วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุน (Risk management)

ความเสี่ยง(Risk) เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นการพูดถึงโอกาสที่จะเกิดผลในทางลบที่เราไม่ปรารถนา ซึ่งคำนี้มีใช้กันแทบจะทุกวงการ ในทางการแพทย์ก็ต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนทำการรักษาด้วยยา (Risk-Benefit) ในทางวิศวกรรมโยธาก็ต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในการสร้างตึกที่อยู่พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ในอุตสาหกรรมโรงงานที่คนต้องทำงานกับเครื่องจักรก็ต้องมีการป้องกันและลดความเสี่ยงที่คนทำงานจะได้รับอันตรายจากเครื่องจักร

แม้แต่ในชีวิตประจำวันเราจะมองเห็นความเสี่ยงมากมาย
...เวลาขับรถก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีความเสี่ยงที่เครื่องยนต์จะหยุดทำงาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดยางระเบิด
...เวลานั่งเครื่องบินก็มีความเสี่ยงที่เครื่องจะตก มีความเสี่ยงที่จะเกิดความล่าช้า มีความเสี่ยงที่จะตกหลุมรักแอร์โฮสเตส 555+
...เวลาเข้าไปจีบสาวก็มีความเสี่ยงที่เค้าจะมีแฟนแล้ว มีความเสี่ยงที่เค้าจะปฏิเสธเรา
...แม้แต่นอนอยู่เฉยๆก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม

ในเรื่องการลงทุนก็เช่นกัน

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้ชายที่แท้จริง

(เอาบทความเก่ามาลงครับ^^)

แรงบันดาลใจของการเขียนบทความนี้มาจาก...เวลาที่ผมเจอผู้ชายที่มองว่าตัวเองไม่มีค่า...ขาดเธอไปฉันจะอยู่ไม่ได้ฉันจะต้องตาย...นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอกพวกเค้าเหล่านั้น...

โลกเราตอนนี้ประชากรผู้ชายเริ่มน้อยกว่าผู้หญิง(ยกเว้นเมืองจีน)  เพศชายบางส่วนก็กลายเป็นเกย์ชอบเพศเดียวกัน  บ้างก็เสร็จเกย์ไป  ผู้ชายจึงเหลือน้อยเต็มที...และผู้ชายมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและพัฒนาตนเองจนกลายเป็น...ผู้ชายที่แท้จริงนั้น  ผู้ชายที่เป็นชายเหนือชายที่หาได้ยากมากๆในปัจจุบัน...

จะก้มหน้ามองพื้นแล้วโทษชะตาหรือเงยหน้าขึ้นฟ้าแล้วตะโกนบอกว่า ”ฉันคือคนที่มีค่าที่สุด”...คนที่เลือกคือตัวเรา

พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองหรือยังครับ?

ลักษณะของผู้ชายที่แท้จริง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

ข้ออ้างที่จะไม่ยอมประสบความสำเร็จ

ฟังหัวข้อแล้วดูแปลกใช่ใหมครับ ก็ใครล่ะจะไม่อยากประสบความสำเร็จ คนส่วนใหญ่ก็อยากประสบความสำเร็จกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน ความรัก ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การมีความสุข และถามว่าคนทั่วไปรู้มั๊ยว่าทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ เช่น อยากเรียนเก่ง ทุกคนก็รู้ว่าต้องขยันอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนในห้อง หมั่นทบทวนบทเรียน ฝึกทำข้อสอบ แต่ทำไมคนส่วนมากจึงไม่ประสบความสำเร็จการเรียนเท่าที่ควร หรืออยากผอม อยากหุ่นดี ทุกคนก็รู้ว่าต้องควบคุมอาหารให้พอเหมาะและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่เราก็ยังเห็นคนส่วนใหญ่ล้มเหลวเรื่องการลดน้ำหนัก (รวมทั้งผมด้วย T_T)

นั่นเป็นเพราะว่า เรารู้...แต่เราทำไม่ได้!!! เนื่องจากเหตุผลบางอย่างที่เราชอบใช้เป็นข้ออ้าง ยกตัวอย่างเช่น...กรณีลดน้ำหนัก  ”ช่วงนี้ทำงานหนักก็เลยหิวบ่อย”  “ไม่มีเวลาออกกำลังเลย”  “ขอกินก่อนแล้วพรุ่งนี้ค่อยลด”  “ออกกำลังแล้วเหนื่อยทำงานไม่ไหว”  “ไม่ได้กินแล้วไม่แรงเลย” สารพัดเรื่องที่เราจะหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้...หรือที่แย่กว่านั้นคือไม่ได้วางแผนไว้เลยตั้งแต่ต้น >_<”

ในเรื่องการลงทุนก็มีข้ออ้างมากมายเช่นกัน...

ด้วยความที่ผมสอนเรื่องการลงทุนให้กับมือใหม่หลายครั้งและพูดคุยกับคนนอกตลาดที่ไม่ได้ลงทุนหลายๆคน จะพบว่ามีความเชื่อหลายๆอย่างที่ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคของการประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น

ข้ออ้างที่คนส่วนใหญ่ใช้เพื่อจะบอกว่าทำไมตัวเองลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 9) ความกลัว (ตอนแรก)



ในการทำจิตบำบัดซึ่งเป็นการรักษาคนไข้โดยใช้วิธีการพูดคุยเพื่อให้คนไข้ได้เข้าใจตัวเองในระดับลึกๆนั้น...อาจารย์ผมซึ่งเป็นนักทำจิตบำบัดระดับนานาชาติสอนว่า...อารมณ์ที่สำคัญซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานของอารมณ์อื่นๆคือ...ความกลัว  พอฟังผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า...แล้วความโลภ  อยากได้อยากมีนั้นมาจากพื้นฐานความกลัวด้วยหรือไม่?



มนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาตั้งแต่อดีตสมัยยุคหินยุคโบราณ...ยุคที่จะได้กินอาหารคือการต้องออกไปเสี่ยงชีวิตเพื่อล่าสัตว์  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นอาหารใคร  สมองคนเราจึงมีส่วนที่ทำงานเพื่อการปกป้องตัวเองจากอันตรายและเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์  สมองส่วนนี้คือ...อะมิกดาลา (Amygdala) สมองส่วนนี้อยู่ในส่วนลึกลงไปจากผิวนอก...เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และพฤติกรรมในทางลบ  ประสบการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด  ข้อดีของสมองส่วนนี้ก็คือเราระมัดระวังตัวเองจากความเสี่ยง  เมื่อมนุษย์เห็นเสือจะวิ่งหนีก่อนเลย  ถ้ามัวใช้สมองส่วนการคิดในเชิงเหตุผลอาจจะสั่งร่างกายไม่ทันโดนเสือคาบไปกินซะก่อน  แต่ในปัจจุบันมนุษย์อาศัยอยู่ในเมือง...อันตรายและความเสี่ยงที่มีผลถึงขั้นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บมีน้อยกว่าตอนอยู่ในป่ามาก ...แล้วถ้าอย่างนั้นเราควรตัดสมองส่วนนี้ทิ้งไปหรือเปล่า  เพราะเราก็รู้ว่าความกลัวจำกัดและส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหลายอย่าง?


ผมทิ้งไป 2 คำถามแล้วจะกลับมาตอบตอนท้ายนะครับ

ถ้าเรามองไปรอบๆตัวเราจะเห็นผู้คนมากมายที่กลัวความเสี่ยง...คนบางคนอยากจะมีเงินเดือนมากขึ้นแต่ยังจมกับงานที่ตัวเองไม่ชอบเพียงเพราะว่ารายได้มั่นคงกว่า  ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำธุรกิจของตัวเอง  ไม่กล้าสมัครงานใหม่...ไม่กล้าแม้แต่จะเชื่อว่าตัวเองดีพอ!  ,คนบางคนเคยล้มเหลวกับความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือแฟน  ก็บอกตัวเองว่าไม่ขอมีใครอีกแล้วอยู่คนเดียวดีกว่า  ซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง  พวกเขากลัวที่จะต้องเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายในเรื่องความสัมพันธ์อีกครั้ง  ทั้งที่จริงๆคนที่พวกเขาจะพบเจอในอนาคตอาจจะเป็นเพื่อนหรือคนรักที่จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีมากๆก็ได้,  ผู้ชายบางคนไม่กล้าเข้าไปทำความรู้จักกับผู้หญิงที่ตัวเองชอบเพียงเพราะกลัวว่าจะโดนปฏิเสธ...พวกเขาไม่กล้าล้มเหลวแม้ว่าความกล้านั้นอาจจะทำให้พวกเขาได้อยู่กับคนที่พวกเขาชอบจริงๆ...พวกเขาไม่เชื่อมั่นในตัวเองว่าพวกเขาดีพอ...

ความกลัวความเสี่ยงจำกัดชีวิตของเราไว้มากมายจริงๆ...

แล้วความเสี่ยงกับความกลัวความเสี่ยงเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่?

แน่นอนครับไม่มีใครชอบความเสี่ยง  เราทุกคนพยายามที่จะจำกัดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดทั้งนั้น...แต่การกลัวความเสี่ยงจนไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อยทำให้คนเราเสียโอกาสไปมาก  เช่น  บางคนกลัวการขึ้นเครื่องบินเพราะลอยขึ้นไปบนฟ้าที่เราไม่คุ้นเคยและนึกถึงภาพการตกลงจากท้องฟ้าสู่พื้นอย่างไร้ทางป้องกัน...แต่ในทางสถิติแล้วเราจะพบว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางโดยเครื่องบินมีน้อยกว่าเดินทางโดยรถยนต์มาก...นั่นเพราะข้อจำกัดในการรับรู้ของสมองเราที่ให้กลัวสิ่งที่อาจจะเกิดอันตรายไว้ก่อนเพื่อความอยู่รอด...แม้ว่าการเผชิญกับความเสี่ยงบ้างจะทำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยก็ตาม...ในระยะยาวตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี  สูงกว่าการฝากธนาคารและพันธบัตรทุกชนิดแต่กระนั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังหลีกเลี่ยงตลาดหุ้นเพราะตลาดหุ้นขึ้นๆลงๆในระยะสั้น...ดูมีความเสี่ยงสูง

คนส่วนใหญ่จึงกลัวความเสี่ยงแม้ว่ามีข้อมูลและตัวเลขที่ยืนยันว่าความเสี่ยงนั้นน้อยมากก็ตาม...

แล้วจริงๆอะไรในโลกนี้บ้างที่ไม่มีความเสี่ยง...ฝากเงินออมทรัพย์คิดว่ามั่นคงวันดีคืนดีแบงค์อาจจะเจ๊งก็ได้  ทำงานราชการคิดว่ามั่นคงทำงานแย่ยังงัยก็ไม่ถูกไล่ออกวันดีคืนดีอาจจะมีการปฏิรูประบบราชการเอาคนที่ไม่ขยันไม่มีความสามารถออกทำงานออกก็ได้  คิดว่าเป็นหมอมั่นคงก็ไม่ตกงานวันดีคืนดีทำงานผิดพลาดโดนฟ้องเข้าคุกก็อาจจะเป็นได้  ผู้หญิงมีสามีรวยไม่ต้องทำงานคิดว่ามั่นคงวันดีคืนดีสามีอาจจะเสียชีวิตการทันหันโดยมีแต่หนี้เหลือทิ้งไว้ก็เป็นได้  หรือสุดท้ายแล้ว...จริงๆแล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะตายเมื่อไรบางทีอาจจะเป็นพรุ่งนี้ก็ได้  ไม่มีใครรู้...

ความมั่นคงปลอดภัยโดยปราศจากความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิงจึงไม่มีอยู่จริง ..จะดีกว่าไหม...ถ้าเรารับรู้ความเสี่ยงตามจริงโดยไม่ให้อารมณ์กลัวมามีอิทธิพลมากนัก  และยอมรับความเสี่ยงบ้างเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือด้านจิตใจ...

ความกลัวซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์นำมาซึ่งอคติที่ผมจะกล่าวต่อไป...

8. Prospect  theory – ทฤษฏีความคาดหวัง

Prospect  theory คือ ทฤษฏีที่บอกว่า...คนเราให้คุณค่าของการได้รับ(ได้กำไร)และความสูญเสีย(ขาดทุน)แตกต่างกัน .. ทำให้คนเราตัดสินใจบนพื้นฐานของการได้รับมากกว่าการสูญเสีย... ซึ่งตาม Prospect  theory...การขาดทุนมีผลกระทบต่ออารมณ์มากกว่าการได้กำไรในจำนวนที่เท่ากัน  เช่น...เงินหายไป 100 บาท จะรู้สึกเสียใจเสียดาย ในระดับอารมณ์ที่มากกว่าเวลาดีใจตอนที่ได้เงิน 100 บาท


รูปนี้แสดงถึงเวลาที่เราได้กำไรเราจะดีใจน้อยกว่าเวลาเสียใจจากขาดทุนในจำนวนเงินที่เท่ากัน


อีกตัวอย่าง...เวลาได้เงินมา 50 บาทโดยไม่เสียไปจะรู้สึกดีกว่า...ได้เงินมา 100 บาทแล้วทำเงินหายไป 50 บาท  ทั้งๆที่ผลลัพธ์เท่ากันคือได้ 50 บาทแต่ความรู้สึกต่างกันมาก

ในเวลาที่คนเราต้องตัดสินใจ 2 ทาง ทางแรกมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้กำไร ได้ผลตอบแทนที่ดี  ทางที่ 2 มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะขาดทุนสูญเสีย...คนส่วนใหญ่จะเลือกทางแรกคือมีโอกาสที่จะได้กำไร...ลองอ่านการศึกษาต่อไปจะเข้าใจมากขึ้น...

มีการศึกษาในปี 1979 โดย Kahneman และ Tversky เกี่ยวกับ Prospect  theory โดยให้ผู้เข้าร่วมได้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับการตัดสินใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการได้กำไรและขาดทุน  โดยมีตัวอย่างคำถามในงานวิจัยดังนี้ครับ  (ลองทำไปด้วยนะครับแล้วดูว่าเราเลือกข้อไหนไป)

1. คุณมีเงิน 1,000 เหรียญและคุณต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งใน 2 ข้อนี้

ข้อ A  คุณมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้  1000 เหรียญ  และ 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ได้สักเหรียญ

ข้อ B คุณมีโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้เงิน 500 เหรียญ  (ได้แน่ๆ)

2. คุณมี 2000 เหรียญและคุณต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งใน 2 ข้อนี้

ข้อ A คุณมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะเสียเงิน  1000 เหรียญ  และ 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ได้เสียเลยสักเหรียญ

ข้อ B คุณมีโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะเสีย 500 เหรียญ (เสียแน่ๆ)

ถ้าผู้เข้าร่วมคิดและตอบคำถามอย่างมีเหตุผล...การเลือกข้อ A หรือ B มีผลไม่ต่างกันเพราะกำไรคาดหวังเท่ากัน (Expected profit)

ผลการศึกษานี้พบว่า...คนส่วนใหญ่เลือกข้อ B สำหรับคำถามที่ 1  และเลือกข้อ A สำหรับคำถามที่ 2  ซึ่งผลที่ได้นี้บอกเราว่า...คนเราต้องการได้กำไรที่แน่นอนแม้ว่าจะต้องเสียโอกาสที่จะได้กำไรมากขึ้นแล้วมีความเสี่ยง  ในทางตรงข้าม...คนเราจะยอมเสี่ยงเพื่อลดหรือจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุดแม้ว่าการตัดสินใจจะนำมาสู่ความเสี่ยงที่จะต้องเสียเงินเพิ่ม...ดังนั้นในสถานการณ์ที่กำไรหรือขาดทุนคนเราคิดต่างกัน  การขาดทุนมีผลต่อจิตใจมากกว่าการได้กำไรในจำนวนเงินที่เท่าๆกัน

เราจึงเห็นว่าคนที่เสียพนันมักจะพยายามเอาคืนด้วยการเดิมพันสูงขึ้น เล่นแบบเสี่ยงๆมากขึ้น...ในการลงทุนคนเล่นหุ้นแล้วขาดทุนก็อยากจะลงเงินมากขึ้น เล่นหุ้นปั่นหรือหุ้นที่วิ่งแรงๆเพื่อจะได้ชดเชยส่วนที่ขาดทุนไป  ส่วนคนที่ได้กำไรมักจะขายเร็วเกินไปเพราะต้องการได้เงินที่แน่นอนแม้ว่าการถือต่ออาจจะได้กำไรมากขึ้นแต่พวกเขาคิดว่ามีความเสี่ยงที่กำไรจะหายไป...พวกเขาจึงตัดสินใจขายเพื่อทำกำไรทำให้ได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะได้...

และนั่นเป็นที่มาของ...Disposition effect คือ...การที่นักลงทุนชอบขายหุ้นที่มีราคาสูงขึ้นและเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้ในพอร์ต  นักลงทุนไม่ต้องการรับรู้การขาดทุนเป็นตัวเงินจริงๆ  จึงเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้แบบนั้นแม้ว่าพื้นฐานหุ้นอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงก็ตาม...

ปีเตอร์ ลินส์...เซียนหุ้นระดับโลก ได้กล่าวว่า...” Some people automatically sell the winners and hold on to their losers, which is about as sensible as pulling out the flowers and watering the weeds” ...นักลงทุนบางคนขายหุ้นที่ชนะและเก็บหุ้นที่แพ้เอาไว้...ซึ่งดูมีเหตุผลพอๆกับเด็ดดอกไม้ทิ้งแล้วรดน้ำให้หญ้า...

การที่นักลงทุนมี Disposition effect ทำให้นักลงทุนทำผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร และไม่มีความสุข ทางแก้คือ...ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่...

1. เก็บหุ้นที่ชนะเอาไว้และขายหุ้นที่แพ้ออกไป (ขายหุ้นแพ้เพราะพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง  ไม่ใช่แค่ราคาลดลง  หรือถ้าเป็นนักเก็งกำไรจะขายเพื่อตัดการขาดทุน)  นั่นคือ...Cut loss and let profit run  จำกัดขาดทุนและปล่อยให้กำไรวิ่งไปเรื่อยๆ

2. เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่  1) ในสถานการณที่ได้กำไรมากๆ เช่น 100 บาท ครั้งเดียวกับได้กำไร 50 บาท 2 ครั้ง การรับรู้กำไรก้อนเล็กหลายๆครั้งจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น... 2) ในสถานการณ์ที่ขาดทุนมากๆ เช่น ขาดทุน 100 บาทครั้งเดียวกับขาดทุนน้อยๆหลายๆครั้ง เช่น ขาดทุน 100 บาทครั้งเดียวกับขาดทุน 50 บาท 2 ครั้ง การรับรู้การขาดทุนครั้งเดียวจะทำให้เราเจ็บปวดน้อยกว่า... 3) ในสถานการณ์ได้ทั้งกำไรและขาดทุนแต่โดยรวมยังเป็นกำไรอยู่ เช่น ได้กำไร 100 บาท แต่ขาดทุน 50 บาท การรับรู้ว่าผลรวมได้กำไร 50 บาทจะรู้สึกดีกว่าการรับรู้แบบแยกทั้งกำไรขาดทุน  4) ในสถานการณ์ที่ทั้งกำไรและขาดทุนแต่ขาดทุนมากกว่า...เช่น ขาดทุน 100 บาท ได้กำไร 50 บาท การแยกคิดว่าเราได้ทั้งกำไรและขาดทุนจะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง...

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนกรอบความคิดช่วยในเรื่องความรู้สึกได้บ้าง...สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับตามจริงอยู่ดีเพราะเราจะได้รู้ว่าเรายืนที่จุดไหน  ขาดทุนเพราะอะไร กำไรเพราะอะไร ตามความจริง...เกิดจากฝีมือหรือโชค  เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาการวิเคราะห์หุ้น การควบคุมอารมณ์และการตัดสินใจให้ดีขึ้น

คนที่เสี่ยงที่สุดคือคนที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยครับ

ปล. ผมขอติดคำถามเรื่องพื้นฐานอารมณ์เกิดจากความกลัวและการตัดสมองส่วน Amygdala ทิ้งว่าจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจดีขึ้นหรือไม่ไว้ก่อน...แล้วตอนหน้าจะมาคุยให้ฟังต่อนะครับ

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 8) - บัญชีในใจ


“เอ้า!... เด็กๆ ...ของ 4 อย่างนี้มีอะไรต่างจากข้ออื่นค้าบบ...?”


ตั้งแต่สมัยเด็กตอนเรียนหนังสือเรามักจะถูกสอนเรื่องการจัดกลุ่ม  ถ้าของสิ่งใดมีลักษณะคล้ายกันจะรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน  เวลาแบ่งหลักสูตรเนื้อหาวิชาก็จะแบ่งวิชาที่มีลักษณะคล้ายๆกันเข้าในกลุ่มเดียวกัน  เช่น คณิตศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับตัวเลข  วิทยาศาสตร์จะพูดถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พิสูจน์ได้  วิชาสังคมศึกษาพูดถึงลักษณะทางสังคมของมนุษย์...เป็นต้น  แม้ว่าในชีวิตจริงๆทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออกก็ตาม...แต่การแบ่งการเรียนให้เป็นหมวดหมู่ก็ทำให้ง่ายต่อการศึกษา

เราจะพบเรื่องการแบ่งหมวดหมู่ได้ในชีวิตประจำวัน  เช่น ...เวลาที่เราเข้าไปร้านค้าขนาดใหญ่  เรามักจะมองหาป้ายที่บอกหมวดหมู่สินค้าที่เราสนใจเพื่อไม่ให้เดินวนไปวนมา  ช่วยลดเวลาหาสินค้าลงได้มาก, บ้านถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนตามการใช้งาน เป็นห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอน แม้ว่าบางครั้งเราจะอาศัยในคอนโดห้องที่มีห้องเดียวก็ตามที, เวลาเราคบใครซักคนเราจะจัดให้อยู่ในกลุ่มต่างๆ เช่น เพื่อนสนิท  แฟน  เพื่อนธรรมดา  ศัตรูคู่แข่ง  ตามแต่ที่สมองของเราจะกำหนดโดยที่เราไม่รู้ตัว...


มนุษย์เรามีการจัดแบ่งสิ่งต่างๆออกเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและการนำมาใช้  ทำให้มนุษย์พัฒนาเร็วกว่าสัตว์โลกชนิดอื่นๆเพราะนี่คือผลจากการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ในการบอกความเหมือนและความต่าง (Similarity and different) เพื่อนำไปสู่การจัดกลุ่มและหมวดหมู่ในที่สุด...


แม้แต่เรื่องเงินก็มีการแบ่งกลุ่มเช่นกันครับ...

ผมเป็นคนนึงที่ไม่ชอบใช้บัตรเครดิตเลย  เพราะถูกสอนมาว่าเป็นการใช้เงินอนาคต  ถ้าเป็นหนี้จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยและจ่ายเงินมากกว่าที่ใช้จริง  ผมจึงไม่ทำบัตรเครดิตเลยจนพึ่งได้ทำเมื่อปีที่แล้วนี่เอง (ทำไปใบเดียวและคิดว่าคงจะไม่ทำอีกแล้ว)...จากเดิมที่ผมเคยมีวินัยในการใช้จ่ายเงินผมพบว่าหลังจากมีบัตรเครดิตผมรูดปื๊ดดๆจ่ายเงินบ่อยขึ้น...ยอดใช้เงินผมสูงกว่าที่ผ่านมา  และที่สำคัญผมเคยรูดจนติดหนี้บัตรเครดิตอีกด้วย (..แต่แค่ 1-2 เดือนนะครับเพราะคิดค่าใช้จ่ายไม่รอบคอบทำให้เงินในบัญชีไม่พอจ่ายทั้งๆที่ผมคิดว่ามีอยู่เหลือเฟือ)

สิ่งที่ทำให้การใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตสูงขึ้นกว่าการใช้เงินสดส่วนนึงเพราะสมองเราให้ความสำคัญของเงินพลาสติกต่างจากเงินสดที่เราจ่ายออกไปจริงๆ...เราไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายเมื่อต้องจ่ายเงินพลาสติกแต่เรารู้สึกเจ็บปวดและสูญเสียเมื่อเราต้องจ่ายเงินสด...เราจึงระมัดระวังในการจ่ายเงินสดแต่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับเงินพลาสติก

และนั่นเป็นส่วนนึงที่ทำให้...ยอดหนี้ค้างชำระบัตรเครดิตของประเทศไทยปี 52 อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท  และตัวเลขสูงอย่างนี้ทุกประเทศทั่วโลก

ในบ่อนคาสิโนต้องให้มีการแลกเงินสดเป็นชิปก่อนจึงจะเล่นพนันได้...นั่นเพราะเวลาที่เราเสียเงินในรูปแบบของชิปเราจะไม่รู้สึกอะไรมากเราจึงเล่นได้เรื่อยๆ...แต่เวลาที่เราเสียเงินสดเราจะรู้สึกสูญเสียเสียดาย...

การแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่โดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นที่มาของการบริหารจัดการเงินที่ไม่เหมือนกัน...นั่นทำให้เกิดอคติ(Bias) ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป


7.  Mental accounting – บัญชีในใจ


อคติจากการทำบัญชีในใจ ...คือการที่คนเรามีแนวโน้มแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่ เป็นบัญชีต่างๆตามจุดประสงค์ ตามแหล่งที่มา ตามเป้าหมายของการใช้งานของเงินก้อนนั้น และทำให้คนเราตัดสินใจและทำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลจากการแบ่งกลุ่มของเงินที่คิดขึ้นมาในสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว...เช่น  เราอาจจะเห็นคนเก็บเงินก้อนไว้ในธนาคารเพื่อซื้อบ้านใหม่หรือพักร้อนประจำปี  ขณะที่ยังไม่ยอมใช้หนี้บัตรเครดิตให้หมดซะที...ซึ่งเงินก้อนที่เก็บก็ไม่ได้ดอกเบี้ยมากมายแต่หนี้บัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ย 15-20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี...(ถ้ามีการใช้จ่ายเพิ่มก็คิดเพิ่มไปอีก)

กรณีนี้การเอาเงินไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตน่าจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่า...

แล้วเพราะอะไรคนส่วนใหญ่ถึงไม่ทำแบบนั้น...นั่นเพราะความคิดและทัศนคติที่ต่างกันกับเงินแต่ละก้อน  เช่น  เงินที่เก็บไว้ซื้อบ้านเราจะคิดว่าสำคัญมากเป็นเงินเพื่ออนาคตของครอบครัวเราจะไม่ยอมให้เสียไปง่ายๆแม้ว่าการที่ยอมเอาเงินเก็บเอาไปจ่ายหนี้จะทำให้ฐานะทางการเงินโดยรวมดีขึ้นก็ตาม...

ยกตัวอย่างอีกข้อ...สมมุติว่าเรากำลังจะไปซื้อคริสปี้ครีมราคา 250 บาท  กรณีที่1  ต่อคิวซะนานเลยพอมาถึงปั๊บ...อ้าวเงิน 250 บาทหายไป ค้นจนทั่วก็ไม่เจอแต่คุณยังมีกระเป๋าสตางค์อยู่  กรณีที่ 2  เข้าคิวซื้อจนได้คริสปี้ครีมมากินสมใจอยาก  ปรากฏว่า...มือลื่นทำหล่นขนมเองตกพื้นไปหมดเลยต่อหน้าพนักงาน  กรณีไหนที่คุณจะควักเงินซื้ออันใหม่...

ถ้าพูดตามจริงแล้วทั้งสองกรณีถือว่าเสียเงินเท่ากัน คือ 250 บาท...ดังนั้นเราควรจะตัดสินใจไปแนวทางเดียวกันถึงจะถูก  แต่จริงๆแล้วเราไม่ได้ทำแบบนั้น  เพราะเจ้าอคติจากบัญชีในใจเนี่ยแหละ  กรณีแรกคนส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อเพราะเงินยังไม่ได้ถูกจ่ายออกไป (ในสมองเงินก้อนนี้ยังไม่ถูกจัดเป็นรายจ่ายสำหรับค่าอาหาร)  แต่กรณีหลัง...เงินถูกจ่ายไปแล้วทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ซื้ออีกหลักจากขนมตกพื้นไปแล้ว...

สมองคนเราจะมีการจัดเงินเป็นกลุ่มๆตามที่มาและวัตถุประสงค์โดยที่เราไม่รู้ตัว  มีบัญชีรายได้ในใจ  ซึ่งแบ่งที่มาของเงินด้วยว่าได้มาง่ายหรือได้มายาก  ถ้าเงินก้อนที่ได้มายากเราจะไม่ยอมเสียไปง่ายๆ  เช่น  เงินจากการทำงานหนัก  แต่กับรายได้ที่ได้มาง่ายเช่น ถูกหวย  ถูกลอตเตอรี่  โบนัส  เราจะเสียเงินก้อนนี้ไปง่ายเช่นกัน... 

ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ว่าเงินจะมาจากไหนก็มีค่าเหมือนกัน...การให้คุณค่าแตกต่างกันตามแหล่งที่มาคือพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล...ไม่สำคัญว่ารายได้จะได้มาง่ายหรือมายากตราบใดที่เป็นรายได้โดยสุจริตก็มีผลดีต่อความมั่งคั่งโดยรวมของเราทั้งสิ้น  การใช้จ่ายก็มีผลต่อเงินโดยรวมในกระเป๋าเราเช่นกัน...

ในการลงทุน...บัญชีในใจก็มีผลต่อการลงทุน  เช่น  นักลงทุนบางคนทำการแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 2 พอร์ต  พอร์ตนึงลงทุนแบบระยะยาวเน้นความปลอดภัย  อีกพอร์ตลงทุนแบบเน้นเก็งกำไรซื้อหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงๆ...เจตนาก็เพื่อผลตอบแทนสูงๆจากพอร์ตเก็งกำไรและความมั่นคงปลอดภัยจากพอร์ตลงทุน  แต่อย่างไรก็ตามการแบ่งพอร์ตก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรวมพอร์ตขนาดใหญ่เพียงพอร์ตเดียว  และในทางปฏิบัติเราอาจจะลงทุนความเสี่ยงสูงมากๆกับพอร์ตเก็งกำไรเพราะเราคิดว่าเป็นเงินที่เสียได้ทำให้มีความเสียหายจากการเก็งกำไรตามมาได้...การลงทุนในหุ้นไม่ว่ารูปแบบไหนก็ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งสิ้น...

รวมไปถึงการได้กำไรจากการลงทุนหรือการเก็งกำไรมาแบบง่ายๆ...เราจะแบ่งเงินทั้งก้อนเป็นต้นทุนและกำไร ส่วนที่กำไรเราจะระมัดระวังกับเงินก้อนนี้ลดลง  ซื้อหุ้นก็ไม่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดเหมือนตอนแรกเพราะคิดว่าเป็นกำไรที่ได้มาจะเสียไปก็ไม่เป็นไร...ทั้งที่จริงๆแล้วเราต้องให้ความสำคัญกับเงินทั้งก้อนเท่าๆกันเพราะเป็นเงินเหมือนกัน  ต้องคิดว่าเหมือนกับว่าเงินนี้ได้มาจากการทำงาน...

ไม่ว่าเงินจะอยู่ในรูปแบบไหนหรือมาจากแหล่งใดแต่ ”เงินก็คือเงิน” ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ  เงินที่ได้มาง่ายๆก็มีคุณค่าไม่ต่างจากเงินที่ได้มาด้วยความยากลำบาก...

เรื่องเงินและการลงทุนไม่มีคำว่าสองมาตราฐานครับ...อิอิ

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 7) - ความหลงผิดของนักพนัน

 
เชื่อว่าทุกคนคงเคยเรียนเรื่องความน่าจะเป็นในคณิตศาสตร์ตอนชั้นมัธยมมานะครับ  ในเรื่องความน่าจะเป็นนี้จะบอกเราว่าโอกาสเกิดเหตุการหนึ่งมีเท่าไร (เช่น เหตุการณ์ E)...หนึ่งในสิบ หนึ่งในร้อย หนึ่งในพัน ซึ่งถ้าความน่าจะเป็นยิ่งน้อยเท่าไรเหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งเกิดยากขึ้น... ความน่าจะเป็นถูกกำหนดให้เป็นตัวเลข น้อยที่สุดคือ 0 (ไม่มีโอกาสเกิดเหตุการณ์Eเลย) จนไปถึง 1 (เกิดเหตุการณ์ E แน่ๆ)


เวลาผมทำข้อสอบปรนัยสมัยมัธยม...เวลาที่ผมทำข้อไหนไม่ได้ผมจะมาไล่ดูว่า...มีข้อไหนนะที่ถูกกาน้อยที่สุด นั่งนับตั้งแต่ ก-จ แล้วเวลาเดาข้อที่เหลือผมจะให้ความสำคัญกับข้อที่น้อยที่สุด...แนวคิดนี้มาจากสมมุติฐานที่ว่า...ความน่าจะเป็นของการกาข้อสอบให้ถูกแบบสุ่มในแต่ละข้อเท่ากับ 1 ใน 5 (0.2) รวมกับเคยมีคนบอกผมว่าคำตอบจะเท่าๆกันในแต่ละตัวเลือก ก-จ (เช่นข้อสอบมี 100 ข้อ จะมีคำตอบข้อ...ก 20 ข้อ ข 20 ข้อ ค 20 ข้อ ง 20 ข้อ จ 20 ข้อ) ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าแนวคิดนี้ถูกต้องหรือไม่...แต่ก็ใช้แนวคิดนี้มาตลอดตอนที่เดาข้อสอบ 555...(สอบเข้าหมอมาได้งัยเนี่ย 555)

ถ้าหากแนวคิดว่าแต่ละคำตอบต้องเท่าๆกันในแต่ละตัวเลือก...แสดงว่า ความน่าจะเป็นของแต่ละข้อไม่ได้เป็นอิสระจากกัน (Dependence) ...เหมือนจับใบดำใบแดงตอนเกณฑ์ทหารถ้าคนก่อนหน้าเราจับได้ใบแดงหลายๆคน  โอกาสที่เราจะได้ใบแดงก็ลดลงไปเรื่อยๆ...แต่ถ้าหากผู้ออกข้อสอบไม่ได้คิดแบบนี้  โดยคิดแบบสุ่มคำตอบอย่างแท้จริงแต่ละข้อจะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นอิสระต่อกันอย่างชัดเจน  วิธีนับตัวเลือกจะไม่ได้ผลเลย...

ในวงการหวยที่ผมไปประสบมาตอนใช้ทุน  (ผมเคยซื้อแบบลองดูเล่นๆด้วยทีนึง...ผลเหรอครับถูกกินเรียบ) เคยมีคนใช้วิธีเก็งโดยเป็นที่รู้กัน...เช่น งวดนี้ออกแล้ว 85 งวดหน้าไม่ออกแล้ว ไปเก็งตัวอื่นดีกว่า...พวกเค้าจะตัดตัวเลขหวยที่เพิ่งออกในตัวเลขที่เก็งว่าจะออกงวดหน้า...

ฟังดูเซียนนะครับ

แล้วหวยงวดนี้กับงวดที่แล้วเหตุการณ์เป็นอิสระจากกันหรือเปล่า?...ถ้ากรณีที่หวยเป็นเหมือนตัวเลขในกล่องแล้วค่อยหยิบออกทีละงวดๆจนหมดแนวคิดนี้จะถูกต้องเลย...แต่ความจริงแล้วการที่หวยแต่ละงวดออกโดยเป็นอิสระจากกันทำให้การตัดตัวเลขที่เพิ่งออกไปออกจากตัวเลขที่จะออกงวดหน้าไม่ได้เลย...แนวคิดนี้จึงไม่ถูกต้องครับ

ดังนั้นเราต้องแยกให้ได้ว่าเหตุการณ์ของความน่าจะเป็นสองเหตุการณ์(หรือมากกว่านั้น)...ว่าเป็นอิสระจากกันหรือไม่? (Dependence or Independence events)

การคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตโดยใช้หลักความน่าจะเป็นแบบผิดๆ (อย่างไม่ตั้งใจ)...นำไปสู่อคติ (Bias) อีกอย่างที่ผมกำลังจะพูดต่อไป...

6. Gambler’s Fallacy - ความหลงผิดของนักพนัน

เมื่อเหตุการณ์ในอนาคตส่วนใหญ่จะถูกประเมินโอกาสเกิดโดยใช้ความน่าจะเป็น ...ความหลงผิดของนักพนันก็คือ การที่คนเรามีความเชื่อว่า...เหตุการณ์สุ่มอย่างหนึ่ง (เช่น โอกาสหวยออก 85) จะมีโอกาสเกิดน้อยเมื่อเกิดตามหลังเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งหรือเหตุการณ์อีกชุดหนึ่ง ( เช่น หวยออก 85 ไปแล้ว) แนวคิดนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้เปลี่ยนความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตเลยแม้แต่น้อย...(เหตุการณ์เป็นอิสระต่อกัน)

ผมจะลองให้โจทย์2ข้อนะครับ...คิดกันเล่นๆ

ข้อแรก – ความน่าจะเป็นที่นาย ก จีบหญิงติดเท่ากับ 25% แล้วนาย ก จีบหญิงไปแล้วสามคนแรกแห้วรับประทาน...แสดงว่าสาวคนที่ 4 ที่นาย ก กำลังจะเข้าไปจีบต้องสำเร็จแน่ๆหรือเปล่านะ?

ข้อสอง – ผมให้เลขแบบสุ่มชุดนึง ... 011101110110001001100 ลองทายดูว่าตัวเลขต่อไปน่าจะเป็น 1 หรือ 0?

..... (ติ๊กต๊อกๆๆ) .....กริ๊งงงง...

เฉลยนะครับ...ข้อแรก นาย ก ยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อไป เพราะเหตุการณ์จีบสาวแต่ละครั้งเป็นอิสระจากกัน (ยกเว้นว่าสาวๆทั้ง 4 คนจะแอบไปคุยและตกลงกันว่าคนใดคนนึงจะยอมเป็นแฟนนาย ก) ดังนั้นโอกาสที่ นาย ก จะจีบสาวคนที่ 4 สำเร็จคือ 0.25 เหมือนเดิม...ขอยกตัวอย่างเสริม อย่างการทอยเหรียญ ถ้าทอยออกหัวไปซัก 10 ครั้ง ตาที่ 11 คนส่วนใหญ่ก็คงคิดว่าน่าจะออกก้อยแน่ๆ...ถ้าออกหัวอีกก็เว่อร์แล้ว ซึ่งความจริงแล้วโอกาสออกหัวยังเป็น 50% เหมือนเดิมไม่ได้น้อยลงเพราะออกหัวติดต่อกันมาก่อนหน้านี้ 10 ครั้งแต่อย่างใด ...

ส่วนข้อสอง โอกาสที่จะตัวเลขจะออก 1 หรือ 0 ก็ยังพอๆกันเหมือนเดิมเพราะเป็นตัวเลขแบบสุ่ม  เพียงแต่รูปแบบการจัดเรียงตัวเลขบางครั้งเราจะคิดไปถึงเลขอนุกรม(เหมือนไม่ได้สุ่มมา-Non random)และพยายามหาความสัมพันธ์ของเลขในชุดนั้นๆ...ซึ่งการที่คนเราชอบหาความสัมพันธ์หรือแนวโน้มของเหตุการณ์เรียกว่า Clustering illusion – ภาพลวงจากการกระจุกตัว

ในโลกของการลงทุน ...เชื่อหรือไม่ว่านักลงทุนหรือนักเก็งกำไรต่างก็ตกอยู่ในความหลงผิดของนักพนันทั้งสิ้น...ยกตัวอย่างนะครับ ในช่วงเริ่มต้นของการเล่นหุ้นผมจะมานั่งดูเป็นวันต่อวันว่า...วันนี้ดัชนีขึ้นหรือลง...ถ้าเกิดขึ้นติดๆกันหลายวันเช่น 5 วันติด ผมจะเก็งว่าพรุ่งนี้มันต้องลงแน่ๆ...ปรากฏว่าจริงแล้วดัชนีดันขึ้นต่อไปเรื่อยๆ...หรือช่วงที่ดัชนีลงหลายๆวันติดกันเช่น 5 วัน ผมก็นังเก็งแล้วว่าพรุ่งนี้ดัชนี้ขึ้นชัวร์ๆ...ปรากฏว่าดัชนีดันลงต่อแบบไม่หยุดยั้ง...

นักลงทุนที่หุ้นที่ตัวเองถือราคาขึ้นติดๆกันหลายวัน...อาจจะเทขายออกมาเพราะเชื่อว่าราคาขึ้นมาขนาดนี้แล้วไม่มีทางขึ้นไปต่อได้อีกแล้ว  ในทางตรงข้ามนักลงทุนจะถือหุ้นที่ราคาตกลงไปเรื่อยๆหลายๆวันติดๆกันเพราะเชื่อว่าราคาลงไปหลายวันแล้วไม่มีทางที่จะลงต่อได้อีกแล้ว...แต่การที่หุ้นทีราคาขึ้นหลายวันติดกันหรือลงหลายวันติดกันไม่ได้หมายความว่า...ราคาจะเคลื่อนไหวต่อในทิศทางเดิมไม่ได้


เวลาเราซื้อหุ้นจะมีผลลัพธ์ของเหตุการณ์อยู่ 3 แบบ คือ หุ้นขึ้น, หุ้นลง, เท่าเดิม นั่นคือความน่าจะเป็นคือเกิด 1 ใน 3 เหตุการณ์นี้ (แต่ความน่าจะเป็นจะไม่ใช่ 0.33 เป๊ะๆเพราะมีการถ่วงน้ำหนักให้โอกาสเกิดเหตุการณ์หนึ่งน้อยกว่าเหตุการณ์หนึ่ง เช่น โอกาสเกิดราคาหุ้นเท่าเดิมเป๊ะในตลาดที่มีการแกว่งตลอดเวลาถ้าตามสามัญสำนึกคนเราจะบอกว่าโอกาสน่าจะน้อยกว่าราคาหุ้นขึ้นหรือลง)  ในระยะสั้นตามแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพราคาหุ้นจะเหมือนรูปแบบรอยเท้าคนเมา (Random walk) ...นั่นคือไม่แน่เหมือนกันว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง...การดูรูปแบบราคาขึ้นลงแล้วทำนายเหตุการณ์ในอนาคตระยะสั้นวันสองวันจะใช้ไม่ได้ผลเลยตามแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพ (เพราะเหตุการณ์จะเกิดขึ้นแบบสุ่ม)


แล้วจริงๆเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นขึ้นหรือลงในแต่ละวันหรือแต่ละเดือน(หรือปี)...เป็นอิสระจากกันหรือไม่? (Dependence or Indepence event)  ถ้าเราเอากราฟของราคาหุ้นมาPlot ร่วมกับกราฟของกำไรต่อหุ้น  เราจะพบว่าราคาในระยะยาวไปกับกำไรเสมอ  แม้ว่าระยะสั้นราคาหุ้นจะไม่ตามกำไรอาจจะราคาสูงกว่าหรือต่ำกว่ากำไร  แต่สุดท้ายแล้วเส้นราคาหุ้นจะมาขนานไล่ไปกับกราฟกำไร ดังนั้นราคาหุ้นในระยะสั้นจะขึ้นกับเหตุการณ์(ข่าว)ที่มากระทบหุ้น...ซึ่งจัดได้ว่าราคาแต่ละวันเป็นอิสระต่อกันคาดการไม่ได้เลย ผันผวนมาก (ราคาเมื่อวานไม่ได้มีผลต่อราคาวันนี้) แต่ในระยะยาวจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นทำให้เราคาดการได้บ้างโดยใช้เครื่องมือในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัจจัยพื้นฐานกิจการ (Fundamental) หรือปัจจัยทางเทคนิค (Technical analysis) จะช่วยให้นักลงทุนลดความหลงผิดของนักพนันลงไปได้...

ลองมองสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นโดยใช้หลักความน่าจะเป็นดูนะครับ...เพราะชีวิตก็เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน...

ต้องเตรียมพร้อมและเผื่อใจรับทั้งด้านดีและด้านร้ายของชีวิตครับ...

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 6) - สิ่งเร้าและการตอบสนองเกินจริง


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดขึ้นทุกปี...บูทที่ขายหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนมีคนไปมุงเบียดเสียดกันมากมาย  ผมไม่ประหลาดใจเท่าไรเพราะช่วงนี้ดัชนีหุ้นขึ้นมาสูงมากทำให้คนทั่วไปสนใจที่จะเอาเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น  แต่ถ้าย้อนมองกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน...ตอนไปงานสัปดาห์หนังสือแทบจะไม่มีใครดูหนังสือเรื่องการลงทุนเลย...เมื่อเวลาเปลี่ยนสิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป...


หลังช่วงวิกฤต Subprimeใหม่ๆ  มีคนขาดทุนหุ้นมากมาย  บ้างก็สาบส่งตลาดหุ้นและเลิกเล่นหุ้นไป  เวบบอร์ดต่างๆมีการตั้งกระทู้น้อยมาก  ถ้ามีใครตั้งกระทู้ที่เกี่ยวกับการเริ่มเล่นหุ้นจะต้องถูกปรามว่าอย่ามาเล่นหุ้นเลย  ช่วงนั้นผมเองก็ไม่รู้จะไปให้ใครสอนเรื่องหุ้นให้เพราะรอบๆตัวไม่มีใครเล่นหุ้นเป็นสักคน  บรรยากาศช่างแตกต่างกับตอนนี้ราวฟ้ากับดิน...

ถ้าใครเคยผ่านช่วงเวลาที่ชีวิตพบกับปัญหาหนักคงจะพอนึกออกว่าเราจะรู้สึกว่าช่วงเวลาเหล่านั้นผ่านไปช้ามาก..ราวกับจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์  แต่เวลาที่คนเราได้พบเรื่องราวที่ทำให้มีความสุขมากๆเราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วและรู้สึกเสียดายเมื่อเวลาผ่านไป...


เมื่อความเป็นจริงนั้นทุกสิ่งล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  แต่คนเราส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับอดีตที่พึ่งเกิดขึ้นมากกว่า...คนที่เพิ่งอกหักก็คิดว่าฉันจะไม่มีใครอีกแล้วจะต้องอยู่คนเดียวตลอดไป  คนที่ล้มเหลวบางคนก็ท้อแท้จนเลิกล้มที่จะทำต่อไป...คนที่เพิ่งได้รับความสำเร็จเช่น สอบได้ เล่นหุ้นได้กำไร บางคนก็คิดว่าตัวเองจะทำได้ไปตลอดไปจนละเลยการสร้างเหตุที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ  อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น...


เพราะไม่ว่าคนเราจะมีรูปแบบความคิด  ประสบการณ์ในอดีตหรือเตรียมพร้อมมาดีแค่ไหนก็ตาม...สิ่งกระตุ้นเร้าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น (Recent stimuli) ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนเรามากที่สุด...แม้ว่าคนเราจะถูกสอนให้คิดอย่างมีเหตุผล  แต่เมื่อคนเราตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่สูงไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ...ย่อมนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล...เราปล่อยให้การตัดสินใจมีอิทธิพลทางอารมณ์จากสมองส่วนลิมบิก (Limbic system – Amygdala) มาแทนที่การตัดสินใจที่มีเหตุผลจากสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ...

เซอร์ ไอแซค นิวตัน อัจฉริยะนักฟิสิกส์ผู้ค้นพบกฎแห่งการเคลื่อนที่...ได้กล่าวว่า...I can calculate the motion of heavenly bodies, but not the madness of people – ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของเทหวัตถุในท้องฟ้า  แต่ไม่ใช่ความบ้าคลั่งของฝูงชน ...(นิวตันเจ๊งหุ้น South sea company ในช่วงที่เกิดฟองสบู่เมื่อปีค.ศ. 1720)  แม้แต่อัจฉริยะยังถูกเหตุการณ์ฟองสบู่นี้กระตุ้นอารมณ์ด้านความโลภจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด...

การที่สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นทำให้อารมณ์คนเราตื่นตัวไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบ...ทำไปสู่อคติ(Bias)ในแบบที่ผมกำลังจะกล่าวถึงต่อไป...


5. Overreaction and Availability Bias การตอบสนองเกินจริงและอคติจากมองข้อมูลล่าสุด


การตอบสนองเกินจริง (Overreaction) เป็นสิ่งที่เราพบได้เป็นประจำในตลาดหุ้นเมื่อมีข่าวอะไรใหม่ๆมากระทบ...นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าตลาดหุ้นมีอารมณ์ความรู้สึก  (อย่างที่ผมเคยบอกว่าตลาดหุ้นคือผลรวมของโลกภายในของนักลงทุนและคนทั่วๆไป)  ถ้าตามทฤษฏีตลาดมีประสิทธิภาพ...ข่าวสารใหม่ๆควรจะสะท้อนในราคาหุ้นทันทีไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นเพิ่มหรือลด...เช่น ข่าวดีทำให้ราคาหุ้นขึ้นโดยราคาไม่ควรจะลดลงมาถ้าไม่มีข่าวใหม่ๆ...

ในความเป็นจริงแล้ว...บ่อยครั้งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นตอบสนองเกินจริงต่อข่าวใหม่ๆทำให้มีผลต่อราคาหุ้นอย่างมาก  นอกจากนี้การที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วไม่ได้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างถาวร เมื่อเวลาผ่านไป

ในปี 1985  Werner De Bondt และ Richard Thaler ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารทางการเงินเรื่อง “Does the Market over react?” (ตลาดตอบสนองเกินจริงหรือไม่?)  ในการศึกษานี้ได้มีการติดตามผลตอบแทนของหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์คเป็นเวลา 3 ปี โดยแบ่งหุ้นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยหุ้น 35 ตัวที่ทำผลตอบแทนดีที่สุด...เรียกกลุ่มนี้ว่า พอร์ตผู้ชนะ (Winners portfolio) และอีกกลุ่มประกอบด้วยหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุด...เรียกกลุ่มนี้ว่า พอร์ตผู้แพ้ (Losers portfolio) มีการติดตามผลตอบแทนของทั้ง 2 กลุ่มเป็นเวลา 3 ปี เทียบกับดัชนีตลาดหุ้น

ไม่น่าเชื่อว่า... Losers portfolio ชนะตลาดอย่างสม่ำเสมอ...ขณะที่ Winners portfolio ทำผลตอบแทนได้ไม่ดีนัก...โดยรวมแล้วความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลา 3 ปี

ผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้...ผู้แพ้กลายเป็นผู้ชนะ???

เกิดอะไรขึ้นอ่ะครับ...นั่นเพราะทั้งพอร์ต  Winners และ Losers portfolio เกิดการตอบสนองเกินจริงจากนักลงทุน  ในพอร์ตหุ้นที่ผลตอบแทนไม่ดี(Loser)  นักลงทุนตอบสนองต่อข่าวร้ายมากเกินไป  ทำให้ราคาหุ้นลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็น  หลังจากนั้น(เมื่อเริ่มหายผิดหวัง)นักลงทุนเริ่มตระหนักว่าพวกเขามองโลกในแง่ร้ายเกินไป หุ้นLoserเหล่านั้นเริ่มมีราคาสูงขึ้นหลังจากที่นักลงทุนได้ข้อสรุปว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่า  ในทางกลับกัน...หุ้นที่ทำผลตอบแทนดีมากๆ(Winner) นักลงทุนได้ตอบสนองต่อข่าวดีเกินความจริงไปเช่นกัน...เมื่อนักลงทุนตระหนักรู้การมองโลกในแง่ดีเกินจริง ราคาหุ้นก็มีการปรับตัวลดลงมา...

แล้วอะไรคือสาเหตุของการตอบสนองที่เกินจริง...

หลายครั้งผมพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งเมื่อแพทย์ได้บอกข่าวเรื่องพบเนื้อร้าย...แต่คนไข้เหล่านั้นกลับไม่ได้มีท่าทีผิดหวังรุนแรงหรือเสียใจฟูมฟาย...พวกเขาบอกว่าได้เตรียมใจมาก่อนแล้ว  ทำให้ทำใจได้...และยังมีความหวังในอนาคตที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด...ต่างกับคนที่เสียญาติหรือบุคคลสำคัญไปแบบทันด่วนพวกเขาร้องไห้เสียใจมากเพราะไม่ได้เตรียมใจมาก่อนเรื่องราวมันเกิดขึ้นเร็วเกินไป...

มนุษย์เรามีความคาดหวังต่อสิ่งต่างๆ(Expectation)...นักลงทุนคาดหวังว่าซื้อแล้วหุ้นต้องขึ้น  ผลประกอบการต้องดี...บางคนไม่ได้มองว่าจะมีโอกาสที่จะเกิดเรื่องร้ายๆกับบริษัท  ไม่ได้เตรียมใจว่าราคาหุ้นอาจจะลง  ไม่ได้มองความเสี่ยงไว้เลย...เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกินขึ้น  นักลงทุนเหล่านั้นจะเกิดอาการ”ผิดหวัง” แล้วทุกคนจะมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ...นำไปสู่ราคาหุ้นที่ตกต่ำเกินจริง...หุ้นบางตัวที่คนคาดหวังน้อยๆ...เมื่อมีข่าวดีออกมา เช่น บริษัททำกำไรได้ดีเกินคาด...จะทำให้นักลงทุนเกิดอาการลิงโลด(ยิ่งกว่าสมหวังเพราะดีเกินคาด) ไล่ซื้อหุ้นจนราคาวิ่งไปไกลมาก...

เราควรซื้อหุ้นที่ความคาดหวังต่ำกว่าคุณภาพของบริษัทที่เป็นจริงเพราะราคามักจะต่ำกว่ามูลค่า (Undervalue)...ถ้าความคาดหวังเท่าๆกับผลกำไรของบริษัทเมื่อประกาศงบออกมาจะเกิดการขาย (Sell on fact) ถ้าผลประกอบการน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดจะเกิดอาการผิดหวังยิ่งแย่งกันเทขาย  ถ้าผลประกอบการดีกว่าที่นักลงทุนคาด..คนจะลิงโลดแย่งกันซื้อจนราคาจะวิ่งไปไกล...ดังนั้นเราควรอ่านความคาดหวังของตัวเราเองให้ออกเพื่อจะได้ระวังอาการผิดหวัง...และอ่านความคาดหวังของนักลงทุนทั่วๆไป(นายตลาด)ให้ออก  แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพื้นฐานของบริษัทที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง...

ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ซื้อหุ้นที่ดูดีมีอนาคตที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวังหรอกนะครับ...แต่ผลประกอบการและการเติบโตนั้นจะต้องดีมากกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวัง...และนี่จะเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีความคาดหวังต่ำเช่นกันครับ...

เมื่อเรารู้แล้วว่าการตอบสนองเกินจริงมาจากความผิดหวังหรือดีเกินคาดต่อสิ่งกระตุ้นเร้า (Response to stimuli)...นักลงทุนจะได้ประเมินความคาดหวังของตัวเอง  มองข้อเสียและความเสี่ยง..มองข้อดีและโอกาสของบริษัทตามจริง (สร้างแบบจำลองสถานการณ์ไว้หลายๆแบบ)  มีสติไม่หลุดไปตามอารมณ์ของตลาด  ฝึกให้เรามีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นแล้วใช้ประโยชน์จากการตอบสนองเกินจริงของนายตลาด...ต้องไม่ประมาทครับ

ส่วน Availability bias เกิดจากผู้คนมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักในการตัดสินใจกับข้อมูลที่เพิ่งเกิดขึ้น...(แล้วก็มีการตอบสนองเกินจริงตามมา)

การได้รับอิทธิพลจากข้อมูลล่าสุดนั้นเกิดขึ้นในชีวิตคนเราตลอดเวลา...เช่น  เราขับรถกลับบ้านบนถนนที่คุ้นเคยทุกๆวัน  อยู่มาวันหนึ่งเราเห็นรถยนต์เกิดอุบัติเหตุบนถนนเส้นนั้น...หลังจากนั้นเป็นได้ว่าเราจะเริ่มขับรถด้วยความระมัดระวังมากกว่าแต่ก่อนอาจจะนานเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือน...ความน่าจะเป็นที่จะเกิดอุบัติเหตุบนถนนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  เพียงแต่เหตุการณ์ที่เราพบเห็นอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เราตอบสนองเกินจริงไป  หลังจากนั้นเมื่อเราเคยชินเราจะกลับมาขับรถเหมือนเดิม....

ลองมองดูรอบๆตัวเราได้ครับ...เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆเลยครับ...

บางทีการที่เรามองใกล้ๆ  อาจทำให้เรามองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด  การที่เรามองข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยขาดมุมมองระยาวนั้น...อาจทำให้เราตัดสินใจโดยไม่สมเหตุผล  ถ้าเรามองไกลขึ้นอีกหน่อย  ถอยออกมาอีกนิด...เราจะเห็นว่าข่าวดีหรือข่าวร้ายเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว  แต่ที่สำคัญกว่าคือข่าวนั้นกระทบผลการดำเนินงานของบริษัทมากน้อยแค่ไหน  ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว...บางทีวิกฤตจากข่าวร้ายที่ทำให้ราคาหุ้นต่ำมากๆจากการตอบสนองเกินจริง...อาจเป็นโอกาสทองของนักลงทุนผู้มองผ่านเปลือกของข่าวดีข่าวร้ายเข้าไปสู่แก่นของคุณค่าที่แท้จริงของบริษัทก็เป็นได้...

คำพูดของ Warren Buffet ที่บอกว่า...Be fearful when others are greedy and greedy only when others are fearful ให้กลัวเมื่อคนอื่นโลภและให้โลภเมื่อคนอื่นกลัว...ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ...ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก  กล้าสวนกระแสคนส่วนใหญ่...แต่ทำได้แน่นอน...ถ้าเราฝึกฝนตัวเองให้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันไม่ว่าจะดีหรือร้าย...มองให้ไกลขึ้น  มองให้กว้างขึ้น...

ลงทุนและใช้ชีวิตด้วยจิตใจที่มีความสุขและมีความหวังนะครับ  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ต่อไปก็ตาม...

เพราะทุกสิ่งไม่ว่าจะดีหรือร้าย...สุดท้ายแล้วมันจะผ่านไปเสมอ


พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่5) ทำนายตลาดหุ้น


 “คุณเชื่อมั๊ยว่าชะตาชีวิตคนเราถูกกำหนดมาแล้ว?”


ประเทศไทยมีอาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโชคชะตาที่เฟื่องฟูมากๆ...นั่นคือ  หมอดู  เราจะพบเห็นหมอดูชื่อดังได้มากมายตั้งแต่ตามบริการทางโทรศัพท์  ตามโรงแรม  หรือ  ตามสวนสาธารณะต่างๆ...เวลาผมเข้าร้านหนังสือมักจะเห็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการดูหมอมากมายและมีมาวางขายแบบไม่จบไม่สิ้น...เวลาที่คนทั่วไปเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนก็มักจะไปดูหมอเพื่อเอาคำทำนายเป็นที่พึ่งทางใจ...ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้น...

เมื่อตอนที่ผมเริ่มเล่นหุ้นใหม่ๆ...ผมมักจะดูคำทำนายดัชนีหุ้นของหมอดูชื่อดังคนนึง  ผมมั่นใจมากว่าผมมีสิ่งที่คนอื่นไม่มี...พอผมอ่านคำทำนายย้อนหลังของหมอดูท่านนี้  ผมพบว่าหมอดูทำนายได้แม่นมากๆ...ผมเริ่มซื้อหุ้นตามหมอดูท่านนี้และเปิดไพ่ยิบซีเลือกหุ้นไปด้วย...555 โลกนี้จะมีใครกำไรได้เท่าผมอีก...ผลลัพธ์เหรอครับ ...“ขาดทุนเละ”

น่าแปลกที่เราอ่านคำทำนายของหมอดูทีไร...ทำไมถึงได้รู้สึกว่าแม่นขนาดนี้...นั่นเป็นเพราะเรามีอคติบางอย่างในใจครับ  เวลาเราฟังคำทำนายเรามักจะหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าคำนายของหมอดูถูกต้องมากกว่าจะมองว่ามีเหตุการณ์จริงที่ไม่ตรงกับคำทำนายหรือไม่...เมื่อหมอดูทำนายผิดเราก็มักจะลืมและไม่เอามาใส่ใจ...เราจึงมองว่าคำทำนายของหมอดูถูกเสมอ...


 เวอร์เนอร์  ไฮเซนเบิร์ก  นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลชื่อก้องโลก...ได้ค้นพบหลักพื้นฐานของทวิภาค(เป็นได้ทั้งอนุภาคและคลื่น)ของอิเล็กตรอนว่า...ไม่มีทางระบุตำแหน่งและโมเมนตัมได้แม่นยำพร้อมกัน...หลักการนี้เรียกว่า...หลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์ก (Heisenberg’s uncertainty principle)  นั่นคือ...ถ้าหากวัดตำแหน่งอนุภาคได้แม่นยำจะบอกไม่ได้ว่าโมเมนตัมมีค่าเท่าไร  และหากระบุค่าโมเมนตัมได้อย่างแม่นยำจะไม่มีทางบอกได้เลยว่าอนุภาคอยู่ในตำแหน่งใด...


และนี่คือหลักความจริงของสิ่งที่เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง...ทุกสิ่งล้วนไม่แน่นอนคาดการไม่ได้อย่างแม่นยำ...

จอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรระดับโลก  ได้กล่าวว่า...” Financial markets generally are unpredictable. The idea that you can actually predict what’s going to happen contradicts my way of looking at the market.” ...”ตลาดเงินโดยทั่วไปแล้วไม่สามารถทำนายได้...ความคิดที่ว่านักลงทุนสามารถทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นนั้นขัดแย้งกับมุมมองของผมที่มีต่อตลาด” ...จะเห็นได้ว่าแม้แต่นักเก็งกำไรระดับโลกยังไม่เชื่อเลยว่าตลาดนั้นทำนายได้อย่างแม่นยำ

และการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบและเชื่อการทำนายนั้นจะนำไปสู่อคติ(Bias)อีก 2อย่าง ที่ผมกำลังจะพูดต่อไป

4. Confirmation and Hindsight Bias  ...อคติจากการมองด้านเดียวและอคติจากการมองย้อนหลัง..

ความประทับใจครั้งแรก(First impression)  ยากที่จะสั่นคลอนเพราะคนเรามีแนวโน้มที่มีการคัดกรองและให้ความสนใจกับข้อมูลที่สนับสนุนความคิดของตนเอง  หลายๆครั้งมนุษย์ไม่ได้ใช้เหตุผลในการเลือกแต่มนุษย์เลือกก่อนแล้วหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตน  ขณะที่ละเลยไม่สนใจข้อมูลอีกด้านหนึ่ง  นี่คือ...อคติจากการมองด้านเดียว (Confirmation Bias)

เวลาที่หนุ่มสาวตกหลุมรักกันใหม่ๆ...จะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างมองคู่รักว่าเป็นเทพบุตรเทพธิดาที่ดีเลิศไม่มีข้อเสียใดๆหรือถ้ามีก็เล็กน้อยมองข้ามไป...บางครั้งคนเหล่านี้ใจเร็วด่วนได้ตัดสินใจแต่งงานกันไปโดยไม่ศึกษากันให้นานพอ  มีผู้หวังดีหรือผู้ใหญ่เตือนก็มักจะไม่สนใจ  กลายเป็นว่าเมื่อเจอด้านไม่ดีที่เคยมองข้ามหรือไม่เคยมองกลับไม่สามารถรับฝ่ายตรงข้ามได้อีกต่อไปและต้องทนอยู่ด้วยกันอย่างทุกข์ทรมานจะเลิกก็เลิกไม่ได้...

ในการลงทุน Confirmation Bias  ทำให้นักลงทุนจะหาข้อมูลที่มาสนับสนุนความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับการลงทุนมากกว่าหาข้อมูลมาโต้แย้ง  ซึ่งเป็นผลให้เกิดการตัดสินใจผิดเพราะข้อมูลด้านเดียวจะทำให้กรอบความคิดของนักลงทุนบิดเบือนไป  เหมือนภาพที่ไม่สมบูรณ์...

เช่น...นักลงทุนได้ข่าวลือไม่ทราบที่มาว่าหุ้น...ABC จะมีข่าวดีและจะวิ่งขึ้นอย่างรุนแรง  เขาจะพยายามหาข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่มาสนับสนุนและพิสูจน์ว่าหุ้นจะขึ้นจริงๆ  ไม่ว่าจะเป็นข้อดีเรื่องหนี้สินต่อทุนที่ต่ำหรือกระแสเงินสดที่ดีขึ้น  แต่ละเลยข้อเสียที่นำไปสู่การผิดพลาด เช่น การสูญเสียลูกค้าคนสำคัญหรือมูลค่าตลาดสินค้าโดยรวมที่นับวันจะลดลงเรื่อยๆ...หรือการที่เราเป็นลูกค้าของหุ้นที่เราถือเราก็จะมองเห็นแต่ข้อดีของกิจการนั้นๆ

เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนสมเหตุสมผล  นักลงทุนควรจะหาข้อมูลให้ครบทุกด้าน  สอบถามนักลงทุน ผู้บริหาร ผู้บริโภค  ทั้งด้านที่สนับสนุนและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับข้อมูลด้านที่ขัดแย้งกับความคิดของตนเอง...เพื่อให้ภาพของการลงทุนสมบูรณ์ที่สุด

อคติอีกอย่างที่ผมจะพูดถึงคือ...Hindsight bias ...คือความเชื่อของนักลงทุนที่ว่าตลาดทำนายได้  โดยมองข้อมูลย้อนกลับหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว...เวลาที่เกิดเหตุการณ์ในอดีตสามารถคาดเดาและทำนายได้อย่างชัดเจน  ทั้งที่ในความจริงแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำนายได้...

เราจะเห็นว่ามีนักลงทุนมากมายบอกว่าเขารู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหลังจากที่เหตุการณ์เกิดไปแล้ว...เช่น  ผมรู้อยู่แล้วว่าหุ้นตัวนี้มันจะขึ้น  ทั้งที่จริงๆก็ไม่ได้ซื้อไว้,  ผมรู้อยู่แล้วว่าดัชนีจะไป 400 จุดช่วงมีวิกฤตsubprime  ทั้งที่จริงๆติดดอยอยู่ทุกตัว...ถ้ารู้จริงๆไม่short TFEX  หมดหน้าตักไปเลยล่ะครับ...


 
 


หรือเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง...Tulip bubble และ South sea bubble ก็มีคนมากมายที่มองย้อนกลับไปแล้วบอกว่าเหตุการณ์ฟองสบู่นี้ชัดเจนมากๆ

แต่เหตุการณ์หลายครั้งก็ดูเหมือนจะคาดได้จริงๆถ้ามองย้อนกลับไป ...นั่นเป็นเพราะว่าความต้องการดั้งเดิมของคนเราต้องการคำอธิบายว่าโลกนี้คาดการณ์ได้  ตั้งแต่วัยเด็กที่เราจะเห็นว่าพ่อแม่เลี้ยงดูเราอย่างดีให้นมตรงเวลาเข้านอนตรงเวลา  มาหามาดูแลอย่างสม่ำเสมอ  ทำให้คนเรามั่นคงภายในและคิดว่าโลกนี้ปลอดภัยคาดเดาได้...ในขณะที่เหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายๆอย่างก็คาดเดาได้ เช่น  การเคลื่อนที่ของดวงดาว  เมื่อคนเราเลือกจะเชื่อความมั่นคงปลอดภัยและการคาดการณ์ได้ทำให้คนเรามองความจริงผิดไป  ...ตลาดหุ้นนั้นเป็นผลรวมของเหตุการณ์ทางกายภาพและผลสะท้อนของจิตใจมนุษย์ทำให้คาดการณ์อย่างแม่นยำไม่ได้...เพราะเหตุปัจจัยนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การที่เราคิดว่าตลาดหุ้นคาดการณ์ได้จะนำไปสู่ความมั่นใจในตัวเองเกินไป (Overconfidence) ที่ผมพูดไปเมื่อบทก่อนๆ...และทำให้การลงทุนของเราเสียหายได้  เพราะเราจะวิ่งเข้าหาความเสี่ยงสูงโดยไม่ระวังอยู่ตลอดเวลา

ตอนเรียนแพทย์ผมไม่ชอบอายุรศาสตร์(Medicine)เลย  แต่ผมชอบเรียนประสาทวิทยา(Neurology)...โดยเฉพาะตอนวิเคราะห์วินิจฉัยโรค  คนนำเสนอข้อมูลจะค่อยๆเปิดเผยมาทีละส่วน...คนที่วิเคราะห์จะได้ข้อมูลเฉพาะตอนแรกเท่านั้น  แต่ต้องวิเคราะห์ให้ภาพรวมตรงประเด็นและถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้  แล้วถึงจะมีการเปิดเผยข้อมูลที่เหลือตามลำดับ...ทำให้ความคิดถูกรบกวนจากการมองผลลัพธ์ย้อนกลับไปน้อยมาก  ซึ่งต่างกับการพิพากษาคดีทางการแพทย์จะรวมรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วมองย้อนกลับไป...ทำให้มีอคติจาการมองย้อนกลับได้  เช่น  ทำไมตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้นล่ะ  ทำไมไม่ส่งไปรพ.จังหวัดล่ะ  ทั้งๆที่ในขณะนั้นแพทย์ก็ได้ให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่สถาณการณ์จะอำนวยแล้ว...

นักลงทุนสามารถลดอคติชนิดนี้ได้โดยการมองจากปัจจุบันไปข้างหน้าและจดบันทึกความคิดที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไว้  แล้วมาอ่านดูว่าเราคิดอะไรในขณะนั้นเมื่อเวลาผ่านไป  ประเมินว่าความคิดตอนนั้นถูกต้องหรือไม่  จะได้ช่วยลดความมั่นใจเรื่องการคาดการตลาดได้ลงไปครับ...

เห็นหรือยังครับว่าอคติ 2 อย่างนี้ทำให้เราเชื่อว่าชีวิตคนเราทำนายได้  ถูกกำหนดมาแล้ว  ...ดังนั้นถึงดูหมอหรือฟังนักวิเคราะห์มาแล้วก็อย่าไปเชื่อมากนะครับ...

เพราะชีวิตของเรา  เรากำหนดเองครับ 

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่4) การยึดติด





บทที่แล้วผมพูดถึงพฤติกรรมแห่ตามฝูงชน  เราสามารถนำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลของมนุษย์มาใช้ประโยชน์ได้...ถ้าเราเป็นนักเก็งกำไร...เราต้องอ่านอารมณ์ตลาดให้ออก และลงมือให้เร็วกว่าคนส่วนใหญ่อย่างน้อยครึ่งก้าว  ใช้อารมณ์ตลาดให้เป็นประโยชน์  โดยนักเก็งกำไรจะมีมุมมองว่าราคาหุ้นระยะสั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาด...แม้ว่าราคาจะเกินพื้นฐานแต่ถ้ามีคนแห่เข้าไปซื้อราคาหุ้นก็ขึ้น  (ด้วยการปล่อยข่าวหรือสร้างกราฟอย่างไรก็แล้วแต่...)  นักเก็งกำไรใช้โอกาสนี้ซื้อหุ้นได้แล้วทำกำไรได้  และถึงราคาหุ้นที่ต่ำกว่าพื้นฐานแต่ถ้าคนในตลาดมองโลกในแง่ร้ายมากๆก็มีโอกาสที่คนจะเทขายจนราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากๆนักเก็งกำไรก็ใช้โอกาสนี้ขาย Short sell ได้เช่นกัน...นอกจากการอ่านอารมณ์ตลาดให้ออก  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องอ่านอารมณ์ตัวเองให้ออกและไม่ทำตัวเป็นคนที่ทำตามอารมณ์ตลาดซะเอง... (นักเก็งกำไรเป็นได้ทั้ง ชาวสวน - Contrarian investing หรือ ชาวไล่ - Momemtum investing ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของนักเก็งกำไรที่ใช้ในสถาณการณ์ที่นักลงทุนในตลาดเริ่มมีพฤติกรรมแห่ทำตามกันไป...)

ถ้าเป็นนักลงทุนให้มองหาช่วงที่ตลาดแห่ทำตามกันมากๆจนราคาตลาดของหุ้นนั้นผิดไปจากมูลค่าที่ควรจะเป็น...เช่น  ถ้าคนแห่ชื้อหุ้นตัวหนึ่งจนราคาเกินมูลค่าไปมากๆเพราะความโลภในช่วงตลาดกระทิง...นักลงทุนก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นที่มีในมือเมื่อราคาตลาดเกินมูลค่า  หรือถ้าราคาตลาดต่ำมากๆจากที่นักเล่นหุ้นคนอื่นๆแห่กันเทขายเพราะความหวาดกลัวในช่วงตลาดหมี...นักลงทุนอาจจะพิจารณาเข้าไปซื้อเมื่อราคาตลาดถูกกว่ามูลค่า...สิ่งที่สำคัญคือ...ให้คิดอย่างอิสระจากฝูงชน  คิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล  ลงทุนตามพื้นฐานของบริษัทอย่างแท้จริง  ไม่ขึ้นกับอารมณ์ตลาดทั้งทางสวนหรือไล่...ซึ่งก็ต้องอ่านอารมณ์ของตลาดและอารมณ์ของตัวเองให้ออกเช่นกันเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ...

แล้วเวลาที่ตลาดมีนักลงทุนที่ชอบแห่ทำตามกันแบบนี้  เราจะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าราคาของหุ้นตัวนั้นถูกหรือแพง???  ความถูกหรือแพงของหุ้นหรือสินค้าต่างๆนั้นเกิดจากการเปรียบเทียบกับจุดอ้างอิง (Reference point) ซึ่งก็เหมือนกับการเปรียบเทียบทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม  เช่น  ความดี-ความชั่ว  ความสวย-ไม่สวย  ฉลาด-โง่  รวย-จน  เป็นต้น  มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา...เห็นได้จากหนังสือ ทีวี และคนทั่วๆไปชอบพูดถึงการจัดอันดับของสิ่งต่างๆ...เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก  นางงามจักวาล  ตัวเลขIQกับความฉลาด  การแข่งขันกีฬา  และอื่นๆอีกมากมาย

แล้วการยึดติดกับการจุดอ้างอิงบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล...ก็จะนำไปสู่อติ(Bias)อีกอย่างที่ผมจะพูดต่อไป

3. Anchoring  การยึดติดกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันไม่เป็นเหตุเป็นผล

สิ่งต่างๆในโลกนี้จะมั่นคงแข็งแรงได้ต้องมีหลักยึดบางอย่าง...บ้านหรือสิ่งก่อสร้างก็ต้องมีเสาไว้ค้ำจุน  ความคิดและความเห็นของเราก็เช่นกัน...ควรจะมีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเกี่ยวข้องกันถึงจะพิจารณาได้ว่าความคิดความเห็นนั้นถูกต้องและมีเหตุผล  แต่ Anchoring ที่เราจะพูดถึงในหัวข้อนี้นั้น  คือ การที่ความคิดของเรายึดติดอยู่กับจุดอ้างอิงบางอย่างที่ไม่มีเหตุผลและไม่เกี่ยวข้องกันเลย...

ฟังดูน่าแปลกใจใช่ไหมครับ  ข้อมูลและจุดอ้างอิงที่ไม่มีเหตุผล ไม่เกี่ยวข้องกันจะมีผลต่อการตัดสินใจของเราได้อย่างไร...

มีการศึกษาในปี 1974 ในหัวข้อเรื่อง “Judgment Under Uncertainty : Heuristics and Biases” โดย Kahneman และ Tversky โดยผู้เข้ารับการทดสอบจะถูกถามว่า เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกสหประชาชาติในประเทศของทวีปแอฟริกาสูงกว่าหรือต่ำกว่าตัวเลขที่ได้จากการปั่นวงล้อ...วงล้อนี้จะมีตัวเลขตั้งแต่ 1-100  หลังจากนั้นจะให้ประมาณตัวเลขเปอร์เซ็นต์  ผลการศึกษาพบว่าตัวเลขที่ได้จากการปั่นวงล้อเป็นแบบการสุ่ม (Random) กลับมีผลต่อตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ผู้เข้ารับการทดสอบประมาณไว้... เช่น ถ้าหมุนล้อได้เลข 10 ตัวเลขเฉลี่ยที่ผู้เข้าทดสอบประมาณ คือ 25 เปอร์เซ็นต์  ถ้าล้อหมุนได้เลข 60 ตัวเลขเฉลี่ยที่ผู้เข้าทดสอบประมาณคือ 45 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าตัวเลขสุ่มจากการหมุนวงล้อซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับเปอร์เซ็นต์ของประเทศสมาชิกของสหประชาติในแอฟริกา...กลับสามารถดึงค่าเฉลี่ยตัวเลขที่ผู้เข้าทดสอบประมาณ...ให้เข้ามาใกล้เคียงกับตัวเลขที่เกิดจากการสุ่ม...(มี Anchoring effect ต่อผู้เข้ารับการทดสอบ)

ในการลงทุนนั้น...ตัวเลขและสถิติที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเช่นกัน...เช่น  นักลงทุนเห็นหุ้นตัวหนึ่งราคาดิ่งลงอย่างรุนแรงแล้วเข้าไปช้อนซื้อเพราะคิดว่าของถูก...เพราะเคยเห็นที่ราคาสูงกว่านี้  โดยไม่ได้ดูว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงหรือไม่...

ยกตัวอย่าง...หุ้น XYZ ที่มียอดขายและกำไรที่ดีมากๆเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ราคาพุ่งจาก 12 บาท เป็น 50 บาท แต่โชคไม่ดีที่ปีนี้ลูกค้าคนสำคัญไม่ได้ต่อสัญญา(แบบถาวร)ทำให้รายได้ของบริษัท XYZ หายไปเกินครึ่ง...ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงจาก 50 บาท เหลือเพียง 25 บาท ...นักลงทุนที่มีการยึดราคา 50 บาทเป็นจุดอ้างอิงจะเห็นว่าที่ราคา 25 บาทคือถูกมาก...ทั้งที่จริงๆแล้วพื้นฐานได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะลูกค้ารายใหญ่หายไป...(25 บาทตอนหลัง เป็น Fairvalue ไม่ใช่  undervalue ) และนี่คือกับดักของ Anchoring effect

บางครั้งหุ้นบางตัวได้วิ่งขึ้นไปสูงมากๆจนทำให้นักลงทุนที่ดูราคาก่อนหน้านี้กลัว...ทั้งๆที่จริงพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากก็ได้...การดูราคาหุ้นอย่างเดียวจึงมีผลต่อ Anchoring อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

การที่จะให้ Anchoring มีผลต่อเราน้อยที่สุดหรือไม่มีผลเลยนั้น...ต้องมีการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล...การประเมินบริษัทต้องใช้ข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงอย่างระมัดระวัง...แยกให้ออกระหว่างข้อคิดเห็นกับข้อเท็จจริง (Fact or Opinion) รวมถึงประเมินข้อมูลอย่างรอบด้านตามความจริงเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนที่สุด...การรับฟังความเห็นของผู้อื่นอย่างใตร่ตรองจะทำให้เรามองเห็นอีกหลายๆมุมก่อนตัดสินใจเช่นกัน...

ขอให้นักลงทุนทุกคนมีสติและเปรียบเทียบราคาตลาดกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทครับ (Best Reference point)... ให้หลุดพ้นจาการยึดติดราคาในอดีตหรือต้นทุนของหุ้นที่ถืออยู่ในมือนะครับ...

เพื่อพอร์ตของเราจะได้มีหลักยึดที่มั่นคงและเติบโตอย่างแข็งแรงครับ...


พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่3) แห่ตามฝูงชน

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดเงิน  (ตอนที่3) แห่ตามฝูงชน







ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังร้อนแรงได้ที่เลยนะครับ...นักลงทุนส่วนใหญ่เล่นหุ้นด้วยความมั่นใจ...ซื้อตัวโน้นแล้วเอามาขายแล้วซื้อตัวใหม่ไปๆมาๆ...หลายๆคนเริ่มคิดว่าตลาดหุ้นเป็นสถานที่ทำเงินได้ง่ายๆ  ไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลและความเสี่ยงใดๆ  ขอแค่รู้สึกว่ามันจะขึ้นก็เข้าไปซื้อ... Derivative warrant ทำกำไรได้เป็นร้อยๆเปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียงไม่กี่วันทั้งที่ราคาตลาดของวอร์แรนต์เมื่อใช้สิทธิแล้วสูงกว่าราคาตลาดของตัวแม่อย่างมากกกก ...เรามาลองดูกันต่อไปนะครับว่าท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะเป็นอย่างไร...


ที่ผมพูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบันเนื่องจากต้องเสนอเรื่อง Overconfidence ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน...(ต้น ต.ค. 53) และอีกอันที่เป็นอติที่เห็นชัดๆตอนนี้คือ ...พฤติกรรมแห่ตามฝูงชน

เราจะมาต่อเรื่อง Behavioral finance ในหัวข้อต่อไปนะครับ...


2. Herd behavior พฤติกรรมแห่ตามฝูงชน


สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกคือ...การเกิดฟองสบู่และการแตกของฟองสบู่  (Bubbles and bursting of bubble)  ที่เราจะเห็นล่าสุดคือ ...ฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา... ก่อนหน้านี้ก็ฟองสบู่ดอตคอม..

เพราะอะไรหายนะทางเศรษฐกิจถึงได้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า...ราวกับมนุษย์เป็นเด็กน้อยที่ไม่รู้จักความเจ็บปวด...

มนุษย์เราถูกจัดว่าเป็นสัตว์สังคม...มีการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ...ความต้องการภายในลึกๆของมนุษย์นั้นล้วนแต่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น...เราจะรู้สึกสบายใจและปลอดภัยเมื่อมีคนที่คิดคล้ายๆกับเราและยอมรับเรา...โดยที่ไม่รู้อย่างแท้จริงด้วยซ้ำว่าเรื่องที่ยอมรับกันนั้นเป็นความจริงหรือไม่  เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์หรือไม่...

ผมเคยไปเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีสยาม...แล้วบันไดเลื่อนเกิดเสียเลื่อนไม่ได้...ข้างๆบันไดเลื่อนจะมีบันไดธรรมดาอยู่ด้วย  แต่คนที่อยู่ข้างหน้าผม 20 กว่าคน  เลือกที่จะเดินลงบันไดเลื่อนทุกคน(เดินตามๆกันไปเรื่อยๆ)...ทั้งๆที่ผมมองว่าขั้นของบันไดเลื่อนสูงกว่าและเดินยากกว่าบันไดทั่วไป...ผมเลือกที่จะเดินลงบันไดธรรมดาแล้วหลังจากนั้นก็เริ่มมีคนเดินลงบันไดธรรมดาบ้าง...

ถ้าเราลองสังเกตดูดีๆจะมีพฤติกรรมทำตามๆกันเต็มไปหมดเลยครับ...(รวมถึงตัวเราเองด้วยตอนที่ไม่รู้ตัว...) เช่น  คนส่วนใหญ่จะเลือกเข้าร้านอาหารที่มีคนกินเยอะมากกว่าร้านอาหารที่ไม่มีใครนั่งกินอยู่เลย...(ทั้งๆที่ร้านนั้นอาจจะอร่อยกว่าแต่ยังไม่ถึงเวลาที่ขาประจำจะมานั่งกิน)

ยิ่งสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน  ไม่ปลอดภัย... มนุษย์ยิ่งต้องการที่พึ่ง  เราจะสบายใจถ้ามีคนทำเหมือนเราหลายๆคน

การทำตามๆกันนั้นไม่ได้เป็นเฉพาะด้านจิตใจและพฤติกรรมเท่านั้น  แม้แต่ด้านชีวภาพก็มีการปรับตัวเข้าหากันอย่างน่าอัศจรรย์  มีการทดลองเกี่ยวกับรอบของประจำเดือนในผู้หญิงที่เข้าไปอยู่บ้านเดียวกันเมื่อเวลาผ่านไปปรากฎว่าประจำเดือนของผู้หญิงที่เข้าร่วมในการศึกษาจากเดิมที่ไม่ตรงกันได้เคลื่อนเข้ามาอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน...หรือเราจะเห็นบุคคลิกลักษณะและหน้าตาของคนที่อยู่ด้วยกันนานๆก็จะมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น...

การที่จะคิดไม่เหมือนคนอื่นๆ...ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย...เพราะแม้แต่ปัจจัยทางชีวภาพทางร่างกายส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ยังมีการทำตามกัน...แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องความคิดที่เปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย...


สิ่งที่สำคัญกว่าการตระหนักว่าเรากำลังทำตามคนอื่นๆอย่างไม่รู้ตัว คือ...แล้วจริงๆสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องหรือไม่...มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นหรือไม่  สิ่งที่เราทำมีโทษกับตัวเองและผู้อื่นหรือไม่  เรามีเจตนาหรือต้องการผลลัพธ์อะไรจากการกระทำนี้???


หรือเราแค่ทำไปเพราะความไม่รู้   เพียงเพราะความอุ่นใจว่าเราไม่แปลกแยกจากคนอื่น...โดยที่ผลลัพธ์ของการกระทำนั้นอาจจะเป็นหายนะ

พฤติกรรมเหล่านี้นำด้วยความเชื่อ  ความศรัทธา  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย...แม้ว่าในบางเรื่องความเชื่อนั้นอาจจะพิสูจน์เลยไม่ได้ก็ตามที...ขอเพียงเป็นบุคคลที่เราให้ความวางใจพูดหรือทำเราก็พร้อมที่จะเชื่อและทำตาม...

และพร้อมที่จะทำลายล้างคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อเช่นกัน!!!...

นี่คือหนึ่งในพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล (Irrational behavior) ของมนุษย์

มี 2 เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทำตามฝูงชน....1. แรงกดดันทางสังคมที่ทำให้คนคล้อยตามกัน  นี่คือสิ่งที่มีอำนาจมาก...คนเราล้วนแต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและต้องการการยอมรับจากผู้อื่นมากกว่าที่เป็นคนที่ถูกทิ้ง... 2. การให้เหตุผลที่ว่า...”คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะผิด”...แม้ว่าคุณจะมีความคิดว่าความคิดคนส่วนใหญ่ไร้เหตุผลแต่คุณก็ยังจะพยายามบังคับตัวเองให้เชื่อและทำตามคนส่วนใหญ่ต่อไปโดยเฉพาะตอนที่คุณประสบการณ์ยังน้อย  เราคงยังไม่รู้อะไรที่คนส่วนใหญ่รู้ล่ะน่า...(นี่อาจจะใกล้เคียงแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ...ซึ่งผมพูดไปเมื่อตอนแรกว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา)

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1990 นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยที่อเมริกา...ซื้อขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนต(Dotcom) อย่างเมามันส์ด้วยเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล  (เทียบของบ้านเราคงเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับ 3 G ในช่วงที่ผ่านมา)  แม้ว่าหุ้นเหล่านี้หลายตัวบริษัทไม่ได้มีกำไรนัก  แต่ราคาหุ้นกลับขึ้นอย่างไร้แนวต้าน...นักลงทุนไม่มีความหวาดกลัวใดๆเพราะคิดว่าซื้อแพงแล้วก็ยังขายได้แพงกว่า...และทุกๆคนก็ล้วนทำแบบเดียวกันหมด...

เวลาที่เราซื้อหุ้นแบบเดียวกับคนอื่นเราจะรู้สึกปลอดภัยเพราะถ้าคนอื่นกำไรเราก็กำไรด้วย...ถ้าเราขาดทุนคนอื่นก็ขาดทุนด้วยรวมถึงเรายังโทษว่าเป็นความผิดของคนที่เราซื้อตาม...ซึ่งความรู้สึกปลอดภัย(Sense of security)ในการทำตามคนอื่นไม่ได้หมายความว่าหุ้นตัวนั้นจะปลอดภัย...

การแห่ทำตามฝูงชนจึงเป็นอคติ(Bias)อย่างหนึ่งที่ทำให้ทนุษย์มองไม่เห็นความจริงที่เกิดขึ้น...

ลองทบทวนดูว่าหุ้นที่เราซื้อหรือการตัดสินใจต่างๆในชีวิตที่เราทำไปนั้นเป็นเพียงเพราะคนส่วนใหญ่ทำกันและทำตามค่านิยมของสังคมหรือไม่... บางทีหุ้นเด็ดของเซียนๆที่คุณซื้อตามอยู่อาจจะเป็นหุ้นที่วิเคราะห์ผิดพลาดหรือเซียนเจตนาปล่อยของก็เป็นได้... พอเรารับของๆเซียนคนนั้นแล้วหุ้นตกกราวรูดเซียนก็จะเข้ามาปลอบใจนั่นนี่โน่น... เหมือนในหนังไทยฉากกระท่อมปลายนาวันฝนตกไม่มีผิด...

โดยส่วนตัวผมไม่ซื้อหุ้นตามใครเลย (ช่วงเล่นใหม่ๆซื้อตามที่โบรกเชียร์ 555 เจ๊งครับ)... แต่ถ้าซื้อแล้วไปตรงกับเซียนนับเป็นเรื่องที่ดีเพราะมีคนคอยเชียร์ให้โดยที่ผมไม่ต้องเหนื่อยออกแรง... อยากให้นักลงทุนรายย่อยใช้ความคิดตัวเองมากกว่าจะพึ่งพิงสิ่งภายนอกเพราะนี่คือหนทางสู่การพัฒนาความเป็นมนุษย์... ให้บอกตัวเองว่า  “ผิดก็เพราะฉันตัดสินใจผิด  ฉันจะเรียนรู้จากการตัดสินใจของฉันไม่ว่าผลลัพธ์ของการตัดสินใจของฉันจะเป็นอย่างไร  ฉันจะเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงด้วยจิตใจที่กล้าหาญและเต็มไปด้วยสติปัญญา” ให้ชีวิตและผลการลงทุนขึ้นอยู่กับความคิดการกระทำของเราเอง...(Sense of mastery)

สุดท้ายผมอยากบอกว่า...


การทำตามคนอื่นไม่ใช่เรื่องไม่ดี...ไม่ต้องไปบังคับให้ตัวเองแปลกกว่าชาวบ้านหรือทำไม่เหมือนใคร...แต่ให้มีสติและรู้ว่าคุณค่าและเป้าหมายของการกระทำ(การลงทุน)ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนมากกว่าจะมาดูแค่ว่า...เหมือนคนอื่นหรือไม่เหมือนคนอื่นครับ...

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่ 2) การรับรู้อันผิดเพี้ยน

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนที่2)




เมื่อบทที่แล้วผมพูดถึงเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ...จะเห็นว่า...แนวคิดนี้มองว่าตลาดเหมือนเป็นเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่คำนวนทุกอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำไม่มีปัจจัยทางอารมณ์ใดๆมารบกวนทั้งสิ้น...แต่ในความจริงเบื้องหลังคอมพิวเตอร์ที่ซื้อขายหุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ...นั้นคือ “มนุษย์”  ไม่ใช่คอมพิวเตอร์  ถึงแม้จะมีการตั้งโปรแกรมซื้อขายหุ้นโดยอัตโนมัติ  มนุษย์ก็เป็นผู้เขียนโปรแกรมนั้นขึ้น.... ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์  ในเรื่องความเชื่อ มุมมอง ความคิด ความคาดหวัง อารมณ์ความรู้สึก สิ่งเหล่านี้จะถูกสะท้อนเข้าไปในตลาด...
กระบวนการทำงานของจิตใจมนุษย์  เริ่มตั้งแต่การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และความทรงจำ (Perception-Internal and External) เข้าไปแปลผลสิ่งที่เห็นคืออะไร (Recognition)...มีความหมายกับเราอย่างไร (Meaning)...แล้วเทียบเคียงกับประสบการณ์เดิม (Past experience)  มีการเกิดอารมณ์ความรู้สึกกับสิ่งที่รับรู้ (Feeling)  เกิดความคาดหวัง (Expectation) แล้วตอบสนองออกมาทางการกระทำ (Behavior)

เช่น... เวลาเจอโดนเจ้านายด่า...เราได้ยินเสียงเจ้านายด่า  เราเห็นท่าทีเกรี้ยวกราดของเจ้านาย  แปลเสียงในสมองเป็นความหมายเบวกกับประสบการณ์เก่า  แปลว่าเจ้านายกำลังคุกคามความปลอดภัย... เกิดอารมณ์กลัวและโกรธ  ต้องตอบโต้อะไรสักอย่าง... สุดท้ายความเคยชินความเชื่อเข้ามาบอก”เราไม่ควรตอบโต้ผู้ใหญ่” พฤติกรรมจึงออกมาก้มหน้า หลบตา ไม่ตอบโต้ใดๆ  เก็บอารมณ์โกรธในใจเงียบๆ... กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีตามความเคยชิน...

แล้วกระบวนการในสมอง(จิตใจมนุษย์)ที่เกิดขึ้น ...คือ สิ่งที่เป็นความจริง(Reality)หรือ???

เริ่มตั้งแต่การรับรู้ของมนุษย์เองมีการผิดเพี้ยนไปจากความจริง...เช่น 1. ถ้าคนนึงเอานิ้มจุ่มน้ำร้อนด้วยมือขวาและนิ้วจุ่มน้ำเย็นด้วยมือซ้าย...ผ่านไปสักพักนึง(ก่อนนิ้วพอง 555)  เอานิ้วทั้ง 2ข้างมาจุ่มพร้อมกันในน้ำที่อุณหภูมิห้อง ปรากฎว่า ...เราจะรู้สึกน้ำเย็นที่นิ้วที่เคยจุ่มน้ำร้อนมาก่อนและรู้สึกร้อนขึ้นที่นิ้วที่เคยจุ่มน้ำเย็นมาก่อน... 2. (พอดีหาภาพมาแสดงไม่เจอ) เรามองเห็นภาพเส้นตรงที่มีลูกศรที่ปลายทั้ง 2 ข้าง...เราจะมองว่าเส้นตรงที่ลูกปลายลูกศรหันเข้ายาวกว่าเส้นตรงที่ปลายลูกศรที่หันออกด้านข้าง...ทั้งที่จริงๆเส้นตรงทั้งสองเส้นยาวเท่ากัน...

การระลึกรู้เองก็มีการผิดเพี้ยนไปจากความจริง... ในภาพจะเห็นว่า...เราสามรถมองได้ทั้ง แจกันสีดำ หรือหน้าคนสีขาวหันเข้าหากัน...ขึ้นอยู่กับแต่บุคคล...(มีการทดสอบทางจิตวิทยา ชื่อRorschach test ที่มีรูปที่สีน้ำหมึกหยดบนกระดาษ  แล้วให้ผู้เข้าทำการทดสอบแปลผลว่าเป็นรูปอะไร  รูปจะดูไม่รู้เรื่อง...เอาไว้ใช้ดูความคิดและการแปลผลต่อสิ่งเร้าของผู้เข้ารับการทดสอบ)

คงต้องย้อนถามตัวเองอีกทีว่า...สิ่งที่มนุษย์รับรู้นั่นคือความจริง...จริงหรือ???

ดังนั้น...ตลาดก็คือผลรวมของโลกภายในจิตใจมนุษย์... ตลาดมีอารมณ์ความรู้สึก  มีความคาดหวัง ผิดหวัง สมหวัง  ดีใจเสียใจ  บางครั้งก็สุขุมนุ่มลึกมีเหตุมีผล  บางครั้งก็ทำอะไรด้วยความขาดสติ  บ้าคลั่ง...โลภอยากได้  กลัวตกใจสุดขีด...

...และแล้วผมจะมาพูดถึงแนวคิดที่ 2 คือ การเงินเชิงพฤติกรรม ซึ่งมองว่ามนุษย์มีอติบางอย่าง(Cognitive Bias) ทำให้มองโลกบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง...ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล...

2. การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral finance)

บิดาแห่งศาสตร์นี้คือ...Danial Kahneman และ Amos Tversky ซึงเป็น Cognitive psychologist การเงินเชิงพฤติกรรมเป็นแนวคิดที่ใช้ปัจจัยทางสังคม ความคิดและอารมณ์ของมนุษย์มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆของแต่ละบุคคล  เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดและพฤติกรรม (Behavioral and cognitive psychology) เข้ากับเศรษฐศาสตร์และการเงินเพื่ออธิบายว่า...ทำไมบางครั้งมนุษย์จึงตัดสินใจด้านเงินๆทองอย่างไม่สมเหตุสมผล... ซึงแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้

ในโลกแห่งความจริงมนุษย์ทำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุผลมากมาย...ตัวอย่างเช่น  การที่คนจำนวนมากเล่นหวย ซื้อลอตเตอรี่...ทั้งที่โอกาสถูกมีแค่ 1/1000 หรือ 1ในล้าน ... แต่ก็ยังมีคนมากมายที่เสียเงินนับไม่ถ้วนไปเพื่อโอกาสอันน้อยนิด...บางคนซื้อลอตเตอรี่ทั้งชีวิตไม่เคยถูกเลยก็มี...

ความไม่สมเหตุผลของพฤติกรรมเหล่านี้มีที่มาจากความลำเอียงของมนุษย์ (Cognitive bias)ซึ่ง มีดังนี้ (ขอให้สำรวจตัวเองด้วยนะครับว่ามีบ้างหรือเปล่า?)

1. Overconfidence ความมั่นใจเกินไป...

James Montier ได้ทำการศึกษาหัวข้อ “Behaving badly” ในปี 2006 โดยเก็บข้อมูลจากผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ...พบว่ามี 74% จากผู้จัดการกองทุน 300 คน เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถเรื่องงานเหนื่อกว่าค่าเฉลี่ย...ที่เหลือ 26% มองว่าตัวเองพอๆกับค่าเฉลี่ย...นั่นคือ 100% คิดว่าตัวเองเท่ากับหรือเหนือกว่าค่าเฉลี่ย...ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนที่จะอยู่เหนือค่าเฉลี่ยได้มีเพียง 50%เท่านั้น... และนี่คือความมั่นใจที่มากเกินไปไม่สมเหตุผลตามความจริง...

มีเส้นบางๆเทานั้นที่แยกระหว่างความมั่นใจในตัวเอง(Confidence) กับความมั่นใจเกินไป(Overconfidence)... คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองจะเชื่อมั่นในความสามารถตัวเองตามความเป็นจริง... ขณะที่คนที่มั่นใจเกินไป...จะมองโลกในแง่ดีมากๆและมองความสามารถตัวเองว่าดีมากกกกกก(ซึ่งเกินจริง) สามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้หมด...(..เออ เอ็งเก่ง บ้าเข้าไปให้พอ 555)

ในตลาดหุ้นมีคนที่มั่นใจในตัวเองแบบเว่อร์ๆอยู่มากมาย...คนเหล่านี้จะไม่ค่อยมองเรื่องความเสี่ยง...มักจะซื้อขายบ่อยๆ...พยายามซื้อให้ต่ำที่สุดขายให้สูงที่สุด...คิดว่าตัวเองกะจังหวะเวลาซื้อขายได้ดีกว่าคนอื่นๆ  คิดว่าตัวเองคาดเดาดัชนีได้... เรามักจะเห็นนักลงทุนกลุ่มนี้ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหรืออาจจะถึงกับขาดทุน...

เวลาผมเจอนักลงทุนมั่นใจเว่อร์ๆแบบนี้ผมจะฟังอย่างเดียวและจะไม่พูดอะไรไปขัดใจหรือตักเตือนใดๆ...

ความมั่นใจเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรมี...แต่ Overconfidence เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข... เพราะอคตินี้ทำให้เรามองตัวเองผิดไปจากความจริง... เราจะเล่นหุ้นแบบเสี่ยงๆมากขึ้น  ซึ่งถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คิด...เราก็ไม่มีแผนรับมือเพราะไม่เคยมองความเสี่ยงเลย...ได้แต่ยืนดูสุดท้ายก็ขาดทุน... การมองตัวเองตามจริงจะเห็นว่าเรามีจุดดีอะไรที่ควรส่งเสริม...และเห็นข้อบกพร่องที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น...แล้วนักลงทุนจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ตามจริง...

ผมเองยิ่งเรียนรู้ตลาดหุ้นยิ่งพบว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรอีกมากมาย  ทักษะการคิดการมองแนวโน้มก็ยังต้องฝึกฝนอีกเยอะแยะ... ผมไม่เคยเอาผลตอบแทนไปอวดสาธารณะชนเพื่อให้ตัวเองย่ามใจจนไม่เป็นอันพัฒนาตัวเอง  (แต่การโชว์ผลตอบแทนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าเป็นไปเพื่อการเรียนรู้นะครับ)... ผมเป็นนักลงทุนรายย่อยคนนึงในตลาดที่มีคนเก่งๆมากมาย  สิ่งที่เราทำได้คือรับฟังความเห็นของผู้อื่น  อ่อนน้อมถ่อมตน  เชื่อมั่นในความสามารถตัวเองตามจริง.. .ฝึกคิดอย่างมีเหตุมีผล...ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง...

ชาล้นถ้วย...คงไม่สามารถรับอะไรใหม่ๆเข้าไปได้จริงไหมครับ...            

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า..เราจะต้องดูถูกตัวเองหรือ Underestimate ตัวเองนะครับ...เราต้องชื่นชมความสามารถตัวเองตามจริงด้วย  ใครชมก็ให้รับไว้และขอบคุณ  แล้วมามองว่าคำชมนั้นเราคิดว่าจริงใหม...ทำอย่างไรจึงจะดีขึ้นไปอีก... ใครวิจารณ์(หรือดูถูก)ก็ทบทวนดูว่าจริงไหม...ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องไปสนใจ  ถ้ามีเค้ามูลอยู่บ้างก็ต้องรีบแก้ไข...

ผมอยากบอกว่า...แท้ที่จริงแล้วศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ...ตัวเราเองนั่นแหละ...

เรื่องการเงินเชิงพฤติกรรมยังมีตอนต่อนะครับ...(อคติแบบอื่นๆ)

ปล.  ทิ้งท้าย...

โลกของตลาดทุนนั้นไม่เหมือนกับวงการอื่นๆ...เช่น ถ้าคุณอายุมาก ร่างกายแข็งแรง  มีตำแหน่งทางวิชาสูงๆ (เช่น ศาสตราจารย์...)  มีวุฒิการศึกษาสูงๆ...มีเครือข่ายมาก  บุคลิกภาพดี  คุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานสูง  ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อถือและฟังคุณ ...แต่โลกของตลาดทุนนั้นไม่ใช่ ...การประสบความสำเร็จในการลงทุน  ใบปริญญามากมาย  ตำแหน่งวิชาการ  มีเพื่อนมากมาย... ไม่ได้เป็นสิ่งบอกได้เลยว่าคุณจะประสบความสำเร็จในการลงทุน...นี่คือโลกแห่งความสามารถล้วนๆ... สิ่งที่บ่งบอกตัวตนของคุณในตลาดทุนนั้นมีแต่ฝีมือการลงทุนเท่านั้น...สิ่งที่คุณกำลังเผชิญหน้าคืออนาคตและแนวโน้มที่ไม่มีใครรู้  ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแบบที่อ่านได้ในหนังสือวิชาการแบบอาชีพอื่นๆ...

ต้องลงทุนในตัวเองครับ...

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนแรก)

ในซีรีย์นี้จะมี 4 ตอนนะครับ  จะพูดถึงแนวคิดดังต่อไปนี้ 1. แนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพ 2. การเงินเชิงพฤติกรรม 3. หลักปฎิกิริยาสะท้อนกลับ 4. การเจริญสติกับการลงทุน

เริ่มต้นด้วยความที่ตัวผมเป็นจิตแพทย์(แพทย์ประจำบ้าน)และนักลงทุนจึงได้มีความคิดที่จะนำเรื่องจิตใจมาประยุกต์ใช้ในการลงทุน รวมถึงการเข้าใจจิตใจของมนุษย์ให้มากขึ้นผ่านเส้นการลงทุน ทั้งจิตใจและพฤติกรรมของตัวผมเองและมนุษย์ทั่วๆไปในสังคม... (เผื่อท่านอาจารย์จะได้ไม่ว่าผมไม่ขยันเรียนด้วยเพราะผมกำลังศึกษาเรื่อง Cognitive and behavioral psychology through financial and stock market 555)

เพราะอะไรผมถึงพยายามเอาจิตใจมนุษย์มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการลงทุนล่ะ...อันนึงเป็นรูปธรรมอีกอันเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกันเลย...

แต่ขอบอกเลยครับว่า...เกี่ยวกันอย่างมาก...เพราะเงินเป็นสิ่งสมมุติ  เงินคือเศษกระดาษด้วยตัวของมันเอง  การให้ค่าของเงินว่ามีเท่าไรผู้ที่ให้ค่าของมันคือมนุษย์ (น่าตลกที่ตอนหลังมนุษย์บางคนกลับตกเป็นทาสของสิ่งที่คิดขึ้นมาซะเอง) แม้แต่สินทรัพย์อื่นๆก็เช่นกัน...มนุษย์คือผู้ที่กำหนดคุณค่าและราคา ตามกลไปการตลาด ผู้ที่ใช้สินค้าก็คือมนุษย์ (แม้จะใช้ในสัตว์หรือสิ่งของก็เป็นสิ่งที่มนุษย์นำไปใช้และจะต้องเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับมนุษย์อยู่แล้ว...) ความต้องการสินค้าในตลาด (Demand) ก็เกิดขึ้นโดยมนุษย์.... การจัดหาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ (Supply) ก็เกิดจากมนุษย์เช่นกัน...แม้แต่การลงทุนเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของโลกก็เกิดจากการตอบสนองความคิดความเชื่อของมนุษย์นั่นเอง และอื่นๆอีกมากมาย

ดังนั้น...ถ้าเราจะเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนอย่างลึกซึ้งเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจมนุษย์...ที่สำคัญที่สุดคือเข้าใจตัวเราเอง...

ในทางจิตวิทยา...การเริ่มต้นของพฤติกรรมนั้นมีรากฐานมาจากความคิดและอารมณ์ (Thought and feeling) ซึงมาจากความเชื่อ(Core believe)อีกที แล้วจึงแสดงออกมาทางพฤติกรรมตามสถานการณ์ที่มนุษย์คนนั้นได้รับรู้... ดังนั้นการที่จะเข้าใจพฤติกรรมของคนในตลาดจึงต้องมีที่มาจากการเข้าใจความเชื่อ การรับรู้ ความคิด และอารมณ์ของมนุษย์... Aaron  Beck จิตแพทย์นามอุโฆษชาวอเมริกัน...พูดถึงการตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวกันของมนุษย์ว่ามีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการแปลผลและมุมมองของบุคคลต่อสถานการณ์ดังกล่าว...เช่น หุ้นตกอย่างมากคนนึงอาจจะมองว่าแย่แล้วหายนะแล้ว...อารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย  อีกคนอาจจะมองว่า..ช่างโชคดีจริงๆ...นี่คือโอกาสที่เขาเฝ้ารอมานานแล้ว เป็นต้น

สิ่งที่กระตุ้นสมองส่วน limbic system (ทำงานเกี่ยวกับสัญชาตญาณการอยู่รอดและเรื่องอารมณ์) อย่างมากนอกจากเรื่องเพศ ความตาย ...ก็คือเรื่องเงิน  ดังนั้นมนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุผล(Irrational behavior) กับเรื่องเงินเนื่องจากการเอาอารมณ์มาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ...

เงิน นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ในอดีตกาลคิดค้นขึ้นมา...จากเดิมเราเอาข้าวไปแลกปลา เราเอาขนมปังไปแลกเสื้อผ้า โดยอาจจะมีอัตราส่วนตามที่คนที่แลกกันยอมรับหรือสังคมโดยรวมเป็นผู้กำหนด...วิธีนี้อาจจะยุ่งยากเพราะต้องพกของไปไหนมาไหนด้วย.... มนุษย์จึงมีการคิดตัวกลางในการแลกเปลี่ยนคือ เงิน นั่นเอง...ซึ่งโดยตัวเงินอาจจะไม่ได้มีค่าอะไรแต่มนุษย์สมมุติให้มันมีค่าขึ้นมา... สมัยเด็กๆป.4-ป.5ผมเคยถามเพื่อนว่าถ้าให้มีเงินกับให้สามารถได้สิ่งที่ต้องการตามปรารถนาได้จะเลือกอะไร เพื่อนผมคนนั้นเลือกเงิน...แต่ผมเลือกสิ่งที่ผมอยากได้โดยตรงเพราะผมมองว่าเงินซื้อไม่ได้ทุกสิ่ง ยกตัวอย่างเช่น... เงินซื้อหนังสือได้ แต่การลงทุนลงแรงอ่านและวิเคราะห์ ฝึกฝนทักษะในการนำความรู้ไปใช้นั้น  เงินทำไม่ได้  เราต้องเป็นผู้ลงทุนลงแรง...

ฝีมือในการลงทุนนั้นเงินก็ซื้อไม่ได้...ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง...

ในโลกของการลงทุนมี 3 แนวคิดหลักๆ...ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนในตลาด

1. ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market theory)

ถูกอธิบายครั้งแรกโดยนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Louis Bachelier (ไม่กล้าแปลเป็นไทย...เด๋วออกเสียงผิด) ทฤษฎีนี้บอกว่า...Financial markets  are "informationally efficient" ตลาดเงินตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งรวมข่าวสารที่มีผลกระทบและตอบสนองต่อทุกอย่างที่เข้ามาอย่างมีประสิทธภาพ... ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้น ในราคาหุ้นนั้นรวมทั้งข่าวดีและข่าวร้ายไว้หมดแล้ว จึงไม่มีทั้งความถูกหรือความแพงในขณะนั้น เป็นราคาที่เหมาะสม...คนที่เห็นว่าน่าซื้อก็ซื้อคนที่เห็นว่าน่าขายก็ขายออกไป...ตลาดถือว่าคนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารเท่ากันหมด... ความเห็นของคนส่วนใหญ่คือความเห็นที่ถูกต้อง

ทฤษฎีนี้ถูกขยายความโดย  Eugene Fama โดยเขาตั้งสมมุติฐานว่าต้องมีปัจจัยเหล่านี้ตลาดจึงจะมีประสิทธิภาพ...1. นักลงทุนมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและหุ้น 2.  นักลงทุนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายและรวดเร็วในต้นทุนที่ต่ำ (ไม่มีพวกวงใน) 3. ปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบจะเป็นลักษณะสุ่ม (Random) ทั้งข่าวดีและข่าวร้าย 4. นักลงทุนตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ทำให้ราคาตอบสนองทันที (เรียกว่าเปิดตลาดมาเจอ Fair value กันเลยทีเดียว 555)

สมมุติฐาน Random walk(รอยเท้าคนเมา...) พูดถึงราคาในตลาดเงินตลาดทุนว่าเคลื่อนไหวแบบสุ่ม...คาดเดาไม่ได้

Fama แบ่งความมีประสิทธิภาพของตลาดออกเป็น 3 ระดับ 1. Strong form 2. Semi strong form 3. Weak efficiency ซึงระดับการตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารก็จะลดหลั่นกันไป...

เป็นแนวคิดที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากในปัจจุบันในหมู่นักการเงิน นักลงทุน  ...ตามทฤษฎีนี้การได้ผลตอบแทนชนะตลาดถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก...ยกเว้น...โชคดี

แนวคิดนี้เชื่อในมุมมองของคนส่วนใหญ่...ซึ่งก็มีข้อมูลสนับสนุนมากมาย  เช่น  กองทุนแบบ active fund ที่ซื้อๆขาย เอาชนะผลตอบแทนของกองทุนดัชนีได้ไม่กี่กองเท่านั้น... หรือ ราคาหุ้นมีการตอบสนองต่อข่าวอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจะรอให้ข่าวดีออกมาก่อน รอผลประกอบการสวยๆก่อน แล้วค่อยซื้อนั้นมักจะได้ราคาแพงที่ตอบสนองต่อข่าวดีไปแล้ว... รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นคาดเดาไม่ได้อีกด้วย

นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหลายๆคนปฎิเสธแนวความคิดนี้บางส่วน...Warren Buffet นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหมายเลขหนึ่งของโลกบอกว่า... I’d be a bum on the street with a tin cup if the markets were always efficient ...ผมคงต้องไปถือถ้วยขอทานข้างถนนถ้าตลาดมีประสิทธิภาพตลอดเวลา... จากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าบัฟเฟตไม่เชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ”ตลอดเวลา” ...แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพเช่นกัน  เพียงแต่”บางเวลา”ตลาดก็ทำพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลออกมา...

การปฎิเสธแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงเป็นสิ่งที่อันตรายมาก...เพราะเราอาจจะประมาท ...เช่นมีข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่เราอาจจะยังไม่รู้แต่ตลาดรู้หรือเราอาจจะวิเคราะห์ได้ไม่ถูกเท่ากับคนส่วนใหญ่...ถ้าหุ้นลงมากยิ่งซื้อ...จริงๆปัจจัยพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่ทราบ ถ้าหุ้นขึ้นมากๆก็ขายทั้งๆที่ปัจจัยพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนดีขึ้นมากๆโดยที่เราไม่ทราบ  ยิ่งปัจจุบันนักลงทุนแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ  ผู้จัดการกองทุนของต่างชาติและไทยล้วนแต่เป็นหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชื่อดังและถูกฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว...ข้อมูลข่าวสารก็มากและรวดเร็วกว่านักลงทุนรายย่อยมากมายและเป็นผู้คุมเงินส่วนใหญ่ในตลาด...รายย่อยเองตอนนี้นักลงทุนเก่งๆที่ทำการบ้านศึกษาวิเคราะห์ก่อนซื้อขายด็มีมากขึ้นเรื่อยๆ...ดังนั้น อย่าละเลยแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ...
เหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพนั้นมีอยู่มากมาย เช่น...การที่คนวงใน เช่น เจ้าของบริษัทรู้ข่าวก่อน  การเกิดฟองสบู่และการตกต่ำจากฟองสบู่แตก...(Boom and burst bubble cycle) EMT อธิบายเรื่องเหล่านี้ไม่ได้...

และแน่นอนครับ...ผมก็เชื่อว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลาหรอก...ไม่อย่างนั้นผมก็เลิกลงทุนเองไปซื้อกองทุนดัชนีดีกว่า...สบายอีกต่างหาก 555  ผมแค่ไม่ประมาทเท่านั้นเอง  และเตือนให้นักลงทุนให้ระวังความมั่นใจที่มากเกินไป(Overconfidence) ซึ่งจะอธิบายในบทต่อไปครับ...

ติดตามตอนต่อไปนะครับ...

ปล. ในตอนสุดท้ายของseries ผมจะแถมเรื่องการพัฒนาจิตใจสำหรับนักลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนทั้งตัวเงินและความสุขด้วยครับ...

Mind investing blog

ตอนแรกที่เขียน blog ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อ blog ว่าอะไรดี? ด้วยความที่อยากจะให้เป็น blog ที่เกี่ยวกับการลงทุน ก็เลยไม่อยากจะเอาชื่อตัวเองเป็นชื่อ blog ...สุดท้ายจึงเลือกชื่อ “Mind investing blog” เนื่องจากผมมีความเชื่อว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เริ่มต้นจากจิตใจ ตลาดหุ้นคือภาพสะท้อนของจิตใจของคนในตลาดหุ้นและในเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีความหมายในการลงทุนในตัวเองอีกด้วย (ในเชิงความคิด จิตใจ)

เหตุผลที่ผมมาเขียน blog  เพราะมีรุ่นน้องมือเซียนได้แนะนำว่าผมควรเก็บงานเขียนไว้ใน blog ผมก็เลยลองเขียนดู เพื่อเป็นการแบ่งปันกับคนอื่นๆทีสนใจเรื่องการลงทุนด้วย โดยเนื้อหาใน blog ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้...

1.การลงทุนหุ้นเติบโต (Value growth investing)
2.จิตวิทยาการลงทุน (Behavioral finance, Psychology)
3.การพัฒนาตนเอง (Self development)
4.เรื่องอื่นๆ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค, การตลาด, เทคโนโลยี, ฟิสิกส์, เศรษฐศาสตร์มหภาค, ดนตรี ...ฯลฯ แล้วแต่ว่าผมอยากจะเขียนอะไร 555+

ขอขอบคุณบุคคลเหล่านี้...
- พ่อ แม่ ผู้มีพระคุณสูงสุด ผู้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เน้นคุณค่าที่แท้จริง และเป็นครูด้านธุรกิจคนแรกของผม
- ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพที่เคยเล่าให้ฟัง ผู้ซึ่งเป็นคนเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่เคยมองว่าตลาดหุ้นน่ากลัว ทำให้ผมกล้าลงทุนในปี 2009 และได้ค้นพบสิ่งที่ผมรัก
- วอร์เรน บัฟเฟต อาจารย์ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างในการลงทุน และการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
- ปีเตอร์ ลินส์ อาจารย์ผู้เป็นแนวทางการลงทุนในหุ้นโตเร็วที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบัน
-  หนังสือของ ดร. นิเวศ และคุณ สุมาอี้ แม้ว่าผมจะไม่รู้จักพวกท่านเป็นการส่วนตัว แต่หนังสือของพวกท่านก็ช่วยเปิดมุมมองเรื่องการลงทุนให้กับผมได้อย่างมากมาย

- น้องโบว์ ที่เสียสละเวลาช่วยรับฟังและให้คำแนะนำในเรื่องหลักการลงทุนและให้ความเห็นวิจารณ์การวิเคราะห์หุ้นรายตัวของผม

หากไม่มีบุคคลเหล่านี้คงจะไม่มีผมในวันนี้ ผมก็คงจะเป็นแค่แมงเม่าตัวนึงที่อาจจะได้กำไรมาแบบฟลุ๊คๆและหมดตัวในเวลาต่อมา แล้วสาปแช่งตลาดหุ้นเหมือนหลายๆคน ขอบคุณจากใจครับ -/\-

แม้ว่าผมเองจะไม่มีอาจารย์ ไม่มีเซียนที่เป็นตัวเป็นตนเหมือนคนอื่นที่คอยสอนเรื่องหุ้นตั้งแต่เริ่มต้นและคอยบอกใบ้หุ้นให้ แม้ว่าผมจะเคยน้อยใจว่าผมโชคไม่ดีเท่าคนอื่นๆ แต่ตอนนี้ผมไม่คิดอย่างนั้นแล้ว

...เพราะผมไม่มีอาจารย์ ผมจึงขวนขวายพัฒนาตนเอง
...เพราะผมไม่มีอาจารย์ ผมจึงเรียนรู้ที่จะเป็นที่พึ่งให้กับตนเองและผู้อื่นมากกว่าจะรอคอยการช่วยเหลือ
...เพราะผมไม่มีอาจารย์ ผมจึงไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งรอบข้างและฟังเสียงจากใจตนเองมากกว่าจะฟังตลาดหรือฟังเซียน
...เพราะผมไม่มีอาจารย์ ผมจึงอยากจะเป็นอาจารย์เรื่องการลงทุนให้กับคนอื่นๆ โดยสอนแบบไม่คิดสตางค์แม้แต่บาทเดียวจากนี้และตลอดไป เพื่อให้คนอื่นๆได้มีโอกาสที่แบบผมไม่เคยมี

(สำหรับคนที่มีอาจารย์เป็นตัวเป็นตน มีคนคอยแนะนำ มีคนคอยบอกหุ้น ผมขอแสดงความดีใจด้วยครับ^^)

ขอบคุณทุกๆคนที่อ่าน blog และฟังผมการสอนเรื่องการลงทุน ทำให้ผมมีกำลังใจที่เขียน blog และสอนเรื่องหุ้นและการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ Feedback ที่ได้รับไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบ ผมจะนำไปปรับปรุงและพัฒนาตนเองต่อไป

Keep Moving --- ลุย!!!