วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่4) การยึดติด





บทที่แล้วผมพูดถึงพฤติกรรมแห่ตามฝูงชน  เราสามารถนำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลของมนุษย์มาใช้ประโยชน์ได้...ถ้าเราเป็นนักเก็งกำไร...เราต้องอ่านอารมณ์ตลาดให้ออก และลงมือให้เร็วกว่าคนส่วนใหญ่อย่างน้อยครึ่งก้าว  ใช้อารมณ์ตลาดให้เป็นประโยชน์  โดยนักเก็งกำไรจะมีมุมมองว่าราคาหุ้นระยะสั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาด...แม้ว่าราคาจะเกินพื้นฐานแต่ถ้ามีคนแห่เข้าไปซื้อราคาหุ้นก็ขึ้น  (ด้วยการปล่อยข่าวหรือสร้างกราฟอย่างไรก็แล้วแต่...)  นักเก็งกำไรใช้โอกาสนี้ซื้อหุ้นได้แล้วทำกำไรได้  และถึงราคาหุ้นที่ต่ำกว่าพื้นฐานแต่ถ้าคนในตลาดมองโลกในแง่ร้ายมากๆก็มีโอกาสที่คนจะเทขายจนราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากๆนักเก็งกำไรก็ใช้โอกาสนี้ขาย Short sell ได้เช่นกัน...นอกจากการอ่านอารมณ์ตลาดให้ออก  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องอ่านอารมณ์ตัวเองให้ออกและไม่ทำตัวเป็นคนที่ทำตามอารมณ์ตลาดซะเอง... (นักเก็งกำไรเป็นได้ทั้ง ชาวสวน - Contrarian investing หรือ ชาวไล่ - Momemtum investing ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของนักเก็งกำไรที่ใช้ในสถาณการณ์ที่นักลงทุนในตลาดเริ่มมีพฤติกรรมแห่ทำตามกันไป...)

ถ้าเป็นนักลงทุนให้มองหาช่วงที่ตลาดแห่ทำตามกันมากๆจนราคาตลาดของหุ้นนั้นผิดไปจากมูลค่าที่ควรจะเป็น...เช่น  ถ้าคนแห่ชื้อหุ้นตัวหนึ่งจนราคาเกินมูลค่าไปมากๆเพราะความโลภในช่วงตลาดกระทิง...นักลงทุนก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นที่มีในมือเมื่อราคาตลาดเกินมูลค่า  หรือถ้าราคาตลาดต่ำมากๆจากที่นักเล่นหุ้นคนอื่นๆแห่กันเทขายเพราะความหวาดกลัวในช่วงตลาดหมี...นักลงทุนอาจจะพิจารณาเข้าไปซื้อเมื่อราคาตลาดถูกกว่ามูลค่า...สิ่งที่สำคัญคือ...ให้คิดอย่างอิสระจากฝูงชน  คิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล  ลงทุนตามพื้นฐานของบริษัทอย่างแท้จริง  ไม่ขึ้นกับอารมณ์ตลาดทั้งทางสวนหรือไล่...ซึ่งก็ต้องอ่านอารมณ์ของตลาดและอารมณ์ของตัวเองให้ออกเช่นกันเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ...

แล้วเวลาที่ตลาดมีนักลงทุนที่ชอบแห่ทำตามกันแบบนี้  เราจะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าราคาของหุ้นตัวนั้นถูกหรือแพง???  ความถูกหรือแพงของหุ้นหรือสินค้าต่างๆนั้นเกิดจากการเปรียบเทียบกับจุดอ้างอิง (Reference point) ซึ่งก็เหมือนกับการเปรียบเทียบทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม  เช่น  ความดี-ความชั่ว  ความสวย-ไม่สวย  ฉลาด-โง่  รวย-จน  เป็นต้น  มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา...เห็นได้จากหนังสือ ทีวี และคนทั่วๆไปชอบพูดถึงการจัดอันดับของสิ่งต่างๆ...เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก  นางงามจักวาล  ตัวเลขIQกับความฉลาด  การแข่งขันกีฬา  และอื่นๆอีกมากมาย

แล้วการยึดติดกับการจุดอ้างอิงบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล...ก็จะนำไปสู่อติ(Bias)อีกอย่างที่ผมจะพูดต่อไป

3. Anchoring  การยึดติดกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันไม่เป็นเหตุเป็นผล

สิ่งต่างๆในโลกนี้จะมั่นคงแข็งแรงได้ต้องมีหลักยึดบางอย่าง...บ้านหรือสิ่งก่อสร้างก็ต้องมีเสาไว้ค้ำจุน  ความคิดและความเห็นของเราก็เช่นกัน...ควรจะมีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเกี่ยวข้องกันถึงจะพิจารณาได้ว่าความคิดความเห็นนั้นถูกต้องและมีเหตุผล  แต่ Anchoring ที่เราจะพูดถึงในหัวข้อนี้นั้น  คือ การที่ความคิดของเรายึดติดอยู่กับจุดอ้างอิงบางอย่างที่ไม่มีเหตุผลและไม่เกี่ยวข้องกันเลย...

ฟังดูน่าแปลกใจใช่ไหมครับ  ข้อมูลและจุดอ้างอิงที่ไม่มีเหตุผล ไม่เกี่ยวข้องกันจะมีผลต่อการตัดสินใจของเราได้อย่างไร...

มีการศึกษาในปี 1974 ในหัวข้อเรื่อง “Judgment Under Uncertainty : Heuristics and Biases” โดย Kahneman และ Tversky โดยผู้เข้ารับการทดสอบจะถูกถามว่า เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกสหประชาชาติในประเทศของทวีปแอฟริกาสูงกว่าหรือต่ำกว่าตัวเลขที่ได้จากการปั่นวงล้อ...วงล้อนี้จะมีตัวเลขตั้งแต่ 1-100  หลังจากนั้นจะให้ประมาณตัวเลขเปอร์เซ็นต์  ผลการศึกษาพบว่าตัวเลขที่ได้จากการปั่นวงล้อเป็นแบบการสุ่ม (Random) กลับมีผลต่อตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ผู้เข้ารับการทดสอบประมาณไว้... เช่น ถ้าหมุนล้อได้เลข 10 ตัวเลขเฉลี่ยที่ผู้เข้าทดสอบประมาณ คือ 25 เปอร์เซ็นต์  ถ้าล้อหมุนได้เลข 60 ตัวเลขเฉลี่ยที่ผู้เข้าทดสอบประมาณคือ 45 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าตัวเลขสุ่มจากการหมุนวงล้อซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับเปอร์เซ็นต์ของประเทศสมาชิกของสหประชาติในแอฟริกา...กลับสามารถดึงค่าเฉลี่ยตัวเลขที่ผู้เข้าทดสอบประมาณ...ให้เข้ามาใกล้เคียงกับตัวเลขที่เกิดจากการสุ่ม...(มี Anchoring effect ต่อผู้เข้ารับการทดสอบ)

ในการลงทุนนั้น...ตัวเลขและสถิติที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเช่นกัน...เช่น  นักลงทุนเห็นหุ้นตัวหนึ่งราคาดิ่งลงอย่างรุนแรงแล้วเข้าไปช้อนซื้อเพราะคิดว่าของถูก...เพราะเคยเห็นที่ราคาสูงกว่านี้  โดยไม่ได้ดูว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงหรือไม่...

ยกตัวอย่าง...หุ้น XYZ ที่มียอดขายและกำไรที่ดีมากๆเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ราคาพุ่งจาก 12 บาท เป็น 50 บาท แต่โชคไม่ดีที่ปีนี้ลูกค้าคนสำคัญไม่ได้ต่อสัญญา(แบบถาวร)ทำให้รายได้ของบริษัท XYZ หายไปเกินครึ่ง...ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงจาก 50 บาท เหลือเพียง 25 บาท ...นักลงทุนที่มีการยึดราคา 50 บาทเป็นจุดอ้างอิงจะเห็นว่าที่ราคา 25 บาทคือถูกมาก...ทั้งที่จริงๆแล้วพื้นฐานได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะลูกค้ารายใหญ่หายไป...(25 บาทตอนหลัง เป็น Fairvalue ไม่ใช่  undervalue ) และนี่คือกับดักของ Anchoring effect

บางครั้งหุ้นบางตัวได้วิ่งขึ้นไปสูงมากๆจนทำให้นักลงทุนที่ดูราคาก่อนหน้านี้กลัว...ทั้งๆที่จริงพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากก็ได้...การดูราคาหุ้นอย่างเดียวจึงมีผลต่อ Anchoring อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

การที่จะให้ Anchoring มีผลต่อเราน้อยที่สุดหรือไม่มีผลเลยนั้น...ต้องมีการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล...การประเมินบริษัทต้องใช้ข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงอย่างระมัดระวัง...แยกให้ออกระหว่างข้อคิดเห็นกับข้อเท็จจริง (Fact or Opinion) รวมถึงประเมินข้อมูลอย่างรอบด้านตามความจริงเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนที่สุด...การรับฟังความเห็นของผู้อื่นอย่างใตร่ตรองจะทำให้เรามองเห็นอีกหลายๆมุมก่อนตัดสินใจเช่นกัน...

ขอให้นักลงทุนทุกคนมีสติและเปรียบเทียบราคาตลาดกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทครับ (Best Reference point)... ให้หลุดพ้นจาการยึดติดราคาในอดีตหรือต้นทุนของหุ้นที่ถืออยู่ในมือนะครับ...

เพื่อพอร์ตของเราจะได้มีหลักยึดที่มั่นคงและเติบโตอย่างแข็งแรงครับ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น