วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุน (Risk management)

ความเสี่ยง(Risk) เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นการพูดถึงโอกาสที่จะเกิดผลในทางลบที่เราไม่ปรารถนา ซึ่งคำนี้มีใช้กันแทบจะทุกวงการ ในทางการแพทย์ก็ต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนทำการรักษาด้วยยา (Risk-Benefit) ในทางวิศวกรรมโยธาก็ต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในการสร้างตึกที่อยู่พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ในอุตสาหกรรมโรงงานที่คนต้องทำงานกับเครื่องจักรก็ต้องมีการป้องกันและลดความเสี่ยงที่คนทำงานจะได้รับอันตรายจากเครื่องจักร

แม้แต่ในชีวิตประจำวันเราจะมองเห็นความเสี่ยงมากมาย
...เวลาขับรถก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีความเสี่ยงที่เครื่องยนต์จะหยุดทำงาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดยางระเบิด
...เวลานั่งเครื่องบินก็มีความเสี่ยงที่เครื่องจะตก มีความเสี่ยงที่จะเกิดความล่าช้า มีความเสี่ยงที่จะตกหลุมรักแอร์โฮสเตส 555+
...เวลาเข้าไปจีบสาวก็มีความเสี่ยงที่เค้าจะมีแฟนแล้ว มีความเสี่ยงที่เค้าจะปฏิเสธเรา
...แม้แต่นอนอยู่เฉยๆก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม

ในเรื่องการลงทุนก็เช่นกัน


เวลาที่เราพูดถึงการลงทุนเรามักจะได้ยินคำเตือนที่ว่า  “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” คนที่ได้ยินข้อความนี้อาจจะคิดไปได้หลายแบบ เช่น คนนึงอาจจะคิดว่า “ลงทุนแล้วเสี่ยงเกินไป อย่าเอาเงินลงทุนเลย เอาไปฝากแบงค์ดีกว่าปลอดภัยกว่า” หรืออีกคนอาจจะคิดว่า “อืม...ก่อนจะตัดสินใจลงทุนเราต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ไม่ใช่มองเห็นแต่โอกาสจนละเลยความเสี่ยง”

เรามาพูดถึงแนวคิดแรกกันก่อน...การลงทุนเสี่ยงเกินไป คนธรรมดาแบบเราๆไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เอาเงินฝากแบงค์ไว้ปลอดภัยกว่า...

ถ้าอย่างนั้นเราลองมามองกลับกันว่า...การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำที่เรามองว่าปลอดภัยมากนั้นมีความเสี่ยงอย่างไร?

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล ที่ออกล่าสุดปี 54 อยู่ที่ 3.35 เปอร์เซ็นต์ อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์สูงสุดอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ อัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีสูงสุดอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ...แต่อัตราเงินเฟ้อปี 53 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.3 เปอร์เซนต์ ซึ่งในปี 54 คาดว่าตัวเลขจะสูงกว่านี้อีก (ตัวเลขข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยคาดว่าน่าจะสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์

นั่นคือ...ถ้าเรากองเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ เงินของเราจะค่อยๆสูญค่าไปทีละน้อยในระยะยาวจากผลของเงินเฟ้อ แม้ว่าตัวเลขจะดูเท่าเดิมเหมือนเราไม่ได้สูญเสียอะไรไป

นี่ใช่ความเสี่ยงหรือเปล่า? นี่ยังไม่นับความเสี่ยงที่สถาบันทางการเงินจะล้มเหมือนปี 40 หรือโอกาสที่พันธบัตรรัฐบาลจะถูกลดมูลค่ากลายเป็น junk bond เหมือนในประเทศกรีซ

ถ้าอย่างนั้นเราลองเปลี่ยนมุมมองจากการมองหาชีวิตที่ปราศจากความเสี่ยง...ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่มีอยู่จริง  มาเป็นการใช้ชีวิตกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ ความเสี่ยงที่เราเข้าใจและป้องกันมันได้ดีกว่าใหม?

ซึ่งนั่นคือการบริหารจัดการความเสี่ยง...

การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้น (Risk management)

1.การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset allocation)

การจัดสรรเงินทุนที่มีอยู่กระจายไปในสินทรัพย์ต่างๆในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยคิดจากกำไรคาดหวังเป็นหลัก (Expected profit)  โดยมากสินทรัพย์ที่เราจะถือมากขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นราคาแพงมากๆและหาหุ้นถูกยาก คือ เงินสด และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง (Money market fund) เพราะในช่วงวงจรเศรษฐกิจที่เข้าสู่จุดที่รุ่งเรืองที่สุดนั้น เงินเฟ้อจะสูงมาก อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเพื่อดึงเงินเข้าสู่ระบบ ดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นจะสูงขึ้น ความแตกต่างของผลตอบแทนในตราสารหนี้และหุ้นจะแคบลง (Earning yield gap) เนื่องจาก PE ratio ของตลาดและหุ้นรายตัวจะสูง เมื่อคิดส่วนกลับของ PE ratio จะมีค่าต่ำลง (Earning yield ลดลง) สวนทางกับดอกเบี้ยในพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้นผลต่างการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้จึงน้อยลงแม้ว่าหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

การลดขนาดพอร์ตหุ้นแล้วมาถือเงินสดหรือตราสารหนี้ระยะสั้นจึงเป็นการลดความเสี่ยงที่ดี เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจรุ่งเรืองถึงขีดสุดจะเข้าสู่ช่วงถดถอยตามมา และตลาดหุ้นจะนำเศรษฐกิจจริงอย่างน้อย 6 เดือน ตลาดหุ้นที่ขึ้นไปสูงแล้วอาจจะตกหนักได้แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะยังดี

โดยหุ้นที่เราจะพิจารณาขายคือหุ้นที่ upside น้อย, เต็มมูลค่า หรือเกินมูลค่าไปแล้ว เพราะเมื่อหุ้นเข้าสู่โซนขายกำไรคาดหวังจะเริ่มติดลบนั่นเอง ถ้าหุ้นที่เรากะถือยาว 5 ปีโดยที่พื้นฐานธุรกิจไม่ถูกกระทบโดยภาพรวมมากนัก ก็สามารถถือต่อได้

นี่คือการลดความเสี่ยงของตลาดโดยรวม

2. การกระจายอุตสาหกรรมที่จะเข้าลงทุน (Diversification)

ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวจะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นร่วมกัน... เช่น ราคาน้ำมันจะมีผลโดยตรงกับธุรกิจพลังงาน ถ้าเกิดน้ำมันราคาถูกลง (อาจจะจากการค้นพบบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ หรือการที่เกิดพลังทางเลือกมาแทนที่น้ำมัน) ธุรกิจพลังงานจะได้ผลกระทบโดยตรง บริษัทที่ผลิตถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน จะมีกำไรลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงไปด้วย (น้ำมันราคาตกถ่านหินก็จะราคาตกเนื่องจากทั้งคู่เป็นสินค้าที่ใช้ผลิตพลังงานในโรงงานไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ราคามักจะไปด้วยกัน โดยถ่านหินจะเป็นพลังงานราคาถูก)

(แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น...ในปัจจุบันน้ำมันก็ยังเป็นพลังงานหลักของมนุษย์ซึ่งพลังงานทางเลือกยังไม่สามารถมาแทนที่ได้ แม้แต่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างเทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆไว้วางใจโดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อช่วงที่ผ่านมา พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังมีราคาแพงและผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก ซึ่งอาจจะมีบทบาทเมื่อน้ำมันมีราคาสูงมากๆเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่)

หรือการที่ค่าเงินบาทจะมีผลโดยตรงกับธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจนำเข้า ถ้าเงินบาทแข็งขึ้น ธุรกิจส่งออกจะได้รับผลกระทบเพราะการที่ได้รับรายได้เป็นเงินดอลล่าร์ เมื่อคิดเป็นเงินบาทจะน้อยลงแต่ต้นทุนเงินบาทยังเท่าเดิม ส่งผลให้กำไรลดลงมาก หรือแม้ว่าต้นทุนจะเป็นเงินดอลล่าร์แต่กำไรก็ยังลดลงอยู่ดีเมื่อคิดเป็นเงินบาท

หรืออุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคส์ ที่มีความเสี่ยงจากอายุของเทคโนโลยีค่อนข้างสั้น ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาอาจจะทำให้สินค้าตกยุคและขายไม่ออกได้

การถือหุ้นที่อยู่ในธุรกิจกลุ่มเดียวกัน หรือมีความเสี่ยงในเรื่องเดียวกัน จึงมีความเสี่ยงถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่พึงประสงค์ขึ้นมา หุ้นที่เราถืออยู่จะได้รับผลกระทบ

ถ้าเราถือแค่อุตสาหกรรมละตัว ผลที่เกิดขึ้นจะติดลบแค่หุ้นตัวเดียว ไม่เสียหายไปถึงพอร์ตหุ้นโดยรวม

นี่คือการลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรม

3. การกระจายเวลาที่จะลงทุน (Time diversification)

ในการลงทุนระยะยาว เรามองว่าราคาหุ้นจะไปตามการเติบโตของผลกำไรของบริษัท ถ้าบริษัทที่มีผลประกอบการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ราคามักจะวิ่งไปทำจุดสูงสุดเสมอ แต่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะเป็นไปตามจิตวิทยามวลชนมากกว่า

การเข้าซื้อหุ้นแล้วหุ้นลง หรือขายแล้วหุ้นยังขึ้นต่อทั้งที่การตัดสินใจซื้อขายทำด้วยความมีเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ ถูกแล้วยังมีถูกกว่า แพงแล้วยังมีแพงกว่า...

ดังนั้นการซื้อทั้งหมด หรือขายทั้งหมดในไม้เดียวจะมีความเสี่ยงอยู่

ในการซื้อหุ้นที่ต่างเวลากันจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราได้ เมื่อซื้อไม้แรกแล้วหุ้นลงต่อๆ เราจะไม่เสียหายทั้งหมด รวมถึงมีเงินสดในมือที่จะพิจารณาต่อว่า 1.จะเข้าซื้อต่อ (กรณีที่ดูพื้นฐานดีแล้วว่าไม่เปลี่ยน ยังดีอยู่และเห็นว่าราคาไหลลงจนนิ่งดีแล้ว) หรือ 2.จะขายตัดขาดทุน (กรณีที่เราพบว่าเงื่อนไขไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ในตอนแรก)

ในกรณีที่เราซื้อแล้วหุ้นขึ้น...การซื้อเฉลี่ยขาขึ้น แม้ว่าต้นทุนเราจะแพงขึ้น แต่ถ้าหุ้นขึ้นเพราะพื้นฐานดีขึ้นอย่างที่เราคาด การซื้อตามถ้าหุ้นยังขึ้นไม่มากก็ทำให้เราได้กำไรอยู่ดี

ถ้าหุ้นที่ดี (หุ้นกำไรเติบโตที่เราซื้อราคาที่เหมาะสม) เราถือนานเท่าไร กำไรก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเท่านั้น

นี่คือการลดความเสี่ยงของการลงทุนครั้งเดียว

4. การใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives)

การที่ราคาสินทรัพย์ในตลาดไม่มีความแน่นอน จึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการผันผวนของราคาขึ้นมา โดยมีหลักๆคือ สัญญาการซื้อขายส่วงหน้า (Future) และสัญญาสิทธิ (Option) ซึ่งจะใช้กับหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์เหล่านี้

โดยส่วนตัวผมไม่ได้ใช้เครื่องมือชนิดนี้เลย แต่มีนักลงทุนหลายๆคนนำมาใช้ในการเก็งกำไรมากกว่า ทำให้ราคาสินทรัพย์ยิ่งผันผวนมากขึ้น

... และสุดท้าย การลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการที่เรามีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราลงทุนเป็นอย่างดี ลงทุนอย่างมีเหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ ...นั่นคือการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด

แม้ว่าวิธีทั้งหมดที่กล่าวมาจะไม่ได้ทำให้การลงทุนปราศจากความเสี่ยง...แต่มันก็เหมือนกับการใช้ชีวิต เราคงไม่มองเห็นแต่ความเสี่ยงจนละเลยที่จะทำสิ่งดีๆมีคุณค่าให้กับตัวเองและคนรอบข้าง ในภาพเดียวกันนี้เราจะมองเห็นโอกาสด้วย เมื่อเราประเมินทั้งโอกาสและความเสี่ยงอย่างรอบคอบและกล้าที่จะเดินไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ แม้จะล้มก็ไม่ถึงกับจนมุม ยังเดินต่อถึงจุดหมายได้ แต่ถ้าไม่ยอมทำอะไรเลยเพราะมัวแต่กลัวความเสี่ยงก็จะไม่ได้ก้าวไปไหนเลยเช่นกัน...

คนที่เสี่ยงที่สุดคือคนที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยครับ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น