“เอ้า!... เด็กๆ ...ของ 4 อย่างนี้มีอะไรต่างจากข้ออื่นค้าบบ...?”
ตั้งแต่สมัยเด็กตอนเรียนหนังสือเรามักจะถูกสอนเรื่องการจัดกลุ่ม ถ้าของสิ่งใดมีลักษณะคล้ายกันจะรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน เวลาแบ่งหลักสูตรเนื้อหาวิชาก็จะแบ่งวิชาที่มีลักษณะคล้ายๆกันเข้าในกลุ่มเดียวกัน เช่น คณิตศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับตัวเลข วิทยาศาสตร์จะพูดถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ วิชาสังคมศึกษาพูดถึงลักษณะทางสังคมของมนุษย์...เป็นต้น แม้ว่าในชีวิตจริงๆทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออกก็ตาม...แต่การแบ่งการเรียนให้เป็นหมวดหมู่ก็ทำให้ง่ายต่อการศึกษา
เราจะพบเรื่องการแบ่งหมวดหมู่ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ...เวลาที่เราเข้าไปร้านค้าขนาดใหญ่ เรามักจะมองหาป้ายที่บอกหมวดหมู่สินค้าที่เราสนใจเพื่อไม่ให้เดินวนไปวนมา ช่วยลดเวลาหาสินค้าลงได้มาก, บ้านถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนตามการใช้งาน เป็นห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอน แม้ว่าบางครั้งเราจะอาศัยในคอนโดห้องที่มีห้องเดียวก็ตามที, เวลาเราคบใครซักคนเราจะจัดให้อยู่ในกลุ่มต่างๆ เช่น เพื่อนสนิท แฟน เพื่อนธรรมดา ศัตรูคู่แข่ง ตามแต่ที่สมองของเราจะกำหนดโดยที่เราไม่รู้ตัว...
มนุษย์เรามีการจัดแบ่งสิ่งต่างๆออกเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและการนำมาใช้ ทำให้มนุษย์พัฒนาเร็วกว่าสัตว์โลกชนิดอื่นๆเพราะนี่คือผลจากการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ในการบอกความเหมือนและความต่าง (Similarity and different) เพื่อนำไปสู่การจัดกลุ่มและหมวดหมู่ในที่สุด...
แม้แต่เรื่องเงินก็มีการแบ่งกลุ่มเช่นกันครับ...
ผมเป็นคนนึงที่ไม่ชอบใช้บัตรเครดิตเลย เพราะถูกสอนมาว่าเป็นการใช้เงินอนาคต ถ้าเป็นหนี้จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยและจ่ายเงินมากกว่าที่ใช้จริง ผมจึงไม่ทำบัตรเครดิตเลยจนพึ่งได้ทำเมื่อปีที่แล้วนี่เอง (ทำไปใบเดียวและคิดว่าคงจะไม่ทำอีกแล้ว)...จากเดิมที่ผมเคยมีวินัยในการใช้จ่ายเงินผมพบว่าหลังจากมีบัตรเครดิตผมรูดปื๊ดดๆจ่ายเงินบ่อยขึ้น...ยอดใช้เงินผมสูงกว่าที่ผ่านมา และที่สำคัญผมเคยรูดจนติดหนี้บัตรเครดิตอีกด้วย (..แต่แค่ 1-2 เดือนนะครับเพราะคิดค่าใช้จ่ายไม่รอบคอบทำให้เงินในบัญชีไม่พอจ่ายทั้งๆที่ผมคิดว่ามีอยู่เหลือเฟือ)
สิ่งที่ทำให้การใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตสูงขึ้นกว่าการใช้เงินสดส่วนนึงเพราะสมองเราให้ความสำคัญของเงินพลาสติกต่างจากเงินสดที่เราจ่ายออกไปจริงๆ...เราไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายเมื่อต้องจ่ายเงินพลาสติกแต่เรารู้สึกเจ็บปวดและสูญเสียเมื่อเราต้องจ่ายเงินสด...เราจึงระมัดระวังในการจ่ายเงินสดแต่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับเงินพลาสติก
และนั่นเป็นส่วนนึงที่ทำให้...ยอดหนี้ค้างชำระบัตรเครดิตของประเทศไทยปี 52 อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และตัวเลขสูงอย่างนี้ทุกประเทศทั่วโลก
ในบ่อนคาสิโนต้องให้มีการแลกเงินสดเป็นชิปก่อนจึงจะเล่นพนันได้...นั่นเพราะเวลาที่เราเสียเงินในรูปแบบของชิปเราจะไม่รู้สึกอะไรมากเราจึงเล่นได้เรื่อยๆ...แต่เวลาที่เราเสียเงินสดเราจะรู้สึกสูญเสียเสียดาย...
การแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่โดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นที่มาของการบริหารจัดการเงินที่ไม่เหมือนกัน...นั่นทำให้เกิดอคติ(Bias) ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป
7. Mental accounting – บัญชีในใจ
อคติจากการทำบัญชีในใจ ...คือการที่คนเรามีแนวโน้มแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่ เป็นบัญชีต่างๆตามจุดประสงค์ ตามแหล่งที่มา ตามเป้าหมายของการใช้งานของเงินก้อนนั้น และทำให้คนเราตัดสินใจและทำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลจากการแบ่งกลุ่มของเงินที่คิดขึ้นมาในสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว...เช่น เราอาจจะเห็นคนเก็บเงินก้อนไว้ในธนาคารเพื่อซื้อบ้านใหม่หรือพักร้อนประจำปี ขณะที่ยังไม่ยอมใช้หนี้บัตรเครดิตให้หมดซะที...ซึ่งเงินก้อนที่เก็บก็ไม่ได้ดอกเบี้ยมากมายแต่หนี้บัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ย 15-20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี...(ถ้ามีการใช้จ่ายเพิ่มก็คิดเพิ่มไปอีก)
กรณีนี้การเอาเงินไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตน่าจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่า...
แล้วเพราะอะไรคนส่วนใหญ่ถึงไม่ทำแบบนั้น...นั่นเพราะความคิดและทัศนคติที่ต่างกันกับเงินแต่ละก้อน เช่น เงินที่เก็บไว้ซื้อบ้านเราจะคิดว่าสำคัญมากเป็นเงินเพื่ออนาคตของครอบครัวเราจะไม่ยอมให้เสียไปง่ายๆแม้ว่าการที่ยอมเอาเงินเก็บเอาไปจ่ายหนี้จะทำให้ฐานะทางการเงินโดยรวมดีขึ้นก็ตาม...
ยกตัวอย่างอีกข้อ...สมมุติว่าเรากำลังจะไปซื้อคริสปี้ครีมราคา 250 บาท กรณีที่1 ต่อคิวซะนานเลยพอมาถึงปั๊บ...อ้าวเงิน 250 บาทหายไป ค้นจนทั่วก็ไม่เจอแต่คุณยังมีกระเป๋าสตางค์อยู่ กรณีที่ 2 เข้าคิวซื้อจนได้คริสปี้ครีมมากินสมใจอยาก ปรากฏว่า...มือลื่นทำหล่นขนมเองตกพื้นไปหมดเลยต่อหน้าพนักงาน กรณีไหนที่คุณจะควักเงินซื้ออันใหม่...
ถ้าพูดตามจริงแล้วทั้งสองกรณีถือว่าเสียเงินเท่ากัน คือ 250 บาท...ดังนั้นเราควรจะตัดสินใจไปแนวทางเดียวกันถึงจะถูก แต่จริงๆแล้วเราไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะเจ้าอคติจากบัญชีในใจเนี่ยแหละ กรณีแรกคนส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อเพราะเงินยังไม่ได้ถูกจ่ายออกไป (ในสมองเงินก้อนนี้ยังไม่ถูกจัดเป็นรายจ่ายสำหรับค่าอาหาร) แต่กรณีหลัง...เงินถูกจ่ายไปแล้วทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ซื้ออีกหลักจากขนมตกพื้นไปแล้ว...
สมองคนเราจะมีการจัดเงินเป็นกลุ่มๆตามที่มาและวัตถุประสงค์โดยที่เราไม่รู้ตัว มีบัญชีรายได้ในใจ ซึ่งแบ่งที่มาของเงินด้วยว่าได้มาง่ายหรือได้มายาก ถ้าเงินก้อนที่ได้มายากเราจะไม่ยอมเสียไปง่ายๆ เช่น เงินจากการทำงานหนัก แต่กับรายได้ที่ได้มาง่ายเช่น ถูกหวย ถูกลอตเตอรี่ โบนัส เราจะเสียเงินก้อนนี้ไปง่ายเช่นกัน...
ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ว่าเงินจะมาจากไหนก็มีค่าเหมือนกัน...การให้คุณค่าแตกต่างกันตามแหล่งที่มาคือพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล...ไม่สำคัญว่ารายได้จะได้มาง่ายหรือมายากตราบใดที่เป็นรายได้โดยสุจริตก็มีผลดีต่อความมั่งคั่งโดยรวมของเราทั้งสิ้น การใช้จ่ายก็มีผลต่อเงินโดยรวมในกระเป๋าเราเช่นกัน...
ในการลงทุน...บัญชีในใจก็มีผลต่อการลงทุน เช่น นักลงทุนบางคนทำการแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 2 พอร์ต พอร์ตนึงลงทุนแบบระยะยาวเน้นความปลอดภัย อีกพอร์ตลงทุนแบบเน้นเก็งกำไรซื้อหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงๆ...เจตนาก็เพื่อผลตอบแทนสูงๆจากพอร์ตเก็งกำไรและความมั่นคงปลอดภัยจากพอร์ตลงทุน แต่อย่างไรก็ตามการแบ่งพอร์ตก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรวมพอร์ตขนาดใหญ่เพียงพอร์ตเดียว และในทางปฏิบัติเราอาจจะลงทุนความเสี่ยงสูงมากๆกับพอร์ตเก็งกำไรเพราะเราคิดว่าเป็นเงินที่เสียได้ทำให้มีความเสียหายจากการเก็งกำไรตามมาได้...การลงทุนในหุ้นไม่ว่ารูปแบบไหนก็ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งสิ้น...
รวมไปถึงการได้กำไรจากการลงทุนหรือการเก็งกำไรมาแบบง่ายๆ...เราจะแบ่งเงินทั้งก้อนเป็นต้นทุนและกำไร ส่วนที่กำไรเราจะระมัดระวังกับเงินก้อนนี้ลดลง ซื้อหุ้นก็ไม่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดเหมือนตอนแรกเพราะคิดว่าเป็นกำไรที่ได้มาจะเสียไปก็ไม่เป็นไร...ทั้งที่จริงๆแล้วเราต้องให้ความสำคัญกับเงินทั้งก้อนเท่าๆกันเพราะเป็นเงินเหมือนกัน ต้องคิดว่าเหมือนกับว่าเงินนี้ได้มาจากการทำงาน...
ไม่ว่าเงินจะอยู่ในรูปแบบไหนหรือมาจากแหล่งใดแต่ ”เงินก็คือเงิน” ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เงินที่ได้มาง่ายๆก็มีคุณค่าไม่ต่างจากเงินที่ได้มาด้วยความยากลำบาก...
เรื่องเงินและการลงทุนไม่มีคำว่าสองมาตราฐานครับ...อิอิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น