วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 2) การรับรู้อันผิดเพี้ยน

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่2)




เมื่อบทที่แล้วผมพูดถึงเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ...จะเห็นว่า...แนวคิดนี้มองว่าตลาดเหมือนเป็นเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่คำนวนทุกอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำไม่มีปัจจัยทางอารมณ์ใดๆมารบกวนทั้งสิ้น...แต่ในความจริงเบื้องหลังคอมพิวเตอร์ที่ซื้อขายหุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ...นั้นคือ “มนุษย์”  ไม่ใช่คอมพิวเตอร์  ถึงแม้จะมีการตั้งโปรแกรมซื้อขายหุ้นโดยอัตโนมัติ  มนุษย์ก็เป็นผู้เขียนโปรแกรมนั้นขึ้น.... ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์  ในเรื่องความเชื่อ มุมมอง ความคิด ความคาดหวัง อารมณ์ความรู้สึก สิ่งเหล่านี้จะถูกสะท้อนเข้าไปในตลาด...
กระบวนการทำงานของจิตใจมนุษย์  เริ่มตั้งแต่การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และความทรงจำ (Perception-Internal and External) เข้าไปแปลผลสิ่งที่เห็นคืออะไร (Recognition)...มีความหมายกับเราอย่างไร (Meaning)...แล้วเทียบเคียงกับประสบการณ์เดิม (Past experience)  มีการเกิดอารมณ์ความรู้สึกกับสิ่งที่รับรู้ (Feeling)  เกิดความคาดหวัง (Expectation) แล้วตอบสนองออกมาทางการกระทำ (Behavior)

เช่น... เวลาเจอโดนเจ้านายด่า...เราได้ยินเสียงเจ้านายด่า  เราเห็นท่าทีเกรี้ยวกราดของเจ้านาย  แปลเสียงในสมองเป็นความหมายเบวกกับประสบการณ์เก่า  แปลว่าเจ้านายกำลังคุกคามความปลอดภัย... เกิดอารมณ์กลัวและโกรธ  ต้องตอบโต้อะไรสักอย่าง... สุดท้ายความเคยชินความเชื่อเข้ามาบอก”เราไม่ควรตอบโต้ผู้ใหญ่” พฤติกรรมจึงออกมาก้มหน้า หลบตา ไม่ตอบโต้ใดๆ  เก็บอารมณ์โกรธในใจเงียบๆ... กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีตามความเคยชิน...

แล้วกระบวนการในสมอง(จิตใจมนุษย์)ที่เกิดขึ้น ...คือ สิ่งที่เป็นความจริง(Reality)หรือ???

เริ่มตั้งแต่การรับรู้ของมนุษย์เองมีการผิดเพี้ยนไปจากความจริง...เช่น 1. ถ้าคนนึงเอานิ้มจุ่มน้ำร้อนด้วยมือขวาและนิ้วจุ่มน้ำเย็นด้วยมือซ้าย...ผ่านไปสักพักนึง(ก่อนนิ้วพอง 555)  เอานิ้วทั้ง 2ข้างมาจุ่มพร้อมกันในน้ำที่อุณหภูมิห้อง ปรากฎว่า ...เราจะรู้สึกน้ำเย็นที่นิ้วที่เคยจุ่มน้ำร้อนมาก่อนและรู้สึกร้อนขึ้นที่นิ้วที่เคยจุ่มน้ำเย็นมาก่อน... 2. (พอดีหาภาพมาแสดงไม่เจอ) เรามองเห็นภาพเส้นตรงที่มีลูกศรที่ปลายทั้ง 2 ข้าง...เราจะมองว่าเส้นตรงที่ลูกปลายลูกศรหันเข้ายาวกว่าเส้นตรงที่ปลายลูกศรที่หันออกด้านข้าง...ทั้งที่จริงๆเส้นตรงทั้งสองเส้นยาวเท่ากัน...

การระลึกรู้เองก็มีการผิดเพี้ยนไปจากความจริง... ในภาพจะเห็นว่า...เราสามรถมองได้ทั้ง แจกันสีดำ หรือหน้าคนสีขาวหันเข้าหากัน...ขึ้นอยู่กับแต่บุคคล...(มีการทดสอบทางจิตวิทยา ชื่อRorschach test ที่มีรูปที่สีน้ำหมึกหยดบนกระดาษ  แล้วให้ผู้เข้าทำการทดสอบแปลผลว่าเป็นรูปอะไร  รูปจะดูไม่รู้เรื่อง...เอาไว้ใช้ดูความคิดและการแปลผลต่อสิ่งเร้าของผู้เข้ารับการทดสอบ)

คงต้องย้อนถามตัวเองอีกทีว่า...สิ่งที่มนุษย์รับรู้นั่นคือความจริง...จริงหรือ???

ดังนั้น...ตลาดก็คือผลรวมของโลกภายในจิตใจมนุษย์... ตลาดมีอารมณ์ความรู้สึก  มีความคาดหวัง ผิดหวัง สมหวัง  ดีใจเสียใจ  บางครั้งก็สุขุมนุ่มลึกมีเหตุมีผล  บางครั้งก็ทำอะไรด้วยความขาดสติ  บ้าคลั่ง...โลภอยากได้  กลัวตกใจสุดขีด...

...และแล้วผมจะมาพูดถึงแนวคิดที่ 2 คือ การเงินเชิงพฤติกรรม ซึ่งมองว่ามนุษย์มีอติบางอย่าง(Cognitive Bias) ทำให้มองโลกบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง...ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล...

2. การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral finance)

บิดาแห่งศาสตร์นี้คือ...Danial Kahneman และ Amos Tversky ซึงเป็น Cognitive psychologist การเงินเชิงพฤติกรรมเป็นแนวคิดที่ใช้ปัจจัยทางสังคม ความคิดและอารมณ์ของมนุษย์มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆของแต่ละบุคคล  เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดและพฤติกรรม (Behavioral and cognitive psychology) เข้ากับเศรษฐศาสตร์และการเงินเพื่ออธิบายว่า...ทำไมบางครั้งมนุษย์จึงตัดสินใจด้านเงินๆทองอย่างไม่สมเหตุสมผล... ซึงแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้

ในโลกแห่งความจริงมนุษย์ทำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุผลมากมาย...ตัวอย่างเช่น  การที่คนจำนวนมากเล่นหวย ซื้อลอตเตอรี่...ทั้งที่โอกาสถูกมีแค่ 1/1000 หรือ 1ในล้าน ... แต่ก็ยังมีคนมากมายที่เสียเงินนับไม่ถ้วนไปเพื่อโอกาสอันน้อยนิด...บางคนซื้อลอตเตอรี่ทั้งชีวิตไม่เคยถูกเลยก็มี...

ความไม่สมเหตุผลของพฤติกรรมเหล่านี้มีที่มาจากความลำเอียงของมนุษย์ (Cognitive bias)ซึ่ง มีดังนี้ (ขอให้สำรวจตัวเองด้วยนะครับว่ามีบ้างหรือเปล่า?)

1. Overconfidence ความมั่นใจเกินไป...

James Montier ได้ทำการศึกษาหัวข้อ “Behaving badly” ในปี 2006 โดยเก็บข้อมูลจากผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ...พบว่ามี 74% จากผู้จัดการกองทุน 300 คน เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถเรื่องงานเหนื่อกว่าค่าเฉลี่ย...ที่เหลือ 26% มองว่าตัวเองพอๆกับค่าเฉลี่ย...นั่นคือ 100% คิดว่าตัวเองเท่ากับหรือเหนือกว่าค่าเฉลี่ย...ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนที่จะอยู่เหนือค่าเฉลี่ยได้มีเพียง 50%เท่านั้น... และนี่คือความมั่นใจที่มากเกินไปไม่สมเหตุผลตามความจริง...

มีเส้นบางๆเทานั้นที่แยกระหว่างความมั่นใจในตัวเอง(Confidence) กับความมั่นใจเกินไป(Overconfidence)... คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองจะเชื่อมั่นในความสามารถตัวเองตามความเป็นจริง... ขณะที่คนที่มั่นใจเกินไป...จะมองโลกในแง่ดีมากๆและมองความสามารถตัวเองว่าดีมากกกกกก(ซึ่งเกินจริง) สามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้หมด...(..เออ เอ็งเก่ง บ้าเข้าไปให้พอ 555)

ในตลาดหุ้นมีคนที่มั่นใจในตัวเองแบบเว่อร์ๆอยู่มากมาย...คนเหล่านี้จะไม่ค่อยมองเรื่องความเสี่ยง...มักจะซื้อขายบ่อยๆ...พยายามซื้อให้ต่ำที่สุดขายให้สูงที่สุด...คิดว่าตัวเองกะจังหวะเวลาซื้อขายได้ดีกว่าคนอื่นๆ  คิดว่าตัวเองคาดเดาดัชนีได้... เรามักจะเห็นนักลงทุนกลุ่มนี้ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหรืออาจจะถึงกับขาดทุน...

เวลาผมเจอนักลงทุนมั่นใจเว่อร์ๆแบบนี้ผมจะฟังอย่างเดียวและจะไม่พูดอะไรไปขัดใจหรือตักเตือนใดๆ...

ความมั่นใจเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรมี...แต่ Overconfidence เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข... เพราะอคตินี้ทำให้เรามองตัวเองผิดไปจากความจริง... เราจะเล่นหุ้นแบบเสี่ยงๆมากขึ้น  ซึ่งถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คิด...เราก็ไม่มีแผนรับมือเพราะไม่เคยมองความเสี่ยงเลย...ได้แต่ยืนดูสุดท้ายก็ขาดทุน... การมองตัวเองตามจริงจะเห็นว่าเรามีจุดดีอะไรที่ควรส่งเสริม...และเห็นข้อบกพร่องที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น...แล้วนักลงทุนจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ตามจริง...

ผมเองยิ่งเรียนรู้ตลาดหุ้นยิ่งพบว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรอีกมากมาย  ทักษะการคิดการมองแนวโน้มก็ยังต้องฝึกฝนอีกเยอะแยะ... ผมไม่เคยเอาผลตอบแทนไปอวดสาธารณะชนเพื่อให้ตัวเองย่ามใจจนไม่เป็นอันพัฒนาตัวเอง  (แต่การโชว์ผลตอบแทนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าเป็นไปเพื่อการเรียนรู้นะครับ)... ผมเป็นนักลงทุนรายย่อยคนนึงในตลาดที่มีคนเก่งๆมากมาย  สิ่งที่เราทำได้คือรับฟังความเห็นของผู้อื่น  อ่อนน้อมถ่อมตน  เชื่อมั่นในความสามารถตัวเองตามจริง.. .ฝึกคิดอย่างมีเหตุมีผล...ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง...

ชาล้นถ้วย...คงไม่สามารถรับอะไรใหม่ๆเข้าไปได้จริงไหมครับ...            

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า..เราจะต้องดูถูกตัวเองหรือ Underestimate ตัวเองนะครับ...เราต้องชื่นชมความสามารถตัวเองตามจริงด้วย  ใครชมก็ให้รับไว้และขอบคุณ  แล้วมามองว่าคำชมนั้นเราคิดว่าจริงใหม...ทำอย่างไรจึงจะดีขึ้นไปอีก... ใครวิจารณ์(หรือดูถูก)ก็ทบทวนดูว่าจริงไหม...ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องไปสนใจ  ถ้ามีเค้ามูลอยู่บ้างก็ต้องรีบแก้ไข...

ผมอยากบอกว่า...แท้ที่จริงแล้วศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ...ตัวเราเองนั่นแหละ...

เรื่องการเงินเชิงพฤติกรรมยังมีตอนต่อนะครับ...(อคติแบบอื่นๆ)

ปล.  ทิ้งท้าย...

โลกของตลาดทุนนั้นไม่เหมือนกับวงการอื่นๆ...เช่น ถ้าคุณอายุมาก ร่างกายแข็งแรง  มีตำแหน่งทางวิชาสูงๆ (เช่น ศาสตราจารย์...)  มีวุฒิการศึกษาสูงๆ...มีเครือข่ายมาก  บุคลิกภาพดี  คุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานสูง  ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อถือและฟังคุณ ...แต่โลกของตลาดทุนนั้นไม่ใช่ ...การประสบความสำเร็จในการลงทุน  ใบปริญญามากมาย  ตำแหน่งวิชาการ  มีเพื่อนมากมาย... ไม่ได้เป็นสิ่งบอกได้เลยว่าคุณจะประสบความสำเร็จในการลงทุน...นี่คือโลกแห่งความสามารถล้วนๆ... สิ่งที่บ่งบอกตัวตนของคุณในตลาดทุนนั้นมีแต่ฝีมือการลงทุนเท่านั้น...สิ่งที่คุณกำลังเผชิญหน้าคืออนาคตและแนวโน้มที่ไม่มีใครรู้  ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแบบที่อ่านได้ในหนังสือวิชาการแบบอาชีพอื่นๆ...

ต้องลงทุนในตัวเองครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น