วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 6) - สิ่งเร้าและการตอบสนองเกินจริง


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดขึ้นทุกปี...บูทที่ขายหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนมีคนไปมุงเบียดเสียดกันมากมาย  ผมไม่ประหลาดใจเท่าไรเพราะช่วงนี้ดัชนีหุ้นขึ้นมาสูงมากทำให้คนทั่วไปสนใจที่จะเอาเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น  แต่ถ้าย้อนมองกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน...ตอนไปงานสัปดาห์หนังสือแทบจะไม่มีใครดูหนังสือเรื่องการลงทุนเลย...เมื่อเวลาเปลี่ยนสิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป...


หลังช่วงวิกฤต Subprimeใหม่ๆ  มีคนขาดทุนหุ้นมากมาย  บ้างก็สาบส่งตลาดหุ้นและเลิกเล่นหุ้นไป  เวบบอร์ดต่างๆมีการตั้งกระทู้น้อยมาก  ถ้ามีใครตั้งกระทู้ที่เกี่ยวกับการเริ่มเล่นหุ้นจะต้องถูกปรามว่าอย่ามาเล่นหุ้นเลย  ช่วงนั้นผมเองก็ไม่รู้จะไปให้ใครสอนเรื่องหุ้นให้เพราะรอบๆตัวไม่มีใครเล่นหุ้นเป็นสักคน  บรรยากาศช่างแตกต่างกับตอนนี้ราวฟ้ากับดิน...

ถ้าใครเคยผ่านช่วงเวลาที่ชีวิตพบกับปัญหาหนักคงจะพอนึกออกว่าเราจะรู้สึกว่าช่วงเวลาเหล่านั้นผ่านไปช้ามาก..ราวกับจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์  แต่เวลาที่คนเราได้พบเรื่องราวที่ทำให้มีความสุขมากๆเราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วและรู้สึกเสียดายเมื่อเวลาผ่านไป...


เมื่อความเป็นจริงนั้นทุกสิ่งล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  แต่คนเราส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับอดีตที่พึ่งเกิดขึ้นมากกว่า...คนที่เพิ่งอกหักก็คิดว่าฉันจะไม่มีใครอีกแล้วจะต้องอยู่คนเดียวตลอดไป  คนที่ล้มเหลวบางคนก็ท้อแท้จนเลิกล้มที่จะทำต่อไป...คนที่เพิ่งได้รับความสำเร็จเช่น สอบได้ เล่นหุ้นได้กำไร บางคนก็คิดว่าตัวเองจะทำได้ไปตลอดไปจนละเลยการสร้างเหตุที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ  อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น...


เพราะไม่ว่าคนเราจะมีรูปแบบความคิด  ประสบการณ์ในอดีตหรือเตรียมพร้อมมาดีแค่ไหนก็ตาม...สิ่งกระตุ้นเร้าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น (Recent stimuli) ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนเรามากที่สุด...แม้ว่าคนเราจะถูกสอนให้คิดอย่างมีเหตุผล  แต่เมื่อคนเราตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่สูงไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ...ย่อมนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล...เราปล่อยให้การตัดสินใจมีอิทธิพลทางอารมณ์จากสมองส่วนลิมบิก (Limbic system – Amygdala) มาแทนที่การตัดสินใจที่มีเหตุผลจากสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ...

เซอร์ ไอแซค นิวตัน อัจฉริยะนักฟิสิกส์ผู้ค้นพบกฎแห่งการเคลื่อนที่...ได้กล่าวว่า...I can calculate the motion of heavenly bodies, but not the madness of people – ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของเทหวัตถุในท้องฟ้า  แต่ไม่ใช่ความบ้าคลั่งของฝูงชน ...(นิวตันเจ๊งหุ้น South sea company ในช่วงที่เกิดฟองสบู่เมื่อปีค.ศ. 1720)  แม้แต่อัจฉริยะยังถูกเหตุการณ์ฟองสบู่นี้กระตุ้นอารมณ์ด้านความโลภจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด...

การที่สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นทำให้อารมณ์คนเราตื่นตัวไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบ...ทำไปสู่อคติ(Bias)ในแบบที่ผมกำลังจะกล่าวถึงต่อไป...


5. Overreaction and Availability Bias การตอบสนองเกินจริงและอคติจากมองข้อมูลล่าสุด


การตอบสนองเกินจริง (Overreaction) เป็นสิ่งที่เราพบได้เป็นประจำในตลาดหุ้นเมื่อมีข่าวอะไรใหม่ๆมากระทบ...นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าตลาดหุ้นมีอารมณ์ความรู้สึก  (อย่างที่ผมเคยบอกว่าตลาดหุ้นคือผลรวมของโลกภายในของนักลงทุนและคนทั่วๆไป)  ถ้าตามทฤษฏีตลาดมีประสิทธิภาพ...ข่าวสารใหม่ๆควรจะสะท้อนในราคาหุ้นทันทีไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นเพิ่มหรือลด...เช่น ข่าวดีทำให้ราคาหุ้นขึ้นโดยราคาไม่ควรจะลดลงมาถ้าไม่มีข่าวใหม่ๆ...

ในความเป็นจริงแล้ว...บ่อยครั้งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นตอบสนองเกินจริงต่อข่าวใหม่ๆทำให้มีผลต่อราคาหุ้นอย่างมาก  นอกจากนี้การที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วไม่ได้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างถาวร เมื่อเวลาผ่านไป

ในปี 1985  Werner De Bondt และ Richard Thaler ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารทางการเงินเรื่อง “Does the Market over react?” (ตลาดตอบสนองเกินจริงหรือไม่?)  ในการศึกษานี้ได้มีการติดตามผลตอบแทนของหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์คเป็นเวลา 3 ปี โดยแบ่งหุ้นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยหุ้น 35 ตัวที่ทำผลตอบแทนดีที่สุด...เรียกกลุ่มนี้ว่า พอร์ตผู้ชนะ (Winners portfolio) และอีกกลุ่มประกอบด้วยหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุด...เรียกกลุ่มนี้ว่า พอร์ตผู้แพ้ (Losers portfolio) มีการติดตามผลตอบแทนของทั้ง 2 กลุ่มเป็นเวลา 3 ปี เทียบกับดัชนีตลาดหุ้น

ไม่น่าเชื่อว่า... Losers portfolio ชนะตลาดอย่างสม่ำเสมอ...ขณะที่ Winners portfolio ทำผลตอบแทนได้ไม่ดีนัก...โดยรวมแล้วความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลา 3 ปี

ผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้...ผู้แพ้กลายเป็นผู้ชนะ???

เกิดอะไรขึ้นอ่ะครับ...นั่นเพราะทั้งพอร์ต  Winners และ Losers portfolio เกิดการตอบสนองเกินจริงจากนักลงทุน  ในพอร์ตหุ้นที่ผลตอบแทนไม่ดี(Loser)  นักลงทุนตอบสนองต่อข่าวร้ายมากเกินไป  ทำให้ราคาหุ้นลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็น  หลังจากนั้น(เมื่อเริ่มหายผิดหวัง)นักลงทุนเริ่มตระหนักว่าพวกเขามองโลกในแง่ร้ายเกินไป หุ้นLoserเหล่านั้นเริ่มมีราคาสูงขึ้นหลังจากที่นักลงทุนได้ข้อสรุปว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่า  ในทางกลับกัน...หุ้นที่ทำผลตอบแทนดีมากๆ(Winner) นักลงทุนได้ตอบสนองต่อข่าวดีเกินความจริงไปเช่นกัน...เมื่อนักลงทุนตระหนักรู้การมองโลกในแง่ดีเกินจริง ราคาหุ้นก็มีการปรับตัวลดลงมา...

แล้วอะไรคือสาเหตุของการตอบสนองที่เกินจริง...

หลายครั้งผมพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งเมื่อแพทย์ได้บอกข่าวเรื่องพบเนื้อร้าย...แต่คนไข้เหล่านั้นกลับไม่ได้มีท่าทีผิดหวังรุนแรงหรือเสียใจฟูมฟาย...พวกเขาบอกว่าได้เตรียมใจมาก่อนแล้ว  ทำให้ทำใจได้...และยังมีความหวังในอนาคตที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด...ต่างกับคนที่เสียญาติหรือบุคคลสำคัญไปแบบทันด่วนพวกเขาร้องไห้เสียใจมากเพราะไม่ได้เตรียมใจมาก่อนเรื่องราวมันเกิดขึ้นเร็วเกินไป...

มนุษย์เรามีความคาดหวังต่อสิ่งต่างๆ(Expectation)...นักลงทุนคาดหวังว่าซื้อแล้วหุ้นต้องขึ้น  ผลประกอบการต้องดี...บางคนไม่ได้มองว่าจะมีโอกาสที่จะเกิดเรื่องร้ายๆกับบริษัท  ไม่ได้เตรียมใจว่าราคาหุ้นอาจจะลง  ไม่ได้มองความเสี่ยงไว้เลย...เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกินขึ้น  นักลงทุนเหล่านั้นจะเกิดอาการ”ผิดหวัง” แล้วทุกคนจะมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ...นำไปสู่ราคาหุ้นที่ตกต่ำเกินจริง...หุ้นบางตัวที่คนคาดหวังน้อยๆ...เมื่อมีข่าวดีออกมา เช่น บริษัททำกำไรได้ดีเกินคาด...จะทำให้นักลงทุนเกิดอาการลิงโลด(ยิ่งกว่าสมหวังเพราะดีเกินคาด) ไล่ซื้อหุ้นจนราคาวิ่งไปไกลมาก...

เราควรซื้อหุ้นที่ความคาดหวังต่ำกว่าคุณภาพของบริษัทที่เป็นจริงเพราะราคามักจะต่ำกว่ามูลค่า (Undervalue)...ถ้าความคาดหวังเท่าๆกับผลกำไรของบริษัทเมื่อประกาศงบออกมาจะเกิดการขาย (Sell on fact) ถ้าผลประกอบการน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดจะเกิดอาการผิดหวังยิ่งแย่งกันเทขาย  ถ้าผลประกอบการดีกว่าที่นักลงทุนคาด..คนจะลิงโลดแย่งกันซื้อจนราคาจะวิ่งไปไกล...ดังนั้นเราควรอ่านความคาดหวังของตัวเราเองให้ออกเพื่อจะได้ระวังอาการผิดหวัง...และอ่านความคาดหวังของนักลงทุนทั่วๆไป(นายตลาด)ให้ออก  แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพื้นฐานของบริษัทที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง...

ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ซื้อหุ้นที่ดูดีมีอนาคตที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวังหรอกนะครับ...แต่ผลประกอบการและการเติบโตนั้นจะต้องดีมากกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวัง...และนี่จะเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีความคาดหวังต่ำเช่นกันครับ...

เมื่อเรารู้แล้วว่าการตอบสนองเกินจริงมาจากความผิดหวังหรือดีเกินคาดต่อสิ่งกระตุ้นเร้า (Response to stimuli)...นักลงทุนจะได้ประเมินความคาดหวังของตัวเอง  มองข้อเสียและความเสี่ยง..มองข้อดีและโอกาสของบริษัทตามจริง (สร้างแบบจำลองสถานการณ์ไว้หลายๆแบบ)  มีสติไม่หลุดไปตามอารมณ์ของตลาด  ฝึกให้เรามีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นแล้วใช้ประโยชน์จากการตอบสนองเกินจริงของนายตลาด...ต้องไม่ประมาทครับ

ส่วน Availability bias เกิดจากผู้คนมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักในการตัดสินใจกับข้อมูลที่เพิ่งเกิดขึ้น...(แล้วก็มีการตอบสนองเกินจริงตามมา)

การได้รับอิทธิพลจากข้อมูลล่าสุดนั้นเกิดขึ้นในชีวิตคนเราตลอดเวลา...เช่น  เราขับรถกลับบ้านบนถนนที่คุ้นเคยทุกๆวัน  อยู่มาวันหนึ่งเราเห็นรถยนต์เกิดอุบัติเหตุบนถนนเส้นนั้น...หลังจากนั้นเป็นได้ว่าเราจะเริ่มขับรถด้วยความระมัดระวังมากกว่าแต่ก่อนอาจจะนานเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือน...ความน่าจะเป็นที่จะเกิดอุบัติเหตุบนถนนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  เพียงแต่เหตุการณ์ที่เราพบเห็นอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เราตอบสนองเกินจริงไป  หลังจากนั้นเมื่อเราเคยชินเราจะกลับมาขับรถเหมือนเดิม....

ลองมองดูรอบๆตัวเราได้ครับ...เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆเลยครับ...

บางทีการที่เรามองใกล้ๆ  อาจทำให้เรามองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด  การที่เรามองข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยขาดมุมมองระยาวนั้น...อาจทำให้เราตัดสินใจโดยไม่สมเหตุผล  ถ้าเรามองไกลขึ้นอีกหน่อย  ถอยออกมาอีกนิด...เราจะเห็นว่าข่าวดีหรือข่าวร้ายเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว  แต่ที่สำคัญกว่าคือข่าวนั้นกระทบผลการดำเนินงานของบริษัทมากน้อยแค่ไหน  ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว...บางทีวิกฤตจากข่าวร้ายที่ทำให้ราคาหุ้นต่ำมากๆจากการตอบสนองเกินจริง...อาจเป็นโอกาสทองของนักลงทุนผู้มองผ่านเปลือกของข่าวดีข่าวร้ายเข้าไปสู่แก่นของคุณค่าที่แท้จริงของบริษัทก็เป็นได้...

คำพูดของ Warren Buffet ที่บอกว่า...Be fearful when others are greedy and greedy only when others are fearful ให้กลัวเมื่อคนอื่นโลภและให้โลภเมื่อคนอื่นกลัว...ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ...ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก  กล้าสวนกระแสคนส่วนใหญ่...แต่ทำได้แน่นอน...ถ้าเราฝึกฝนตัวเองให้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันไม่ว่าจะดีหรือร้าย...มองให้ไกลขึ้น  มองให้กว้างขึ้น...

ลงทุนและใช้ชีวิตด้วยจิตใจที่มีความสุขและมีความหวังนะครับ  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ต่อไปก็ตาม...

เพราะทุกสิ่งไม่ว่าจะดีหรือร้าย...สุดท้ายแล้วมันจะผ่านไปเสมอ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น