และไม่รู้  แม้ว่าบางครั้งเราจะมองปัจจัยเหล่านั้นในปัจจุบันว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม...

เมื่อเวลาผ่านไปเหตุการณ์ที่เราคาดในอนาคตอาจจะกลายเป็นปัจจุบันและอดีต  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้วและเป็นเหตุการณ์เดียวไม่ใช่ความน่าจะเป็นอีกต่อไป  ดังนั้นถ้าทายอนาคตถูกอย่าเพิ่งมั่นใจในตัวเองมากเกินไป  เราอาจจะแค่โชคดี

การเตรียมรับมือกับอนาคตไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามจึงมีความสำคัญกว่าการทำนายอนาคตครับ

(เรื่องการทำนายอนาคตเขียนได้เป็นอีกบทความได้เลยครับ)

7. Money management, Exit strategy, Discipline  มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า  Stock selection

- เมื่อผมเชื่อว่าผมไม่มีทางทำนายอนาคตได้  ผมจะเตรียมพร้อมรับมือทั้งด้านความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้น  โดยการสร้างระบบการลงทุนที่ผลตอบแทน Expected profit ของหุ้นแต่ละตัวและพอร์ตโดยรวมเป็นบวก  ทั้งกระบวนการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต  การมองทางหนีไว้ตั้งแต่ก่อนจะซื้อหุ้น  และการมีวินัยในการลงทุน

8. คนพัฒนาจิตใจจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด

- การมี  Psychological advantage มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า advantage ด้านอื่นๆ  ผมเห็นคนอ่านเกี่ยวกับ Psychology น้อยมาก  หนังสือจิตวิทยาการลงทุนก็ไม่ใช่หนังสือขายดี  ผมเข้าใจว่านักลงทุนไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้  แต่เรื่อง Psychology เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในความคิดผม  ยิ่งคนสนใจเรื่องนี้น้อยยิ่งทำให้ผมคิดว่าการมี Psychological advantage จะทำให้เราฝีมือสูงกว่านักลงทุนทั่วไปเพราะเป็นจุดที่เรา"แตกต่าง"   รวมถึงมีความสุขตลอดการลงทุนด้วยครับ

9. การที่จะประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นได้ต้องทุ่มเท  การที่จะทุ่มเทได้ต้องมีความรักในการลงทุน

- ถ้าเราเข้าตลาดหุ้นด้วยความโลภ อยากรวยเร็วๆ  โดยไม่ได้รู้สึกชอบการลงทุนเลย  เราจะไม่อยากเรียนรู้ไม่อยากพัฒนาตัวเอง  เวลาทั้งหมดที่เสียไปกับการลงทุนคือการเฝ้าหน้าจอดูราคาหุ้น การถามหาหุ้นเด็ดและการคร่ำครวญกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  เมื่อเวลาผ่านไปเราจะเสียเวลาไปเปล่าๆ  ยังไม่มีความสามารถในการลงทุนเหมือนเดิมและผลงานพอร์ตย่ำแย่ในระยะยาว

ถ้าไม่ชอบการลงทุนในหุ้น...ไม่คิดจะทุ่มเทกับมัน  ผมแนะนำว่าไปหาวิธีอื่นในการทำมาหากินดีกว่าครับ

....

ทั้งหมดคือความเชื่อของผมที่พอนึกออกครับ
เมื่อเราไม่สามารถล่วงรู้ได้ทุกสิ่ง...การมีความเชื่อในสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย...การมีศรัทธาในสิ่งที่ดีงามจะทำให้เรามุ่งหน้าไปได้แม้ว่าในวันนี้เราจะยังมองไม่เห็นทางก็ตามครับ

แล้วคุณล่ะ...มีความเชื่อเกี่ยวกับตลาดหุ้นและการลงทุนอย่างไร?
ลองถามตัวเองดูนะครับ  แล้วเราอาจจะเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดการลงทุนและสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จและล้มเหลวของเรา  โดยที่เราอาจจะไม่ทราบมาก่อนเลยก็เป็นได้...

:D

23 ความคิดเห็น:

  1. ความสำเร็จเริ่มต้นมาจากการตั้งความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) จะพาไปสู่การเดินในทิศทางที่ถูกต้องด้วย เป็นบทความที่เยี่ยมมากครับจะปริ้นไว้ติดหัวนอนเลย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ31 ตุลาคม 2556 เวลา 10:01

      (สัมมาทิฏฐิ) ชอบครับ

      ลบ
  2. ขอบคุณคุณ Patty มากครับ :) ดีใจที่บทความมีประโยชน์ครับ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมาก ดีจังค่ะ ความเชื่อในรักแท้ต้องเข้าใจที่จะรักด้วย ก็เหมือนกับเชื่อในตัวหุ้น รู้จริง
    ขอบคุณสำหรับคำแนะนำในการพัฒนา mindset ค่ะ

    ตอบลบ
  4. เยี่ยมมากครับ ผมเอาไปแชร์ในแฟนเพจ MonkeyFreeTime ปรากฏว่าคนชอบกันเกรียว :D

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณคุณ Antoni'O' ที่ช่วยเอาไปแชร์นะครับ :D

      ลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ8 กรกฎาคม 2555 เวลา 19:30

    เยี่ยมจริงไรจริงคะ ขอบคุณที่แชร์บทความดีๆให้ได้อ่านนะคะ
    ตั้งแต่ข้อ 1-9 โดนหมดทุกข้อเลยคะ โดยเฉพาะ การมองทางหนีไว้ตั้งแต่ก่อนจะซื้อหุ้น น้อยคนนักจะคิดถึงเรื่องนี้ ขนาดเตือนเพื่อนเค้ายังไม่อยากฟัง เค้าว่าเรื่องไท่ดีไม่อยากฟังซะงั้น +_+
    ขอเรียนถามเรื่องทดสอบสมมติฐานเพิ่มเติมนะคะ เราทดสอบแบบใดได้บ้างคะ
    ขอบคุณคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ :D

      ผมมองว่าการมี Exit strategy เป็นสิ่งสำคัญมากไม่ว่าจะลงทุนในปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยทางเทคนิคก็ตามครับ บางคนเชื่อเรื่อง The Secret ให้มองด้านเดียวเชื่อมั่นว่าจะต้องร่ำรวยแน่นอน จนหลายครั้งละเลยความเสี่ยงและไปไม่ถึงฝัน เพราะการไม่คิดถึงเรื่องร้ายๆไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นครับ (เช่น การคิดว่าไม่มีทางเสียชีวิตไม่ได้ทำให้มนุษย์เป็นอมตะครับ) ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดราคาหุ้นตกหนัก บริษัทพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางแย่ลงแล้วตกใจ!! ไม่มีแผนรับมือ ต้องปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ ...ผมมองว่าความเชื่อมั่นที่แท้จริงต้องเกิดจากการมอง 2 ด้านทั้งโอกาสและความเสี่ยงอย่างรอบคอบ แล้วค่อยลงทุนถ้า Expected profited เป็นบวกและมีแผนรับมือทั้ง 2 ด้านครับ

      ในส่วนการทดสอบสมมุติฐาน ผมว่ามีหลักๆ 2 วิธีครับ

      1. ใช้การศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเราต้องการทดสอบความเชื่อจนเข้าใจถ่องแท้

      เช่น ...ผมเชื่อว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ 100% และอยากจะทดสอบความเชื่อ ผมก็ต้องพยายามหาคนเก่งๆที่ไม่เชื่อว่าลาดมีประสิทธิภาพแล้วถามว่าเพราะอะไรเขาถึงคิดอย่างนั้น และลองลงทุนด้วยความเชื่อที่ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นต้องมีของถูกเกินไป ของแพงเกินไปเสมอ แล้วประเมินการลงทุนระยะยาวว่าประสบความสำเร็จหรือไม่กับแนวคิดแบบนี้ และในทางกลับกันผมก็ต้องลองหาคนที่เก่งๆทีเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพแล้วถามว่าเพราะอะไรเขาถึงคิดอย่างนั้น และลองลงทุนด้วยควาเชื่อที่ว่าตลาดมีประสิทธิภาพ ของทุกสิ่งอยู่ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ...แล้วจากนั้นให้ประเมินจากประสบการณ์ที่ได้จากการฟัง การคิด และการลงมือทำจนรู้จริงทั้ง 2 มุมมองว่า...ความเชื่อเรื่องตลาดไม่มีประสิทธิภาพ 100% ยังถูกต้องอยู่หรือไม่

      แต่วิธีนี้อาจจะเกิดคติ (Bias) ตามความเชื่อ มุมมองและโชคของแต่ละคนได้

      ดังนั้นผมจะชอบแนวคิดของวิธีที่ 2 มากกว่าคือ...

      2. ใช้การทดลอง (Experiment) เพื่อพิสูจน์สมมุติฐาน

      ตามหลักของวิทยาศาสตร์ ต้องมีการกำหนดตัวแปรที่ชัดเจนทั้งตัวแปรต้น ตัวแปรตามและกำจัดปัจจัยรบกวน (Confounding factor) ที่มีผลต่อผลลัพธ์ที่เราสนใจ

      เช่น กรณีความเชื่อว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ 100% เราอาจจะสุ่มเลือกหุ้นขึ้นมาชุดหนึ่ง เช่น 100 ตัว โดยเลือกทั้ง Big cap, Mid cap, Small cap เพื่อเป็นตัวแทนของการลงทุนในหุ้น (หรือจะเลือกทั้งหมด 500 ตัวเลยก็ได้ครับ)

      โดยหุ้นแต่ละตัวจะมีการคำนวณค่าเบตาออกมา และกำหนดการทดลองโดยดูราคาในอนาคตว่า เมื่อตลาดปรับตัวขึ้นหุ้นที่เราสุ่มมามีการปรับตัวตามตลาดในระดับค่าเบตาหรือไม่ (ค่าเบตาสูง - ถือว่า high risk high return หุ้นขึ้นจะขึ้นแรงกว่าแต่เวลาลงก็ลงแรงเช่นกัน นักลงทุนต้องรับความเสี่ยงเอง ค่าเบตาต่ำ - ถือว่า low risk low return ...สมมุติฐานตลาดมีประสิทธิภาพจะไม่เชื่อว่ามีกาลงทุนที่ Low risk แต่ดัน High return ครับ) ถ้าผลการเก็บข้อมูลดันมีหุ้นที่ตลาดลงแล้วลงน้อยกว่าตลาดแต่พอตลาดขึ้นดันขึ้นมากกว่าตลาดแสดงว่าสมมุติฐานเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพไม่จริงครับ ถ้ามีหุ้นที่ตลาดลงแล้วลงมากกว่าตลาดแต่พอตลาดขึ้นดันไม่ยอมขึ้นตามตลาดแสดงว่าสมมุติฐานเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพไม่จริงครับ

      ลองทำการทดลองจนได้กลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่และนานพอพอจะทดสอบสุมมติฐานได้ครับ ต้อง design การทดลองและเก็บกลุ่มตัวอย่างให้ดีๆครับ (ทั้งแบบไปเก็บข้างหน้าและแบบย้อนกลับครับ)

      แต่อย่างไรก็ตามการพิสูจน์สมมุติฐานทางการลงทุนโดยใช้การทดลองทำได้ยากเนื่องจากมี Bias และปัจจัยกวนมากมายเนื่องจากตลาดหุ้นเป็นระบบเปิด ดังนั้นการพิสูจน์ความจริงที่เป็นหนึ่งเดียวอาจจะทำได้ยาก...เพราะแม้ผลการทดสอบออกมาแบบใด คนเรามักจะเชื่อสิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่ออยู่ดีครับ

      :D

      ลบ
    2. ไม่ระบุชื่อ31 ตุลาคม 2556 เวลา 10:06

      ลึกซึ่ง คับ

      ลบ
  6. พึ่งเข้ามาอ่าน ใช้เวลา2วัน ในการอ่านจนจบเรื่อง ขอบคุณนะคะ ที่มาเขียน นี่เปนบลอกที่ดีมากๆเลยค่ะ

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ7 สิงหาคม 2555 เวลา 15:40

    ก่อนอื่นต้องขอบคุณหมอก๊อปมากครับ กับวิทยาทานอันเปี่ยมด้วยความรู้ที่ส่งคุณค่าและเยื่ยมด้วยคุณภาพ
    ผมว่านี้เป็นสุดยอด blog อันหนื่งที่ทุกคนไม่ควรพลาดและยิ่งต้องอ่านก่อนเริ่มลงทุน ผมได้เริ่มอ่านเมื่อวานและจบทุกบทความในวันนี้เนื่องด้วยความสนุกที่ได้อ่านเหมือนเสพติดในบทความครับ
    ถ้าเป็นไปได้อยากให้คุณหมอช่วยแบ่งปันประการณ์ในส่วนที่ประสบความสำเร็จและในส่วนที่ผิดหวังจากการลงทุนด้วยครับ
    ขอรบกวนถามคำถามตามข้อหัวข้างล่างนะครับ
    1.ปัจจัยอะไรที่ทำให้เริ่มมองบริษัทนั้น หรืออะไรที่ทำให้ไปสะดุดเห็นบริษัทนั้นครับ
    2.ควรทำDCA และ SWOT อย่างไรครับเพื่อเราจะไม่ bias ในบริษัทนั้นๆควรจะเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆที่ทำธรุกิจคล้ายกันด้วยไหมครับ
    4. ข้อมูลอะไรบ้างในการเปรียบเทียบกับคู่แข่งครับและปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณหมอถึงมั่นใจมากๆในบริษัทนั้นครับ
    3.หาข้อมูลรายละเอียดในด้าน ต่างๆอย่างไรครับต้องการ forecast บริษัทไปอีก 3-5 ปีและปัจจัยที่สำคัญควรคำนึงอะไรบ้างครับ
    5. ต้องทำการเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นก่อนลงทุนในบริษัทนั้นๆไหมว่าให้ผลตอบแทนที่มากกว่า รึเราควรลงทุนในส่วนที่เราสนใจก็พอครับ
    6. ทำ valuation ของบริษัทอย่างไรครับและใช้ช่วงเวลาเท่าไรครับ ปกติคุณหมอใช้ MOS เท่าไรในแต่ละอุตสากรรมครับ แต่ถ้าเป็นพวกบริษัทที่มี growth สูงน่าจะมี mosน้อยรึเปล่าครับ
    7. จังหวะเข้าซื้อควรมีการซื้อทันทีหรือว่าควรใช้ technical ช่วยครับ หรือว่าควรรอปัจจัยหนุนอื่นๆครับ
    8.จังหวะออกก็ต่อเมื่อบริษัทหยุดเติบโตหรือพื้นฐานเปลี่ยนใช่ไหมครับ แล้วควรใช้เวลาเป็นเงื่อนไขด้วยไหมครับ อย่างเช่นลงทุนผ่านมา 1 ปีทุกอย่างเป็นไปตามขาดแต่ Mr.Market ก็ยังมองไม่เห็นคุณค่า คุณหมอเห็นว่าอย่างไรดีครับ

    สุดท้ายขอให้คุณหมอและครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญครับ

    และขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยคนครับ
    Triple-N

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คุณ Tripple-N ชมผมจนลอยติดเพดานไปแล้วครับ ขอบคุณนะครับ :D

      ในเรื่องของการแบ่งปันความสำเร็จและความล้มเหลวจาก Case study การลงทุนจริงหุ้นจริงเป็นเรื่องที่ผมจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนครับ เพราะอาจจะดูเหมือนการเชียร์หุ้นหรือทุบหุ้นได้...แม้ว่าผมจะไม่เคยมีเจตนาอย่างนั้นแม้แต่เพียงเสี้ยวเดียวของความคิด ...ซึ่งผมเองพยายามจะปิดโอกาสที่จะเกิดด้วยการเตือนผู้อ่านก่อนเข้าเนื้อหาของการวิเคราะห์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผิดพลาดหรือความสำเร็จ ผมเข้าใจว่าคนที่มีฝีมือและตัดสินใจด้วยตนเองอยู่แล้วอาจจะรำคาญที่ผมเตือนบ่อยๆ ... เช่น "อย่าซื้อตามนะครับ" "หาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ" "นี่คือมุมมองของผมนะครับ"...แต่ปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอถ้าไม่ระวัง โดยเฉพาะมือใหม่หลายคนที่คล้อยตามได้ง่าย ผมต้องสร้างรูปแบบให้นักลงทุนคิดและวิเคราะห์จากข้อมูลจริง มองทั้ง 2 ด้าน ทั้งข้อดีข้อเสียให้รอบด้าน

      ในโลกของการลงทุนที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง...การให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนหุ้นรายตัวต้องระมัดระวังครับ เพราะในสังคมเรามีคนมากมายที่ชอบเชียร์หุ้นที่ตัวเองถืออยู่และคนที่จ้องให้ข่าวทุบหุ้นที่ตัวเองอยากได้แต่ตลาดราคาสูงกว่าท่เขาจะยอมซื้อ กลเม็ดสกปรกในตลาดหุ้นมีมากมาย...ผมจึงพยายามที่จะให้ความรู้เพื่อให้นักลงทุนเอาตัวรอดให้ได้จากคนจำพวกนี้ครับ

      แต่ยังงัยผมคงจะมีการเล่า Case study ความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นระยะอย่างระมัดระวังครับ

      ลบ
    2. ตอบคำถามนะครับ

      ข้อ 1. สิ่งที่ทำให้ผมสนใจเข้าไปศึกษาคือ...ผมดูว่าบริษัทใดที่คนยังสนใจไม่มากแล้วมีโอกาสเติบโตสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทยแต่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากต่างประเทศ โดยผมถือว่าในโลกของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์...ประเทศกำลังพัฒนาจะเข้าหารูปแบบของประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมมนุษย์ อุตสาหกรรมที่เติบโตหรือธุรกิจ โดยดูจากบริบทของประเทศเราประกอบครับ รวมถึงดูจาก Megatrend บางส่วนดูจากบริษัทที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ผมเห็นจากชีวิตจริงครับ (มีทั้ง Top - Down และ Bottom - Up ครับ)

      รวมถึงถ้าพอมีเวลาว่างผมจะนั่งไล่ดูแต่ละบริษัทไปเรื่อยๆครับ

      ข้อ 2. การประเมิน DCA และ SWOT ควรจะมองอย่างเป็นกลางทั้ง 2 ด้าน...ถ้าเราคิดว่าตัวเองมี Bias ที่มากและแก้ยาก ให้หานักลงทุนที่เก่งในอุตสาหกรรมที่เราสนใจ (และหวังดีกับเรา ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการฝึกวิเคราะห์) ช่วยประเมินการวิเคราะห์ของเราว่ามองข้ามข้อดีหรือข้อเสียใดหรือไม่? มองข้ามระดับของผลกระทบของด้านดีหรือด้านร้ายต่อบริษัทน้อยไปหรือไม่? แต่อย่างไรก็ตามควรจะฝึกตัวเองให้มองอย่างเป็นกลางจากการมองแบบคนนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท รวมถึงเวลารับฟังข้อมูลให้ระมัดระวังถ้าผู้ให้ข้อมูลมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทครับ

      การเปรียบเทียบกับบริษัทที่คล้ายกันไม่ว่าจะเป็นบริษัทในประเทศหรือต่างประเทศเป็นสิ่งที่ควรทำครับ เพราะจะทำให้เราเข้าใจอุตสาหกรรมทั้งระบบและประเมินบริษัทที่เราลงทุนได้ดีขึ้นครับ

      ข้อ 3 และ 4. ข้อมูลที่เราต้องสนใจในการประเมินหุ้นเติบโตคือ...
      1. ปัจจัยเชิงคุณภาพ เช่น บริษัทขายสินค้าหรือบริการอะไร...มีแนวโน้มการเติบโตของ Demand trend หรือไม่? บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันอะไรบ้าง? บริษัทมีนโยบายและกลยุทธ์ในการเติบโตอย่างไร? เป็นต้นครับ
      2. ปัจจัยเชิงปริมาณ งบการเงินที่ผ่านมาป็นอย่างไร?
      - ประเมินโครงสร้างหนี้ บริษัทมีหนี้เยอะจนเป็นภาระจ่ายดอกเบี้ยและไม่มีเงินสดในการสร้างการเติบโตหรือบริษัทมีหนี้ปริมาณเหมาะสมที่นำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ มีเพดานในการกู้หนี้เพิ่มเพื่อขยายกิจการหรือกู้เงินจนเต็มเพดานหนี้แล้ว หนี้ที่เกิดเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสีย หนี้ที่เกิดเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ยครับ
      - ประเมินเงินสดและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ว่ามีเพียงพอกับการลงทุนขยายกิจการและจ่ายหนี้หรือไม่? ประเมินกระแสเงินสดอิสระของบริษัท
      - ประเมินสินทรัพย์ของบริษัทว่ามีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนเท่าไร...ใช้ได้มีประสิทธิภาพหรือไม่เมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน (เช่น ใช้ตัวเลข ROA)
      - ประเมินตัวเลข ROE เทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยดูจากทั้ง ROE ในปัจจุบันและประเมิน ROE ในอนาคตที่อยู่บนสมมุติฐานของการเติบโตครับ
      - ประเมินการเติบโตของรายได้ ประเมินการเติบโตของกำไร ประเมินการเกิด Economy of scale (การใช้ Fixed cost ที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด)
      เป็นต้น

      ลบ
    3. 3. ประเมินตัวเลขในอุตสาหกรรมโดยรวมของบริษัท เช่น มูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมและส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่เราสนใจครับ

      เวลาประเมินตัวเลขให้ประเมินเป็น Timeline ไม่ดูแบบจุดใดจุดหนึ่งของเวลา (Cross sectional) ครับ

      ผมตั้งใจจะเขียนบทความเรื่องงบการเงินและตัวเลขที่ต้องติดตามระยะยาวในหุ้นเติบโตบนสุมมุติฐานของการเติบโตอยู่แล้วครับ ขอเวลาว่างอีกซักหน่อยน่ะครับ

      ข้อ 5. ผมจะเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วยครับ (ทั้งในและต่างประเทศครับ) เพื่อเห็นภาพทั้งหมด...ทั้ง Position ของบริษัทที่เราสนใจในตลาด ภาพรวมอุตสาหกรรมและความเห็นของคู่แข่งที่มองบริษัทที่เรากำลังลงุทนอยู่ด้วยครับ ปล. บางครั้งเราอาจจะเจอโอกาสที่ดีกว่าตอนแรกจากการศึกษาหลายบริษัทที่เราสนใจครับ

      ข้อ 6 ผมประเมินโดยใช้ค่า PE โดยมองจากระยะเวลาที่เรามองเห็นอนาคตของบริษัท เช่น มองเห็น 5 ปีก็คิด Valuation แค่ 5 ปี มองเห็นปีเดียวก็คิด Valuation แค่ปีเดียวครับ บริษัทที่มี Growth สูงจะมี PE สูงๆบางทีต้องยอมลด MOS ลงบ้าง เช่น เหลือ MOS 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นอาจจะไม่มีโอกาสได้ซื้อหุ้นเลย อย่างไรก็ตามการมี MOS เป็นเรื่องสำคัญมากครับจะได้ไม่พลาดเจ็บตัวหนักถ้าเราคิดผิดขึ้นมา ต้องกำหนด MOS ให้ชัดเจนและทำตามระบบที่ตั้งไว้ด้วยครับ

      ข้อ 7 จังหวะเข้าซื้อผมไม่ได้ใช้ technical เลยครับ (เพราะดูไม่เป็นครับ) แต่จะเข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นค่อนข้างนิ่ง ปริมาณการซื้อขายน้อย นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจไม่ค่อยมีใครพูดถึงครับ แต่มี growth story ที่ชัดเจนมีความเป็นไปได้สูง มี Driver สูงที่ตลาดอาจจะยังไม่รับรู้เพราะตลาดกำลังไปสนใจตัวที่วิ่งแรงๆอยู่ครับ (ตลาดเกิด Blind spot ครับ)

      ข้อ 8 จังหวะออก...ต้องดูตามเหตุผลที่เข้าซื้อครับ (Entry) (ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความ Exit strategy แล้วครับ) เมื่อเหตุผลที่เราเข้าซื้อหมดไป...ซึ่งอาจจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ไม่รู้ เมื่อนั้นต้องขายครับ

      นายตลาดจะไม่เห็นคุณค่าระยะสั้นไม่เป็นไรครับ...สุดท้ายถ้า Behavioral trend มา, Industrial trend มา, Megatrend มา, รายได้ กำไร ปันผลของบริษัทเติบโตขึ้น, Business model ของบริษัทดีขึ้น เมื่อนั้นตลาดเห็นคุณค่าแน่นอนครับ แต่ต้องระวังเราคิดผิดด้วยนะครับ คอยตามตรวจสอบข้อมูลและตัวเลขของการเติบโตให้ดี...ถ้ายังเติบโตอยู่ก็ไม่ต้องห่วงเลยครับ

      ขอบคุณสำหรับคำถามครับ ผมขออนุญาติเอาไปแชร์ใน FB เพื่อให้เพื่อนคนอื่นได้เรียนรู้ด้วยนะครับ

      :D

      ลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ7 สิงหาคม 2555 เวลา 15:47

    อ่านบทนี้ เลยตามไปอ่านบทเก่าๆในจิตวิทยาการลงทุนของคุณหมอทุกบทจนจบ ตาลายแล้วค่ะ:)ให้ความรู้และเพลิดเพลินมาก ขอบคุณคุณหมอนะคะ ไว้จะมาอ่านบทอื่นๆต่อไปค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมนะครับ :D

      ลบ
  9. บทความเยี่ยมมากครับ เขียนได้ดีมากครับคุณก๊อบ

    ตอบลบ
  10. ขอบคุณมาาากครับ เก็บความรู้ไปได้หลายเรื่องเลยครับ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น