วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 9) ความกลัว (ตอนแรก)



ในการทำจิตบำบัดซึ่งเป็นการรักษาคนไข้โดยใช้วิธีการพูดคุยเพื่อให้คนไข้ได้เข้าใจตัวเองในระดับลึกๆนั้น...อาจารย์ผมซึ่งเป็นนักทำจิตบำบัดระดับนานาชาติสอนว่า...อารมณ์ที่สำคัญซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานของอารมณ์อื่นๆคือ...ความกลัว  พอฟังผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า...แล้วความโลภ  อยากได้อยากมีนั้นมาจากพื้นฐานความกลัวด้วยหรือไม่?



มนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาตั้งแต่อดีตสมัยยุคหินยุคโบราณ...ยุคที่จะได้กินอาหารคือการต้องออกไปเสี่ยงชีวิตเพื่อล่าสัตว์  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นอาหารใคร  สมองคนเราจึงมีส่วนที่ทำงานเพื่อการปกป้องตัวเองจากอันตรายและเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์  สมองส่วนนี้คือ...อะมิกดาลา (Amygdala) สมองส่วนนี้อยู่ในส่วนลึกลงไปจากผิวนอก...เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และพฤติกรรมในทางลบ  ประสบการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด  ข้อดีของสมองส่วนนี้ก็คือเราระมัดระวังตัวเองจากความเสี่ยง  เมื่อมนุษย์เห็นเสือจะวิ่งหนีก่อนเลย  ถ้ามัวใช้สมองส่วนการคิดในเชิงเหตุผลอาจจะสั่งร่างกายไม่ทันโดนเสือคาบไปกินซะก่อน  แต่ในปัจจุบันมนุษย์อาศัยอยู่ในเมือง...อันตรายและความเสี่ยงที่มีผลถึงขั้นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บมีน้อยกว่าตอนอยู่ในป่ามาก ...แล้วถ้าอย่างนั้นเราควรตัดสมองส่วนนี้ทิ้งไปหรือเปล่า  เพราะเราก็รู้ว่าความกลัวจำกัดและส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหลายอย่าง?


ผมทิ้งไป 2 คำถามแล้วจะกลับมาตอบตอนท้ายนะครับ

ถ้าเรามองไปรอบๆตัวเราจะเห็นผู้คนมากมายที่กลัวความเสี่ยง...คนบางคนอยากจะมีเงินเดือนมากขึ้นแต่ยังจมกับงานที่ตัวเองไม่ชอบเพียงเพราะว่ารายได้มั่นคงกว่า  ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำธุรกิจของตัวเอง  ไม่กล้าสมัครงานใหม่...ไม่กล้าแม้แต่จะเชื่อว่าตัวเองดีพอ!  ,คนบางคนเคยล้มเหลวกับความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือแฟน  ก็บอกตัวเองว่าไม่ขอมีใครอีกแล้วอยู่คนเดียวดีกว่า  ซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง  พวกเขากลัวที่จะต้องเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายในเรื่องความสัมพันธ์อีกครั้ง  ทั้งที่จริงๆคนที่พวกเขาจะพบเจอในอนาคตอาจจะเป็นเพื่อนหรือคนรักที่จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีมากๆก็ได้,  ผู้ชายบางคนไม่กล้าเข้าไปทำความรู้จักกับผู้หญิงที่ตัวเองชอบเพียงเพราะกลัวว่าจะโดนปฏิเสธ...พวกเขาไม่กล้าล้มเหลวแม้ว่าความกล้านั้นอาจจะทำให้พวกเขาได้อยู่กับคนที่พวกเขาชอบจริงๆ...พวกเขาไม่เชื่อมั่นในตัวเองว่าพวกเขาดีพอ...

ความกลัวความเสี่ยงจำกัดชีวิตของเราไว้มากมายจริงๆ...

แล้วความเสี่ยงกับความกลัวความเสี่ยงเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่?

แน่นอนครับไม่มีใครชอบความเสี่ยง  เราทุกคนพยายามที่จะจำกัดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดทั้งนั้น...แต่การกลัวความเสี่ยงจนไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อยทำให้คนเราเสียโอกาสไปมาก  เช่น  บางคนกลัวการขึ้นเครื่องบินเพราะลอยขึ้นไปบนฟ้าที่เราไม่คุ้นเคยและนึกถึงภาพการตกลงจากท้องฟ้าสู่พื้นอย่างไร้ทางป้องกัน...แต่ในทางสถิติแล้วเราจะพบว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางโดยเครื่องบินมีน้อยกว่าเดินทางโดยรถยนต์มาก...นั่นเพราะข้อจำกัดในการรับรู้ของสมองเราที่ให้กลัวสิ่งที่อาจจะเกิดอันตรายไว้ก่อนเพื่อความอยู่รอด...แม้ว่าการเผชิญกับความเสี่ยงบ้างจะทำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยก็ตาม...ในระยะยาวตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี  สูงกว่าการฝากธนาคารและพันธบัตรทุกชนิดแต่กระนั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังหลีกเลี่ยงตลาดหุ้นเพราะตลาดหุ้นขึ้นๆลงๆในระยะสั้น...ดูมีความเสี่ยงสูง

คนส่วนใหญ่จึงกลัวความเสี่ยงแม้ว่ามีข้อมูลและตัวเลขที่ยืนยันว่าความเสี่ยงนั้นน้อยมากก็ตาม...

แล้วจริงๆอะไรในโลกนี้บ้างที่ไม่มีความเสี่ยง...ฝากเงินออมทรัพย์คิดว่ามั่นคงวันดีคืนดีแบงค์อาจจะเจ๊งก็ได้  ทำงานราชการคิดว่ามั่นคงทำงานแย่ยังงัยก็ไม่ถูกไล่ออกวันดีคืนดีอาจจะมีการปฏิรูประบบราชการเอาคนที่ไม่ขยันไม่มีความสามารถออกทำงานออกก็ได้  คิดว่าเป็นหมอมั่นคงก็ไม่ตกงานวันดีคืนดีทำงานผิดพลาดโดนฟ้องเข้าคุกก็อาจจะเป็นได้  ผู้หญิงมีสามีรวยไม่ต้องทำงานคิดว่ามั่นคงวันดีคืนดีสามีอาจจะเสียชีวิตการทันหันโดยมีแต่หนี้เหลือทิ้งไว้ก็เป็นได้  หรือสุดท้ายแล้ว...จริงๆแล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะตายเมื่อไรบางทีอาจจะเป็นพรุ่งนี้ก็ได้  ไม่มีใครรู้...

ความมั่นคงปลอดภัยโดยปราศจากความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิงจึงไม่มีอยู่จริง ..จะดีกว่าไหม...ถ้าเรารับรู้ความเสี่ยงตามจริงโดยไม่ให้อารมณ์กลัวมามีอิทธิพลมากนัก  และยอมรับความเสี่ยงบ้างเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือด้านจิตใจ...

ความกลัวซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์นำมาซึ่งอคติที่ผมจะกล่าวต่อไป...

8. Prospect  theory – ทฤษฏีความคาดหวัง

Prospect  theory คือ ทฤษฏีที่บอกว่า...คนเราให้คุณค่าของการได้รับ(ได้กำไร)และความสูญเสีย(ขาดทุน)แตกต่างกัน .. ทำให้คนเราตัดสินใจบนพื้นฐานของการได้รับมากกว่าการสูญเสีย... ซึ่งตาม Prospect  theory...การขาดทุนมีผลกระทบต่ออารมณ์มากกว่าการได้กำไรในจำนวนที่เท่ากัน  เช่น...เงินหายไป 100 บาท จะรู้สึกเสียใจเสียดาย ในระดับอารมณ์ที่มากกว่าเวลาดีใจตอนที่ได้เงิน 100 บาท


รูปนี้แสดงถึงเวลาที่เราได้กำไรเราจะดีใจน้อยกว่าเวลาเสียใจจากขาดทุนในจำนวนเงินที่เท่ากัน


อีกตัวอย่าง...เวลาได้เงินมา 50 บาทโดยไม่เสียไปจะรู้สึกดีกว่า...ได้เงินมา 100 บาทแล้วทำเงินหายไป 50 บาท  ทั้งๆที่ผลลัพธ์เท่ากันคือได้ 50 บาทแต่ความรู้สึกต่างกันมาก

ในเวลาที่คนเราต้องตัดสินใจ 2 ทาง ทางแรกมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้กำไร ได้ผลตอบแทนที่ดี  ทางที่ 2 มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะขาดทุนสูญเสีย...คนส่วนใหญ่จะเลือกทางแรกคือมีโอกาสที่จะได้กำไร...ลองอ่านการศึกษาต่อไปจะเข้าใจมากขึ้น...

มีการศึกษาในปี 1979 โดย Kahneman และ Tversky เกี่ยวกับ Prospect  theory โดยให้ผู้เข้าร่วมได้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับการตัดสินใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการได้กำไรและขาดทุน  โดยมีตัวอย่างคำถามในงานวิจัยดังนี้ครับ  (ลองทำไปด้วยนะครับแล้วดูว่าเราเลือกข้อไหนไป)

1. คุณมีเงิน 1,000 เหรียญและคุณต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งใน 2 ข้อนี้

ข้อ A  คุณมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้  1000 เหรียญ  และ 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ได้สักเหรียญ

ข้อ B คุณมีโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้เงิน 500 เหรียญ  (ได้แน่ๆ)

2. คุณมี 2000 เหรียญและคุณต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งใน 2 ข้อนี้

ข้อ A คุณมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะเสียเงิน  1000 เหรียญ  และ 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ได้เสียเลยสักเหรียญ

ข้อ B คุณมีโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะเสีย 500 เหรียญ (เสียแน่ๆ)

ถ้าผู้เข้าร่วมคิดและตอบคำถามอย่างมีเหตุผล...การเลือกข้อ A หรือ B มีผลไม่ต่างกันเพราะกำไรคาดหวังเท่ากัน (Expected profit)

ผลการศึกษานี้พบว่า...คนส่วนใหญ่เลือกข้อ B สำหรับคำถามที่ 1  และเลือกข้อ A สำหรับคำถามที่ 2  ซึ่งผลที่ได้นี้บอกเราว่า...คนเราต้องการได้กำไรที่แน่นอนแม้ว่าจะต้องเสียโอกาสที่จะได้กำไรมากขึ้นแล้วมีความเสี่ยง  ในทางตรงข้าม...คนเราจะยอมเสี่ยงเพื่อลดหรือจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุดแม้ว่าการตัดสินใจจะนำมาสู่ความเสี่ยงที่จะต้องเสียเงินเพิ่ม...ดังนั้นในสถานการณ์ที่กำไรหรือขาดทุนคนเราคิดต่างกัน  การขาดทุนมีผลต่อจิตใจมากกว่าการได้กำไรในจำนวนเงินที่เท่าๆกัน

เราจึงเห็นว่าคนที่เสียพนันมักจะพยายามเอาคืนด้วยการเดิมพันสูงขึ้น เล่นแบบเสี่ยงๆมากขึ้น...ในการลงทุนคนเล่นหุ้นแล้วขาดทุนก็อยากจะลงเงินมากขึ้น เล่นหุ้นปั่นหรือหุ้นที่วิ่งแรงๆเพื่อจะได้ชดเชยส่วนที่ขาดทุนไป  ส่วนคนที่ได้กำไรมักจะขายเร็วเกินไปเพราะต้องการได้เงินที่แน่นอนแม้ว่าการถือต่ออาจจะได้กำไรมากขึ้นแต่พวกเขาคิดว่ามีความเสี่ยงที่กำไรจะหายไป...พวกเขาจึงตัดสินใจขายเพื่อทำกำไรทำให้ได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะได้...

และนั่นเป็นที่มาของ...Disposition effect คือ...การที่นักลงทุนชอบขายหุ้นที่มีราคาสูงขึ้นและเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้ในพอร์ต  นักลงทุนไม่ต้องการรับรู้การขาดทุนเป็นตัวเงินจริงๆ  จึงเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้แบบนั้นแม้ว่าพื้นฐานหุ้นอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงก็ตาม...

ปีเตอร์ ลินส์...เซียนหุ้นระดับโลก ได้กล่าวว่า...” Some people automatically sell the winners and hold on to their losers, which is about as sensible as pulling out the flowers and watering the weeds” ...นักลงทุนบางคนขายหุ้นที่ชนะและเก็บหุ้นที่แพ้เอาไว้...ซึ่งดูมีเหตุผลพอๆกับเด็ดดอกไม้ทิ้งแล้วรดน้ำให้หญ้า...

การที่นักลงทุนมี Disposition effect ทำให้นักลงทุนทำผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร และไม่มีความสุข ทางแก้คือ...ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่...

1. เก็บหุ้นที่ชนะเอาไว้และขายหุ้นที่แพ้ออกไป (ขายหุ้นแพ้เพราะพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง  ไม่ใช่แค่ราคาลดลง  หรือถ้าเป็นนักเก็งกำไรจะขายเพื่อตัดการขาดทุน)  นั่นคือ...Cut loss and let profit run  จำกัดขาดทุนและปล่อยให้กำไรวิ่งไปเรื่อยๆ

2. เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่  1) ในสถานการณที่ได้กำไรมากๆ เช่น 100 บาท ครั้งเดียวกับได้กำไร 50 บาท 2 ครั้ง การรับรู้กำไรก้อนเล็กหลายๆครั้งจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น... 2) ในสถานการณ์ที่ขาดทุนมากๆ เช่น ขาดทุน 100 บาทครั้งเดียวกับขาดทุนน้อยๆหลายๆครั้ง เช่น ขาดทุน 100 บาทครั้งเดียวกับขาดทุน 50 บาท 2 ครั้ง การรับรู้การขาดทุนครั้งเดียวจะทำให้เราเจ็บปวดน้อยกว่า... 3) ในสถานการณ์ได้ทั้งกำไรและขาดทุนแต่โดยรวมยังเป็นกำไรอยู่ เช่น ได้กำไร 100 บาท แต่ขาดทุน 50 บาท การรับรู้ว่าผลรวมได้กำไร 50 บาทจะรู้สึกดีกว่าการรับรู้แบบแยกทั้งกำไรขาดทุน  4) ในสถานการณ์ที่ทั้งกำไรและขาดทุนแต่ขาดทุนมากกว่า...เช่น ขาดทุน 100 บาท ได้กำไร 50 บาท การแยกคิดว่าเราได้ทั้งกำไรและขาดทุนจะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง...

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนกรอบความคิดช่วยในเรื่องความรู้สึกได้บ้าง...สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับตามจริงอยู่ดีเพราะเราจะได้รู้ว่าเรายืนที่จุดไหน  ขาดทุนเพราะอะไร กำไรเพราะอะไร ตามความจริง...เกิดจากฝีมือหรือโชค  เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาการวิเคราะห์หุ้น การควบคุมอารมณ์และการตัดสินใจให้ดีขึ้น

คนที่เสี่ยงที่สุดคือคนที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยครับ

ปล. ผมขอติดคำถามเรื่องพื้นฐานอารมณ์เกิดจากความกลัวและการตัดสมองส่วน Amygdala ทิ้งว่าจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจดีขึ้นหรือไม่ไว้ก่อน...แล้วตอนหน้าจะมาคุยให้ฟังต่อนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น