ในซีรีย์นี้จะมี 4 ตอนนะครับ จะพูดถึงแนวคิดดังต่อไปนี้ 1. แนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพ 2. การเงินเชิงพฤติกรรม 3. หลักปฎิกิริยาสะท้อนกลับ 4. การเจริญสติกับการลงทุน
เริ่มต้นด้วยความที่ตัวผมเป็นจิตแพทย์(แพทย์ประจำบ้าน)และนักลงทุนจึงได้มีความคิดที่จะนำเรื่องจิตใจมาประยุกต์ใช้ในการลงทุน รวมถึงการเข้าใจจิตใจของมนุษย์ให้มากขึ้นผ่านเส้นการลงทุน ทั้งจิตใจและพฤติกรรมของตัวผมเองและมนุษย์ทั่วๆไปในสังคม... (เผื่อท่านอาจารย์จะได้ไม่ว่าผมไม่ขยันเรียนด้วยเพราะผมกำลังศึกษาเรื่อง Cognitive and behavioral psychology through financial and stock market 555)
เพราะอะไรผมถึงพยายามเอาจิตใจมนุษย์มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการลงทุนล่ะ...อันนึงเป็นรูปธรรมอีกอันเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกันเลย...
แต่ขอบอกเลยครับว่า...เกี่ยวกันอย่างมาก...เพราะเงินเป็นสิ่งสมมุติ เงินคือเศษกระดาษด้วยตัวของมันเอง การให้ค่าของเงินว่ามีเท่าไรผู้ที่ให้ค่าของมันคือมนุษย์ (น่าตลกที่ตอนหลังมนุษย์บางคนกลับตกเป็นทาสของสิ่งที่คิดขึ้นมาซะเอง) แม้แต่สินทรัพย์อื่นๆก็เช่นกัน...มนุษย์คือผู้ที่กำหนดคุณค่าและราคา ตามกลไปการตลาด ผู้ที่ใช้สินค้าก็คือมนุษย์ (แม้จะใช้ในสัตว์หรือสิ่งของก็เป็นสิ่งที่มนุษย์นำไปใช้และจะต้องเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับมนุษย์อยู่แล้ว...) ความต้องการสินค้าในตลาด (Demand) ก็เกิดขึ้นโดยมนุษย์.... การจัดหาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ (Supply) ก็เกิดจากมนุษย์เช่นกัน...แม้แต่การลงทุนเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของโลกก็เกิดจากการตอบสนองความคิดความเชื่อของมนุษย์นั่นเอง และอื่นๆอีกมากมาย
ดังนั้น...ถ้าเราจะเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนอย่างลึกซึ้งเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจมนุษย์...ที่สำคัญที่สุดคือเข้าใจตัวเราเอง...
ในทางจิตวิทยา...การเริ่มต้นของพฤติกรรมนั้นมีรากฐานมาจากความคิดและอารมณ์ (Thought and feeling) ซึงมาจากความเชื่อ(Core believe)อีกที แล้วจึงแสดงออกมาทางพฤติกรรมตามสถานการณ์ที่มนุษย์คนนั้นได้รับรู้... ดังนั้นการที่จะเข้าใจพฤติกรรมของคนในตลาดจึงต้องมีที่มาจากการเข้าใจความเชื่อ การรับรู้ ความคิด และอารมณ์ของมนุษย์... Aaron Beck จิตแพทย์นามอุโฆษชาวอเมริกัน...พูดถึงการตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวกันของมนุษย์ว่ามีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการแปลผลและมุมมองของบุคคลต่อสถานการณ์ดังกล่าว...เช่น หุ้นตกอย่างมากคนนึงอาจจะมองว่าแย่แล้วหายนะแล้ว...อารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย อีกคนอาจจะมองว่า..ช่างโชคดีจริงๆ...นี่คือโอกาสที่เขาเฝ้ารอมานานแล้ว เป็นต้น
สิ่งที่กระตุ้นสมองส่วน limbic system (ทำงานเกี่ยวกับสัญชาตญาณการอยู่รอดและเรื่องอารมณ์) อย่างมากนอกจากเรื่องเพศ ความตาย ...ก็คือเรื่องเงิน ดังนั้นมนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุผล(Irrational behavior) กับเรื่องเงินเนื่องจากการเอาอารมณ์มาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ...
เงิน นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ในอดีตกาลคิดค้นขึ้นมา...จากเดิมเราเอาข้าวไปแลกปลา เราเอาขนมปังไปแลกเสื้อผ้า โดยอาจจะมีอัตราส่วนตามที่คนที่แลกกันยอมรับหรือสังคมโดยรวมเป็นผู้กำหนด...วิธีนี้อาจจะยุ่งยากเพราะต้องพกของไปไหนมาไหนด้วย.... มนุษย์จึงมีการคิดตัวกลางในการแลกเปลี่ยนคือ เงิน นั่นเอง...ซึ่งโดยตัวเงินอาจจะไม่ได้มีค่าอะไรแต่มนุษย์สมมุติให้มันมีค่าขึ้นมา... สมัยเด็กๆป.4-ป.5ผมเคยถามเพื่อนว่าถ้าให้มีเงินกับให้สามารถได้สิ่งที่ต้องการตามปรารถนาได้จะเลือกอะไร เพื่อนผมคนนั้นเลือกเงิน...แต่ผมเลือกสิ่งที่ผมอยากได้โดยตรงเพราะผมมองว่าเงินซื้อไม่ได้ทุกสิ่ง ยกตัวอย่างเช่น... เงินซื้อหนังสือได้ แต่การลงทุนลงแรงอ่านและวิเคราะห์ ฝึกฝนทักษะในการนำความรู้ไปใช้นั้น เงินทำไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ลงทุนลงแรง...
ฝีมือในการลงทุนนั้นเงินก็ซื้อไม่ได้...ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง...
ในโลกของการลงทุนมี 3 แนวคิดหลักๆ...ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนในตลาด
1. ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market theory)
ถูกอธิบายครั้งแรกโดยนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Louis Bachelier (ไม่กล้าแปลเป็นไทย...เด๋วออกเสียงผิด) ทฤษฎีนี้บอกว่า...Financial markets are "informationally efficient" ตลาดเงินตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งรวมข่าวสารที่มีผลกระทบและตอบสนองต่อทุกอย่างที่เข้ามาอย่างมีประสิทธภาพ... ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้น ในราคาหุ้นนั้นรวมทั้งข่าวดีและข่าวร้ายไว้หมดแล้ว จึงไม่มีทั้งความถูกหรือความแพงในขณะนั้น เป็นราคาที่เหมาะสม...คนที่เห็นว่าน่าซื้อก็ซื้อคนที่เห็นว่าน่าขายก็ขายออกไป...ตลาดถือว่าคนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารเท่ากันหมด... ความเห็นของคนส่วนใหญ่คือความเห็นที่ถูกต้อง
ทฤษฎีนี้ถูกขยายความโดย Eugene Fama โดยเขาตั้งสมมุติฐานว่าต้องมีปัจจัยเหล่านี้ตลาดจึงจะมีประสิทธิภาพ...1. นักลงทุนมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและหุ้น 2. นักลงทุนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายและรวดเร็วในต้นทุนที่ต่ำ (ไม่มีพวกวงใน) 3. ปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบจะเป็นลักษณะสุ่ม (Random) ทั้งข่าวดีและข่าวร้าย 4. นักลงทุนตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ทำให้ราคาตอบสนองทันที (เรียกว่าเปิดตลาดมาเจอ Fair value กันเลยทีเดียว 555)
สมมุติฐาน Random walk(รอยเท้าคนเมา...) พูดถึงราคาในตลาดเงินตลาดทุนว่าเคลื่อนไหวแบบสุ่ม...คาดเดาไม่ได้
Fama แบ่งความมีประสิทธิภาพของตลาดออกเป็น 3 ระดับ 1. Strong form 2. Semi strong form 3. Weak efficiency ซึงระดับการตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารก็จะลดหลั่นกันไป...
เป็นแนวคิดที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากในปัจจุบันในหมู่นักการเงิน นักลงทุน ...ตามทฤษฎีนี้การได้ผลตอบแทนชนะตลาดถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก...ยกเว้น...โชคดี
แนวคิดนี้เชื่อในมุมมองของคนส่วนใหญ่...ซึ่งก็มีข้อมูลสนับสนุนมากมาย เช่น กองทุนแบบ active fund ที่ซื้อๆขาย เอาชนะผลตอบแทนของกองทุนดัชนีได้ไม่กี่กองเท่านั้น... หรือ ราคาหุ้นมีการตอบสนองต่อข่าวอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจะรอให้ข่าวดีออกมาก่อน รอผลประกอบการสวยๆก่อน แล้วค่อยซื้อนั้นมักจะได้ราคาแพงที่ตอบสนองต่อข่าวดีไปแล้ว... รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นคาดเดาไม่ได้อีกด้วย
นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหลายๆคนปฎิเสธแนวความคิดนี้บางส่วน...Warren Buffet นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหมายเลขหนึ่งของโลกบอกว่า... I’d be a bum on the street with a tin cup if the markets were always efficient ...ผมคงต้องไปถือถ้วยขอทานข้างถนนถ้าตลาดมีประสิทธิภาพตลอดเวลา... จากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าบัฟเฟตไม่เชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ”ตลอดเวลา” ...แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพเช่นกัน เพียงแต่”บางเวลา”ตลาดก็ทำพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลออกมา...
การปฎิเสธแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงเป็นสิ่งที่อันตรายมาก...เพราะเราอาจจะประมาท ...เช่นมีข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่เราอาจจะยังไม่รู้แต่ตลาดรู้หรือเราอาจจะวิเคราะห์ได้ไม่ถูกเท่ากับคนส่วนใหญ่...ถ้าหุ้นลงมากยิ่งซื้อ...จริงๆปัจจัยพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่ทราบ ถ้าหุ้นขึ้นมากๆก็ขายทั้งๆที่ปัจจัยพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนดีขึ้นมากๆโดยที่เราไม่ทราบ ยิ่งปัจจุบันนักลงทุนแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ ผู้จัดการกองทุนของต่างชาติและไทยล้วนแต่เป็นหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชื่อดังและถูกฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว...ข้อมูลข่าวสารก็มากและรวดเร็วกว่านักลงทุนรายย่อยมากมายและเป็นผู้คุมเงินส่วนใหญ่ในตลาด...รายย่อยเองตอนนี้นักลงทุนเก่งๆที่ทำการบ้านศึกษาวิเคราะห์ก่อนซื้อขายด็มีมากขึ้นเรื่อยๆ...ดังนั้น อย่าละเลยแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ...
เหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพนั้นมีอยู่มากมาย เช่น...การที่คนวงใน เช่น เจ้าของบริษัทรู้ข่าวก่อน การเกิดฟองสบู่และการตกต่ำจากฟองสบู่แตก...(Boom and burst bubble cycle) EMT อธิบายเรื่องเหล่านี้ไม่ได้...
และแน่นอนครับ...ผมก็เชื่อว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลาหรอก...ไม่อย่างนั้นผมก็เลิกลงทุนเองไปซื้อกองทุนดัชนีดีกว่า...สบายอีกต่างหาก 555 ผมแค่ไม่ประมาทเท่านั้นเอง และเตือนให้นักลงทุนให้ระวังความมั่นใจที่มากเกินไป(Overconfidence) ซึ่งจะอธิบายในบทต่อไปครับ...
ติดตามตอนต่อไปนะครับ...
ปล. ในตอนสุดท้ายของseries ผมจะแถมเรื่องการพัฒนาจิตใจสำหรับนักลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนทั้งตัวเงินและความสุขด้วยครับ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น