วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนพิเศษ) ยอมรับความจริง

ตลาดหุ้นเป็นแหล่งรวมรวมแนวคิดด้านการลงทุนไว้มากมาย  นักลงทุนที่ใช้แนวทางใดก็จะมีความเชื่อมั่นต่อแนวคิดของตนเอง  ซึ่งอาจจะมาจากการค้นคว้าด้วยตนเองหรือศึกษาจากอาจารย์  เมื่อลงทุนแล้วประสบความสำเร็จระดับนึงจะเกิด ”อัตตา” ความเชื่อมั่นว่าตนเองเก่ง  แนวทางที่ตนใช้ถูกต้อง  แนวคิดคนอื่นผิดพลาด

เนื่องจากการลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่มองไปยังอนาคต  จึงไม่อาจจะทำนายได้แน่นอน  เปรียบเสมือนการดูหมอ  ช่องว่างแห่งความไม่รู้อนาคตได้ก่อเกิดแนวคิดที่หลากหลาย

เวลาที่ได้กำไรก็ดีใจกันไป  แนวทางของฉันถูกต้องที่สุด  แต่ถ้าเริ่มขาดทุนหรือติดตัวแดง  ก็จะเกิดความคิดที่มาปกป้องความเชื่อของตนเอง ที่เรียกว่า  กลไกป้องกันทางจิต  (Defense mechanism)

Sigmund Freud

ตามทฤษฎี  Ego psychology ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Theory of psychoanalysis) ของ Sigmund  Freud  นายแพทย์ชาวออสเตรียผู้โด่งดัง  ซึ่งบุคคลสำคัญของแนวคิด Ego psychology นี้คือ  Anna Freud  ซึ่งเป็นลูกสาวของ Sigmund Freud โดยทฤษฎี  Ego psychology จะเน้นในส่วนบทบาทของ Ego และกลไกป้องกันทางจิต  ซึ่งแนวคิดของกลไกป้องกันทางจิตถูกอธิบายละเอียดขึ้นมากกว่าที่ Freud ได้อธิบายไว้ในตอนแรก

(ผมจะไม่ลงลึกเรื่อง Ego นะครับ เดี๋ยวจะยาว  เพราะต้องอธิบายโครงสร้างของจิตใจด้วย จะพูดถึงแต่กลไกป้องกันทางจิตซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานของ Ego ในระดับจิตใต้สำนึก)

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นเช่น  หุ้นตกหนัก  พอร์ตติดลบ  หุ้นขึ้นแต่ไม่ได้ซื้อ(ตกรถ)  จิตใจจะเกิดความวิตกกังวลขึ้น (Signal anxiety) เพื่อเตือนให้รู้ว่าจิตใจกำลังได้รับอันตราย  กลไกแรกที่จิตใจนำมาใช้คือ การเก็บกด (repression) โดยกระบวนการนี้เกิดในระดับจิตให้สำนึกด้วยความรวดเร็วมาก (Unconscious level)  แต่เมื่อใดที่ระดับความกังวลมีมากจนการเก็บกดเริ่มไม่ได้ผล  ความกลัวและความกังวลจะเริ่มขึ้นสู่การรับรู้ของจิตใจในส่วนของจิตสำนึก (Conscious level)

แล้วกลไกป้องกันทางจิตอื่นๆจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการปกป้องจิตใจจากความกังวล

กลไกการป้องกันทางจิต


เมื่อหุ้นในมือตกอย่างหนักเกินกว่าจิตใจจะรับไหว   หรือหุ้นขึ้นอย่างมากโดยที่เราไม่ได้ซื้อ(ตกรถ)  กลไกป้องกันทางจิตที่เรามักจะเห็นบ่อยๆในนักลงทุนมีดังนี้

1. การโทษผู้อื่น (Projection)


“ขาดทุนเพราะซื้อตามเซียน (หรือตามโบรก  ตามเพื่อน  ตามแม่ค้าปากซอย ฯลฯ) นี่แหละ...โถ ไหนว่าเก่งนักเก่งหนา  รู้งี้ไม่น่าหลงเชื่อเลย  เชียร์ดีนัก  ตอนลงหายกันไปไหนหมดก็ไม่รู้  ปล่อยให้ตรูติดดอยคนเดียว”

“ตลาดแมร่งโง่ชิบ  เทขายหุ้นตัวนี้ได้ไงว๊ะ”

การโทษผู้อื่น  มักเกิดจากที่เราตัดสินใจหรือมอบความรับผิดชอบการซื้อขายที่นักลงทุนส่วนบุคคลควรจะมี...ไปให้กับผู้อื่น  ดังนั้นเมื่อเขาได้กำไรเขามักจะชมว่าตนเองเก่ง  มีหลักการลงทุนที่ถูกต้อง  (ไม่ได้ชมคนที่ไปชื้อตาม)  แต่เวลาที่ขาดทุนเขาจะไม่ทบทวนการตัดสินใจซื้อขายของตนเอง  ไม่ทบทวนหลักการลงทุนของตนเอง  แต่จะโทษผู้อื่นที่เขาไปลอกมาเป็นหลัก

เราสามารถฟังความเห็นของผู้อื่นได้  แต่เราต้องอย่าลืมคิดเองและรับผิดชอบการตัดสินใจของตนเองด้วย  ไม่อย่างนั้นฝีมือการลงทุนของเราจะไม่มีทางก้าวหน้าได้เลย

2. การปฏิเสธ (Denial)


“โถ่เอ๊ยยย...หุ้นตกทั้งกระดานแบบนี้  มันก็ไม่แปลกหรอกที่หุ้นในมือจะลงน่ะ  จะไปดูทำไมว่าพื้นฐานแย่ลงหรือเปล่า  เดี๋ยวราคามันก็ขึ้นมาเองแหละ  ซื้อหุ้นถูกตัวแล้วแต่ผิดจังหวะเท่านั้นเอง”

“หุ้นตกเยอะๆแบบนี้ปิดหน้าจอไปเลยดีกว่า  ดูไปก็ปวดใจปล่าวๆ”

การปฎิเสธความจริงที่เกิดขึ้น  อาจจะดูเหมือนนักลงทุนชั้นเซียนที่ไม่หวั่นไหวกับราคาหุ้น  เมื่อเราปฏิเสธความจริง  เราจะไม่ตรวจสอบสมมุติฐานในทางที่ไม่ดี  เช่น  เกิดเหตุร้ายที่กระทบพื้นฐานของบริษัทหรือไม่  บางครั้งอาจจะเป็นข่าวผู้บริหารฉ้อโกง  อาจจะเป็นอุปสงค์อุปทานอยู่ในช่วงขาลง  (กรณีสินค้าโภคภัณฑ์)  อาจจะเป็นการถูกฟ้องร้องจากผู้บริโภค  อาจจะเป็นการปรับตัวขึ้นของต้นทุนการผลิต เป็นต้น

ถ้าเราตรวจสอบทุกอย่างดีแล้ว  แต่ไม่หวั่นไหวกับราคาที่แกว่งตัว  ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น  นั่นคือการมองอย่างสงบจากความเป็นจริงครับ

3. ความเฟ้อฝัน  (Fantasy)


“ตัวนี้ต้องได้กำไร 10 เด้งแน่ๆ ไม่รู้หรอกว่าเพราะอะไร แต่งัยๆก็ต้องได้ชัวร์”

“อา...จินตนาการเข้าไว้ถึงกำไร ๆๆๆ เหตุผงเหตุผลไม่สน  อา...กฎแห่งแรงดึงดูด”

ความเพ้อฝันมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราศึกษาหุ้นมาไม่ดีพอ  ไม่มีเหตุผลไปสนับสนุนนอกจากความลำเอียงของตนเอง  บางทีนักลงทุนอาจจะไม่รู้ตัว  แต่สิ่งนี้จะบั่นทอนการคิดอย่างมีเหตุผลลงไป

ฝึกคิดแย้งเสมอว่า...หุ้นตัวนี้มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง  โอกาสที่ราคาจะลงกี่เปอร์เซ็นต์  ราคาจะลดลงได้ถึงเท่าไร  แม้มองแล้วหุ้นยังราคาถูกอยู่ก็ต้องดูว่าราคาจะไปได้แค่ไหนตามหลักการคิดมูลค่า  บนพื้นฐานของความจริงครับ 

4. การแสดงออกด้วยการกระทำ (Acting out)


“ตลาดทำไมไร้สาระแบบนี้  ขายบ้านขายรถซื้อๆๆๆๆ” (แต่จริงๆพื้นฐานแย่ลงแล้ว – โดยเฉพาะหุ้นโภคภัณฑ์)

“หุ้นตกหนักแบบนี้ไม่มีเงินเหลือก็ซัดมาร์จิ้นเพิ่มเลยดีกว่า...” (ใช้มาร์จิ้นตอนตลาดกำลังเป็นขาลง??)

การลงมือกระทำโดยใช้อารมณ์ย่อมนำมาซึ่งผลเสียอย่างมากได้  เหมือนตอนเราโกรธจัดทำอะไรลงไปก็ย่อมไม่น่าดูเลย

ทั้ง 4 อย่างเป็นกลไกการป้องกันทางจิตที่เจอได้บ่อยเวลาที่นักลงทุนมีความวิตกกังวลสูงมากๆ  ซึ่งเป็นการทำให้คิดและตัดสินใจไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง  (ที่จริงยังมีอีกมากเลยแต่เอาที่เจอบ่อยๆน่ะครับ)

มองตามความจริง  ตามเหตุผล  ตามข้อมูล  ตามพื้นฐาน  ตามหลักการลงทุน  จะทำให้เรารอดพ้นจากกลไกป้องกันทางจิตเหล่านี้ที่จะนำเราไปสู่หายนะได้  แล้วทำให้ threshold ที่จะเกิดความกังวลสูงขึ้นมาก  นักลงทุนจะไม่หวั่นไหวง่ายๆ

ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น...

จงยอมรับความจริงอย่างไม่ดิ้นรนแม้ว่ามันจะเจ็บปวด  เพราะนั่นจะทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้ครับ

6 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ22 สิงหาคม 2554 เวลา 11:20

    พอรู้ทันเข้าใจในกลไกการป้องกันตัวของตัวเองและค่อย ๆ ทำลายมันลงไป
    ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเอง sensitive กับความรู้สึกที่เข้ามากระทบมากขึ้นอย่างไรไม่รู้ครับ

    เหมือนมันไม่มีอะไรมาป้องกันความเจ็บปวดภายในใจของเรา แต่มันทำให้เราเห็นอะไรตามจริงยิ่งขึ้นครับ น่าจะเป็นผลดีกว่ากับการดำเนินชีวิต ในระยะยาว :)

    ตอบลบ
  2. ยินดีต้อนรับครับคุณ peacedev :D

    เห็นด้วยเลยครับ ผมว่ายอมรับความจริงหลายๆครั้งมันก็เจ็บปวด แต่ผมว่าเราจะแกร่งขึ้นในระยะยาวครับ และแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่าด้วยครับ

    จริงๆการใช้กลไกป้องกันทางจิตแบบมีวุฒิภาวะ (Mature defense) แทนที่กลไกป้องกันทางจิตที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานความเป็นจริง (พวก Primitive, Immature, Neurotic defense) ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ

    เช่น การใช้การวางแผนล่วงหน้า (Anticipation) จะทำให้เราลดความกังวลลงได้มากเพราะเราคาดเหตุการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วทั้งรูปแบบดีหรือร้าย พอสถานการณ์เกิดขึ้นจริงเราจะไม่กังวลมาก ไม่มีการหลบหนีความจริงเพราะเราเตรียมตัวรับมือไว้แล้วครับ หรือการใช้การเปลี่ยนอารมณ์เชิงลบไปในทางสร้างสรรค์ (Sublimation) เวลาเครียดเราหรือทุกข์เราก็เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นพลัง แก้ไขข้อผิดพลาดและทำชีวิตให้ดีขึ้น

    :D

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ25 สิงหาคม 2554 เวลา 21:20

    การยอมรับความจริง เล่นหุ้นโดยกำหนด risk mgt และ follow ตามแม้หุ้นตกจิตก็ไม่ตก เพราะได้กำหนดจุดที่เราพึงพอใจในการสุญเสียไว้แล้ว

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ5 กันยายน 2554 เวลา 16:24

    เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับหุ้นตกไม่ค่อยรู้สึกอะไร
    จะรู้สึกก็ตอนมีคน ที่ชอบมาทับถม เวลาหุ้นทำท่าตกหนัก ๆ เพราะเขารู้ว่าเราเล่นหุ้นครับ
    ปกติไม่ได้มีวิตกอะไรกับตลาดนะครับ เพราะขึ้นหรือลงก็อยู่ในแผนการลงทุนทั้งหมด แต่กับเสียงรอบข้างนี่ วางอุเบกขายากจริง :)

    --------------

    ขอบคุณคุณหมอก๊อบสำหรับคำแนะนำครับ
    เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับวิธี Sublimation ครับ คุณหมอมีวิธี Sublimation แนะนำบ้างไหมครับ
    เมื่อก่อนผมนำไปใช้กับการกีฬาซึ่งรู้สึกว่าได้ผลมาก แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยมีเวลาออกไปเล่นกีฬาแบบหนัก ๆ แล้วน่ะครับ

    ตอบลบ
  5. @ คุณ peacedev

    ผมว่าเสียงรอบข้างมีผลกับคนเราจริงๆครับ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของนักลงทุนด้วยกัน หรือคำพูดของคนนอกตลาดที่คอยกระแนะกระแหนก็ตาม ซึ่งผมว่าการที่เราเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดและจุดยืนที่ชัดเจน จะทำให้ใจเราหวั่นไหวน้อยลงครับ ส่วนคนที่คอยกระแนะกระแหนเขาก็คงดูปฎิกริยาของเราเหมือนกันครับ ถ้าเราไปเต้นเร่าร้อนตามเขา เขาก็คงชอบและคงทำอีก แต่ถ้าเราปล่อยวางได้ คิดว่าเป็นแค่คลื่นเสียงที่เกิดดับ ไม่ได้เก็บมาคิดต่อ คำพูดเหล่านั้นก็ทำอะไรเราไม่ได้ครับ และคนที่พูดเห็นเรายิ้มได้สบายใจแม้ว่าถูกทับถม เดี๋ยวต่อไปคงเลิกพูดจาแย่ๆไปเองแหละครับ :)

    โชคดีที่สังคมรอบตัวผมไม่มีคนแบบนั้น ^^"

    เรื่อง sublimation ใช้กับการออกกำลังกายดีมากเลยครับ แต่ถ้าคุณ peacedev ไม่มีเวลา เอาพลังมาใช้ในการทำงานหรือพัฒนาตัวเองก็น่าจะดีนะครับ เพียงแต่อาจจะไม่ผ่อนคลายเหมือนออกกำลังกาย

    ผมว่าอีกวิธีที่ดีคือ...การนั่งสมาธิ ปล่อยวางเรื่องวุ่นๆในหัว อยู่กับสติ อยู่กับปัจจุบัน จะทำให้เราสบายใจและพร้อมที่จะวางแผนการลงทุนและพร้อมใช้ชีวิตอย่างมีสติได้เป็นอย่างดีเลยครับ :D

    ตอบลบ
  6. @ คุณ peacedev

    แล้วคนที่เขามาทับถมเรา...ส่วนใหญ่ก็คือคนที่อิจฉาที่เรามีเงินมากกว่าน่ะครับ

    ผมว่าเราคงต้องหลีกเลี่ยงการพูดถึงขนาดพอร์ตและผลตอบแทนกับคนที่อยู่นอกตลาดที่มีทัศนคติที่ไม่ดีกับตลาดหุ้นอ่ะครับ เพราะผมเคยทำกับคนบางคนที่คิดว่าน่าจะพอบอกได้ (เพราะส่วนใหญ่ผมบอกกับนักลงทุนด้วยกัน คนที่มีทัศนคติที่ดีส่วนใหญ่จะมีมุฑิตาจิต ร่วมยินดีด้วย และถามว่าทำได้อย่างไรเพื่อพัฒนาฝีมือ)แต่กรณีนี้กลับเจอแรงอิจฉาและแรงโลภอยากได้อยากมีแบบเต็มๆเลยครับ เจ้าแรงนี้ทำให้ผมอึดอัดมาก

    ผมคิดว่าคนที่รวยจริงจากใจนั้นจะมีจิตใจคิดให้คิดช่วยเหลือ อยู่ด้วยแล้วสบายใจ จิตใจเปิดกว้าง

    นักลงทุนเองก็ต้องการยอมรับไม่แพ้คนอาชีพอื่น แต่ผลตอบแทนคือสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จกลับไม่สามารถไปบอกใครๆทุกคนได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดเหมือนกันครับ เวลาที่เรายากลำบากเผชิญหุ้นตกหรือความผิดพลาดที่ไม่คาดคิด เราจะไประบายให้คนนอกตลาดหรือแม้แต่นักลงทุนที่ไม่เก่งฟัง พวกเขาจะไม่เข้าใจเราเลย อาจจะทับถมหาว่าเราเล่นพนัน หรือแม้แต่บอกว่าเราโง่ที่ไปเสี่ยงเอง

    นักลงทุนที่เก่งจึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและคิดต่างจากคนทั่วไปมาก สวนกระแสกิเลสความโลภความกลัวที่คนส่วนใหญ่มี มองเข้าไปให้ถึงความจริงของตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องมีสติอยู่เหนือความโลภ ซึ่งต้องมาจากการฝึกสติ การรู้จักการให้ และการวิเคราะห์โดยใช้ปัญญามองตามจริงอย่างไม่มีอคติ

    ทุกวันนี้ผมอยู่แบบธรรมดามากเลยครับ ไม่มีการอวดหรือใช้ของแพงๆ เวลาผมเจอคนชอบอวด (พวกนี้มักจะอิจฉาตาร้อนเวลาเจอคนมีหรือคนที่เหนือกว่า)ผมจะเฉยๆและปล่อยให้เขาโอ้อวดไป และคำพูดพวกนี้ผมว่าเราไม่ควรเอามาใส่ใจครับ เสียเวลา บางคนก็มานั่งคิดเล็กคิดน้อยกับเงินไม่กี่บาท กลัวเสียเปรียบจัด จะให้อะไรทีก็ต้องป่าวประกาศไปทั่ว กลัวคนไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไร...

    ผมหาเพื่อนใจกว้างๆ คบดีกว่าครับ อย่างน้อยใจจะได้เสมอกันครับ (ไม่เกี่ยวกับฐานะจริงๆนะครับ ดูแค่ที่ใจว่าไม่ใช่คนใจแคบ มีน้ำใจก็โอเคแล้ว)

    :D

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น